เฟ้นหาเยาวชนตัวแทนประเทศแข่ง 8 ชาติเอเชีย-แปซิฟิก สร้างดาวเทียม

ตัวอย่างผลงานดาวเทียมขนาดเล็ก Cubesat  ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 โดยทีม start mut ม.เทคโนโลยีมหานคร

เมื่อพูดถึงดาวเทียมหรืออะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับอวกาศ คนส่วนใหญ่มักมองเป็นเรื่องไกลตัว แต่ความเป็นจริง ผลผลิตจากนวัตกรรมอวกาศแทรกซึมอยู่ในวิถีการใช้ชีวิตของผู้คน ทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะตอนตื่นนอนหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาดู การรับชมทีวี การทำงานบนคอมพิวเตอร์ การใช้แอพพลิเคชันระบบนำทาง หรือเช็คสภาพอากาศ การสำรวจทรัพยากร เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ผู้คนส่วนใหญ่อาจยังไม่รู้ว่าประเทศไทยยังมีกิจการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอวกาศและอุตสาหกรรมต่อเนื่องกว่า 35,000 กิจการ โดย 95% เป็นวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม (SMEs) และ Start-up ซึ่งกิจการต่างๆ เหล่านี้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสร้างรายได้ให้กับประเทศ ประมาณ 56,122 ล้านบาทต่อปี

ด้วยเหตุนี้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) จึงได้จัด “การแข่งขันการสร้างดาวเทียมเชิงวิศวกรรม” (Engineering Model) ภายใต้โครงการ APSCO CubeSat Competition (ACC) เป็นโครงการหนึ่งขององค์การความร่วมมือด้านอวกาศแห่งเอเชียแปซิฟิก (Asia-Pacific Space Cooperation Organization: APSCO) มีวัตถุประสงค์เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีการพัฒนาดาวเทียม CubeSat ให้แก่ประเทศสมาชิกทั้ง 8 ประเทศ ได้แก่ ไทย จีน ปากีสถาน อิหร่าน เปรู มองโกเลีย บังคลาเทศและทูร์เคีย

รูปแบบแผงวงจรบนดาวเทียม

โดยมีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานครเป็นเจ้าภาพในการแข่งขันครั้งนี้ และประเทศสมาชิกทั้ง 8 ประเทศจะส่งทีมนักเรียนนักศึกษาตัวแทนร่วมแข่งขันประเทศละ 5 ทีม ทีมละ 5 คน รวมทั้งหมด 40 ทีม  เพื่อเรียนรู้ตั้งแต่การออกแบบภารกิจ การออกแบบดาวเทียม จนกระทั่งสามารถสร้างดาวเทียมเชิงวิศวกรรมได้ด้วยตนเอง และทำการคัดเลือกหนึ่งทีมสุดท้ายที่มีศักยภาพสูงสุดของแต่ละประเทศสมาชิกเพื่อรับทุนสนับสนุนการสร้างดาวเทียมเชิงวิศวกรรมเป็นจำนวน 100,000 USD โดยการคัดเลือกรอบแรกจะมีขึ้นในวันที่ 30 พฤษภาคม 2566

ดร.พรพรรณ ตันนุกิจ ผู้อำนวยการกองกิจการอวกาศแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) กล่าวว่า รัฐบาลได้ตระหนักถึงความสำคัญของการส่งเสริมเพื่อสร้างขีดความสามารถของบุคลากรภายในประเทศด้านการออกแบบดาวเทียม การกำหนดภารกิจ การสร้างและประกอบดาวเทียมขนาดเล็ก เช่น ดาวเทียม CubeSat เนื่องจากดาวเทียมขนาดเล็กมีต้นทุนการผลิตต่ำแต่สามารถใช้งานตอบโจทย์ได้ทั้งเชิงพาณิชย์หรือภารกิจเฉพาะทางได้มากขึ้น และในปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัลได้หลอมรวมกับเทคโนโลยีอวกาศมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีดาวเทียม ทำให้ต้นทุนการสร้างมีราคาถูกลง เพราะดาวเทียมไม่จำเป็นต้องมีขนาดใหญ่อีกต่อไป

ดร.พรพรรณ ตันนุกิจ

ดร.พรพรรณ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาเยาวชนไทยได้พิสูจน์ผลงานด้านการออกแบบและสร้างดาวเทียมขนาดเล็กในเวทีการแข่งขันระดับนานาชาติ คว้ารางวัลและสร้างเกียรติยศให้กับประเทศนับครั้งไม่ถ้วน ซึ่งประเทศไทยไม่เคยขาดคนเก่ง เพียงแต่เวทีที่จะสร้างโอกาสให้เยาวชนไทยได้แสดงศักยภาพยังมีอยู่จำกัด  เวทีการแข่งขันครั้งนี้จึงเป็นพื้นที่ให้เยาวชนได้แสดงศักยภาพอย่างเต็มที่ และเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจอวกาศยุคใหม่ หรือ New Space Economy ของประเทศไทย ซึ่งการได้ร่วมมือกับนานาชาติ ผลักดันให้บุคลากรของประเทศไทยได้บูรณาการความรู้ในศาสตร์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างดาวเทียม อาทิ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์และคณิตศาสตร์ มาใช้ในการประดิษฐ์และแก้ปัญหาผ่านการลงมือปฏิบัติจริง

ผศ. ดร. ภานวีย์ โภไคยอุดม อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร แสดงความเห็นว่า ภายในมหาวิทยาลัย มีศูนย์วิจัยที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน หนึ่งในนั้นคือ ศูนย์วิจัยด้านดาวเทียม และศูนย์วิจัยการพัฒนาดาวเทียมขนาดเล็ก ซึ่งเป็นการบูรณาการเชื่อมโยงในการนำเทคโนโลยีดาวเทียม นำไปสู่ส่วนร่วมในการพัฒนา โดยในด้านของภาคการศึกษาจะเน้นการพัฒนาแบบEngineering Model และการพัฒนาบุคลากร ดังนั้นจึงมีพื้นที่ที่พร้อมให้นักศึกษาได้เรียนรู้และได้ทดลองหรือสร้างดาวเทียมขึ้นมา นำไปสู่การสร้างสิ่งที่จับต้องได้

ผศ. ดร. ภานวีย์ โภไคยอุดม

“ดังนั้นในโครงการ ACC  จึงเป็นกิจกรรมสำคัญที่ทางมหาวิทยาลัยมุ่งมั่นให้เป็นเวทีประลองฝืมือสำหรับเยาวชนที่จะเป็นกำลังหลักของประเทศชาติในอนาคต และยังเป็นต้นแบบของกิจกรรมที่สามารถพัฒนาบุคลากรไปพร้อมกับเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังเช่น เทคโนโลยีอวกาศ ซึ่งกิจกรรมนี้ไม่เพียงสร้างเยาวชนให้มีศักยภาพแล้ว ยังผลักดันเยาวชนให้สามารถสร้างนวัตกรรมที่อาจเปลี่ยนโลกด้วยก็เป็นได้” อธิการบดี ม.เทคโนโลยีมหานคร กล่าว

อธิการบดี ม.เทคโนโลยีมหานคร กล่าวเสริมถึงแนวโน้มด้านเทคโนโลยีอวกาศที่เกี่ยวข้องกับดาวเทียมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่มีความก้าวหน้าอย่างมาก โดยเฉพาะ จีน ญี่ปุ่น อินเดียและเกาหลีใต้ ที่สามารถสร้างและปล่อยดาวเทียมได้เอง เราจึงมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างดาวเทียมขนาดเล็กในวงโคจรต่ำ (Low Earth Orbit: LEO) ที่มีน้ำหนักไม่เกิน 50 กิโลกรัม ที่ระดับความสูงจากพื้นโลกไม่เกิน 1,000 กิโลเมตร ด้วยเหตุผลด้านค่าใช้จ่ายในการสร้างและการนำส่งขึ้นสู่วงโคจรที่ไม่สูงมากนัก ใช้บุคลากรจำนวนน้อยและใช้เวลาพัฒนาไม่นาน ทำให้สามารถสร้างดาวเทียมได้จำนวนมากขึ้น ซึ่งเหมาะสำหรับการกำหนดภารกิจดาวเทียมแบบกลุ่ม ที่สามารถประยุกต์ใช้งานได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น และจะมีบทบาทอย่างมากในการขับเคลื่อนสังคมและยกระดับเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งการใช้งานด้านการทหารและพลเรือน

ดร.พรเทพ นวกิจกนก

ด้าน ดร.พรเทพ นวกิจกนก ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการธีออส-2 สำนักพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ให้ความเห็นถึงประโยชน์ของดาวเทียมว่า ดาวเทียม แบ่งได้ 5 ประเภท คือ 1.ดาวเทียมสื่อสาร เช่น ไทยคม 2.ดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา  3.ดาวเทียมนำทาง 4.ดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติ และ5.ดาวเทียมเพื่อการทดลองทางวิทยาศาสตร์ ดังนั้นดาวเทียมจึงเป็นเรื่องที่อยู่รอบตัวทุกคน ซึ่งการนำมาใช้ประโยชน์เพราะการสำรวจเชิงตำแหน่งมีส่วนสำคัญ ในการนำทาง การพยากรณ์อากาศ การสำรวจสภาพป่า หรือในการทำสมาร์ทฟาร์มมิ่ง ทั้งนี้ในการสร้างดาวเทียมธีออส-2 โดยทีมวิศกรไทย ที่ได้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในประเทศอังกฤษ เป็นดาวเทียมเพื่อการสำรวจพัฒนา โดยอยู่ในขั้นตอนระหว่างการนำส่ง ซึ่งทีมวิศวกรไทยได้ร่วมทำการสร้างตั้งขั้นตอนแรกจนสำเร็จ ส่งผลให้ไทยมีความพร้อมในผลิตบุคลากร นำไปสู่การสร้างเศรษฐกิจอวกาศ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างผู้ประกอบการในการผลิตชิ้นส่วนดาวเทียม หรือหารผลิตวงจรอิเล็กทรอนิกส์ และในขณะนี้ได้เริ่มมีการสร้างโครงการธีออส-3 ไปจนถึงธีออส-9 รวมไปถึงการผลักดันแผนแม่บทอวกาศแห่งชาติ ยกระดับอุตสาหกรรมให้กับประเทศก้าวหน้ายิ่งขึ้น

สำหรับผู้สนใจเข้าร่วมในโครงการ ACC สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook : มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร หรือ www.mut.ac.th

บรรยากาศบนเวทีเสวนา การแข่งขันการสร้างดาวเทียมเชิงวิศวกรรม

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สดช. ยกระดับสมรรถนะความรู้การเข้าใจดิจิทัล (Digital Literacy) ของประชาชน โดยจัดฝึกอบรมให้ความรู้ให้กับประชาชนทั่วประเทศในรูปแบบออนไลน์

เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ดำเนินการจัดฝึกอบรมการยกระดับสมรรถนะประชากรดิจิทัล

สดช. ขอเชิญ นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป เข้าร่วมกิจกรรมยกระดับสมรรถนะประชากรเพื่อให้พร้อมเข้าสู่การเป็นพลเมืองดิจิทัล

สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ขอเชิญ นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป เข้าร่วมกิจกรรมยกระดับสมรรถนะประชากรเพื่อให้พร้อมเข้าสู่การเป็นพลเมืองดิจิทัล ภ

สดช. ยกระดับสมรรถนะความรู้การเข้าใจดิจิทัล (Digital Literacy) ของประชาชน โดยจัดฝึกอบรมให้ความรู้ให้กับประชาชนทั่วประเทศในรูปแบบออนไลน์

เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ดำเนินการจัดฝึกอบรมการยกระดับสมรรถนะประชากรดิจิทัล

สดช. ขอเชิญ นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป เข้าร่วมกิจกรรมการฝึกอบรมการยกระดับสมรรถนะประชากรดิจิทัล

สดช. ขอเชิญ นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป เข้าร่วมกิจกรรมการฝึกอบรมการยกระดับสมรรถนะประชากรดิจิทัล ครั้งที่ 7 วันที่ 30 สิงหาคม 2566 เวลา 08.30–16.30 น.

สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ดำเนินการจัดอบรมการยกระดับสมรรถนะประชากรดิจิทัล

เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา นายสมบูรณ์ เมฆไพบูลย์วัฒนา ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการบริหารเทคโนโลยีดิจิทัลและการสื่อสาร สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ดำเนินการจัดอบรมการยกระดับสมรรถนะประชากรดิจิทัล

เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา นายภาวัต ศุภสุวรรณ รองนายกเทศมนตรี เทศบาลตำบลรัษฎา จังหวัดภูเก็ตกล่าวต้อนรับคณะเจ้าหน้าจากสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม