วธ.ประชุมร่วมกับ 32 หน่วยงาน กำหนด 9 แนวทางจัดประเพณีสงกรานต์ ปี 66 ภายใต้แนวคิด ‘สืบสานสงกรานต์วิถีไทย ร่วมสานใจ สู่สากล’ เน้นคุณค่าสาระวัฒนธรรม เผยแพร่อัตลักษณ์ท้องถิ่น
10 ก.พ. 2566 – นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบูรณาการกำหนดแนวทางการจัดงานประเพณีสงกรานต์ ประจำปี 2566 ผ่านระบบออนไลน์ Zoom Meeting โดยมี นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม และผู้แทน 32 หน่วยงาน เข้าร่วม ณ ศูนย์ประชุมกระทรวงวัฒนธรรม ว่า เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ร่วมรณรงค์ให้คนไทยตระหนักในคุณค่า สาระ ความสำคัญของประเพณีสงกรานต์ ตลอดจนเพื่อประชาสัมพันธ์การเสนอประเพณี “สงกรานต์ในประเทศไทย” เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อองค์การยูเนสโก ให้เป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวาง เน้นประเพณีอันงดงาม ที่ปฏิบัติกันทั่วทุกพื้นที่ของไทย แสดงให้เห็นถึงอัตลักษณ์ของชาติพันธุ์ต่าง ๆ ความหลากหลายทางวัฒนธรรมในแต่ละท้องถิ่น ทั้งยังต่อยอดสร้างสรรค์ทุนทางวัฒนธรรม Soft Power เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว พร้อมรองรับการเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวให้จัดกิจกรรมสงกรานต์ได้อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อสร้างความสุข สร้างรายได้และกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ข้อสรุปแนวทางในการจัดงานประเพณีสงกรานต์ พุทธศักราช 2566 ภายใต้แนวคิด “สืบสานสงกรานต์วิถีไทย ร่วมสานใจ สู่สากล” ครอบคลุมคุณค่าสาระของวัฒนธรรม ประเพณี เผยแพร่อัตลักษณ์ของท้องถิ่น กระตุ้นการท่องเที่ยว รักษาสุขอนามัย ตลอดจนความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
รมว.วธ. กล่าวต่อว่า แนวทางจัดสงกรานต์ปีนี้ ประกอบด้วย 9 แนวทางสำคัญ ดังนี้ 1. ขอความร่วมมือหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ร่วมกันจัดกิจกรรมประเพณีสงกรานต์ มุ่งเน้นสืบสานคุณค่าสาระของประเพณีอันดีงาม พร้อมเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สู่การรับรู้ของชาวต่างชาติ 2. ส่งเสริมให้จังหวัดต่าง ๆ ใช้พื้นที่จัดกิจกรรมทางศาสนาและวัฒนธรรมในเทศกาลสงกรานต์ ร่วมกันสืบสานประเพณีที่ดีงาม เหมาะสม 3. รณรงค์ให้ประชาชนร่วมกันสืบสานคุณค่าสาระและสิ่งที่ควรทำของประเพณีสงกรานต์ เช่น การทำความสะอาดบ้านเรือน วัด ศาสนสถานที่นับถือ สถานที่สาธารณะ ทำบุญตักบาตร ปฏิบัติธรรม ฟังเทศน์ สรงน้ำพระพุทธรูป ขอพรผู้สูงอายุ
4. รณรงค์ให้แต่งกายที่สร้างภาพลักษณ์ความเป็นไทย เช่น ใช้ผ้าไทย ผ้าท้องถิ่น ชุดไทยย้อนยุค หรือชุดสุภาพ เข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อสร้างการรับรู้ถึงอัตลักษณ์ความเป็นไทยต่อชาวต่างชาติ 5.การขอความร่วมมือหน่วยงานต่างๆ สนับสนุนศิลปินพื้นบ้านในการจัดกิจกรรม การละเล่น และการแสดงทางวัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น ตามแนวทางมาตรการเทศกาลสงกรานต์ 2566 เพื่อเป็นการถ่ายทอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม และให้เด็ก เยาวชน ประชาชนทั่วไป ได้ร่วมกันสืบสานประเพณี โดยคำนึงถึงวัฒนธรรมที่ถูกต้องเหมาะสม และร่วมกันเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม
6. หน่วยงานด้านความมั่นคง ความปลอดภัย และด้านบริการประชาชน ให้รักษามาตรการด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อให้สงกรานต์เป็นช่วงเวลาที่สร้างความสุข ประชาชนและนักท่องเที่ยวมีความปลอดภัยชีวิตและทรัพย์สิน 7. ขอความร่วมมือประชาชนที่ใช้ยานพาหนะและใช้ถนนให้ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎจราจรอย่างเคร่งครัด รวมถึงช่วยสอดส่อง หรือแจ้งเจ้าหน้าที่ในกรณีพบเห็นผู้ที่ปฏิบัติตนไม่เหมาะสม 8. การจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับกลุ่ม ๖๐๘ (กลุ่มเสี่ยง) ให้รักษามาตรการการป้องกัน การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา COVID-19 และโรคทางเดินหายใจ ควรมีอุปกรณ์ป้องกันเพื่อสุขอนามัยที่ดีของผู้เข้าร่วมงาน และ 9. ส่งเสริมภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประเพณีสงกรานต์ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และนานาชาติ ในโอกาสที่สงกรานต์ในประเทศไทย เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมฯ ที่เข้าสู่การพิจารณาของยูเนสโก
นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กล่าวว่า ในส่วนการเสนอ “สงกรานต์ในประเทศไทย” เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ องค์การยูเนสโกได้รับรายการสงกรานต์ของประเทศไทยเข้าสู่วาระการพิจารณาขึ้นทะเบียนในช่วงปลายปี พ.ศ. 2566 นี้แล้ว เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์วาระดังกล่าวให้สาธารณะได้รับรู้และมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง สวธ.เตรียมจัดประชุมเสวนาเพื่อจัดทำองค์ความรู้เกี่ยวกับประเพณีสงกรานต์ที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น ภายในเดือนมีนาคม 2566 นี้ เป็นกรณีศึกษา ใน 5 จังหวัด ประกอบด้วย จ.เชียงใหม่ ชลบุรี ขอนแก่น สมุทรปราการ และนครศรีธรรมราช เป็นการรองรับการเสนอสงกรานต์ในประเทศไทย ในโอกาสดังกล่าวด้วย
อธิบดี สวธ. กล่าวต่อว่า สงกรานต์ปีนี้ สวธ.เตรียมจัดกิจกรรมเพื่อเผยแพร่คุณค่าสาระ ให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้มีส่วนร่วมสืบสานความงดงามของประเพณีสงกรานต์ อาทิ งานรดน้ำขอพรศิลปินแห่งชาติ ในวันที่ 4 เมษายน 2566 เวลา10.00 น. ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย และงานสืบสานประเพณีสงกรานต์ ในวันที่ 13 เม.ย. ณ วัดปทุมวนาราม ราชวรวิหาร เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร กิจกรรมประกอบด้วย การสรงน้ำขอพรพระพุทธรูปสำคัญและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำวัด สรงน้ำพระสงฆ์ รดน้ำขอพรผู้อาวุโส ทำบุญทำทานเสริมสิริมงคลให้ชีวิตรับปีใหม่ไทย ส่วนภูมิภาค เช่น จังหวัดเชียงใหม่ จัดงานแบบย้อนยุคสงกรานต์วิถีล้านนา “ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมืองเจียงใหม่” 12-16 เม.ย. จังหวัดชลบุรี จัดงานวันไหลบางแสน 16-21 เม.ย. จังหวัดนครศรีธรรมราช จัดงานเทศกาลมหาสงกรานต์ แห่นางดานเมืองนคร (วิถีพุทธ-พราหมณ์) 13-15 เม.ย. และ จังหวัดสมุทรปราการ จัดประเพณีสงกรานต์พระประแดง ระหว่าง 21-23 เม.ย. เป็นต้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ย้อนเวลา 4 วัด 1 วัง เมื่อครั้งต้นกรุงฯ
ชวนแต่งชุดไทยเดินทางย้อนเวลากลับไปสู่ช่วงต้นกรุงศรีอยุธยา ดื่มด่ำกับบรรยากาศโบราณสถานยามค่ำคืนที่งดงามในงาน “ 4 วัด 1 วัง เมื่อครั้งต้นกรุงฯ” ภายใต้แนวคิด “ย้อนเวลา ส่องวิถี ปลุกแสงสี พระนครศรีอยุธยา” โดยจะจัดกิจกรรมตามวัดและโบราณสถานที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์
สืบสานประเพณีถวายผ้าพระกฐินวัดหนองแวง แหล่งรวมมรดกวัฒนธรรม
5 พ.ย.2567 - นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า เนื่องในเทศกาลกฐิน พุทธศักราช 2567 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานผ้าพระกฐินให้กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) นำไปถวายพระสงฆ์ที่จำพรรษา
'หมูเด้ง' ซุปตาร์ดันวัฒนธรรมไทยสู่ระดับโลก
“หมูเด้ง”ซุปเปอร์สตาร์ฮิปโปแคระที่โด่งดังเป็นไวรัลทั่วโลกจากความน่ารักขี้เล่น สื่อต่างประเทศนำไปลงข่าว นิตยสาร TIME พาดหัวข่าวเป็นไอคอนไลฟ์สไตล์ที่กิน นอน และแอคชั่นดราม่า สร้างปรากฎการณ์หมูเด้ง ช่วยให้ยอดนักท่องเที่ยวเข้าชมสวนสัตว์เปิดเขาเขียว จ.ชลบุรี เพิ่มทวีคูณ
ลอยกระทงวิถีไทย สืบสานประเพณีงดงาม
วันลอยกระทงปีนี้ ตรงกับวันศุกร์ที่ 15 พฤศจิกายน 2567 จัดเป็นเทศกาลประเพณีสำคัญของคนไทยที่จะได้ร่วมกันสืบสานคุณค่าประเพณีอันดีงาม โดยการทำกระทงสวยงามหลากหลายรูปแบบ นำไปลอยตามแม่น้ำลำคลอง เพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ