ไฟหลากสีที่ประดับประดาเต็มท้องถนน ร้านค้าแต่งอยู่เรียงรายแน่นขนัดอยู่บริเวณเขาวัง ลานการแสดงดนตรีบรรเลงขับกล่อมสร้างความสนุกสนาน ภายในงานคับคั่งไปด้วย ผู้คนจำนวนมากต่างเดินทางมาร่วมงานประจำปี “พระนครคีรี-เมืองเพชร ครั้งที่ 36 ประจำปี 2566 ที่จัดขึ้นได้จังหวัดเพชรบุรี ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) และภาคีเครือข่าย เพื่อเพื่อเทิดพระเกียรติบูรพมหากษัตราธิราชเจ้า รัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 6 รัชกาลที่ 9 ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ต่อจ.เพชรบุรี โดยงานจัดขึ้นตั้งแต่วันนี้ – 26 มีนาคม 2566 ณ อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี ตั้งแต่เวลา 18.00-22.00 น.
จ.เพชรบุรี เป็นอีกเมืองที่พระมหากษัตริย์ทรงให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะเป็นเมืองที่ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์อันยาวนานมีมาแต่โบราณ เรื่อยมาจนถึงสมัยสุโขทัย สมัยอยุธยา จนถึงสมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์ จึงมีการเสด็จมาประพาสและสร้างที่ประทับไว้ ตั้งแต่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรัชกาลที่ 4 โปรดปรานเมืองเพชรบุรีตั้งแต่ครั้งยังผนวช เมื่อขึ้นครองราชย์แล้วจึงได้มีการให้สร้างพระราชวังขึ้นบนยอดเขา เรียกว่า พระนครคีรี
ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ก็ยังทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังในตัวเมืองเพชรบุรี นามว่า พระรามราชนิเวศน์ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า วังบ้านปืน อีกทั้งในสมัยสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ก็ยังทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ที่ชายหาดชะอำ เพื่อใช้เป็นที่ประทับรักษาพระองค์ด้วยความเชื่อที่ว่าอากาศชายทะเลและน้ำทะเลอาจบรรเทาอาการเจ็บป่วยได้ และในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 ยังมีโครงการในพระราชดำริมากมาย
ด้วยความสำคัญดังกล่าว จ.เพชรบุรี จึงได้มีการจัดงานพระนครคีรี-เมืองเพชร เป็นประจำทุกปี ภายใต้ชื่องานว่า เยือนถิ่นพริบพรี สดุดีจอมราชัน แดนสร้างสรรค์อาหารไทย งานจึงถูกจัดขึ้นณ อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า เขาวัง เพราะถือเป็นสัญลักษณ์ของ จ.เพชรบุรี ที่มีคุณค่าและความสำคัญ ตั้งอยู่บนยอดเขาชื่อว่า สมณะ ประกอบด้วยภูเขา 3 ยอด และบริเวณไหล่เขาเป็นที่ตั้งของวัดมหาสมณารามราชวรวิหาร โดยพระราชวังบนยอดเขาแห่งนี้ได้ถูกสร้างขึ้น ในสมัยรัชกาลที่ 4 และได้พระราชทานนามใหม่ว่า เขามหาสวรรค์ แต่ในปัจจุบันเรียกว่า เขามไหศวรรย์ ดังนั้นสิ่งก่อสร้างที่เกิดขึ้นบนยอดเขานี้จึงเรียกโดยรวมว่า พระนครคีรี
เมื่อถึงที่เขาวัง จุดแรกก็ต้องขึ้นไปชมพระราชวังคีรี โดยมีทางขึ้น 2 จุดคือ บริเวณด้านหน้าจะเป็นทางเดินขึ้น ส่วนอีกจุดคือ บริการรถรางไฟฟ้า (เคเบิ้ล คาร์) ขาขึ้นเราจะเลือกใช้บริการรถรางไฟฟ้า โดยจะมีจุดซื้อตั๋วอยู่ตรงด้านหน้าทางขึ้น บรรยากาศบนเขาวังที่ร่มรื่นด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ ถูกประดับตกแต่งด้วยไฟห้อยรัย้าสวยงามตลอดเส้นทางที่ให้เดินชมพระราชวังด้านบน ลานตรงกลางมีซุ้มกิจกรรมจากนักเรียน นักศึกษาในการสาธิตทำขนมไทย ร้อยมาลัย หรือการทำพวงมะโหด และการตอกกระดาษ เดินเรื่อยไปจนถึงป้อมเราสามารถมองเห็นวิวด้านล่างและวัดพระแก้วน้อย และพระปรางค์แดง ที่โดดเด่นมองเห็นได้แต่ไกลๆ
แสงยามเย็นค่อยๆเปลี่ยนความสว่างไสวถูกแทนทีด้วยแสงไฟที่ประดับตามต้นไม้ ผู้คนเริ่มหนาตา เรียกได้ว่าหนาแน่น ขาลงจากเขาวังจึงเลือกเดินลงไปยังโซนด้านล่าง ที่จัดเต็มด้วยร้านอาหารกว่า 100 ร้าน มีทั้งอาหารพื้นถิ่นและอาหารฟิวชั่น อย่าง ลูกตาลลอยแก้ว เยลลี่ ขนมเบื้อง กาละแม ปลาหมึกย่าง หรืออาหารคาวผัดไทย หมูปิ้ง ไก่ย่าง นกกระทาย่าง และอีกมากมายละลานตาจนเลือกทานไม่ถูก
หรือจะขยับเข้าไปตรงศาลหลักเมือง ก็การจัดลานประดับไฟเป็นรูปต่างๆ ให้ผู้ร่วมงานได้มาถ่ายรูป ถัดไปอีกหน่อยด้านหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 4 จัดเป็นส่วนของเวทีกลาง มีการแสดงดนตรีที่จะพลัดเปลี่ยนไปตลอดงาน ไม่เพียงเท่านี้เดินแยกออกไปก็ยังมีร้านค้า ร้านอาหารอีกมากมายให้เดินกันจนเมื่อยทีเดียว
ไฮไลท์ของงานที่ห้ามพลาดเลยตลอดการจัดงานจนวันสุดท้าย จะมีหารจุดพลุกว่า 300 นัด เวลา 21.00 น. ส่องสว่างอยู่บนน่านฟ้า พร้อมกับกิจกรรมพิเศษ กาล่าดินเนอร์ เชฟส์เทเบิ้ล แต่งชุดไทยทานอาหารฝีมือ เชฟ น. ตู้ ทศพร ลิ้มดำเนิน ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารจากโรงเรียนการอาหารนานาชาติ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี สิบถามรายละเอียดได้ที่ 086 396 3420 ชมรมห้องทดลองเชฟส์เทเบิ้ล เมืองพริบพรี และ 081-981-8405 สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยว จ.เพชรบุรี จำนวนจำกัด
สำหรับผู้ที่สนใจงานพระนครคีรี-เมืองเพชร สามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่ facebook: ททท.สำนักงานเพชรบุรี TAT Phetchaburi C
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ชัดๆจาก ‘พิชิต’..ระบอบทักษิณ ต้นเหตุรัฐประหาร | ตรงปก ตรงประเด็น กับ...สำราญ รอดเพชร
ตรงปก ตรงประเด็น กับ...สำราญ รอดเพชร : วันพุธที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567
‘อย่าย่ามใจ’ ม็อบจุดไม่ติด I ห้องข่าวไทยโพสต์
ห้องข่าวไทยโพสต์ : วันพุธที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567
MOU โมฆะ-ครม.อวสาน? | ตรงปก ตรงประเด็น กับ...สำราญ รอดเพชร
ตรงปก ตรงประเด็น กับ...สำราญ รอดเพชร : วันอังคารที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567
เบื้องลึก MOU 44 ของ 'ทักษิณ-ฮุนเซน I ห้องข่าวไทยโพสต์
ห้องข่าวไทยโพสต์ : วันอังคารที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567