เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตและการกระจายหนังสือดี มีคุณภาพ และกระตุ้นให้คนไทยมีนิสัยรักการอ่านสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ จัดประกวดหนังสือดีเด่นมาอย่างต่อเนื่องทุกปี การประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2566 ปีนี้มีผู้ประพันธ์ ผู้จัดพิมพ์ และหน่วยงานต่างๆ ร่วมส่งหนังสือประกวดรวม411 เรื่อง จากสำนักพิมพ์กว่า 100 แห่ง แยกเป็นกลุ่มหนังสือต่างๆ ได้แก่ หนังสือสารคดี หนังสือนวนิยาย หนังสือกวีนิพนธ์ หนังสือรวมเรื่องสั้น หนังสือสำหรับเด็กเล็ก อายุ 3 – 5 ปี หนังสือสำหรับเด็ก อายุ 6 – 11 ปี หนังสือสำหรับเด็กวัยรุ่น อายุ 12 – 18 ปี หนังสือการ์ตูน และ หรือนิยายภาพ และหนังสือสวยงาม
คณะกรรมการพิจารณาตัดสินการประกวดหนังสือดีเด่น ปี 2566 ซึ่งมี ดร. พนม พงษ์ไพบูลย์ เป็นประธานกรรมการ พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมป็นกรรมการ ล่าสุด ประกาศผลการพิจารณาตัดสินมีหนังสือได้รับรางวัล 55 เรื่อง แยกเป็นรางวัลดีเด่น 14 เรื่อง รางวัลชมเชย 41 เรื่อง
สำหรับรางวัลเด่น 14 เรื่อง ได้แก่ หนังสือสารคดี ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม
เรื่อง ควอนตัม : จากแมวพิศวง…สู่ควอนตัมคอมพิวเตอร์ประพันธ์โดย ดร. บัญชา ธนบุญสมบัติ ด้านศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ศาสนา และชีวประวัติ เรื่อง ประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศไทย โดย ศ.ดร. ศักดิ์ชัย สายสิงห์ หนังสือสารคดี ด้านการท่องเที่ยว อาหาร ฯลฯ เรื่อง I DRAW & TRAVEL VOL. 1.1 Serendipity บังเอิญโชคดีที่ได้พบ โดย รงรอง หัสรังค์
หนังสือนวนิยาย เรื่อง เส้นทางสายลึกลับ โดย กร ศิริวัฒโณ หนังสือกวีนิพนธ์ เรื่อง เราอยู่บนดาวดวงเดียวกันไหม โดย นิตา มาศิริ หนังสือรวมเรื่องสั้น เรื่อง เรายังยิ้มได้ ดอกไม้ยังแย้มบาน โดย อุเทน พรมแดง นอกจากนี้ ยังมีหนังสือดีเด่นสำหรับเด็กเล็ก หนังสือสำหรับวัยรุ่น หนังสือการ์ตูน อีกด้วย
เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ก.พ.ร.) กล่าวว่า สพฐ. จัดประกวดหนังสือดีเด่นต่อเนื่อง ปีนี้เป็นครั้งที่ 51 เพื่อส่งเสริมการผลิตหนังสือที่มีคุณภาพ กว่าจะออกหนังสือหนึ่งเล่มผ่านการคิดและเขียนของนักเชียน บรรณาธิการ สำนักพิมพ์ เพื่อการสร้างหนังสือให้น่าอ่าน ความรู้และจินตนาการที่อยู่ในหนังสือช่วยให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ การประกวดสร้างทั้งนักเขียนและนักอ่าน รวมถึงเกิดผลงานมีคุณค่ามากมาย ปีนี้มีนักเขียนส่งผลงานเข้าประกวดเพิ่มขึ้น 10% คณะกรรมการพิจารณาอย่างเข้มข้น และคัดสรรผลงานดีเด่นออกสู่สาธารณชน จากนี้ สพฐ.จะเผยแพร่หนังสือดีเด่นให้กับสถานศึกษาและอยู่ในบัญชีรายชื่อหนังสือจัดซื้อได้ เราพบว่านักเรียนต่อยอดจากหนังสือดีเด่นเกิดผลงานเขียนของตัวเอง ถือเป็นอีกนวัตกรรมสร้างสรรค์ด้านการศึกษา และควรส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง
ผศ.ดร.ตรีศิลป์ บุญขจร นักวิชาการวรรณกรรม หนึ่งในกรรมการตัดสินหนังสือนวนิยาย กล่าวว่า หนังสือนวนิยายส่งประกวดเป็นผลงานของนักเขียนหน้าเก่ามีชื่อเสียงระดับชาติและนักเขียนหน้าใหม่ สำหรับนวนิยายดีเด่น เรื่อง เส้นทางสายลึกลับ โดย กร ศิริวัฒโณ ผู้ประพันธ์ต้องการเปิดเส้นทางการค้าโบราณระหว่างฝั่งอันดามันมาอ่าวไทย ซึ่งปัจจุบันสูญหายไปแล้ว วิธีการประพันธ์ใช้นายหนังตะลุงแบบสัจจะนิยมมหัศจรรย์ ตระเวนแสดงกึ่งฝันกึ่งจริง เจอเรื่องราวในอดีต และได้รับสารว่าต้องสืบสานการเล่นหนังตะลุง ผู้ประพันธ์ผสานศิลปะการเขียนและศิลปะพื้นบ้านหนังตะลุง โดยปรับประยุกต์เพลงลูกทุ่ง ผลงานประสานศิลป์ได้ดี และสืบสานวัฒนธรรมแดนใต้ ส่วนนวนิยายรางวัลชมเชย เรื่อง”คนจรดาบ” โดยวิศิษฎ์ ศาสนเที่ยง ใช้ลีลาการเขียนแบบพงศาวดาร สื่อสารเรื่องราวในอดีต อีกเล่ม”ฟ้าลิขิต:จากซัวเถาสู่สยาม” โดย ส.เทพรำเพย นักแสดงงิ้วเล่าเรื่องราวการเปลี่ยนผ่านของจีน และเรื่อง”โลกใบเล็กของแทนชน” โดยสาโรจน์ มณีรัตน์ นักเขียนมืออาชีพ มีกลิ่นอายบันทึกการเปลี่ยนแปลง14 ตุลาฯ ผลงานรางวัลหนังสือดีเด่นเหล่านี้จะถูกซื้อเข้าห้องสมุด รวมถึงดึงดูดให้เกิดการอ่านในวงกว้าง
อนุรักษ์ กิจไพบูลทวี อุปนายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จัดหน่ายหนังสือในประเทศไทย (PUBAT) กล่าวว่า หนังสือดีเด่น ปี 66 จะนำมาจัดแสดงนิทรรศการในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 51 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 21 ที่จะจัดปลายเดือนมี.ค.นี้ อยากชวนนักอ่านและผู้สนใจไปเยี่ยมชมและอ่านผลงาน งานหนังสือแห่งชาติปีนี้จัดในแนวคิด “BOOK INFLUENCER “ ผู้มีอิทธิพลในแวดวงต่างๆ ไปจนถึงนักรีวิวหนังสือ จนกระทั่งอนักอ่านทุกคนเป็นพลังสำคัญผลักดันการอ่านในไทยให้คึกคัก ปีนี้จะเป็นครั้งแรกที่งาน 3 วันแรก จะเปิดให้เดินดูหนังสือ ช็อป ชมนิทรรศการ และร่วมกิจกรรมถึงเที่ยงคืนในช่วง 3 วันแรก อยากให้ติดตามกัน
สำหรับนักเขียนผู้ที่ได้รับรางวัลหนังสือดีเด่น ปี 2566 จะได้เข้ารับพระราชทานรางวัลในพิธีเปิดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 51 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 21 จากกรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวันที่ 30 มี.ค. 2566 เวลา 15.00 น. ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กระทรวงศึกษาธิการ เร่งผลักดันการเรียนรู้แบบ Active Learning
กระทรวงศึกษาธิการ สั่ง สพฐ. เร่งผลักดันการเรียนรู้แบบ Active Learning ให้ครอบคลุมทุกภาค ทุกโรงเรียน หวัง ส่งเสริมให้นักเรียนตั้งคำถามและหาคำตอบเอง แทนการท่องจำแบบเดิม
'รมช.ศธ.' เคลียร์ปมเปิดบัญชีรับบริจาค เหตุรถบัสนักเรียนไฟไหม้
'สุรศักดิ์' แจงปมเปิดรับบริจาค ช่วยเหลือครู-นักเรียน เหตุรถบัสทัศนศึกษาไฟไหม้ มอบ 'สพป.อุทัยธานีเขต 2' รับผิดชอบหลัก
การจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ขับเคลื่อนได้จริงตามนโยบายและจุดเน้นของ สพฐ.
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรปราการ เขต 1 ต้นแบบการส่งเสริม การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ โดย ดร.ภูมิ พระรักษา
16 พ.ค.เปิดเทอมแน่แต่ให้สิทธิ์โรงเรียนเลื่อนหากมี 'โควิด-ฝุ่นพิษ-อากาศร้อน'
รัฐบาลย้ำ สพฐ.พร้อมเปิดเทอม 16 พ.ค. นี้ กำชับผู้บริหารโรงเรียนปรับรูปแบบการเรียนการสอนอย่างเหมาะสม คำนึงถึงความปลอดภัยของนักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษาเป็นสำคัญ
สพฐ.ทำโครงการเงินอุดหนุนรายหัวลดความเหลื่อมล้ำการศึกษา
โฆษกรัฐบาลเผย สพฐ.ทำโครงการสนับสนุนเงินอุดหนุนรายหัว อนุบาล – ประถม – มัธยม – ปวช. พร้อมเงินสนับสนุนอุปกรณ์การเรียน มุ่งลดความเหลื่อมล้ำ ลดภาระผู้ปกครอง