นโยบายแบบไหน เปลี่ยนการศึกษาไทยได้จริง (2) ในความเห็น 8 พรรคการเมือง

7 มี.ค.2566-จากการเสวนา หัวข้อ “นโยบายแบบไหน เปลี่ยนการศึกษาไทยได้จริง”  ที่จัดขึ้นโดยภาคีเครือข่ายเพื่อการศึกษาไทย  หรือ Thailand Education Partnership (TEP)  โดยเชิญตัวแทนจากพรรคการเมืองต่างๆมาขึ้นเวที เพื่อบอกกล่าวนโยบายการศึกษาของแต่ละพรรค พร้อมกับแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการพัฒนาการศึกษาไทย ว่าควรไปในทิศทางใด  


โดยก่อนหน้านี้ ทาง ภาคีเครือข่ายเพื่อการศึกษาไทย โดยดร.สมเกียรติ  ตั้งกิจวาณิชย์ ประธานสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ ได้เปิดสมุดปกขาว  ที่เป็นข้อเสนอ 5 ช้อ  ให้พรรคการเมืองที่จะมาเป็นรัฐบาสมัยหน้า นำไปพิจารณา ก่อนประกาศเป็นนโยบายการศึกษาของพรรคต่อไป ข้อเสนอ  5ข้อ ได้แก่


1.ควรเร่งปรับให้มีหลักสูตรแกนกลางใหม่ภายใน 3 ปี โดยออกแบบให้เป็นหลักสูตรที่อิงกับฐานสมรรถนะ  2. กำหนดนโยบายให้กระทรวงศึกษาธิการมีเป้าหมายและแผนการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กที่ชัดเจน 3. กำหนดนโยบายให้กระทรวงศึกษาธิการ และประสานหน่วยงานต้นสังกัดสถานศึกษาอื่น ให้ทบทวนและยกเลิกโครงการ ที่ม่ตอบโจทย์การเรียนรู้ของนักเรียนในหลักสูตรใหม่ให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี 4. ประกาศนโยบายไม่ยอมรับความรุนแรงในสถานศึกษาและ 5. สร้างตัวอย่างให้ผู้บริหารของกระทรวงศึกษาธิการมีวัฒนธรรมแบบใหม่ในการทำงานที่เปิดกว้างในการรับฟังความเห็น กล้าทดลองสิ่งใหม่

ในการแสดงความเห็นแต่ละพรรคการเมือง   พริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้จัดการการรณรงค์นโยบาย พรรคก้าวไกล กล่าวว่า    พรรคฯได้กำหนดนโยบายด้านการศึกษา และประกาศไปเมื่อ 14 ม.ค.66 ภาพรวมทั้ง 5 ข้อเห็นตรงกันในหลายส่วน ในส่วนของหลักสูตร ทางพรรคขอยืนยันว่ามีความเห็นตรงกันในการมีหลักสูตรใหม่ ที่เน้นทักษะใช้ได้จริง เน้นฐานสมรรถนะ และจะทำให้หลักสูตรใหม่เสร็จภายใน 1 ปี หากพรรคได้เป็นรัฐบาล  หลักฐานที่ปรากฎชัดเจนที่สุดว่าเมืองไทยจะต้องมีการปฏิรูปหลักสูตร คือ สถิติที่บ่งบอกว่าเด็กไทยเรียนหนักเป็นอันดับต้นๆของโลก แต่ในปัจจุบันกลับมีทักษะที่ตามหลังหลายๆประเทศ โดยด้านวิทยาศาตร์และคณิตศาสตร์อยู่ในอันดับที่ 50 กว่า จาก 78 ประเทศทั่วโลก  ด้านการอ่านอยู่ในอันดับที่ 50 กว่า จาก 79  ประเทศทั่วโลก และด้านการสื่อสารภาษาอังกฤษ อันดับที่ 97 จาก 100 ประเทศทั่วโลก เพราะฉะนั้นปัญหาปัจจุบันที่เด็กไม่มีทักษะที่แข่งกับนานาชาติได้ ไม่ใช่เพราะเด็กไทยไม่ขยันแต่ระบบและหลักสูตรไม่สามารถแปรความขยันของนักเรียนออกเป็นทักษะที่แข่งกับนานาชาติได้

ถามว่าในหลักสูตรใหม่ ถ้ามีการวางเป้าหมายตรงกัน ในเรื่องของทักษะที่ใช้ได้จริง เช่น การประกอบอาชีพ หรือการใช้ชีวิต สรุปองค์ประกอบได้ 6 ข้อ ได้  2ปรับ 2ลด 2เพิ่ม  คือ ปรับที่ 1 คือ ปรับวิชาและเป้าหมายของวิชาที่มีอยู่ ปรับที่ 2  คือ ปรับวิธีการสอน เปลี่ยนบทบาทครูจากหน้าห้อง มาอยู่หลังห้อง โดยมีกิจกรรมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น วิเคราะห์ ที่ช่วยบ่มเพาะทักษะในโลกอนาคต  ทำงานเป็นทีม หรือการรับมือกับสภาวะทางอารมณ์ต่างๆ ส่วนลดที่ 1 คือ ลดจำนวนชั่วโมง ตามหลักสากลอยู่ที่ 800-1,000 ชั่วโมง เพราะปัจจุบันเด็กไทยเรียนหนักมากถึง 1,200 ชั่วโมงต่อปี ลดที่ 2 คือ ลดการบ้านและการสอบแข่งขัน ที่เป็นตัวเพิ่มปัญหาเรื่องความเครียด และภาวะทางสุขภาพจิตให้แก่เยาวชน ส่วนเพิ่มที่ 1 คือ เพิ่มเสรีภาพทางการเรียนรู้ ให้นักเรียนมีอิสระภาพเลือกเรียนวิชาที่สนใจ ลดวิชาบังคับเพิ่มวิชาทางเลือก และเพิ่มที่ 2 คือ เพิ่มการตรวจสอบ ให้เนื้อหาเรียนสอดคล้องกับข้อสอบได้


“ทั้งนี้อยากให้มองไกลไปอีกคือการส่งเสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียน โดยทางพรรคจะมีนโยบายคูปองเปิดโลก 1,200 บาทต่อปี ให้เด็กนำไปใช้ในการเรียนรู้นอกห้องเรียน มองไกลคือ หลักสูตรต้องมีความยืดหยุ่นสามารถปรับได้ตามกาลเปลี่ยนแปลงของโลก และเกิดการทบทวนอย่างสม่ำเสมอ “นายพริษฐ์กล่าว

ตัวแทนพรรคก้าวไกล ยังเสนอการป้องกันการละเมิดสิทธิเสรีภาพและการใช้ความรุนแรงจากสถานศึกษา โดยมีหัวใจสำคัญคือ ต้องทำให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัยและไร้อำนาจนิยม เพระความรู้สึกปลอดภัยของนักเรียนในโรงเรียน ส่งผลโดยตรงต่อผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา แบ่งเป็น 2 มิติ คือ 1.คุ้มครองสิทธิของนักเรียนให้ไม่ถูกละเมิดสิทธิ ปราศจากอำนาจนิยม   วิธีการแก้ปัญหาคือ 1.กฎระเบียบของ รร.ต้องไม่ขัดหลักสิทธิมนุษยชน 2.อบรมครู ไม่ละเมิดสิทธิของนักเรียน 3.หากพบการละเมิดสิทธินักเรียน จะต้องพักใบประกอบวิชาชีพครู 4.ต้องมีช่องทางร้องเรียนอิสระจากเขตพื้นที่และโรงเรียน และ ปัญหาที่2. คือปัญหาสุขภาพจิต เป็นปัญหาที่รุนแรงมาก จากสถิติพบว่า 1 ใน 5 ของผู้เรียนมีสภาวะซึมเศร้าไม่มากก็น้อย การแก้ปัญหา คือ 1.ให้การเข้าถึงช่องการรักษา เช่น นักจิตวิทยาประจำรร. คลินิกเยาวชน  โดยไม่ต้องได้รับการยินยอมจากครูหรือผู้ปกครอง 2.มีเครื่องมือคัดกรอง เพื่อประเมินความเสี่ยงนักเรียนที่อาจจะมีปัญหาสุขภาพจิต 3.การป้องกัน คือ สร้างระบบการศึกษาที่ลดความเครียด ไม่ว่าจะเป็นชั่วโมงเรียน การบ้าน ข้อสอบ และปรับพฤติกรรมครูที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้เรียน

ภูมิสรรค์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา ผอ.คณะกรรมการประสานงานองค์กรเครือข่ายภายนอกพรรค และกรรมการด้านเทคโนโลยี พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)กล่าวว่า มาวันนี้ไม่ได้มานำเสนออะไรที่ใหม่ แต่มารับข้อเสนอทั้งหมดที่ภาคีเพื่อการศึกษาไทยทำไว้  ส่วนเรื่องโรงเรียนที่เป็นพื้นที่นวัตกรรม มีกรอบ พ.ร.บ.นวัตกรรม แต่มีความพยายามที่ยุบพ.รบ.นี้ และสนับสนุนพรบ.ตัวใหม่ที่ยังไม่ออกมา มีประมาณ 10 กว่ามาตรา ที่ผ่านแล้ว เหลือประมาณกว่า 100 มาตราที่ต้องพิจารณา  ตรงนี้จะเป็นหลักสำคัญที่จะนำไปสู่การปรับโครงสร้างทำหลักสูตรใหม่  เพราะจะมีองค์กรมหาชนเกิดขึ้น  เช่น องค์กรที่ทำหลักสูตรโดยเฉพาะ ทางสสวท. มีคณะอนุกรรมการ มีการเข้าไปทำหลักสูตรในเชิงนวัตกรรมไว้เรียบร้อย หากปชป.ได้เป็นรัฐบาลก็จะเปิดไฟเขียวในส่วนนี้

ดร.นันทพร ดำรงพงศ์ รองเลขาธิการพรรค และกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า นโยบายคือ เรียนในสิ่งที่ใช่ ใช้ในสิ่งที่เรียน มีความหมายคือ จะต้องไม่ฝืนการเป็นเด็กรุ่นใหม่ เพราะต้องยอมรับว่าเด็กประเภท GEN Z คือ 1.ต้องรวยเร็ว 2.ชอบโซเชียลมีเดีย 3.อารมณ์อ่อนไหว ความอดทนน้อย ไม่ชอบเป็นลูกน้องใครต้องการเป็นนายตนเอง  ดังนั้นภายใต้บริบทของโลกยุคใหม่ ที่มีความเปลี่ยนแปลงรวดเร็วและรุนแรงมาก โดยเฉพาะสถานการณ์โควิดทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องด้านการศึกษาต้องหันมามองการปรับตัวอย่างไร  ต่อไปนี้การเรียนการสอนไม่ใช่อุปสรรค แต่จะทำอย่างไรที่จะทำให้กฎกติกา ที่กระทรวงศึกษาฯเคยกำหนดไว้ว่า เรียน 55% ผลลัพธ์การเรียนรู้ 45% และนำผลลัพธ์มาทำให้เกิดประโยชน์จริงได้ เช่น วิชาที่เด็กอยากเรียน เด็กต้องมีสิทธิที่จะออกแบบ  ครูและครอบครัวต้องช่วยบูรณาการให้เกิดสิ่งเหล่านี้  และอยากให้เด็กมีความคิดที่ล้มแล้วลุกได้ เนื่องจากเทคโนโลยีมีทั้งบวกและลบ เพราะฉะนั้นต้องทำโครงการที่ช่วยกระตุ้นให้เด็กภูมิใจในตัวเอง


ดร.ณหทัย ทิวไผ่งาม กรรมการบริหารพรรค และประธานคณะทำงานด้านการส่งเสริมศักยภาพของประเทศและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก ทางพรรคคิดว่าการศึกษาคือการเรียนรู้ตลอดชีวิต ดังนั้นการศึกษาจะจำกัดอยู่แค่ในพื้นที่โรงเรียนไม่ได้ และควรให้ความสำคัญกับโรงเรียนขนาดเล็ก เพราะคิดว่านี่คือวิถีชีวิต วิถีชุมชน นโยบายที่สำคัญคือ เรื่อง Oone family one soft power  สืบเนื่องกับนโยบายสมัยไทยรักไทย คือ OTOP  นโยบายข้อที่ 5 คือ จะปิดโรงเรียนขนาดเล็กที่มีกว่า 14,000 โรงเรียน และเพิ่มขึ้นอีก 2,000 โรงเรียน  หลายโรงเรียนต้องมีความเข้มแข็งในตัวเอง พร้อมกับส่งเสริมและทำวิสาหกิจชุมชนขนาดเล็ก มีเครื่องมือสื่อสาร หรือฟรีอินเตอร์เน็ต ให้นักเรียนและครู  ชุมชน   เพื่อให้เกิดนวัตกรรมในชุมชน ภายใต้แนวคิด LEARN TO EARN เพราะในครอบครัวที่มีรายได้น้อยนำมาซึ่งความเหลื่อมล้ำทางสังคม

พรชัย มาระเนตร คณะทำงานร่างนโยบาย พรรคชาติพัฒนากล้า กล่าวว่า ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กไม่ใช่เรื่องของโรงเรียน แต่เป็นการจัดการนักเรียนที่เรียนได้อย่างไร ซึ่งแนวคิดสำคัญที่สุด คือ การนำดิจิทัลแพลตฟอร์มมาใช้เป็น sandbox ที่สำคัญของระบบการศึกษาไทย สตาร์ทอัพที่เป็น EdTech ทั่วประเทศต้องมีการเชื่อมโยงกับภาคราชการในการสร้างนวัตกรรมทางการศึกษา ต้องทำให้นักเรียนจากทั้งโรงเรียนเล็กหรือโรงเรียนใหญ่ มีความเท่าเทียมกันของข้อมูล นำไปสู่การพัฒนาและโจทย์ที่ชัดเจนขึ้น ส่วนที่อยากจะให้เกิดการผลักดันคือ บิ๊กดาต้า ของเด็กทุกคน โดยเก็บข้อมูลตั้งแต่แม่มาฝากครรภ์ การเข้าโรงเรียน เพื่อสร้างระบบการช่วยเหลือหากมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นกับตัวเด็ก  ที่จะช่วยเด็กที่ครอบครัวแหว่งกลาง

ในส่วนของการปรับวัฒนธรรมการทำงานให้กล้าทำสิ่งใหม่ มีข้อเสนอ 2 อย่าง ได้แก่ 1.คณะกรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครองต้องเข้มแข็ง 2.รื้อธรรมนูญโรงเรียน ซึ่งทางกระทรวงศึกษาฯ ได้ให้ทางโรงเรียนจัดทำ แต่พบว่าส่วนใหญ่มีการคัดลอกกัน ซึ่งธรรมนูญโรงเรียน ต้องระบุสิทธิและหน้าที่ของนักเรียนมีอะไรบ้าง บทลงโทษต้องชัดเจน  และให้คณะกรรมการสถานศึกษาสามารถเลือกผู้อำนวยการโรงเรียนได้ด้วยตนเอง  เพราะนี่คือสิ่งที่ครูต้องการจริงๆ เนื่องจากผอ.รร. ที่มาจากการสรรหา จะเกิดความรับผิดชอบและแข่งขัน โรงเรียนที่มีการแข่งขันจะนำไปสู่การพัฒนาตัวเอง คูปองการศึกษาสำคัญเนื่องจากจะนำไปสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต

นาวาอากาศตรีศิธา ทิวารี เลขาธิการพรรค พรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า ในข้อเสนอโรงเรียนขนาดเล็ก การที่จะปรับข้อ 2 ข้อ 3 ข้อ 4 และข้อ 5 ประเด็นอยู่ที่ข้อ 1 ถ้ายังปรับแกนกลางในการศึกษาไม่ได้ จะไม่สามารถปรับอะไรได้เลย   ครูต้องเป็นผู้นำกระบวนการเรียนรู้ เหมือนกับทุกโรงเรียนที่เจริญแล้วทั่วโลกทำ อาจจะลดการเรียนของเด็กให้ลดลงได้ประมาณ 60-70%  สอนให้เด็กและวิเคราะห์ข้อมูล ครูเกิดการเรียนรู้ไปพร้อมกับเด็ก ซึ่งปัจจุบันหลักสูตรเดิมของไทยไม่สามารถที่จะพัฒนาเด็กได้เลย เพราะไทยไม่ได้สอนเด็กให้เป็นไปตาม demand และ supply ของโลก เพราะขณะนี้การสอนเด็กเพียงเพื่อให้สอบเข้าสถานศึกษาดีๆเพื่อได้รับปริญญา และตกงานในอนาคต ซึ่งในต่างประเทศจะสอนเด็กให้รู้จักการใช้ AI แต่ประเทศไทยกำลังสอนเด็กให้ไปแข่งกับ AI ดังนั้นเมื่อทราบอยู่แล้วว่ามีการขาดแคลนบุคลากรทางการศึกษากว่า 20,000 คน ซึ่งไม่มีทางที่จะเติมส่วนให้เต็มได้ ดังนั้นวิธีการปรับแกนกลางก็จะทำให้นักเรียนที่เรียนในโรงเรียนห่างไกลและนำเทคโนโลยีเข้าช่วย ก็จะสามารถช่วยบริหารทรัพยากรครูที่มีอยู่จำกัดได้ในภาวะปัจจุบัน เด็กก็จะสามารถเติบโตไปเป็นประชากรที่ดีได้

ส่วนงบฯ กระทรวงศึกษาที่ได้ถึง 20% หรือเท่ากับ 1ใน5 ของงบฯทั้งหมด แต่ไม่รู้เด็กมีพัฒนาการขนาดไหน คนที่มาเป็น รมว.กระทรวงศึกษาฯ ก็มาจากโควต้าทางการเมือง ที่แบ่งเกรดกระทรวง เป็น A , B , C  ระบบการศึกษาจึงไม่สามารถพัฒนาได้  ซึ่งงบฯ 25% ใช้ในการตอบโจทย์นักการเมือง ไม่ได้ตอบโจทย์การศึกษา ดังนั้นการเลือก รมว.ศึกษาฯ  ไม่ควรคัดจากนักการเมือง ควรจะให้องค์กรทางการศึกษาร่วมกันโหวต เพราะหากโดนคัดเลือกเข้ามาร่วมแล้วทำงานไม่ได้ก็ต้องรับผิดชอบร่วมกัน และสามารถลลงมติเเพื่อโหวตให้ปลดรัฐมนตรีได้ และสามารถจะทำให้ปรับแกนกลางทางการศึกษาได้

 ผศ.ดร.บุญส่ง ชเลธร ผอ.การเลือกตั้ง พรรคเสรีรวมไทย กล่าวว่า คำถามว่าการแก้ปัญหาด้านการศึกษา คำตอบที่อยู่ในใจสิ่งแรกที่จะต้องทำ คือ ยุบกระทรวงศึกษาฯ แต่ไม่ใช่การยุบจริง แต่หมายถึงการสะท้อนความรู้สึกว่ากระทรวงศึกษาฯ มีการบริหารที่เละเทะมาก เพราะผลลัพธ์ทางการศึกษาที่เกิดขึ้นมีความด้อยลงทุกวัน  วันนี้โลกเปลี่ยนไปมาก เช่น ห่วงนักเรียนเรียนภาษาอังกฤษ หรือคณิตศาสตร์ไม่ทัน ย้อนมองดูว่าโลกทุกวันนี้ยังจำเป็นต้องเรียนภาษาอังกฤษอยู่ไหม เพราะก็มีเครื่องแปลภาษารองรับได้ถึง 40 ภาษา สามารถพูดกับใครก็ได้ นี่จึงอาจจะเป็นส่วนที่ทำให้ครูตามไม่ทันโลก ไม่มีประสิทธิภาพพอที่จะผลักดันให้การศึกษาไทยก้าวทันโลก หรือนักเรียนมีคุณภาพขึ้นได้ จึงต้องมองย้อนกลับไปที่ต้นน้ำ คือ สถาบันผลิตครู  สะท้อนให้เห็นว่าต้นทางการศึกษาที่ผลิตครูยังไม่สามารถสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพมาทำงานในระบบการศึกษา ดังนั้นสิ่งแรกคือการปฏิรูปกระบวนการการศึกษาการผลิตครูทั้งระบบ


ส่วนนักเรียนต้องการแสดงความคิดและกล้าแสดงออก แต่ความรุนแรงในโรงเรียน และความรุนแรงระหว่างเด็กกับเด็ก ระหว่างเด็กกับครู และระหว่างเด็กกับรัฐ ในส่วนนี้ คือบางครั้งรัฐตั้งกฎระเบียบ ข้อบังคับ ที่ละเมิดสิทธินักเรียน เข่น การกล้อนผม  แต่ทั้งนี้ โรงเรียนจะต้องไม่มีสิทธิไล่เด็กออกจากโรงเรียนไม่ว่าจะกรณีใดๆทั้งสิ้น ส่วนหลักสูตรการศึกษา ที่ต้องปรับคือ การลดเวลาเรียนลงด้วยระบบ 5 -4- 3 คือ เรียนประถมศึกษา 5 ปี เรียนมัธยมศึกษา 4 ปี และเรียนมหาวิทยาลัย 3 ปี เพื่อเด็กได้ใช้ชีวิตกับความเป็นจริง

ดร.กมล รอดคล้าย ผอ.ยุทธศาสตร์ด้านการศึกษา พรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงข้อเสนอการยกเลิกโครงการที่ไม่ตอบโจทย์การเรียนรู้ และการกระจายงบประมาณให้กับ รร.ว่า  สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ต้องทำให้โรงเรียนลดโครงการไม่ตอบโจทย์การเรียนลงเหลือประมาณ 7-10 โครง เฉลี่ย 10% จาก70-80 โครงการ  ให้เหลือแต่โครงการหลักที่รร.ต้องทำตามนโยบายภาพรวมของประเทศ  โครงการที่มีความสอดคล้องกับความจำเป็นของพื้นที่   และโครงการที่รร.มีความสนใจ และหัวใจสำคัญคือสพฐ. ต้องกล้าประกาศว่าโครงการต่างๆจะต้องไม่ลงไปที่โรงเรียนโดยตรง หากไม่ผ่านการคัดกรองจากส่วนกลาง หรือระดับเขตพื้นที่   ส่วนเรื่องงบฯ ควรให้งบฯกับโรงเรียนไปทีเดียว ไม่ต้องแยกให้ทีละโครงการ และให้โรงเรียนไปจัดการเอง

ปัญหาการป้องกันการละเมิดสิทธิและใช้ความรุนแรงในสถานศึกษา  ปัญหานี้สำคัญกว่าปัญหาของหลักสูตรอีก ความรุนแรงจากบุคคล ที่เกิดเพื่อนกลั่นแกล้ง ถูกบูลลี่ หรือถูกครูกล้อนผม ซึ่งครูแนะแนวในปัจจุบันจะแนะแนวการศึกษาและอาชีพ แต่จริงๆต้องแนะแนวทักษะชีวิตให้เด็กเอาตัวรอดในสังคม โดยมีช่องทางที่เด็กเข้าถึงการน้องเรียน และมีเครือข่ายเข้าช่วยเหลือ และต้องการข้อลงโทษาให้ชัดเจนสำหรับผู้กระทำผิดไม่ว่าจะอยู่ในระดับใด

“ในส่วนของข้อเสนอการปรับวัฒนธรรมในการทำงานให้กล้าทำสิ่งใหม่ วัฒนธรรมองค์กรเป็นเรื่องที่เปลี่ยนยาก เพราะส่วนใหญ่จะติดอยู่ในกรอบเดิมๆ ดังนั้นต้องเริ่มจากครู ที่เป็นผู้รับผลโดยตรง จะต้องเป็นผู้ปฏิบัตินำเด็ก โดยใช้นโยบาย 1L 4M 1R คือ 1L เป็นการฝึกให้ครูที่เขียนผลงานวิชาการ ให้ลองนำผลงานไปปฏิบัติจริง โดยภาครัฐต้องสนับสนุน 4M เพื่องานวิจัยและสนับสนุนข้อมูล ให้ได้รูปธรรม เมื่อได้ผลจะต้องได้รางวัล ที่จะส่งผลต่อการแก้ปัญหาของหลักสูตร”นายกมลกล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'รวมแผ่นดิน' เปลี่ยนชื่อใหม่พรรคก้าวอิสระ 'มาดามหยก' นั่งหัวหน้า 'แว่น สิริรัตน์' โฆษก

นายมาโนช อุณหกาญจน์กิจ รองหัวหน้าพรรครวมแผ่นดิน เป็นประธานจัดการประชุมใหญ่ สามัญประจำปี ครั้งที่ 2/2567 สืบเนื่องจาก นายมนตรี พรมวัน ลาออกจากหัวหน้าพรรค เพื่อไปลงเลือกตั้งท้องถิ่น ทำให้ต้องมีการประชุมเพื่อเลือกหัวหน้าพรรค

'แพทองธาร' นำประชุมใหญ่สามัญเพื่อไทย 19 พ.ย. ยังไม่ปรับโครงสร้างพรรค

พรรคเพื่อไทย (พท.) มีกำหนดการจัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2567 พรรค พท. เพื่อรับรองผลการดำเนินงานของพรรค ตามกฎหมายคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

ด้อมส้วมดิ้น! 'เพนกวิน' ย้อนพรรคส้ม ไม่ควรฟ้องปิดปากประชาชน

นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน ผู้ต้องหาคดี 112 ซึ่งหลบหนีออกไปต่างประเทศ โพสต์เฟซบุ๊กกล่าวถึงกรณีที่พรรคประชาชนประกาศว่า จะดำเนินการฟ้องร้องประชาชน

'ดร.ณัฏฐ์' นักกฎหมายมหาชน ฟันธงตัวแปรรัฐบาลชิงยุบสภา ยังไม่เกิด

ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม หรือ “ดร.ณัฏฐ์” นักกฎหมายมหาชน กล่าวถึงกระแสข่าวฐบาลมีโอกาสชิงยุบสภา จะเกิดขึ้นก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

อึ้ง! ปชช. 57% ไม่เชื่อมั่นฝ่ายค้าน 'ไหม' โดดเด่นสุด 'เท้ง' รั้งอันดับ 9 'ป้อม' บ๊วย

โพลชี้ 'ศิริกัญญา' โดดเด่นสุด สส.ฝ่ายค้าน แซง 'หัวหน้าเท้ง' อยู่อันดับ 9 ตามคาด 'ลุงป้อม' รั้งท้าย อึ้ง! ประชาชนไม่เชื่อมั่นการทำงานฝ่ายค้านกว่า 57%