ช่วงสองเดือนมานี้หลายคนเจ็บป่วยด้วยอาการภูมิแพ้กำเริบ อักเสบบวมในช่องจมูก น้ำมูกไหลมากกว่าปกติ เพราะมลพิษฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ที่หายใจเข้าไปในวันที่สภาพอากาศย่ำแย่ เมืองห่มคลุมด้วยหมอกควันและมลพิษอากาศ ปัญหาฝุ่นพิษบั่นทอนสุขภาพคนไทยเป็นประจำทุกปี
รายงานคุณภาพอากาศโลกปี 2565 ที่เพิ่งเปิดตัว ซึ่ง IQAir จัดทำขึ้นเพื่อนำเสนอข้อมูลคุณภาพอากาศ PM2.5 จาก 7,323 เมือง ใน 131 ประเทศ และภูมิภาค โดยรวบรวมข้อมูลมาจากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศภาคพื้นดินกว่า 30,000 แห่งทั่วโลก และใช้เกณฑ์แนะนำคุณภาพอากาศขององค์การอนามัยโลก (WHO) เป็นค่าพื้นฐานในการนำเสนอข้อมูลคุณภาพอากาศ จากรายงาน IQAir ระบุว่า คุณภาพอากาศของไทยแย่ติดอันดับ 5 จากทั้งหมด 9 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอยู่อันดับที่ 57 จาก 131 ประเทศ และทุกภูมิภาคทั่วโลก
ข้อค้นพบจากรายงานมีเพียง 8 เมืองจากทั้งหมด 296 เมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้นที่ผ่านหลักเกณฑ์ค่าแนะนำคุณภาพอากาศ PM2.5 ฉบับปรับปรุงล่าสุดปี 2564 ของ WHO
ส่วนไทยและอินโดนีเซียมีจำนวนเมือง/ อำเภอ ที่มีมลพิษมากที่สุดจากทั้งหมด 15 อันดับของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยที่ไทยมี 7 อำเภอที่มีมลพิษสู งคือ อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.สระบุรี, อ.เมืองน่าน จ.น่าน, อ.ปากน้ำ จ.สมุทรปราการ, คลองตาคต จ.ราชบุรี, ท่าวาสุกรี จ.พระนครศรีอยุธยา, ดอนหัน จ.ขอนแก่น , ยางซ้าย จ.สุโขทัย และอินโดนีเซียมี 5 เมืองคือ ปาซาร์เคมิส, ชีเลงเซีย, จาการ์ตา, เบกาซี, สุราบายาตามลำดับ
กรุงเทพมหานคร เป็นเมืองที่มีค่าความเข้มข้นฝุ่น PM2.5 เฉลี่ยรายปี สูงเป็นอันดับที่ 5 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นอันดับที่ 52 ของโลก มีค่าความเข้มข้น PM2.5 เฉลี่ย 18 มคก./ลบ.ม.
ปี 65 เดือนมีนาคม คือ เดือนที่ค่าฝุ่น PM2.5 ในไทยพุ่งสูงมากที่สุดในรอบปี รองลงมาคือเดือนเมษายน จังหวัดที่มีความเข้มข้นฝุ่น PM2.5 เฉลี่ยต่อปี มากที่สุดของไทย คือ สระบุรี รองลงมาคือ หนองคาย น่าน ลำปาง และขอนแก่น ตามลำดับ โดยดัชนีคุณภาพอากาศ ของทั้ง 5 จังหวัด ในช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน มีแค่ 4 ระดับ เท่านั้นคือ ระดับที่ส่งผลกระทบต่อกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยหรือร่างกายอ่อนแอ (สีส้ม) ระดับที่ส่งผลกระทบต่อทุกคน ระดับเสี่ยงต่อสุขภาพอย่างมาก และระดับอันตราย (สีแดงเลือดหมู) และยังเป็นช่วงที่ประชาชนในภาคเหนือของไทยมีความเสี่ยงต่อผลกระทบสุขภาพจากมลพิษทางอากาศรุนแรง ซึ่งสถานการณ์ฝุ่นPM2.5 ปีนี้เยอะไม่แพ้ปีที่แล้ว
องค์การอนามัยโลก (WHO) ใช้เกณฑ์แนะนำคุณภาพอากาศ (Air Quality Guidelines: AQGs) ฉบับใหม่ เพิ่มมาตรฐานการกำหนดค่าเฉลี่ยรายปีของฝุ่น PM 2.5 อยู่ที่ 5 มคก./ลบม. จากดิม 10 มคก./ลบ.ม. และค่าเฉลี่ยราย 24ชั่วโมงของฝุ่น PM 2.5 ที่ 15 มคก./ลบ.ม. ลดจากเดิม 25 มคก./ลบ.ม.
ส่วนประเทศไทยมีประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม สมควรปรับปรุงการกำหนดมาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน2.5 ไมครอน ในบรรยากาศโดยทั่วไปเพื่อเป็นเกณฑ์สำหรับการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมตามพรบ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 กำหนดมาตรฐานฝุ่นPM 2.5 ในบรรยากาศโดยทั่วไป ให้ค่าเฉลี่ยในเวลา 24 ชม. จะต้องไม่เกิน 37.5 ไมครอน ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2566 เป็นต้นไป ส่วนค่าเฉลี่ย PM2.5 ในเวลา 1 ปี จะต้องไม่เกิน 15 มคก./ลบ.ม
นุชจริยา อรัญศรี ผู้อำนวยการส่วนมลพิษจากยานพาหนะ กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า ในวันที่ 1 มิ.ย.นี้ ค่าเฉลี่ยฝุ่นPM2.5 รวมถึงสีที่ใช้แจ้งเตือนระดับคุณภาพอากาศที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจะเปลี่ยนไป ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือของคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศเกี่ยวกับการคำนวนค่า AQI การกำหนดเกณฑ์มาตรฐานที่เข้มงวดมากขึ้น จะสร้างความปลอดภัยต่อสุขภาพประชาชนมากขึ้น ปัจจุบันนี้ไทยใช้มาตรฐานฝุ่นPM2.5 ไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม. ใน 24 ชม. เมื่อปรับใหม่เหลือ 37.5 มคก. ฝุ่นจะลดลง ในบรรยากาศ ยิ่ง WHO กำหนดค่าเฉลี่ยไว้ 15 มคก./ลบ.ม. แต่การปรับค่ามาตรฐานต้องคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสภาวะเศรษฐกิจและสังคมในประเทศไทย ก็ต้องค่อยๆ ปรับ แต่จีนและอินเดียยังมีค่ามาตรฐานสูงกว่าบ้านเรา
“ การออกมาตรฐานฝุ่นในบรรยากาศให้เข้มขึ้นจำเป็นอย่างมาก เพื่อลดการระบายมลพิษจากแหล่งกำเนิด เพื่อให้คุณภาพอากาศเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน โดยต้องควบคุมผ่านมาตราการต่างๆ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่าง กระทรวงทรัพย์ กระทรวงเกษตร ควบคุมการเผาที่โล่ง ในพื้นที่ป่า ส่วนยานพาหนะ กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนด ปี 2567 จะมีการปรับเปลี่ยนบังคับใช้มาตรฐานยูโร 5 สำหรับรถยนต์ใหม่ ตามแผนชาติแก้มลพิษฝุ่นละออง กระทรวงพลังงานออกประกาศกำหนดคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงเทียบเท่ามาตรฐานยูโร 5 รองรับ เพื่อคุมการปล่อยไอเสีย หนึ่งในตัวการก่อฝุ่นให้เข้มงวดขึ้น เพราะควันดำจากรถยนต์ดีเซล WHO ยืนยันมีสารก่อมะเร็ง “ นุชจริยา กล่าว
อย่างไรก็ตาม ผอ. กล่าวด้วยว่า การลดฝุ่นในเมือง ไม่ได้มาจากฝุ่น PM2.5 อย่างเดียว ยังมีก๊าซต่างๆ จากการเผาไหม้ ก่อให้เกิดฝุ่นทุติยภูมิ ยกตัวอย่างรถจักรยานยนต์ไม่ได้ปล่อยควันดำ แต่ปลดปล่อยก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ ก๊าซไฮโดรคาร์บอน ซึ่งทำปฏิกริยากับมลพิษในอากาศ ก่อเกิดฝุ่นขนาดเล็ก ฝุ่นในกรุงเทพฯ 25% เป็นฝุ่นทุติยภูมิ แยกเป็นฝุ่นจากจักยายนนต์ 5% การกำหนดมาตรฐานรถยนต์ทุกประเภท เพื่อลดฝุ่นทุติยภูมิ ตอนนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งทำมาตรฐานยูโร 5 รองรับรถจักรยานยนต์ด้วย เป็นตัวอย่างกำหนดมาตรการที่จะเข้มงวดขึ้นสู้ฝุ่น ส่วนการตรวจสภาพรถจักยานยนต์และเปลี่ยนน้ำมันเครื่องช่วยลดมลพิษได้
ขณะเดียวกันการควบคุมแหล่งกำเนิดฝุ่นจากภาคอุตสาหกรรม โรงงานอุตสาหกรรมจะปรับปรุงค่ามาตรฐานการปล่อยมลพิษที่เข้มงวดมากขึ้น อีกทั้งกรมโรงงานอุตสาหกรรมจะเข้มงวดในการตรวจโรงงานในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลกว่า 800 โรงงาน โดยเฉพาะช่วงที่คาดการณ์ปริมาณฝุ่นเยอะหรือสภาพอากาศแย่ ต้องกวดขันโดยเฉพาะโรงงานที่ใช้พลังงานถ่านหิน โรงหลอมเหล็ก แม้โรงงานตั้งอยู่ชานเมือง แต่การกระจายของฝุ่นมาถึงเมือง ปัจจัยสภาพอากาศมีผลเพิ่มปัญหาฝุ่น ขณะนี้กรุงเทพฯ เหนือ เจอปัญหาฝุ่น ส่วนภาคอีสานไม่ใช่ไม่มีฝุ่น กำลังจะมา
ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติครั้งล่าสุด ผอ.ระบุมีการยกระดับมาตรการแก้ปัญหาฝุ่นในพื้นที่เมือง พื้นที่เกษตร และพื้นที่ป่าไม้ เน้นการควบคุมแหล่งกำเนิดมลพิษหลักๆ การบริหารจัดการพื้นที่ การบริหารจัดการมลพิษในภาครวม
ปัญหาอุปสรรคของการแก้ปัญหาฝุ่นพิษในประเทศไทย นุชจริยาระบุว่า ภาคการเกษตรเผชิญปัญหาด้านนวัตกรรม ความรู้ และเงิน การเปลี่ยนวิถีการเผาในที่โล่งต้องมีความพร้อม การส่งเสริมความรู้ ทางเลือกในการจัดการ และการสร้างภาคีเครือข่าย นอกจากนี้ มีอุปสรรคจากปัญหาหมอกควันและไฟป่าข้ามพรมแดนจากประเทศเพื่อนบ้าน ถือเป็นมลพิษข้ามพรมแดน ต้องมีการประสานและสื่อสารกับประเทศเพื่อนบ้านให้ตระหนักการลดการเผา เพราะฝุ่นที่ปกคลุมบ้านเราไม่ได้มาจากแหล่งกำเนิดในประเทศอย่างเดียว
ด้าน อัลลิยา เหมือนอบ นักรณรงค์ด้านมลพิษทางอากาศ กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลไทยต้องกำหนดให้มีมาตรฐานการปล่อยมลพิษ PM 2.5 จากปลายปล่องและจากแหล่งกำเนิดหลัก (Emission Standard) และออกกฎหมาย PRTR ที่จะช่วยให้รัฐบาลสามารถใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานเพื่อกำหนดนโยบายสิ่งแวดล้อม กำหนดแนวทางการวางแผนป้องกันและแก้ไขปัญหา PM2.5 ตลอดจนติดตามตรวจสอบการบังคับใช้กฎหมาย การวางแผนรองรับเหตุฉุกเฉิน ลดใช้สารเคมีเป็นพิษในกระบวนการผลิตและลดปล่อยมลพิษจากแหล่งกำเนิด เพื่อคุ้มครองสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้นทาง
“ ประชาชนภาคเหนือของไทยมีความเสี่ยงต่อผลกระทบสุขภาพจากมลพิษอากาศ โดยเฉพาะช่วงเดือนมีนาคม-เมษายนของทุกปี ข้อมูลรายงานของกรีนพีซ ประเทศไทย พบว่า การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในภาคเหนือตอนบนของไทย และการขยายการลงทุนของบริษัทอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ของไทยเพื่อผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง คือสาเหตุหนึ่งของมลพิษข้ามพรมแดนที่มีความเชื่อมโยงกับวิกฤตฝุ่นควันในภาคเหนือ “ อัลลิยา กล่าว
เมืองไทยต้องคละคลุ้งด้วยฝุ่นพิษต่อไป ส่วนในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น 14 พ.ค. นี้ กรีนพีซ เปิดแคมเปญ #VoteForClimate เข้าคูหากาสิ่งแวดล้อม กรีนพีซ มีข้อเสนอนโยบายสิ่งแวดล้อมต่อพรรคการเมือง โดยปัญหามลพิษทางอากาศฝุ่น PM2.5 คือ หนึ่งในประเด็นสิ่งแวดล้อมที่ต้องผลักดันให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างจริงจังเป็นรูปธรรม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและสุขภาวะของคนในประเทศ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เตรียมรับมือหมอกควัน-ฝุ่นพิษ 2568
ใกล้จะเข้าสู่ฤดูกาลฝุ่นช่วงเวลาที่ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จะเริ่มสูงขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาประเมินช่วงหลังวันที่ 23 ตุลาคม 2567 ประเทศไทยตอนบนจะเริ่มมีฝนที่ลดลง และจะมีมวลอากาศเย็นแผ่เข้ามาบริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย
จุดยืนไทยต่อเวทีโลกเดือด COP29
ไทยเป็นหนึ่งในประเทศกำลังพัฒนาติดอันดับท็อปเท็นของโลกที่มีความเสี่ยงสูงจากผลกระทบของวิกฤตสภาพภูมิอากาศในระยะยาว EM-DAT รายงานข้อมูล 20 ปีที่ผ่านมาจนถึงปี 2565 ประเทศไทยเผชิญกับเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว 146 ครั้ง สร้างความสูญเสียต่อชีวิต 0.21
'อดีตปธ.กมธ.คมนาคม' บี้ถอดบทเรียนบัสมรณะ เร่งสร้างจิตสำนึกคนขับ-เข้มใช้กม.
'อดีตปธ.กมธ.คมนาคม' ชี้รายงานWHO ไทยครองอันดับ 1 อาเซียน เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน และอันดับ 9 ของโลก สาเหตุหลักคนขับรถประมาท แนะรัฐบาลถอดบทเรียนโศกนาฏกรรมบัสมรณะ
เปิดผลสอบ 'ฝีดาษลิง' ธรรมชาติรังสรรค์ หรือมนุษย์ประดิษฐ์!
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ที่ปรึกษาวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ "การสอบสวนฝีดาษลิงธรรมชาติสร้างสรรค์หรือมนุษย์ประดิษฐ์"