จากคีรีวงสู่แผน’กังหันน้ำชุมชน’เทือกเขานครศรีธรรมราช

ชุมชนคีรีวง อ.ลานสกา จ.นครศรีธรรมราช เป็นชุมชนเกษตรกรรมที่อยู่รอบเทือกเขานครศรีธรรมราช นอกจากเป็นหมู่บ้านที่อากาศดีที่สุดในประเทศไทยปลอดฝุ่นพิษ PM2.5 ยังเป็นหมู่บ้านพลังงานน้ำมีการส่งเสริมกังหันน้ำผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กกระจายในพื้นที่ ทำให้มีกระแสไฟฟ้าที่นำไปใช้ประโยชน์ในหลายด้าน ทั้งในชีวิตประจำวันและเพื่อการเกษตร ซึ่งชาวคีรีวงมีวิถีทำสวนผลไม้แบบผสมผสาน ที่ชาวใต้เรียกว่า “สวนสมรม” ปลูกพืชที่หลากหลาย เช่น มังคุด ทุเรียน ลองกอง สะตอ ลูกเนียง  ผักกูด ฯลฯ ให้ผลผลิตสร้างรายได้ตลอดปี  

กังหันน้ำคีรีวงผลิตไฟฟ้า จ่ายกระแสไฟฟ้าใช้ประโยชน์

ความสำเร็จจากพลังงานน้ำที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านเล็กๆ แห่งนี้ ปัจจุบันมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้ต่อยอดสู่การจัดทำ”แผนแม่บทเพื่อส่งเสริมกังหันน้ำขนาดเล็กในชุมชนรอบเทือกเขานครศรีธรรมราช โดยใช้กระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม “ ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ปี 2566 จุดหมายจะขยายผลการใช้งานกังหันน้ำคีรีวงไปสู่ชุมชนรอบเทือกเขานครศรีธรรมราช ครอบคลุม 40 อำเภอ ของ 6 จังหวัด ประกอบด้วย สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง ตรัง สตูล และสงขลา

ย้อนไปเมื่อ 19 ปีก่อน  ผศ.ดร.อุสาห์ บุญบำรุง หัวหน้าห้องปฏิบัติการวิจัยบูรณาการระบบพลังงานสะอาด สถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นหัวหน้าโครงการ ลงพื้นที่ชุมชนคีรีวง ใช้ระยะเวลา 4 ปีในการศึกษาสมรรถะนวัตกรรมกังหันน้ำท้องถิ่นคีรีวง ตั้งแต่กังหันน้ำกระป๋องของลุงส่อง บุญเฉลย ผู้คิดค้นกังหันน้ำขนาดเล็กเป็นคนแรก ,กังหันน้ำหัวจับราวบันไดของสุภักดิ์  หัตถิ และกังหันน้ำกรวย(โรงกรึง) ของการุณ ขุนทน ซึ่งชาวบ้านประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อใช้ไฟฟ้าดึงเข้าสู่สวนผลไม้

จากนั้นนักวิจัย มจธ. พัฒนาต่อยอดเพื่อสร้างต้นแบบกังหันน้ำผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมากประสิทธิภาพสูงออกมาหลายรุ่น  โดยใช้เทคโนโลยีในประเทศ ที่ทุกคนเข้าถึงได้  ภายใต้แนวคิด “นวัตกรรมทั่วถึง (Inclusive Innovation)” ที่เป็นการพัฒนาโดยคนไทย 100 เปอร์เซ็นต์ ภายใต้ชื่อ “กังหันน้ำคีรีวง” 

ผศ.ดร.อุสาห์ บุญบำรุง แนะนำระบบกังกันน้ำผลิตไฟที่ใช้งานบนเขา

ผศ.ดร.อุสาห์ บุญบำรุง กล่าวว่า ทุกโจทย์การวิจัยมาจากชุมขน เราเข้าไปร่วมกับคนชุมชนเพื่อพัฒนาและสร้างกังหันน้ำผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (Pico Turbine)   จนได้ติดตั้งกังหันน้ำคีรีวงที่มีกำลังผลิต 1 กิโลวัตติ์ ให้กับชุมคีรีวงเป็นครั้งแรกปี 2552   จากจุดเด่นสำคัญของกังหันน้ำคีรีวงที่มีขนาดเล็ก มีความทนทาน ใช้งานดูแลรักษาง่าย รวมถึงมีค่าประสิทธิภาพการเปลี่ยนพลังงานน้ำเป็นไฟฟ้าค่อนข้างสูง  เมื่อคำนวณความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์แล้ว พบว่ากังหันน้ำคีรีวงขนาด 1 กิโลวัตต์ มีต้นทุนการติดตั้งและบำรุงรักษาตลอด 20 ปี ไม่เกิน 40,000 บาท  จะใช้เวลาคุ้มทุนไม่ถึง 2 ปี เทียบกับการใช้เครื่องปั่นไฟซึ่งตลอดการใช้งาน จะมีค่าน้ำมันหลายแสนบาท ทำให้วันนี้มีการติดตั้งและใช้งานกังหันน้ำขนาดเล็กในพื้นที่ชุมชนคีรีวงและชุมชนรอบเทือกเขานครศรีธรรมราชแล้วกว่า  160 ชุด มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมกันกว่า 110 กิโลวัตต์ ทำให้ชาวบ้านเข้าถึงไฟฟ้า

“ การส่งเสริมไฟฟ้าพลังน้ำในพื้นที่คีรีวงจนวันนี้กำลังผลิตรวม 110 กิโลวัตต์ เทียบเท่าโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ 1 โรง ต่างจากการสร้างโรงไฟฟ้าที่มีนโยบายจากข้างบนลงมา มาทำประชาพิจารณ์ ติดตั้ง และให้ชาวบ้านดูแล ถ้ามันยั่งยืนก็ดีไป ส่วนกังหันน้ำคีรีวงทำจากล่างขึ้นบน ชาวบ้านมีส่วนร่วม ได้นำเสนอไอเดียจึงมีชุมชนตอบรับจำนวนมาก เราทำเล็กๆ และยั่งยืน  แต่เมื่อเทียบกับปริมาณการลดคาร์บอนนั้นได้ผลลัพธ์เท่ากัน  “ ผศ.ดร.อุสาห์ กล่าว

กังหันน้ำขนาดเล็กในสวนสมรมบ้านคีรีวง

การพัฒนาและสร้าง “กังหันน้ำคีรีวง” ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เกิดกังหันน้ำขนาดเล็กที่ผลิตไฟฟ้าขนาดต่าง ๆ ทั้งขนาด 300 วัตต์ 1 กิโลวัตต์ 3 กิโลวัตต์ มีการต่อยอดพัฒนาจากกังหันพลังน้ำที่ผลิตไฟฟ้ากระแสสลับ (AC) ไปสู่กังหันน้ำผลิตไฟฟ้ากระแสตรง (DC) ที่ออกแบบใช้งานได้ที่ระดับความสูงหัวน้ำต่ำ ๆ และสามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าได้สูงขึ้น จากการนำไฟฟ้าที่ผลิตได้เก็บไว้ในแบตเตอรี่ ซึ่งทำให้ระบบที่จ่ายไฟฟ้าได้มากกว่า 3 กิโลวัตต์ ยกระดับอาชีพและคุณภาพชีวิตชาวครีรีวงจากการมีไฟฟ้าใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ได้มากขึ้น เช่น การแปรรูปผลิตภัณฑ์ การใช้ตู้เย็น การใช้ตู้แช่เพื่อแช่แข็งทุเรียน เป็นต้น  

ปัจจุบันยังมีการพัฒนาต่อยอดสู่ระบบผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสาน (Hybrid) ใช้พลังงานน้ำและพลังงานแสงอาทิตย์ผลิตกระแสไฟฟ้าในชุมชนคีรีวงอีกด้วย ซึ่งอยู่ระหว่างการทดสอบสมรรถนะเพื่อขยายผลในชุมชนต่อไป

“ สำหรับเกษตรกรที่มีน้ำเพียงพอใช้ได้ตลอดปี ติดตั้งกังหันน้ำต้นทุนจะถูกกว่า  แต่รายที่น้ำจำกัดและใช้ท่อขนาดเล็กนำน้ำจากเขาเข้าสวน แต่มีการใช้แผงโซล่าร์เซลล์อยู่แล้ว ซึ่งมีข้อจำกัดผลิตกระแสไฟฟ้าได้เฉพาะเวลากลางวันที้มีแสงอาทิตย์ แต่บางฤดูกาลแสงไฟฟ้า หากมีกังหันน้ำขนาดเล็กและโซล่าร์เซลล์เดิมอยากใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ระบบ Hybrid เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่ตอบโจทย์ แทนที่จะทิ้งตัวเก่าไป ลงทุนระบบใหม่ ก็มาผสมผสานสร้างระบบจัดการทำให้จ่ายไฟได้มากขึ้น  “ ผศ.ดร.อุสาห์ กล่าว

การผลักดันกังหันน้ำคีรีวงสู่ชุมชนรอบเทือกเขานครศรีธรรมราช หัวหน้าโครงการฯ ระบุว่า รอบเทือกเขาบรรทัดเป็นพื้นที่ที่มีฝนตกชุกมากที่สุดในประเทศไทย มีความเหมาะสม น้ำเพียงพอตลอดปีที่จะใช้กังหันขนาดเล็กผลิตไฟฟ้า ขณะนี้ทั้ง 6 จังหวัด ตอบรับแผนจัดการน้ำฯ  มีการพูดคุยกับพลังงานจังหวัดแต่ละจังหวัด และชุมชน อย่างไรก็ตาม ชุมขนเข้มแข็งเป็นหัวใจสำคัญ  ส่วนลักษณะพื้นที่ที่เหมาะสมใช้กังหันน้ำคีรีวง เดิมโครงการกำหนดระดับความต่างหัวน้ำกับจุดติดตั้งกังหันน้ำท้ายน้ำต้องอยู่ที่ 60 เมตรขึ้นไป แต่หลังพัฒนาเทคโนโลยีกังหันน้ำต่อเนื่อง ตอนนี้ระดับความต่าง 20 เมตรก็ติดตั้งกังหันได้แล้ว

หัวหน้าโครงการฯ กล่าวต่อว่า นอกจากคีรีวง ปัจจุบันมีการติดตั้งใช้งานกังหันน้ำขนาดเล็กในพื้นที่โครงการหลวงในภาคเหนือ รวมถึงภูหลวง  จ.เลย ด้วย แต่ความเข้มแข็งของชุมชนไม่เท่าคีรีวง ทำให้พัฒนาขยายผลไม่ได้ ต้องรอการสนับสนุนจากภาครัฐ แต่เทคโนโลยีนี้ไม่จำเป็นต้องใช้ในพื้นที่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึงเท่านั้น เพราะสามารถเชื่อมต่อกับระบบสายส่งไฟฟ้า แต่ถ้าใช้พื้นที่ไม่มีไฟฟ้าจะคืนทุนเร็วกว่า เพราะลดใช้พลังงานฟอสซิล

อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.อุสาห์ เผยถึงอุปสรรคสำคัญในการส่งเสริมกังหันน้ำขนาดเล็กว่า ปัจจุบันชุดความรู้อยู่ในกลุ่มกังหันน้ำคีรีวง ยังไม่มีการถ่ายทอดองค์ความรู้หรือเผยแพร่ในวงกว้างมากนัก จำเป็นต้องสร้างช่องทางการเรียนรู้ให้มกขึ้นทั้งในพื้นที่จริงและแพลตฟอร์มออนไลน์ นอกจากนี้การผลิตกังหันน้ำขนาดเล็ก ต้องรวบรวมให้ได้ผู้ใช้งานจำนวนหนึ่งแล้วสั่งผลิตใบพัดแสตนเลสนอกพื้นที่ ก่อนจะนำมาประกอบในพื้นที่ ไม่มีเครื่องกังหันน้ำสำเร็จรูป อีกอุปสรรคสำคัญกองทุนเพื่อส่งเสริมอนุรักษ์พลังงานยังไม่มีแผนชัดเจนในการส่งเสริมกังหันน้ำผลิตไฟฟ้าขนาดต่ำกว่า 20 กิโลวัตต์  ทำให้ชาวบ้านเข้าไม่ถึงแหล่งทุนเมื่อเทียบกับโครงการส่งเสริมพลังงานโซล่าร์เซลล์

วิรัตน์ ตรีโชติ บอกเล่าการพัฒนาชุมชนด้วยกังหันน้ำคีรีวง

ด้าน วิรัตน์ ตรีโชติ เลขาวิสาหกิจชุมชนกังหันน้ำคีรีวง กล่าวว่า บ้านคีรีวงก่อตั้งวิสาหกิจชุมชนกังหันน้ำคีรีวง สมาชิกสนใจจะติดตั้งกังหันน้ำใช้ในพื้นที่ ทั้งหมู่ที่ 5 ,8,9 และ 10 รวม 190 ครัวเรือน ใช้งานแล้ว 160 ระบบ แล้วก็มียอดจองกังหันน้ำขนาด 300 วัตต์  จำนวน 10 ราย ซึ่งพวกเขาจะลงทุนเองทั้งหมด เพียงแต่ร่วมกับนักวิจับ มจธ. เพื่อสั่งผลิตในราคาต้นทุน  เพราะการมีไฟฟ้าทำให้การทำสวนบนเขาสะดวกและปลอดภัยมากขึ้น นอกจากนี้ สมาชิกบางรายรอผลวิจัยการทดลองใช้แบบ Hybrid ผลิตไฟฟ้า ประสิทธิภาพจะเพิ่มขึ้นมากแค่ไหนและเพิ่มค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ อีกทั้งชาวคีรีวงพร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้นี้ให้พื้นที่อื่นๆ เพราะเป็นการหนุนเสริมพลังชุมชนพึ่งพาตัวเอง ส่วนความสำเร็จขึ้นกับศักยภาพพื้นที่ ระบบท่อ และการบริหารจัดการ

“ แม้จะมีการส่งเสริมกังหันน้ำคีรีวงในพื้นที่ แต่ในชุมชนมีกฎระเบียนของหมู่บ้านในการใช้น้ำ เพื่อบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ไม่ให้กระทบแหล่งน้ำ สมดุลน้ำเพื่อป้องกันไฟป่า รักษาความสมบูรณ์ของธรรมชาติ เพื่อใช้ทรัพยากรน้ำร่วมกัน อย่างมีประสิทธิภาพ “ วิรัตน์ กล่าว

ลุงส่อง บุญเฉลย

ขณะที่ ลุงส่อง บุญเฉลย เจ้าของกังหันน้ำท้องถิ่นแห่งคีรีวง บอกว่า อดีตแลไปบนเขามืด แต่วันนี้แลบนเขาสว่างไสว ทุกบ้านติดตั้ง ชาวบ้านรวมกลุ่ม ทำกันเอง มีปัญหาใช้งานก็สามารถแก้ปัญหาได้เอง ไฟไม่ตก เป็นผลจากชาวชุมชนร่วมมือกันคิดและลงมือทำ

กังหันน้ำคีรีวงในชุมชนเล็กๆ ถือเป็นโมเดลแห่งความยั่งยืนและมีการขยายผลสู่พื้นที่อื่นอย่างเป็นรูปธรรม สอดรับการพัฒนาอย่างยั่งยืนบนฐานทรัพยากรที่มีอยู่เดิม ลดการพึ่งพาจากพลังงานภายนอก

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

วิจัยเฝ้าระวัง รับมือ ก.ย.-ต.ค.เสี่ยงน้ำท่วมสูง

สถานการณ์อุทกภัยสร้างความเสียหายให้กับพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งประสบอุทกภัยหนักสุด  ส่งผลกระทบกับประชาชนแล้วกว่า 2 ล้านคน ส่วนภาคอีสานเริ่มเจอน้ำท่วมในหลายพื้นที่ รวมถึงพื้นที่เสี่ยงภัยจังหวัดต่างๆ ในภาคกลางยังต้องเฝ้าระวัง ติดตามสภาพอากาศ

กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงมีพระราชดำรัสการแก้ปัญหาประเทศสำเร็จด้วยงานวิจัย

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ ไปเป็นประธานพิธีเปิดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567” หรือ Thailand Research Expo 2024 ซึ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

“เบทาโกร” จับมือ “มทร.ล้านนา” และ “มจธ.” ยกระดับทักษะพนักงานระดับ ปวส. ศึกษาต่อปริญญาตรี ด้วยรูปแบบ “โรงเรียนในโรงงาน”

“บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน)” หรือ “BTG” โดย “ดร.ถนอมวงศ์ แต้ไพสิฐพงษ์” (ที่ 3 จากซ้าย) ประธานเจ้าหน้าที่ กลุ่มงานบริหารส่วนกลาง ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ