จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาวิชาการ Chula the Impact ครั้งที่ 17 เรื่อง “ความก้าวหน้านวัตกรรม เซลล์บำบัดมะเร็ง CAR-T cell: โอกาสใหม่ของผู้ป่วยมะเร็งของไทย” ร่วมกับมหาวิทยาลัยนาโกย่า ประเทศญี่ปุ่น ในการพัฒนาการวิจัยรักษาผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชาวไทยด้วยนวัตกรรมเซลล์บำบัด CAR-T cell สำเร็จ
นพ.กรมิษฐ์ ศุภพิพัฒน์ หัวหน้าหน่วยวิจัยเซลล์ภูมิคุ้มกันบำบัด ศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า โดยปกติแล้วการรักษามะเร็งในผู้ป่วย แพทย์จะใช้การรักษาโดยยาเคมีบำบัด แต่การรักษาด้วยนวัตกรรมเซลล์บำบัดมะเร็ง CAR-T cell ต้องผลิตจากเซลล์ของผู้ป่วย ซึ่งนวัตกรรมนี้เป็นวิธีการรักษามะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดรูปแบบหนึ่ง โดยการนำเอาเม็ดเลือดขาวชนิดทีเซลล์ของผู้ป่วยมาดัดแปลงพันธุกรรมให้จำเพาะกับเซลล์มะเร็ง และเพิ่มจำนวนให้มากพอภายนอกร่างกาย ซึ่งจะทำในห้องปฏิบัติการปลอดเชื้อพิเศษ เพื่อให้มีจำนวนมากเพียงพอ จากนั้นจะฉีดกลับเข้าสู่ร่างกายของผู้ป่วย เพื่อทำลายเซลล์มะเร็งในร่างกายของผู้ป่วย โดยการรักษาวิธีนี้ได้ผลดีมากในมะเร็งในระบบเลือด โดยเฉพาะมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ซึ่ง CAR-T cell นี้มีประสิทธิภาพสูงถึง 50 – 80% ในผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาใดๆ ที่มีในปัจจุบันแล้ว อย่างเคสวิจัยทางคลินิกช่วงแรกๆมีผู้ป่วยอายุ 8 ขวบ ซึ่งเป็นมะเร็งเลือดชนิดบีเซลล์ และได้รับการรักษาแบบCAR-T cell เพียง 1 ครั้ง ปัจจุบันผู้ป่วยอายุ 18 ปี หายจากโรคและสามารถใช้ชีวิตได้ปกติ ทำให้นวัตกรรมนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นวิธีการรักษามาตรฐานสำหรับโรคมะเร็งทางระบบเลือดแล้วทั้งในอเมริกาและยุโรป
แต่ด้วยข้อจำกัดในการรักษาด้วยCAR-T cell นี้มีค่าใช้จ่ายต่อการรักษา 1 ครั้งสูงถึง 15 – 20 ล้านบาท โดย 60% คือ ต้นทุนในการดัดแปลงพันธุกรรมเซลล์ในห้องปฏิบัติการ ซึ่งนับเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อในการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วยในไทย ทางกลุ่มวิจัยจึงมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนานวัตกรรมนี้ให้เกิดขึ้นจริงในไทย ดังนั้น สิ่งแรกที่จะต้องทำการผลิตเซลล์ขึ้นมาได้เอง เริ่มจากจัดตั้งศูนย์การผลิตเซลล์และยีนบำบัดที่ทันสมัยขึ้น และทำให้วิธีการผลิตมีต้นทุนที่ถูกลง เพื่อให้การรักษาเกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืนในไทย โดยมีความร่วมกับคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการดัดแปลงพันธุกรรมของทีเซลล์ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) และศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ในการพัฒนาระบบคุณภาพสำหรับควบคุมการผลิต เพื่อการผลิต CAR-T cell ที่มีคุณสมบัติ ตามมาตรฐานสากลขึ้นได้เองในไทยการผลิต CAR-T cell โดยอาศัยพาหะไวรัส (viral vector) รพ.จุฬาฯนับเป็นสถานที่ผลิตเซลล์ภายในสถานพยาบาลแห่งแรกที่ได้รับการรับรองจากอย.
ทั้งนี้ในการดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อใช้ในมนุษย์ เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ CAR-T cell มีต้นทุนสูงมากทางกลุ่มวิจัยจึงได้ร่วมมือกับคณะผู้วิจัยจากมหาวิทยาลัยนาโกย่า ประเทศญี่ปุ่น ที่กำลังศึกษาวิจัยการผลิต CAR-T cell โดยไม่ใช้ไวรัส ด้วยเทคโนโลยี PiggyBac Transposon คือ การใช้สารพันธุกรรมที่ถูกห่อหุ้มด้วยเทคโนโลยี PiggyBac Transposon และใช้กระแสไฟฟ้ายิงสารพันธุกรรมนี้เข้าไปในเซลล์ เพื่อให้เซลล์เกิดการดัดแปลงพันธุกรรมเรียนรู้มะเร็ง เหมือนกับวิธีการที่ใช้ไวรัสเข้าไปเป็นพาหะ ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลงถึง 10 เท่า จนในที่สุดทางกลุ่มวิจัยประสบผลสำเร็จในการปรับปรุงกระบวนการและทดสอบการผลิต CAR-T cell แบบที่ไม่ใช้ไวรัส จากเลือดของผู้ป่วยอาสาสมัครชาวไทย นำไปสู่ความร่วมมือในการวิจัยทางคลินิกต่อไป
ด้าน Prof. Yoshiyuki Takahashi, MD, PhD หัวหน้าภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนาโกย่า ประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า ทีมวิจัยของนาโกย่าได้พัฒนาวิธีการผลิต CAR-T cell โดยไม่ใช้ไวรัสเป็นพาหะในการดัดแปลงพันธุกรรม โดยเทคโนโลยี piggyBac transposon เป็นพาหะ ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายกว่า และมีต้นทุนต่ำกว่าการใช้ไวรัสมาก เมื่อปี 2561 มหาวิทยาลัยนาโกย่า ได้ทำข้อตกลงร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อสนับสนุนการวิจัยและรักษามะเร็งด้วย CAR-T cell ให้เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย โดยการสนับสนุน piggyBac Transposon สำหรับการผลิต CAR T cell เพื่อดำเนินการทำวิจัยทางคลินิกในผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ซึ่งในขณะนี้การวิจัยทางคลินิกในไทยยังคงเดินหน้าต่อไป และมีความปลอดภัยในการใช้รักษาผู้ป่วย
Prof. Yoshiyuki กล่าวต่อว่า ทางประเทศญี่ปุ่นเองก็ได้เริ่มดำเนินการวิจัยทางคลินิกด้วยนวัตกรรม CAR-T cell ในผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดบีเซลล์ในเบื้องต้นได้ผลดีมาก และกำลังจะเริ่มงานวิจัยทางคลินิกในมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ที่มีการกลับมาเป็นซ้ำหรือดื้อต่อการรักษา นำโดยมหาวิทยาลัยนาโกย่าร่วมกับโรงพยาบาลชั้นนำของประเทศญี่ปุ่น ได้แก่ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยฮอกไกโด โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเกียวโต โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยคิวชู โรงพยาบาลศูนย์โรคมะเร็งแห่งชาติภาคตะวันออก นอกจากนี้เรายังมีความมุ่งมั่นที่จะให้การสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรม CAR-T cell ให้เกิดขึ้นในประเทศอื่น ๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อให้มีผู้ป่วยเข้าถึงนวัตกรรมนี้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ผศ.นพ.อุดมศักดิ์ บุญวรเศรษฐ์ หัวหน้าสาขาวิชาโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวเสริมในส่วนของการวิจัยว่า ในการรักษาด้วยวิธี CAR-T cell จะเห็นว่าส่วนใหญ่จะรักษาลูคีเมียและเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็ก ซึ่งทางรพ.จุฬาฯ ก็ให้ความสำคัญกับผู้ป่วยในกลุ่มผู้ใหญ่ ที่เป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองจึงมีการจัดตั้งทีมสหสาขาวิชาขึ้นเฉพาะ โดยทางทีมวิจัยได้เริ่มการวิจัยทางคลินิกในระยะที่ 1 ในช่วงปลายปี 2563 เพื่อศึกษาความปลอดภัยและประสิทธิภาพเบื้องต้นของ CAR-T cell ในการใช้รักษาผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดบีเซลล์ ที่มีโรคกลับเป็นซ้ำและดื้อต่อการรักษาด้วยวิธีมาตรฐานอื่น ๆ แล้ว จำนวน 5 ราย ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่ผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองสามารถเข้าถึงการรักษาด้วย CAR-T cell ได้
ผลการทดสอบในผู้ป่วย ผศ.นพ.อุดมศักดิ์ กล่าวว่า หลังจากที่ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยวิธีนี้เข้าไปแล้วนั้น ผู้ป่วยมีการตอบสนองเบื้องต้นอยู่ในระดับที่น่าพึงพอใจและมีผลข้างเคียงอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ ใกล้เคียงกับการรักษาด้วยผลิตภัณฑ์ CAR-T cell ที่ใช้กันอยู่ในต่างประเทศ นอกจากนี้ในผู้ป่วยอาสาสมัครรายหนึ่งที่มีก้อนขนาดใหญ่ถึง 10 เซนติเมตร และดื้อต่อการรักษา ทุกชนิดที่มีอยู่ เมื่อเข้าร่วมโครงการวิจัยนี้พบว่าเราสามารถควบคุมโรคไว้ได้ และทำให้ผู้ป่วยปราศจากโรคมาแล้วถึง 1 ปี หลังจากที่ได้รับ CAR-T cell เพียงอย่างเดียวเท่านั้น
ผศ.นพ.อุดมศักดิ์ กล่าวถึงทิศทางในการวิจัยว่า หลังจากนี้ทีมวิจัยได้ตั้งเป้าไว้ว่าจะดำเนินการวิจัยทางคลินิกในผู้ป่วยเพิ่มอีก 7 ราย รวมเป็น 12 ราย ให้แล้วเสร็จภายในปี 2566 หากผลเป็นที่น่าพอใจ เป้าหมายต่อไปคือการเปิดให้บริการการรักษาด้วย CAR-T cell ที่สามารถผลิตขึ้นเองได้ภายในสถานที่ผลิตในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ยกระดับการรักษามะเร็งปอดด้วยนวัตกรรมใหม่ เพียง 7 นาที เพิ่มเวลาชีวิตให้คนไข้
คนไทยป่วยมะเร็งปอดรายใหม่ วันละ 64 คน เสียชีวิตอันดับ 2 ของมะเร็งในไทย' ปัจจัยจากพันธุกรรม พบได้มากใน ผู้ป่วยชาวเอเชีย แม้ไม่สูบบุหรี่-ไม่ได้รับฝุ่น PM2.5
'ชัย' ยันรัฐบาลมุ่งเพิ่มสิทธิรักษามะเร็งมะเร็งครบวงจร!
นายกฯ มุ่งมั่นเพิ่มสิทธิประโยชน์รักษามะเร็ง 'มะเร็งครบวงจร' เพิ่มการตรวจคัดกรองเชิงรุก และการดูแลรักษามะเร็ง ให้แก่ผู้ใช้บัตรทอง 30 บาท เพื่อความครอบคลุม ทั่วถึง เท่าเทียม
ผู้ประกันตนตรวจพบมะเร็งใช้สิทธิประกันสังคมรักษาฟรี!
'คารม' เผยผู้ประกันตนมาตรา 33 และ 39 ตรวจพบว่าเป็นโรคมะเร็ง ใช้สิทธิประกันสังคมรักษาฟรี
'ชูวิทย์' เปิดใจป่วยมะเร็งตับ หมอบอกเหลือเวลา 8 เดือน เดินหน้าแฉไม่หวังอะไร
นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ให้สัมภาษณ์ ถึงอาการป่วยโรคมะเร็งว่า ตนขอใช้ชีวิตในช่วงสุดท้ายต่างจากคนอื่น เพราะกินเหล้า สูบบุหรี่ และการที่ออกมาแฉ ออกมาพูด เนื่องจากคนอื่นไม่กล้า ซึ่งยืนยันว่าทำด้วยความเต็มใจและทำทุกอย่างด้วยความสุข
'บิ๊กตู่' ชื่นชมเอ็มโอยูไทย-ญี่ปุ่นทำวิจัยมะเร็งทางคลินิกข้ามพรมแดนครั้งแรกของโลก
นายกฯ ชื่นชมความร่วมมือกันระหว่างไทย- ญี่ปุ่น ผ่านโครงการวิจัยทางคลินิกระหว่างประเทศ ยกระดับการศึกษาวิจัย ยาโรคมะเร็งจากจีโนมิกส์ทางการแพทย์ พัฒนายาที่เหมาะสมในการรักษา