สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับ สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) จัดเวทีสนทนานโยบายสาธารณะ (Policy Dialogue) ครั้งที่ 1 เรื่อง “ไทยพร้อมยัง..ที่จะมีหลักประกันรายได้เพื่อคุณภาพชีวิตเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ” เพื่อฉายภาพสถานการณ์ เสนอแนะแนวทาง รวมทั้งหารือถึงความเป็นไปได้ในการจัดทำ ‘ระบบบำนาญผู้สูงอายุ’ ของประเทศไทย โดยมีผู้บริหารระดับสูงจาก 6 หน่วยงานราชการ ได้แก่ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กรมกิจการผู้สูงอายุ และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) เข้าร่วม เมื่อวันที่ 28 มี.ค. ที่ผ่านมา
สาระสำคัญของเวทีสนทนา ผู้บริหารแต่ละหน่วยงานได้แลกเปลี่ยนสถานการณ์ที่ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ ตลอดจนบอกเล่าถึงการดำเนินงานของหน่วยงานตัวเอง และกลไกการออมที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยพบว่าอัตราการเกิดทุกวันนี้ต่ำกว่าอัตราการตาย ส่งผลให้จำนวนประชากรของประเทศโดยรวมลดลง ซึ่งหมายถึงกำลังคนในวัยทำงานลดลงด้วย
นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้สูงอายุในประเทศไทยจำนวนมากขาดรายได้ หรือไม่มีรายได้เพียงพอหลังเกษียณอายุ นำไปสู่ปัญหาความยากจนและคุณภาพชีวิตที่ต่ำลง ทุกหน่วยงานรวมถึงผู้เข้าร่วมการสนทนาจึงเห็นพ้องร่วมกันถึงความจำเป็นที่ประเทศไทยจำเป็นต้องมี ‘ระบบบำนาญผู้สูงอายุ’ อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่วงสนทนาได้ตั้งคำถามและแสดงความห่วงใย คือ ‘แหล่งงบประมาณ’ ที่จะนำมาจัดทำระบบสวัสดิการในครั้งนี้ มาจากที่ใด
นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า เป็นที่ทราบดีว่าขณะนี้ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ และผู้สูงวัยก็เป็นหนึ่งในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา การสร้างความมั่นคงโดยเฉพาะในด้านรายได้ให้กับผู้สูงวัยนับจากนี้ จึงเป็นประเด็นที่มีความสำคัญ ซึ่งการศึกษาของภาควิชาการเองก็พบว่าประชาชนเองมีความต้องการ แต่คำถามที่เกิดขึ้นคือเราจะสามารถขับเคลื่อนเรื่องนี้ไปด้วยกันได้อย่างไร
นพ.ประทีป กล่าวอีกว่า เรื่องการสร้างหลักประกันรายได้ให้กับผู้สูงอายุ กำลังเป็นนโยบายที่เกือบทุกพรรคการเมืองใช้เป็นแคมเปญช่วงหาเสียง ไม่ว่าจะเป็นการขยายเบี้ยยังชีพ การสร้างบำนาญถ้วนหน้า หวยบำเหน็จ ฯลฯ แต่คำถามสำคัญ อย่างแรกคือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหลายมีความพร้อมในการขับเคลื่อนนโยบายเหล่านี้หรือไม่ และอีกคำถามใหญ่คือ นโยบายที่ถูกนำเสนอออกมามากมายนั้น จะนำงบประมาณมาจากส่วนใด เรื่องนี้ฝ่ายนโยบายของแต่ละพรรคการเมืองจะเป็นผู้นำคำตอบมาให้กับประชาชน บนเวทีที่ สช. เตรียมจะจัดขึ้นในช่วงปลายเดือนเมษายน ก่อนการเลือกตั้งใหญ่
น.ส.วรวรรณ พลิคามิน รองเลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจฯ กล่าวว่า ปัจจุบันไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์แล้ว โดยโครงสร้างประชากรปี 2566 มีผู้สูงวัย 20% วัยแรงงาน 63% และวัยเด็กเพียง 16% แต่ในปี 2583 คาดการณ์ว่าจะมีผู้สูงอายุถึง 30% ขณะที่วัยแรงงานลดลงเหลือ 55% และวัยเด็กเพียง 12% ซึ่งจะทำให้เข้าสู่ “สังคมสูงอายุระดับสุดยอด” ที่มีผู้สูงวัยถึง 1 ใน 3 ของประชากรประเทศ ซึ่งประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร จากเดิมที่เคยมีอัตตาการเกิดปีละล้านคน ลดเหลือปีละ 6แสนคนในปัจจุบัน ขณะที่อายุเฉลี่ยเพศชายอยู่ 72 หญิง78 ปี แต่เมื่อดูค่าเเฉลี่ยการมีสุขภาพที่ดีชายมีอายุ 68 หญิง 74 ปี สะท้อนให้เห็น ทำใมให้ความสำคัญหลักประกันสุขภาพ
น.ส. วรวรรณ. กล่าวอีกว่า เมื่อมาดูถึงเรื่องรายได้และค่าใช้จ่าย ตามช่วงชีวิต จากการสำรวจพบว่าถ้ามองรายได้จากการทำงาน และการบิรโภค พบว่ามีช่วงเดียวคือวัยแรงงาน ที่ค่าใช้จ่ายการบริโภคต่ำรายได้ พอเข้าสู่วัยสูงอายุ ตัวรายได้ไม่เพียงพอไม่ สามารถชดเชยกับการใช้จ่ายเพื่อการบริโภค จากการสำรวจพบว่ารายได้ของผู้สูงอายุส่วนใหญ่มาจาก บุคคลอื่น เช่น ลูกหลานให้ รองลงมาจากการทำงาน และรองลงมาอีกมาจากเบี้ยยังชีพ ดังนั้น จึงต้องให้ความสำคัญกับการทำงานของผู้สูงอายุ
ด้วยเหตุนี้ จึงต้องให้ความสำคัญกับการทำงานผู้สูงอายุที่ยังสามารถทำงานได้ เพื่อให้พวกเขามีรายได้ การสำรวจปี2562 ผู้สูงอายุ 13.4 ล้านคน พบว่าต้องการทำงาน 33 % แต่สามารถสู่ตลาดงานได้ 30% แต่กลุ่มนี้รายได้ก็ยังไม่พอค่าใช้จ่าย ส่วน3% ต้องหางานทำ
ในเรื่องการออม จากการสำรวจพบว่าคนไทยมีการออมแค่ 26% และบัญชีการออมต่ำกว่า 5หมื่นบาท และอายุเริ่มต้นการออมก็ช้ามาก คือเริ่มที่อายุ 40 ปีขึ้นไป มาดูเรื่องของการลงทุน พบว่าในปี2562 ครัวเรือนไทยมีการลงทุนแค่ 2.2% แต่หนี้สินต่อจีดีพี 79.9% ซึ่งหนี้ครัวเรือนเพิ่มตลอดปี 2565 เพิ่มมาเป็น 86 .8% ปัญหาการทำให้รายได้ผู้สูงอายุเพียงพอแก่การดำรงชีพจึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายมาก แสดงให้เห็นความสำคัญของการสร้างหลักประกันรายได้ เพื่อให้คนมีความมั่นคงและคุณภาพ
“แผนประชากรเพื่อการพัฒนาประเทศที่เราทำไว้ในปี 2565-2580 แนวคิดหลักเพื่อเกิดต้องเกิดดี อยู่ดี แก่ดี เพื่อ ยกระดับพัฒนาศักยภาพประชากร เริ่มตั้งแต่การศึกษา ให้เป็นแรงงานคุณภาพ และการเป็นสังคมสูงวัย ต้องทำให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งมีความสำคัญมาก และต้องยกระดับความมั่นคงทางการเงิน ซึ่งไม่ได้หมายถึงการออมเท่านั้น แต่เป็น Financial Literacy ที่สำคัญมากที่สุด คือการมีรายได้ และสามารถลงทุนได้ด้วย ในภาคใต้พบว่ามีหนี้สินครัวเรือนสูงมากจึงมีการเปลี่ยนMind set ให้ออมก่อนตามเป้าที่ตั้งไว้ ที่เหลือจึงนำมาใช้จ่าย”
นพ.อภิชาติ รอดสม รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า นับตั้งแต่ปี 2545 คนไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ที่ช่วยคุ้มครองภาวะล้มละลายจากค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ซึ่งนับเป็นการออมในส่วนการดูแลความเจ็บป่วยของผู้คนไปได้มาก ภายใต้กองทุนบัตรทองที่มีขนาดกว่า 1.4 แสนล้านบาท แต่ในจำนวนนี้กลับใช้ในการซ่อมแซมสุขภาพไปถึง 1 แสนล้านบาท และถูกใช้ในการสร้างเสริมสุขภาพเพียง 4 หมื่นล้านบาท เป้าหมายสำคัญจึงเป็นการที่เราจะขยับสัดส่วนนี้ได้อย่างไร
นางนวพร วิริยานุพงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านดุลยภาพการออมและการลงทุน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง กล่าวว่า ระบบหลักประกันรายได้ของประเทศไทยที่มีอยู่นั้น อยู่ในความรับผิดชอบของหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของสวัสดิการที่รัฐให้ฝ่ายเดียว การออมภาคบังคับ หรือการออมภาคสมัครใจ โดยสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงในการดำเนินนโยบายมี 3 ด้าน คือ 1. ความครอบคลุม ทั่วถึงประชากรทุกกลุ่ม 2. ความเพียงพอ เป็นจำนวนเงินที่พอใช้หลังเกษียณ 3. ความยั่งยืน ไม่กระทบกับระบบการเงินการคลัง
นางนวพร กล่าวอีกว่า ในระบบหลักประกันรายได้หลังเกษียณ แม้จะมีความครอบคลุมทุกกลุ่ม เช่น กองทุนออมกบข. เป็นสวัสดิการของข้าราชการ ส่วนลูกจ้างมีระบบประกันสังคม ที่มีเงินบำเหน็จและบำนาญ และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกลุ่มแรงงานอิสระ จะได้เงินบำเหน็จก้อนหนึ่งหลังอายุ 65ปี และยังมีเงินกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)ให้ออม และผู้ออมได้รับเงินตลอดชีพ แต่แม้จะครอบคลุม แต่ความเพียงพอ อาจจะยังไม่พอ ตามหลักสากลกำหนดให้รายได้หลังเกษียณที่เพียงพอ จะต้องเป็นครึ่งหนึ่งของรายได้ก่อนเกษียณ เพื่อคงคุณภาพชีวิตไว้ไมแตกต่างจากช่วงยังทำงาน ซึ่งพบว่ากลุ่มข้าราชการ มีรายได้ 60-70% ของก่อนเกษียณ ส่วนประกันสังคม รายได้สูงสุด 5,000 บาทต่อเดือน แต่กลุ่มแรงงานนอกระบบน่าเป็นห่วงมากที่สุด กลุ่มนี้มีประมาณ 20 กว่าล้านคน ที่ต้องพึ่งพาเบี้ยผู้สูงอายุ พึ่งลูกหลาน เพราะไม่มีการออม เสี่ยงเกิดภาวะยากจนเมื่อวัยสูงอายุ
“ขณะนี้ได้อยู่ระหว่างการเสนอร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. … ที่ตั้งเป้าจะให้มีคณะกรรมการนโยบายระดับชาติ เข้ามาบูรณาการทุกกองทุนที่เกี่ยวข้องกับการดูแลรายได้ประชาชนหลังเกษียณ ให้แต่ละกองทุนมีความสอดคล้องกัน เพื่อให้ภาพรวมสุดท้ายประชาชนมีรายได้หลังเกษียณเพียงพอ และไม่เป็นภาระทางการคลังในระยะยาว”นางนวพรกล่าว
นายบุญเลิศ อันประเสริฐพร รองเลขาธิการกลุ่มงานปฏิบัติการ กบข. กล่าวว่า กบข. เป็นกองทุนการออมที่ให้ข้าราชการมีส่วนร่วมในการออมได้สองส่วนคือ การออมภาคบังคับ 3% และการออมภาคสมัครใจที่ขยายได้สูงสุดถึง 30% โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างหลักประกันรายได้ที่มั่นคงหลังเกษียณ พร้อมกับจัดสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้กับสมาชิก ซึ่งภาพรวมในปัจจุบันมีข้าราชการเป็นสมาชิกทั่วประเทศรวม 1.2 ล้านคน และมีเงินในกองทุนกว่า 1.2 ล้านล้านบาท
น.ส.บุษยา ใจสว่าง รองอธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ กล่าวว่า ภายใต้ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 นอกจากการกำหนดในเรื่องของกองทุนผู้สูงอายุ หรือเบี้ยยังชีพ เป็นสวัสดิการสำหรับผู้สูงวัยแล้ว กองทุนนี้ยังสนับสนุนการสร้างรายได้และการประกอบอาชีพ เนื่องจากมีผู้สูงวัยเป็นสัดส่วนถึง 30% ที่มีศักยภาพและยังสามารถทำงานได้ โดยผู้สูงวัยเหล่านี้จะสามารถนำเงินจากกองทุนไปใช้ส่งเสริมการประกอบอาชีพได้ เป็นเงินทุนกู้ยืมปลอดดอกเบี้ยระยะเวลา 3 ปี อย่างไรก็ตาม ภายใต้เนื้อหาของ พ.ร.บ. ตั้งแต่ปี 2546 มาถึงปัจจุบันอาจไม่ตอบโจทย์ ขณะนี้ทางกรมจึงอยู่ระหว่างการเสนอปรับปรุงร่าง พ.ร.บ. เพื่อสนับสนุนสิทธิ สวัสดิการ รายได้ต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์กับผู้สูงวัยมากขึ้น
นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการ พอช. กล่าวว่า พอช. เป็นอีกหนึ่งกลไกของสวัสดิการที่รัฐจัดให้กับประชาชน ผ่านการสนับสนุนความเข้มแข็งในระดับชุมชนท้องถิ่นซึ่งเป็นฐานราก โดยหนึ่งในนั้นคือการเริ่มต้นจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชน ที่ปัจจุบันขยายจนมีสมาชิกรวมกันทั่วประเทศกว่า 6.2 ล้านคน มีเงินกองทุนรวมทั้งหมด 1.9 หมื่นล้านบาท จากเงินของประชาชนที่เก็บสมทบร่วมกันวันละ 1 บาท และถูกนำไปใช้จัดสวัสดิการของคนในชุมชน ดูแลร่วมกันตั้งแต่ครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ขบวนการแพทย์ชนบท : การเกิดขึ้นและดำรงอยู่ของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ ประธานกรรมการมูลนิธิแพทย์ชนบทและอดีตเลขาธิการแพทยสภา นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ อดีตรองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เผยแพร่บทความ เรื่อง ขบวนการแพทย์ชนบท : การเกิดขึ้นและดำรงอยู่ของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีเนื้อหาดังนี้
สมัชชาสาธารณะหยุดฝุ่นจิ๋วพีเอ็ม2.5 ไทยถือธงผู้นำอาเซียน'ลมหายใจสะอาด'
ลมหายใจสะอาดเกิดขึ้นได้ต้องได้รับความร่วมมือ สสส.-สช.-ทส.เปิดเวทีสมัชชาสุขภาพ เสนอแนวทางแก้ปัญหาฝุ่นจิ๋วพีเอ็ม 2.5