ปฏิเสธไม่ได้ว่า ตามบ้านเรือนจะมีถ่านไฟฉาย แบตเตอรี่หมดอายุ โทรศัพท์มือถือ แท็บแล็ตที่ไม่ใช้แล้ว ถูกทิ้งเป็น”ขยะอันตราย” ในบ้าน ไม่นำไปทิ้งจุดทิ้งของเสียอันตราย บางบ้านนำขยะอันตรายทิ้งปะปนกับมูลฝอยทั่วไป เกิดการรั่วไหลของสารพิษส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและทำร้ายสุขภาพของผู้คน
ของเสียอันตรายจากชุมชนยังคงเป็นปัญหาใหญ่ เพราะมีอันตรายจากโลหะหนัก ตะกั่ว แคดเมียม ปรอท ทองแดง เป็นองค์ประกอบ ซึ่งขยะอันตรายเกิดขึ้นมากกว่า 6 แสนตันต่อปี ร้อยละ 65 เป็นซากผลิตภัณฑ์เครื่องใข้ไฟฟ้า ทั้งทีวี ตู้เย็น เครื่องซักผ้า เครื่องปรับอากาศ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อย่างคอมพิวเตอร์ โน็ตบุค ที่เหลือร้อยละ 35 เป็นของเสียอันตรายประเภทอื่นๆ ซึ่งมีเพียงร้อยละ 22 ของขยะอันตรายที่มีนำกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างถูกต้อง ปัญหาของเสียอันตรายมาจากประชาชนไม่คัดแยกขยะที่บ้านเรือนและทิ้งผิดประเภท จุดทิ้งของเสียอันตรายมีน้อย บางพื้นที่ไม่มี
แนวทางการจัดการของเสียอันตรายจากชุมชนปัจจุบันวางระบบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินงานโดยเลือกรูปแบบและวิธีการที่เหมาะสม, ให้แยกทิ้งที่ต้นทางหรือจุดทิ้งของเสียอันตรายที่ชุมชนกำหนด, จัดเก็บรวบรวมอย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้ง ,สร้างสถานที่เก็บกักของเสียอันตรายจากชุมชน จัดภาชนะบรรจุ ,ให้ขนส่งไปยังศูนย์รวบรวมเพื่อส่งกำจัด , จัดส่งไปรีไซเคิล ,ส่งไปบำบัดโรงงานที่ได้รับอนุญาตกำจัดบำบัดของเสียอันตรายตามกฎหมาย
สำหรับระดับจังหวัดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดเล็กและขนาดกลางเก็บรวบรวม เก็บขนไปยังศูนย์รวบรวมหรือสถานที่กำหนด ส่วน อปท.ขนาดใหญ่ รวมถึงองค์การบริหารจังหวัดดำเนินการเบ็ดเสร็จในพื้นที่ตนเอง และเป็นศูนย์รวบรวมของเสียอันตรายจากชุมชนให้กับ อปท. อื่น เพื่อส่งกำจัดในระยะเวลาที่เหมาะสม ส่งเสริมอปท.กำหนดจุดทิ้งของเสียอันตรายตามหมู่บ้านตามแผนจัดการขยะมูลฝอยชุมชน”จังหวัดสะอาด” อย่างไรก็ตาม จุดทิ้งของเสียอันตรายยังไม่เพียงพอ
ในพื้นที่กรุงเทพฯ ย้อนไป 5 ปีก่อน กรมควบคุมมลพิษร่วมกับกรุงเทพมหานคร และเครือข่ายภาคเอกชน 11 หน่วยงาน ร่วมมือตั้งจุดทิ้งของเสียอันตรายชุมขน 200 จุด ให้กับชาวกรุงเทพฯ นำร่องรับของเสีย 4 ประเภท คือ หลอดไฟ ถ่านไฟฉาย ภาชนะบรรจุสารเคมี และซากโทรศัพท์เคลื่อนที่และอุปกรณ์ต่อพ่วง ก่อน กทม. นำไปบำบัดกำจัดตามหลักวิชาการ
แก้ขยะอันตรายต้องเพิ่มจุดทิ้งของเสียอันตราย ปีนี้กรมควบคุมมลพิษวางแผนขยายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยร่วมมือกับทุกภาคส่วน ทั้งสถาบันการศึกษา สมาคม ภาคเอกชนที่เป็นแบรนด์โอนเนอร์ขนาดใหญ่ และบริษัทรับกำจัดของเสียอันตราย รวม 53 องค์กร จัดตั้งจุดทิ้งของเสียอันตรายชุมชน 5,176 แห่ง สำหรับอำนวยความสะดวกในการแยกทิ้งขยะอันตรายจากชุมชน ก่อนรวบรวมส่งกำจัดอย่างถูกต้อง โดยดีเดย์ประกาศเจตนารมย์ความร่วมมือเก็บรวบรวมของเสียอันตรายจากขุมชน ณ ห้องประชุมศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช กรมควบคุมมลพิษ เมื่อวันก่อน
“ ขยะอันตรายชุมชนยังมีปัญหา ประชาชนไม่คัดแยก โรงงานรับกำจัดของเสียอันตรายมีน้อย แต่ปัญหาสำคัญของเสียอันตรายหลุดเข้าพื้นที่เทกองขยะ เกิดการรั่วไหลสารเคมีอันตราย สารเคมีติดไฟได้ สารที่มีความเป็นพิษ ส่งผลเสียรุนแรงต่อสุขภาพและระบบนิเวศ การเก็บของเสียอันตรายมีความสำคัญและจำเป็นเร่งด่วน จะต้องตั้งจุดทิ้งของเสียอันตรายที่ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย นำขยะอันตรายมาทิ้ง และให้ท้องถิ่นมาจัดเก็บตามแผน การยกระดับความร่วมมือครั้งนี้จะเพิ่มได้ 5,000 จุด จากเดิมที่มี 7,000 จุด บวกกับการสื่อสารให้ความรู้ขยะอันตรายกับประชาชนมากขึ้นผ่านเครือข่าย จัดอบรมส่วนท้องถิ่น รวมถึงผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.การจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ไปสู่การประกาศใช้ในรัฐบาลหน้า คาดว่า จะสามารถรวบรวมขยะอันตรายได้เพิ่มเป็น 30-40% ตามแผนจัดการขยะชาติ การรวบรวมปริมาณขยะอันตรายได้มากขึ้น บริษัทรับกำจัดของเสียอันตรายนำไปกำจัดได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนกำจัดขยะถูกลง “ ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวหลังประกาศเจตนารมณ์
อธิบดี คพ. ระบุแม้ภาพรวมสถานการณ์ขยะอันตรายชุมชนดีขึ้น เพราะมีแผนจัดการขยะ ซึ่งขยะอันตรายเป็นหนึ่งในมาตรสำคัญ แต่ข้อเท็จจริงยังไม่สามารถแยกขยะอันตรายออกจากขยะชุมชน ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมในหลายพื้นที่ และส่งผลกระทบกับประชาชน ซึ่ง คพ. ร่วมกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมเร่งแก้ไขจุดที่เกิดปัญหาขยะอันตราย
สถาบันการศึกษาร่วมแก้ปัญหาขยะอันตราย สุธาทิพย์ จิตต์วิวัต นักวิจัยศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากงานวิจัยพบสารอันตรายในซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งตะกั่ว ปรอท โบรมีน สารละลายในเครื่องซักผ้า นิกเกิล สารทำความเย็น สารหน่วงไฟ สารหนู มีผลต่อสุขภาพ หากสัมผัสต่อเนื่องจะเกิดโรค จึงริเริ่มโครงการเปลี่ยนมือถือเก่าให้เป็นพลัง ชวนบริจาคโทรศัพท์มือถือและแท็บแล็ต เพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี ลดกระทบจากการจัดการขยะไม่ถูกต้อง รายได้จากการรีไซเคิลโทรศัพท์ 1 เครื่อง มอบเงิน 10 บาทให้กองทุนภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็งจุฬาฯ คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาฯ ที่ผ่านมา มีประชาชนบริจาคมือถือเฉลี่ย 1,000 เครื่องต่อปี ไม่รวมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ
“ ศูนย์ฯ ได้จัดทำคู่มือการรื้อแยกซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ระดับชุมชนอย่างเหมาะสม จะเป็นเครื่องมือช่วยพัฒนารูปแบบระบบการรวบรวม ขนส่ง ขยะอันตรายในชุมชนได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งให้ความสำคัญกับการรณรงค์คัดแยกของเสียอันตรายกับเด็กนักเรียนในโรงเรียนต่างๆ เราเป็นภาคีที่จะทำให้ประชาชนเกิดความรู้ ความเข้าใจพิษภัยขยะอันตราย “ สุธาทิพย์ กล่าว
1 ใน 18 บริษัทกำจัดของเสียอันตรายที่ร่วมแสดงพลังครั้งนี้ ศุภวัฒน์ คุณวรวินิจ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารการตลาด บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัท ให้บริการรวบรวมกากอุตสาหกรรมหรือของเสียภายในโรงงานไปบำบัดหรือกำจัดยังสถานที่ที่เหมาะสมตามวิธีการที่ถูกต้อง ทั้งฝังกลบที่ได้มาตรฐาน เผาด้วยเตาเผาอุณหภูมิสูง และนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ สำหรับความร่วมมือกับภาครัฐครั้งนี้ บริษัทให้บริการครอบคลุม 50 จังหวัด สะท้อนความตระหนักในการจัดการขยะอันตรายมากขึ้น และประชาชนตื่นตัวมากขึ้น การเพิ่มจุดทิ้งขยะอันตรายช่วยกระตุ้นให้ประชาขนสนใจ เปลี่ยนพฤติกรรมมาคัดแยกขยะอันตราย ยิ่งมีมากยิ่งกระตุ้นการรับรู้ ไม่ทิ้งขยะรวมกับมูลฝอยทั่วไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เช็กเลย! ค่าฝุ่น PM2.5 ทั่วไทย พร้อมคาดการณ์ 7 วันข้างหน้า
ศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ รายงานการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศประจำวันที่ 1 มีนาคม 2567 ณ 07:00 น. สรุปดังนี้
เช็กเลย! ค่าฝุ่น PM2.5 ทั่วไทย พร้อมคาดการณ์ 7 วันข้างหน้า
ศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ รายงานการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศประจำวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 ณ 07:00 น. สรุปดังนี้
คพ.-กรอ.เร่งทำแผนพัฒนาระบบ PRTR โรงงาน
3 ก.พ.2567 - นางสาวปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ได้เดินทางเข้าพบและร่วมหารือกับนายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) พร้อมผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ ณ กรมโรงงานอุตสาหกรรม โดยหารือถึงบทบาทและภารกิจของ
เช็กเลย! ค่าฝุ่น PM2.5 ทั่วไทย พร้อมคาดการณ์ 7 วันข้างหน้า
ศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ รายงานการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศประจำวันที่ 26 มกราคม 2567 ณ 07:00 น. สรุปดังนี้