เพาะช่างผนึกศิลปิน 25 ชาติ แสดงพลังศิลปะ

เปิดเวทีให้ศิลปินเกือบ 200 ชีวิตจาก 25 ประเทศทั่วทุกมุมโลกรังสรรค์ผลงานศิลปะ เมื่อวิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ จัดโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการทางทัศนศิลป์และนิทรรศการนานาชาติ ครั้งที่ 17 ( The 17th Poh-Chang International Art Festival & Workshop in Thailand 2023)  ขึ้น นับเป็นโปรเจ็คใหญ่ที่ศิลปินทั้งไทยและต่างประเทศตั้งตารอคอย

 ไฮไลท์กองทัพศิลปินร่วมปฏิบัติการทางทัศนศิลป์ 3 วัน ระหว่างวันที่ 9-10 ก.พ. ที่ผ่านมา ก่อนนำผลงานหลากหลายเทคนิคจากเวิร์คช็อปมาติดตั้งและจัดแสดงในนิทรรศการนานาชาติ  ณ พิพิธภัณฑ์เพาะช่างเฉลิมพระเกียรติ เปิดให้ชมตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 3 มี.ค.2566 โดยประทีป เลี่ยวไพรัตน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) เป็นประธานพิธีเปิด  เมื่อวันก่อน

ผศ.บรรลุ วิริยาภรณ์ประภาส ผู้อำนวยการวิทยาลัยเพาะช่าง กล่าวว่า ปีนี้ศิลปินปลดปล่อยกันเต็มที่ในการเวิรค์ช็อปหลังอัดอั้นมาจากสถานการณ์โควิด  โดยมีศิลปินไทย 148 คน และศิลปินนานาชาติ 50 คน ร่วมโครงการ แต่ละปีจะสับเปลี่ยนหมุนเวียนศิลปินต่างชาติ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคนิคการสร้างสรรค์งานระหว่างศิลปินไทยกับศิลปินต่างชาติ ได้เครือข่ายความร่วมมือระดับนานาชาติ  ช่วงเวิร์คช็อปศิลปินมีความกระตือรือร้นนำเสนอผลงาน รวมถึงนำเสนอบทความทางวิชาการงานสร้างสรรค์  โครงการนี้ได้รับรางวัลแนวปฏิบัติที่ดีเด่นในการพัฒนาความเป็นนานาชาติของสถาบันอุดมศึกษา ประจำปีการศึกษา 2555 ของสถาบันการอุดมศึกษา(สกอ.)ด้วย  ซึ่งจัดต่อเนื่องทุกปี โครงการนี้โดดเด่น อลังการ เป็นแรงดึงดูดให้ศิลปินอยากมีส่วนร่วมกับเทศกาลนานาชาตินี้  

“ อาจารย์เพาะช่างได้ตักตวงแนวคิดและประสบการณ์กว่าจะก้าวสู่ศิลปินที่มีชื่อระดับสากล โดยไม่ต้องเดินทางไกล ส่วนนักศึกษาเพาะช่างในฐานะลูกมือและช่วยประสานงานได้เรียนรู้จากการเข้ามาช่วยงานของโครงการ ศิลปินจิตรกรรม นักศึกษาคณะจิตรกรรมประกับ การได้พูดคุยสัมภาษณ์กับศิลปิน ไม่เพียงได้เพิ่มพูนความรู้ด้านศิลปะ ยังได้ฝึกทักษะการสื่อสารด้วยภาษาต่างประเทศ มีความกล้า ความมั่นใจเพิ่มขึ้น  ได้ทำงานเป็นทีม มีความรับผิดชอบ มีน้ำใจ มีจิตอาสา แม้แต่ผู้สนใจสามารถเข้าชมการทำงานสดๆ ของศิลปินได้ และมาชมผลงานในนิทรรศการ เพราะศิลปะสร้างสรรค์คือส่วนหนึ่งของชีวิต “ ผศ.บรรลุ กล่าว

ดร.กมล ทัศนาญชลี ศิลปินแห่งชาติ ผู้ริเริ่มโครงการฯ กล่าวว่า โครงการนี้พัฒนาตามลำดับ  มีศิลปินต่างประเทศร่วมงานไม่ซ้ำแต่ละปี และขยายประเทศเครือข่ายกว้างขวางขึ้น  การเวิร์คช็อปไม่ใช่แค่เตรียมเฟรมและสีให้ศิลปิน แต่เปิดโอกาสให้ศิลปินต่างประเทศเรียนรู้ประเทศไทยผ่านวัสดุ อุปกรณ์  สร้างแรงบันดาลใจให้ศิลปินใส่เอกลักษณ์ไทยในผลงานศิลปะ ไม่ว่าจะเซรามิก จิตรกรรม ประติมากรรม  ฯลฯ ซึ่งสามารถกลับไปพัฒนาผลงานต่อได้ บางสิ่งที่ศิลปินไทยมองข้าม แต่ศิลปินต่างแดนหยิบจับมาสร้างงานศิลป์ให้คนไทยเสพ  เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างแท้จริง

 “ ถือเป็นเฟสติวัลระดับนานาชาติจุดประกายเรียนรู้ศิลปะทุกกลุ่ม ศิลปิน 25 ประเทศมีเป้าหมายอยากมาทำงานสร้างสรรค์ในไทย เกิดการแข่งขันกัน ทุกชาติทำเต็มที่   เกิดงานศิลป์ที่ทรงพลัง   เพราะทุกคนรู้ว่าจะได้แสดงให้คนได้ชื่นชม  หลังจากนี้เหล่าศิลปินจะได้ไปศึกษาดูงานแหล่งเซรามิคที่จ.สุโขทัย เมืองมรดกโลก รวมถึงจ.ลำปาง แหล่งผลิตเซรามิกใหญ่ของไทย นอกจากสัมผัสวิถีวัฒนธรรมมรดกภูมิปัญญาไทยแล้ว จะเกิดความงอกงาม ต่อยอดทางความคิดจากทุนวัฒนธรรมไทย “ ดร.กมล ศิลปินชื่อดัง กล่าว

ผศ.ดร.สุทธินี สุขกุล คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า จากเวิร์คช็อปเกิดผลงานเซรามิกชื่อ”น้ำหยดในบ่อใหญ่” นำมาแสดงนิทรรศการนานาชาติ แรงบันดาลใจจากแนวคิดศาสตร์พระราชาและความพอเพียง นำมาสู่การดำรงชีวิตอย่างผาสุข โครงการนี้มีความอบอุ่นและได้พบปะศิลปินที่หลากหลาย แลกเปลี่ยนมุมมองและเรียนรู้เทคนิคการทำงานเซรามิกใหม่ๆ กับศิลปินต่างประเทศ เช่น ตุรกี สิงค์โปร ได้เครือข่าย  โครงการนี้ควรจัดต่อเนื่อง ทำให้ศิลปินไทยได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ปลุกไฟในการสร้างสรรค์

สามารถชมผลงานของศิลปิน 25 ประเทศได้ที่นิทรรศการนานาชาติ พิพิธภัณฑ์เพาะช่างเฉลิมพระเกียรติ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ก้าวสู่ 77 ปี ศิลปินครูผู้ยิ่งใหญ่ ปรีชา เถาทอง

เปิดนิทรรศการศิลปะอันทรงคุณค่า สร้างสรรค์โดย ศ.เกียรติคุณ ปรีชา เถาทอง ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์  ภายใต้ชื่อ"โครงการอนุรักษ์สืบสานต่อยอดปณิธานในหลวง ร.10 ชุดบูชาครูเหม เวชกร เพาะช่าง ศิลปากร และวัดโพธิ์ ก้าวเข้าสู่ 77 ปี ปรีชา เถาทอง"

นิทรรศการนานาชาติห้ามพลาดที่’เพาะช่าง’

เปิดพื้นที่ให้ศิลปินนานาชาติ 153 คนจาก 18 ประเทศ ร่วมปฏิบัติการทางทัศนศิลป์ทั้งแบบออนไลน์และออนไซต์อย่างเข้มข้นตลอด 3 วันที่วิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์  นำมาสู่งานสร้างสรรค์ร่วมสมัยที่มีคุณค่า ซึ่งเหล่าศิลปินสะท้อนมุมมองที่น่าสนใจ