ยุ่งแล้ว! วัตถุกัมมันตรังสี 'ซีเซียม-137' สูญหาย สธ.สั่งสถานพยาบาลรับภาวะฉุกเฉิน

ปลัดกระทรวงสาธารณสุข สั่งกองสาธารณสุขฉุกเฉินเตรียมความพร้อมผู้เชี่ยวชาญและสถานพยาบาลรองรับและเฝ้าระวังผลกระทบด้านสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนและสิ่งแวดล้อม จากกรณีวัตถุกัมมันตรังสี “ซีเซียม-137” สูญหาย ที่ จ.ปราจีนบุรี แม้ยังไม่พบข้อมูลวัสดุหลุดออกจากเครื่องกำบัง

14 มี.ค. 2566- ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีวัตถุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 (Cesium-137, Cs-137) ของโรงไฟฟ้าแห่งหนึ่งในอ.ศรีมหาโพธิ์ จ.ปราจีนบุรี สูญหาย ทำให้เกิดความกังวลว่าอาจมีผู้ที่ไม่ทราบว่าเป็นวัตถุอันตรายและมีการสัมผัสจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปราจีนบุรีรายงานข้อมูลเบื้องต้นว่า วัตถุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ที่สูญหาย มีลักษณะเป็นแท่งทรงกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 นิ้ว มีตะกั่วปกป้องอยู่ชั้นในและห่อหุ้มด้วยเหล็ก ซึ่งหากยังอยู่ในสภาพเดิมจะไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งขณะนี้ยังค้นหาไม่พบ

นายแพทย์โอภาสกล่าวต่อว่า จากการประเมินสถานการณ์ปัจจุบัน ยังไม่มีข้อบ่งชี้ว่า วัตถุกัมมันตรังสีซียม-137 ที่สูญหายได้หลุดออกจากเครื่องกำบัง จึงยังไม่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชนและสิ่งแวดล้อมอย่างไรก็ตาม ได้สั่งการให้กองสาธารณสุขฉุกเฉิน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ โดยรวบรวมรายชื่อผู้เชี่ยวชาญด้านกัมมันตรังสี อาทิ นายแพทย์เชี่ยวชาญ สถาบันอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กรมการแพทย์, ผู้เชี่ยวชาญด้านการคำนวณปริมาณรังสีจากแหล่งกำเนิดรังสีภายในร่างกาย การป้องกันอันตรายจากรังสี และรังสีกับสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และผู้เชี่ยวชาญด้านวัตถุอันตราย จากกรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น รวมทั้งเตรียมการประสานโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี และโรงพยาบาลรามาธิบดี กรณีรับส่งต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบจากรังสี นอกจากนี้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปราจีนบุรีให้ความรู้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยง เฝ้าระวังผลกระทบด้านสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนและสิ่งแวดล้อมอย่างใกล้ชิด พร้อมเตรียมสถานพยาบาลในพื้นที่เพื่อรองรับผู้ป่วยที่อาจได้รับผลกระทบด้วย

สำหรับสารซีเซียม-137 เป็นกัมมันตภาพรังสี (radioactivity) หากสัมผัสในช่วงเวลาสั้น ๆ อาจจะไม่มีผลต่อร่างกายที่ชัดเจน แต่หากสัมผัสในระยะเวลานานและปริมาณสูงขึ้น จะเริ่มมีผลต่อร่างกาย ทำให้เกิดผื่นแดงตามผิวหนัง ผมร่วง แผลเปื่อย หากสัมผัสในปริมาณสูงและยาวนาน อาจเกิดพังผืดที่ปอด เกิดโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว เกิดต้อกระจกขึ้นในนัยน์ตา ซึ่งอาการจะขึ้นอยู่กับปริมาณรังสีที่ได้รับ นอกจากนี้ หากปนเปื้อนลงไปในน้ำ จะส่งผลให้เกิดการกลายพันธุ์ในสัตว์ ซึ่งขึ้นอยู่กับปริมาณการรับและการสะสม หากสัตว์รับสารรังสีเข้าไปจะเพิ่มความเข้มข้นสะสมในห่วงโซ่อาหาร แต่ยังไม่มีผลยืนยันที่ชัดเจนว่าจะถึงขั้นเปลี่ยนระบบนิเวศน์ใต้ทะเลหรือไม่

ทั้งนี้ วัตถุกัมมันตรังสีซีเซียม -137 มีไว้ใช้ทางการแพทย์ มาตรวัดกระแสน้ำในท่อโรงงานอุตสาหกรรม และโรงงานนิวเคลียร์

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สธ. ห่วง ปชช. ช่วงฤดูฝน พร้อมดูแลผู้ป่วยงูพิษกัด ไข้เลือดออกระบาด

น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.สาธารณสุข

สธ.เตรียม 6 มาตรการรับอุทกภัย 35 จังหวัดเสี่ยง เฝ้าระวังกลุ่มเปราะบาง

‘เกณิกา’เผย กระทรวงสาธารณสุข วาง 6 มาตรการ เตรียมรับสถานการณ์อุทกภัย 35 จังหวัดเสี่ยง พร้อมจัดทีมเฝ้าระวังสถานการณ์ ดูแลผู้ป่วยกลุ่มเปราะบาง

ทุบสถิติปีนี้! ไทยติดโควิดใหม่รายสัปดาห์ทะลุ 2.7 พันคน

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 2 - 8 มิถุนายน 2567 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ รักษาในโรงพยาบาล