โรดแมฟขยะพลาสติก ปี 66-70

เมื่อแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2563 – 2565) สิ้นสุดลง เพื่อให้การขับเคลื่อนแก้ปัญหาขยะพลาสติกในประเทศไทยเกิดความต่อเนื่อง ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ เนื่องจากไทยมีปริมาณขยะพลาสติกติดอับดับต้นๆ ของโลก   กรมควบคุมมลพิษ ( คพ. ) ได้จัดทำแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 – 2570) ซึ่งผ่านความเห็นชอบคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรีไฟเขียวแผนปฏิบัติการฯ ระยะที่ 2 แล้ว เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2566 ที่ผ่านมา

แผนจัดการขยะพลาสติกฉบับนี้ มีกรอบแนวคิด ยกระดับการจัดการขยะพลาสติกให้ดีขึ้นกว่าเดิมตามลำดับความสำคัญของการจัดการขยะรูปแบบใหม่ ตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการบริโภคที่ยั่งยืน การเลือกใช้สินค้าและบรรจุภัณฑ์ที่สามารถใช้ซ้ำ ใช้แนวทางการจัดการขยะมูลฝอยผสมผสาน เพื่อให้มีการนําทรัพยากรกลับคืนจากของเสียให้มากที่สุดในรูปแบบวัสดุรีไซเคิล และพลังงาน ทำให้เหลือขยะที่ต้องกำจัดให้น้อยที่สุด

สำหรับการจัดการขยะพลาสติกเพื่อก้าวสู่การจัดการพลาสติกที่ยั่งยืนด้วยหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน มีเป้าหมายสำคัญ คือ ลดปริมาณขยะพลาสติกเป้าหมาย ขวดพลาสติก (ทุกชนิด) ฝาขวด บรรจุภัณฑ์ฟิล์มพลาสติกชั้นเดียว ถุงพลาสติกหูหิ้ว และถ้วย/แก้วพลาสติก ที่เข้าสู่ระบบฝังกลบขยะลดลง  100%   ภายในปี 70 ผลิตภัณฑ์พลาสติกเป้าหมายเข้าสู่ระบบรีไซเคิล 100% ภายในปี 70 และลดปริมาณขยะพลาสติกที่มีโอกาสหลุดรอดลงสู่ทะเล 50% ภายในปี 70 และมีเครื่องมือบริหารจัดการขยะพลาสติก 10 ประเภทตามที่กำหนดในแผนปฏิบัติการฯ เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการจัดการขยะพลาสติกซึ่งเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม และประเทศไทยได้มีการกำหนด Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573 มี 2 เป้าหมาย คือ การลดและเลิกใช้พลาสติกเป้าหมายด้วยการใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การนำขยะพลาสติกเป้าหมายกลับมาใช้ประโยชน์ 100%  ภายในปี 2570 โดยนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ให้นโยบายและติดตามการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาและสร้างความยั่งยืนในการจัดการขยะพลาสติกของประเทศ

ที่ผ่านมา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย คพ. และกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้รณรงค์การลด เลิกใช้พลาสติก และส่งเสริมให้เกิดการนำพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ ผ่านกิจกรรมรณรงค์ “ทำความดีด้วยหัวใจ ลดรับลดให้ ลดใช้ถุงพลาสติก” ภายใต้โครงการ “ทำความดีด้วยหัวใจ ลดภัยสิ่งแวดล้อม” สามารถลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้ว และโฟมบรรจุอาหาร ในพื้นที่ตลาดสดเทศบาลและเอกชน รวมถึงพื้นที่ห้างสรรพสินค้า และร้านสะดวกซื้อ ทั่วประเทศ ได้กว่า 3,414 ล้านใบ หรือประมาณ 9,824 ตัน โดยเริ่มกิจกรรมตั้งแต่วันที่ 21 ก.ค. 2561 – 31 ธ.ค. 2562 จุดประกายให้ประชาชนหันมาให้ความสนใจกับปัญหาขยะพลาสติกมากยิ่งขึ้น และสร้างการมีส่วนร่วมให้กับประชาชนในการช่วยกันลด และเลิกใช้ถุงพลาสติกเพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกในประเทศ 

จากโรดเมฟจัดการขยะ ระยะที่ 1 นายปิ่นสักก์ กล่าวต่อว่า ได้ยกระดับการดำเนินงาน ร่วมกับเครือข่ายห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อทั่วประเทศ รวม 90 บริษัท ทั่วประเทศ ร่วมงดให้บริการถุงพลาสติกหูหิ้วแบบใช้ครั้งเดียว “Everyday Say No To Plastic Bags” ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2563 – ธ.ค. 2565 สามารถลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วแบบใช้ครั้งเดียว รวม 14,349 ล้านใบ หรือ 81,531 ตัน ประชาชนกว่า 90% เห็นด้วยกับการรณรงค์ในเรื่องนี้

นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการดำเนินกิจกรรมการรณรงค์การลด และเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวอย่างต่อเนื่อง เช่น การส่งเสริมสนับสนุนการใช้ผลิตภัณฑ์ทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การจัดทำตลาดสดต้นแบบ มาตรการลดและคัดแยกขยะมูลฝอยในหน่วยงานภาครัฐ โครงการเปลี่ยนพลาสติกเป็นบุญ (เมื่อคุณหมุนเวียน) ทำให้สามารถลดการใช้ถุงพลาสติกในภาพรวม ลดลง 43% หรือ 148,699 ตัน (ข้อมูลจากการประเมินผลการดำเนินงานตามเป้าหมายตามแผนปฏิบัติการฯ จนถึงปี 2564 ร่วมกับสถาบันพลาสติก โดยใช้ฐานข้อมูล Material Flow of Plastic)

สำหรับโรดแมฟจัดการขยะพลาสติกระยะที่ 2 (ปี 66 – 70)  เป็นทิศทางการดำเนินงานของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการขยะพลาสติกอย่างเป็นระบบและครบวงจร ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต นำเข้า จำหน่าย การบริโภค และการจัดการ ณ ปลายทาง

ปรีญาพร สุวรรณเกษ รองอธิบดี คพ. กล่าวว่า จากโรดแมฟระยะที่ 1 ให้แก้ปัญหาขยะพลาสติกแบบบูรณาการ รัฐและเอกชนร่วมกันขับเคลื่อนเลิกใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำหรือ Cap Seal ได้สำเร็จ เพราะเป็นส่วนหนึ่งทำให้เกิดขยะพลาสติกจำนวนมาก นอกจากนี้ Cap Seal ผลิตจากพลาสติกพีวีซี มีขนาดชิ้นเล็ก เบา ยากต่อการรวบรวมและจัดเก็บเพื่อนำกลับมารีไซเคิลและไม่คุ้มทุนการดำเนินการ ทำให้ถูกทิ้งลงสู่สิ่งแวดล้อมทั้งบนบกและทะเล ซึ่งจะไม่ย่อยสลาย ถ้าไม่มีการรวบรวมเพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกต้อง Cap Seal ก่อปัญหาตกค้างในสิ่งแวดล้อม บางส่วนไหลลงสู่แม่น้ำ ลำคลอง และทะเล ตามด้วยการยกเลิกใช้ไมโครพลาสติกในเครื่องสำอางทุกประเภทเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม และทะเล ในแผนดังกล่าวยังมีเป้าหมายนำพลาสติก 7 ชนิด เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วย

ทั้งนี้ เมื่อสิ้นสุดแผนระยะที่ 1 รองอธิบดี คพ. กล่าวว่า มีการประเมินผล พบว่า เรายังไม่สามารถเลิกผลิตและเลิกใช้พลาสติกเป้าหมายได้ 100% แต่เราสามารถลดการผลิตที่เป็นผลจากการลดกาใช้ได้ 42% ลดการใช้ถุงพลาสติก 43% ลดใช้หลอดพลาสติก33% อย่างไรก็ตาม ช่วงโควิดทำให้วิถีชีวิตเปลี่ยนไป เกิดขยะพลาสติกมากขึ้น นอกจากนี้ พลาสติกบางประเภทยังจำเป็นต้องใช้งานอยู่ หากเลิกไม่ได้ จะลดอย่างไร จัดระบบคัดแยกให้เหมาะสมกับพลาสติกประเภทต่างๆ ได้อย่างไร   นำมาสู่การจัดทำแผนจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 2 ที่ ครม.รับทราบ และมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่ไป

ในหลักการของโรดแมฟระยะ 2 รองอธิบดี คพ. เน้นว่า ให้ความสำคัญกับการจัดการแบบครบวัฏจักรชีวิตของขยะพลาสติก ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง สัมพันธ์กัน ป้องกันเกิดขยะและป้องกันขยะพลาสติกไหลลงทะเล เริ่มที่ผู้ผลิตมีส่วนรับผิดชอบออกแบบผลิตภัณฑที่รีไซเคิลได้ ล่าสุด มีการเชิญผู้ประกอบการและผู้ผลิตเม็ดพลาสติกจะเริ่มต้นจุดใดก่อน  ด้านนี้ภาคเอกชนทำมาอย่างต่อเนื่อง เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่นำกลับมาใช้ซ้ำได้ หรือใช้พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ 

   

 ส่วนกลางทางผู้บริโภค รองอธิบดี คพ. กล่าวว่า ต้องปรับพฤติกรรมของผู้บริโภค สร้างความรู้ความเข้าใจ แยกประเภทของพลาสติกให้ถูกต้อง ขวดน้ำพลาสติกใส ขวดขุ่น ฟิลม์พลาสติกที่รีไซเคิลได้ ภาครัฐต้องเร่งสื่อสารให้ความรู้กับประชาชน  หากคัดแยกขยะพลาสติกได้จะมีส่วนช่วยลดการใช้ หรือเลิกใช้พลาสติกที่กำจัดไม่ได้ รวมถึงรณรงค์ใช้ถุงพลาสติกที่หนาขึ้น เพื่อให้เกิดการใช้ซ้ำได้มากกว่า 5 ครั้ง   รวมถึงมีการใช้ซ้ำ  ปลายทาง กทม. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีหน้าที่เก็บรวบรวมขยะพลาสติก คัดแยก และเข้าสู่การจัดการขยะอย่างเหมาะสม โดย คพ.ทำ MOU กับอปท. ถ่ายทอดความรู้การจัดการขยะพลาสติก และคู่มือจัดการขยะพลาสติก  นอกจากนี้ จัดถังขยะให้เพียงพอ มีวิธีการบริหารจัดการขยะให้เหมาะกับพื้นที่นั้นๆ อย่างก็ตาม การลดแต่ต้นทางสำคัญสุด

“ จากแผนจะนำขยะพลาสติกสู่ระบบฝังกลบขยะลดลง 100%  และผลิตภัณฑ์เป้าหมาย 5 ประเภทต้องเข้าสู่ระบบรีไซเคิล 100% เช่นกัน ลดปริมาณขยะหลุดลอดสู่ทะเลไทย 50% เร่งให้มีเครื่องมือบริหารจัดการขยะพลาสติก ทั้งการสร้างแรงจูงใจผ่านกฎหมายต่างๆ ผู้ผลิตมีความรับผิดชอบมากขึ้น รวมถึงออกมาตรฐานต่างๆ เพื่อรองรับพลาสติกรีไซเคิล “ รองอธิบดี คพ. ย้ำการจัดการขยะพลาสติกทุกฝ่ายต้องช่วยกัน เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายจัดการขยะของประเทศ และหยุดยั้งความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ศาลสั่ง'วินโพรเสส'ชดใช้ 1.7 พันล้าน ฟื้นฟูมลพิษ

3 ก.ย.2567 - นางกัญชลี นาวิกภูมิ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) และโฆษก คพ. เปิดเผยว่า จากกรณีบริษัท วิน โพรเสส จำกัด มีการรับและลักลอบเก็บของเสียเคมีวัตถุจากโรงงานต่างๆ มาเก็บไว้ในพื้นที่ของบริษัทเป็นจำนวนมาก เพื่อส่งไปกำจัด ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องยาวนาน 10 ปี โดยไม่ได้รับอนุญาต ต่อมาเมื่อปี 2560 คพ.

เปิดจุดดับร้อนทั่วกรุง พกขวดเติมน้ำฟรี

การใช้ขวดน้ำพกพาไปเติมน้ำดื่มเองทุกวัน เป็นวิธีการง่ายๆ ช่วยลดขยะขวดพลาสติก ถ้าใครเคยตั้งคำถามว่า คนกรุงเทพทิ้งขวดพลาสติกกันมากแค่ไหน จากการสำรวจของ Environmental Justice Foundation Thailand (EJF)  พบว่า ประชาชนร้อยละ 99

กัดเซาะชายฝั่ง ภัยคุกคาม'ลันตา'ยุคโลกเดือด

ทุกปีประเทศไทยสูญเสียงบประมาณพันล้านบาทเพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ทั้งกำแพงกันคลื่น เขื่อนกันคลื่น เติมทรายชายหาด หรือรอดักทราย แต่มาตรการโครง