เที่ยวดินแดนคชสาร สัมผัส'วิถีคนกับช้าง'

พาช้างอาบน้ำที่แม่น้ำชี

ถ้าอยากเห็นสายสัมพันธ์อันเหนียวแน่นระหว่างคนกับช้าง  พร้อมกับพิธีคล้องช้างที่สืบทอดยาวนาน  ต้องไปที่จังหวัดสุรินทร์  ซึ่งมีหมู่บ้านช้างที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ย้อนไปเมื่อครั้งอดีตนั้นในพื้นที่แห่งนี้ ที่เป็นจังหวัดสุรินทร์ในทุกวันนี้ เป็นถิ่นอาศัยของชาวกวยหรือกูย ผู้มีความชำนาญในการคล้องช้างป่ามาตั้งแต่บรรพบุรุษ  ทุกปี”หมอช้าง” ออกไปป่าเพื่อคล้องช้าง

การออกไปคล้องช้างแต่ละครั้ง เปรียบเสมือนบททดสอบความกล้าหาญ และความแข็งแกร่งของหนุ่มชาวกวย จึงต้องมีการประกอบพิธี หาฤกษ์ยามที่เหมาะสม และอุปกรณ์ที่ใช้คล้องช้างต้องทำจากหนังปะกำ เพราะนั่นหมายถึงการกระโจนเข้าไปหาอันตราย เมื่อจับช้างได้ก็จะเป็นที่รักใคร่ หรือสามารถเลือกคู่ครองได้ และมีการส่งต่อพิธีกรรมเกี่ยวกับช้างยังรุ่นลูกหลานของครอบครัวหมอช้าง

ไหว้พระครูปะกำ

เวลาผันเปลี่ยนไปการคล้องช้างป่าก็ค่อยๆหายไปด้วย เพราะช้างป่า ถือเป็นสัตว์ในกลุ่มใกล้สูญพันธ์ จากการถูกรุกพื้นที่ป่า หรือการล่างา เพื่อเก็บเป็นของสะสม ฯลฯ  จึงมีการอนุรักษ์ช้าง ได้ใช้ชีวิตและเติบโตตามธรรมชาติ ส่วนช้างบ้านก็อยู่ภายใต้ พรบ.สัตว์พาหนะ ในการดูแลของกรมการปกครอง ต้องมีการจดทะเบียนตั๋วรูปพรรณช้างเพื่อแสดงกรรมสิทธิ์และป้องกันการลักสัตว์

พอได้เกร็ดเล็กๆเกี่ยวช้างไม่มากก็น้อย ไฉนเลยจะดีไปกว่าการได้สัมผัสวิถีของคนกับช้างจริงๆ เพราะในปัจจุบันช้างที่พบเห็นได้อยู่ทั่วไป อาจจะเป็นความสัมพันธ์ในอีกรูปแบบอย่าง เช่น คนที่พาช้างเดินตามถนนเพื่อขายอาหาร ตามงานแสดง หรือตามปางช้างต่างๆ  

ตาลุน ศาลางาม หมอช้าง ผู้ทำพิธีไหว้พระครู ปะกำ

จุดมุ่งหมายการออกเดินทางครั้งนี้จึงมุ่งหน้าสู่ “คชอาณาจักร” บ้านตากลาง อ.ท่าตูม แหล่งเลี้ยงช้างของจ.สุรินทร์ ที่มีอยู่จำนวนหลายหลัง แบ่งการดูแลตามศูนย์ต่างๆ มีกิจกรรมสำหรับนักท่องเที่ยวให้ได้ใกล้ชิดกับช้างอีกด้วย

ลอดท้องช้างพังดอกรัก

จากสนามบินบุรีรัมย์มายังบ้านตากลาง ใช้เวลาเดินทางราวๆ 2 ชั่วโมง ก็มาถึงที่คชอาณาจักร ซึ่งเป็นโครงการนำช้างคืนถิ่น เพื่อช่วยเหลือช้างเร่ร่อน ตามพระราชเสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ภายใต้การดูแลขององค์การสวนสัตว์ ในปัจจุบันมีช้างอยู่ในโครงการทั้งสิ้น 200 เชือก มีครัวเรือนของควาญช้างราวๆ 70 หลัง โดยมีเป้าหมายที่สำคัญคือ การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับ ช้างและควาญช้าง บนพื้นที่ 3,000 ไร่ มีการแบ่งพื้นที่ปลูกบ้านให้ครอบครัวละ 2 ไร่ มีพื้นที่ปลูกหญ้าเนเปียร์ให้เชือกละ 4 ไร่ และมีการแจกหญ้าให้อีก 3 ครั้งต่อสัปดาห์ มีสัตวแพทย์และนักโภชนาการที่คอยรักษาและให้คำแนะนำ ที่นี่จะไม่มีการให้ช้างทำการแสดงโชว์นะ ให้ช้างได้อยู่ตามวิถีธรรมชาติ

นักท่องเที่ยวต่างชสติพาช้างอาบน้ำเปียกปอนทั้งคนและช้าง

ความน่าสนใจ คือ นอกจากเงินรายเดือนที่ครอบครัวช้างจะได้รับแล้ว รายได้เสริมอีกช่องทางคือการออกงานแห่ต่างๆ และมีข่องยูทูปเป็นของตัวเอง เพราะช้างเกือบ 200 เชือกที่นี่มีช่องยูทูปเกือบทั้ง 200 เชือกเลย จุดเริ่มต้นก็มาจากพลายบัวบาน ดาวยูทูปเบอร์ของควาญสิงห์และควาญเสือ ที่อยู่ศูนย์คชศึกษา ที่ทำช่องยูปช่วยสร้างรายได้ และยังมีครอบครัวพลายโอเล่ ของควาญน้อย ซุปเปอร์สตาร์ติ๊กต๊อก ที่มีผู้ติดตามกว่า 3.5 แสนคน ซึ่งก็เป็นช่องทางที่ทำให้เราได้เห็นความซุกซน นิสัยและความผูกพันธ์ของช้างกับควาญด้วย

ช้างขี้เล่น นอนเล่นในน้ำเย็นๆเลยมีคนถูตัวให้ด้วย

ส่วนกิจกรรมท่องเที่ยวของคชอาณาจักรก็มีหลายโปรแกรม โดยเราเลือกทำกิจกรรมครึ่งวัน เริ่มต้นที่การเซ่นไหว้พระครูปะกำ ซึ่งจัดสร้างขึ้นเป็นอนุสาวรีย์  เป็นที่เคารพบูชาของเหล่าควาญช้าง โดยมีคุณตาลุน ศาลางาม หมอช้าง เป็นผู้ทำพิธี หลังจากนั้นก็ได้เวลาทัวร์ชมหมู่บ้านช้างสัมผัสธรรมชาติ มาต่อที่กิจกรรมชมหมู่บ้านช้าง นั่งรถแต๊กๆ ระหว่างสองข้างท้างก่อนจะไปถึงตัวหมู่บ้าน ก็จะมีทุ่งหญ้าเนเปียร์ที่ปลูกเป็นแปลงตลอดแนว มีต้นไม้น้อยใหญ่ให้ความร่มรื่น บางทีควาญก็จะพาช้างมาเดินเล่น พอรถหันเข้าสู่หมู่บ้านก็จะเริ่มเห็นบ้านควาญช้างแต่ละหลังมีลักษณะการปลูกยกสูงใต้ถุนโล่ง ชั้นบนเป็นไม้ มีโรงเลี้ยงช้างอยู่ข้างๆบ้าน หน้าบ้านก็จะมีป้ายบอกชัดเจนว่าเป็นบ้านของพังหรือพลายชื่อว่าอะไร ไม่รั้วกั้นให้ความรู้สึกเหมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน ไปมาหาสู่กันง่ายด้วย

พ่นน้ำไม่หยุด เพราะสนุกมาก

มาถึงบ้านของพังสมบูรณ์ อายุ 45 ปี จุดนี้เราได้เรียนรู้สุขภาพช้างจากสัตวแพทย์  ตั้งแต่การเข้าหาช้าง ต้องเรียกควาญประจำช้างเชือกนั้น ไม่ให้เดินเข้าหาตรงๆ มีการส่งเสียงเพื่อส่งสัญญาณว่าจะเข้าหา เพื่อไม่ให้ช้างตื่นกลัว หรือระแวงเวลาเข้าหา  ส่วนช้างสุขภาพดีหรือไม่ก็จะสังเกตได้จาก การตอบสนองทั้งการยืนโยก หรือยืนทานอาหาร มีอุปกรณ์ในการตัดแต่งเล็บ เพราะบางเล็บอาจจะยาวเกิน หรือมีการติดเชื้อ อุปกรณ์ในการให้ยาต่างๆ

ช้างใจดีให้สัมผัสงาเรียวยาว

ด้านอาหารของช้างก็มีนักโภชนาการในการดูแล  เพื่อให้ช้างได้ทานอาหารครบถ้วน หลักๆก็จะเป็นหญ้าเนเปียร์  อย่าง พังสมบูรณ์ น้ำหนัก 3,000 กิโลกรัม ก็จะต้องได้ทานอาหารประมาณ 300 กิโลกรัมต่อวัน โดยก็จะมีการส่งเสริมให้ครอบครัวช้างปลูกหญ้าด้วย นอกจากนี้มีต้นสัปปะรดที่เกษตรกรตัดลูกออกแล้ว ต้นไผ่ ต้นขนุน อ้อย  กล้วย อ้อยนั้นเป็นอาหารเสริมให้กินประมาณ 20-30 กิโลกรัม เนื่องจาก มีน้ำตาลเยอะอาจจะทำให้อ้วนได้ ถึงว่านั่งรถแต๊กๆ ผ่านบ้านช้างแต่ละเชือกรูปร่างสมบูรณ์สวยงามสง่าทุกเชือกจริงๆ

หมดเวลาสนุกแล้ว ต้องบอกลาเหล่าช้างผู้น่ารัก

ใกล้ๆกับบ้านของพังสมบูรณ์ก็จะบ้านของพังดอกรัก อายุ 16 ปี ที่เพิ่งเสร็จจากการเล่นน้ำมาหมาดๆ หน้าตาดูสดชื่น ชูงวง โยกตัวไปมาทักทายเหล่าคณะที่มายืนชม และทำกิจกรรมลอดท้องช้าง เราก็จะมาลอดท้องของพังดอกรักนี่แหละ โดยมีควาญช้างเป็นผู้ดูแล ซึ่งจะลอดทั้งหมด 3 รอบ การลอดท้องช้างเป็นความเชื่ออย่างหนึ่งในการช่วยสะเดาะเคราะห์ นำพาโชคดี พังดอกรัก ก็น่ารักมากๆ ยืนนิ่งๆให้ทำกิจกรรมนี้ผ่านไปได้ด้วยดี

พังสมบูรณ์ โชว์ตัวสุขภาพแข็งแรง 

และกิจกรรมสุดท้ายคือ ไปดูการผลิตกระดาษจากมูลช้าง ที่อยู่ในระแวกเดียวกัน ซึ่งก็จะมีผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปนอกจากสมุด ก็ยังมีร่ม และกรอบรูปน่ารักๆด้วย โอกาสดีได้เจอกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติมาทำกิจกรรมอาบน้ำช้างที่แม่น้ำชีในช่วงเย็นด้วย พาเห็นน้ำเท่านั้นแหละ สังเกตได้ว่าช้างทุกเชือกพร้อมเดินลงน้ำ  พอได้ลงปุ๊บก็มีช้างเชือกหนึ่งนอนเล่นน้ำเลย ชาวต่างชาติก็เอ็นดูช่วยถูตัวให้ด้วย บางเชือกก็พ่นน้ำใส่กันคึกครื้นสุดๆ จบกิจกรรมทั้งชาวคณะและนักท่องเที่ยว ก็โบกมือลาเหล่าช้างและควาญช้างที่มาช่วยสร้างความประทับใจตลอดทั้งทริปนี้

ยกขาโชว์ความน่ารัก 

หากมีเวลาอยากให้ลองแวะมาที่ แซตอม ออร์แกนิค ฟาร์ม ที่นี่มีการทำนาอินทรีย์ ปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมืองสุรินทร์  เช่น พันธุ์ผกาอำพันธุ์มะลินิล พันธุ์มะลิแดง ข้าวเหนียวแดง และข้าวหอมมะลิข้าวสุรินทร์ ข้าวที่เหลือจากขายก็จะทำมาแปรรูปเป็นสาโท หรือเรียกให้เข้าใจคือ ไวท์ข้าวนั้น รสชาติต้องบอกว่าลองมาชิมเองน่าจะดีกว่า เพราะความชอบของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ที่นี่ยังมีการทำโฮมสเตย์เต็มอิ่มกับการเรียนรู้เกษตรด้วยนะ .

พลายโอเล่ กำลังอยู่ในช่วงตกมันต้องแยกออกไปอยู่เชือกเดียว  ภาพ:khobjaithailand
พลายบัวบาน(ซ้าย) และครอบครัว
ผลิตภัณฑ์กระดาษจากมูลช้าง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แชมป์'ช้าง ยู-แชมเปี้ยนคัพปี2' ยกทีมเปิดประสบการณ์ ระดับโลกที่อังกฤษ

กว่า 30 ปีแห่งความมุ่งมั่นพัฒนาวงการฟุตบอลไทย ของ “น้ำแร่ธรรมชาติตราช้าง”ผ่าน “ช้าง ยู-แชมเปี้ยน คัพ ปี 2” หนึ่งในโครงการการแข่งขันฟุตบอลระดับมหา’ลัยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดชิงรางวัลสุดเอ็กซ์คลูซีฟบินไปเปิดประสบการณ์ระดับโลกที่อังกฤษแบบยกทีม

งานวิจัยชี้ชัด ช้างไม่ต่างจากคน เลี้ยงในคอกตัวเดียวเครียดกว่ามีควานช้างพาออกข้างนอก

'ดร.อานนท์' ยกงานวิจัย จิตวิทยาพื้นฐาน ช้างไม่ต่างจากคน การเลี้ยงในคอกตัวเดียวมีความเครียดมาก หรือควมมสุขน้อยกว่าการเลี้ยงที่มีควานช้างพาออกไปทำงานข้างนอกบ้าง แม้จะล่ามโซ่เป็นคราวๆ เหมือนเยาวชนในสถานพินิจได้ออกมาฝึกอาชีพ คนคุกได้ออกไปลอกท่อ

'เศรษฐา' ลงพื้นที่สุรินทร์ ชาวบ้านดีใจได้ใกล้ชิด บอกเป็นขวัญใจชาวรัตนบุรี

“เศรษฐา” ลงพื้นที่สุรินทร์ รุดตรวจเยี่ยมโครงการขุดลอกอ่างเก็บน้ำห้วยแก้ว 15 ล้านบาท ชาวบ้านดีใจได้ใกล้ชิด บอกเป็นขวัญใจชาวรัตนบุรี ขณะคุณยายเจอหน้านายกฯถึงกับร้องไห้ บอกไม่เคยมีผู้นำมา