ถอดบทเรียนวัคซีนโควิด-19 ในไทย 3ปี ฉีดเข็ม 3 ยังแผ่วเฉียด40%

สถาบันวัคซีนแห่งชาติ  จัดเสวนาวิชาการออนไลน์ ในหัวข้อ “ย้อนรอยโอมิครอน กับการใช้วัคซีนโควิด 19 เข็มกระตุ้นของประเทศไทย” โดยมีกรมควบคุมโรค และคณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.เชียงใหม่ร่วมด้วย   ในภาพรวมของการฉีดวัคซีน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า วัคซีนโควิด เข็มแรกของโลกถูกฉีดเมื่อเดือนธันวาคม.2563 ที่ประเทศอังกฤษ โดยทั่วโลกมีการฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 14,000 ล้านโดส หากมาดูสถานการณ์โควิด  ในขณะนี้มีจำนวนการติดเชื้อและการเสียชีวิตที่ลดลงอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่ต้นปี 2563 ที่ประเทศไทยเราเจอผู้ป่วยรายแรกในสายพันธุ์อู่ฮั่น ต่อมามีการพบสายพันธุ์อัลฟ่า เดลต้า และโอมิครอน

โดยอัตราการติดเชื้อในปี.2563-2564 มีจำนวน 2.22 ล้านคน อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 21,698 คน และในปี พ.ศ.2565 พบผู้ติดเชื้อ  2.49 ล้านคน อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 11,896 คน ซึ่งอัตราการเสียชีวิตนั้นต่ำกว่าค่าเฉลี่ยเมื่อเทียบกับหลายๆประเทศ เนื่องจากการเข้ารับวัคซีน และมาตรการป้องกันโควิด-19 ต่างๆ ในส่วนของปีพ.ศ.2566 พบผู้ป่วยอาการรุนแรงหรือผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจลดลงเรื่อยๆ และอัตราผู้เสียชีวิตก็ลดลงเหลือเพียง 10 กว่าราย/สัปดาห์ นับว่าเป็นช่วงที่มีผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตน้อยที่สุดตั้งแต่มีการระบาดของโอมิครอน ประเทศไทยจึงต้องมีการติดตามเฝ้าระวังโรคโควิด-19 เช่นเดียวกับโรคติดต่อที่ต้องเฝ้า อย่าง ไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น

การระบาดของโอมิครอนปี.2565  พบกลุ่มที่มีอัตราป่วยสูงคือ กลุ่มวัยทำงาน รองลงมาคือกลุ่มผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไป กลุ่มสูงอายุเฉลี่ยแล้วพบป่วย 100 คน จะเสียชีวิต 4 คน สูงสุดเมื่อเทียบกับทุกกลุ่มวัย  ในกลุ่ม  0-19 ปี พบว่า กลุ่มเด็กอายุ 0-4 ปี มีอัตราการเสียชีวิตมากกว่า 3 เท่าเมื่อเทียบกับกลุ่มอายุ 5-9 ปี จึงเป็นเหตุผลให้ต้องวางแผนการให้วัคซีนในเด็กอย่างเหมาะสม

ส่วนการฉีดวัคซีนของไทย เข็มแรกฉีดเมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2564  และรณรงค์การฉีดวัคซีนช่วงเดือนก.พ.-เม.ษ. 64 โดยเป็นการฉีดวัคซีนซิโนแวค ที่เป็นเชื้อตาย   โดยนับตั้งแต่ มีฉีดวัคซีนเข็มแรกเมื่อวันที่ 28 ก.พ. 64  ถึงการฉีดครบ 100 ล้านโดส ใช้เวลาไม่ถึง 10 เดือน นับว่าเป็นสถิติที่เร็วที่สุดในไทย เป็นการฉีดวัคซีนซิโนแวคไปกว่า 20 ล้านโดส  วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ากว่า 40 ล้านโดส ใกล้เคียงกับวัคซีนไฟเซอร์  ส่วนโมเดอร์นาถือว่าเป็นวัคซีนทางเลือกมีประมาณ 7 ล้านโดส และซิโนฟาร์มอีกกว่า 10 ล้านโดส  ส่วนวัคซีนบูสเตอร์ที่เหลืออยู่ไทยขณะนี้คือ แอสตร้าเซนเนก้าและไฟเซอร์ 


ทางด้านสถิติการรับวัคซีนในไทยขณะนี้สะสมแล้วกว่า 146 ล้านโดส แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 57.59 ล้านโดส เฉลี่ย 82.81% ครบ 2 เข็ม จำนวน 54.11 ล้านโดส เฉลี่ย 77.79% ในเข็มที่ 3 จำนวน 27.28 ล้านโดส เฉลี่ยเกือบ 40% มีข้อน่าสังเกตคือ ในภาพรวมประเทศมีเปอร์เซ็นการได้รับวัคซีนอยู่ที่ 60-120% สีเหลืองในพื้นที่ยะลามีการได้รับวัคซีนอยู่ที่เกือบ 60% แต่ในพื้นที่ภาคใต้ 2 จังหวัด นราธิวาสและปัตตานี ยังคงเป็นพื้นที่สีแดง หมายถึง จำนวนประชาชนได้รับวัคซีนต่ำเป็นพิเศษไม่ถึง 50% ดังนั้นจึงเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงอยู่เสมอหากมีการระบาดระลอกใหม่”

สำหรับการติดตามผลของวัคซีน นพ.โสภณ กล่าววา  ทั้งนี้มีข้อมูลจากการศึกษาในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน พบว่า ผู้สูงอายุที่ได้วัคซีนเข็มกระตุ้นสามารถป้องกันและลดการเสียชีวิตได้ 41 เท่า เมื่อเทียบกับคนที่ได้รับวัคซีน 1-2 เข็ม  ทั้งนี้จากข้อมูลล่าสุดในสัปดาห์ที่แล้วมีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 17 ราย พบว่าจำนวน 8 ราย ไม่ได้รับวัคซีน ซึ่งไม่ต่างจากในปีที่แล้วที่พบผู้เสียชีวิตในทุกสัปดาห์ที่ไม่ได้รับวัคซีนเกือบครึ่งเช่นกัน ดังนั้นประชาชนควรได้รับวัคซีนอย่างน้อย 4 เข็ม โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว 


“สรุปว่า โดยรวมประเทศไทยอยู่ในช่วงที่ต้องเตรียมพร้อม เพราะอาจจะมีการระบาดของสายพันธุ์ใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และเป้าหมายในปี2566 ที่จะรณรงค์เดินหน้าการให้วัคซีนเข็มกระตุ้นในกลุ่มเสี่ยง ขณะนี้เรามีวัคซีนเพียงพอทั้งแอสตร้าเซนเนก้าและไฟเซอร์สำหรับประชาชนทุกคน ส่วนต่างชาติมีการคิดค่าวัคซีนและบริการการฉีด”

นพ.สุวัฒน์ จริยาเลิศศักดิ์


ด้านประสิทธิผลการให้วัคซีนโควิด-19 สูตรผสม ในเข็มกระตุ้นที่ 3 และ 4 ในช่วงการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน  นพ.สุวัฒน์ จริยาเลิศศักดิ์ คณบดี คณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.เชียงใหม่ กล่าวว่า ในช่วง2564 ความต้องการของวัคซีนมีจำนวนมาก จึงได้มีการใช้วัคซีนสูตรผสมคือ ซิโนแวคเข็มแรก ตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่ 2  และเข็มกระตุ้นแอสตร้าเซนเนก้า หรือฉีดแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม กระตุ้นด้วยไฟเซอร์ ซึ่งการทดลองในห้องปฏิบัติการพบว่ากระตุ้นภูมิได้ดี  แต่เมื่อนำมาใช้กับคนแล้วผลการกระตุ้นภูมิเป็นอย่างๆไร อาจมีความแตกต่างกันจึงเป็นที่มาการศึกษาข้อมูลในพื้นที่จ.เชียงใหม่ โดยการค้นพบสำคัญ ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลต้า ในเดือนต.ค.-ธ.ค.64  ในเชียงใหม่พบการติดเชื้อประมาณ 20,000 คน เสียชีวิต 156 คน หรือ 0.78% พบว่า เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่เคยได้รับวัคซีน ผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้ว 2 เข็ม ป้องกันการติดเชื้อโควิดประมาณ 63% ลดรุนแรง/ตาย ได้ 89% ผู้ที่ได้รับวัคซีน 3 เข็ม ป้องกันการติดเชื้อโควิดประมาณ 95%  ไม่พบอาการรุนแรงหรือตาย 100%

นพ.สุวัฒน์  กล่าวต่อว่า ต่อมาในช่วงการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน เดือนก.พ.-เม.ย.65 ซึ่งมีผู้ติดเชื้อ 300,000 คน เสียชีวิต 175 คน หรือ 0.06% เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่เคยได้รับวัคซีน ผู้ที่ได้รับวัคซีน 2 เข็มไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อโควิด ลดรุนแรง/ตายได้ 80% ส่วนผู้ที่ได้รับวัคซีน 3 เข็ม ป้องกันการติดเชื้อโควิดประมาณ 31% ลดรุนแรง/ตายได้ 89% แต่ในผู้ที่ได้รับวัคซีน 4 เข็ม ป้องกันการติดเชื้อโควิดได้ถึง 75% ไม่พบอาการรุนแรง 100% แต่พบเสียชีวิตในเดือนพ.ค.-มิ.ย.65 จำนวน 2 ราย โดยพบว่าได้รับวัคซีนเข็มที่ 4 มาแล้วเกิน 4 เดือน  ดังนั้น การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นที่ 3 และ 4 ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนแอสตร้าฯ หรือชนิด mRNA จึงเป็นสิ่งที่สำคัญคือช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้ประมาณ 13 เท่า

ทั้งนี้ประสิทธิผลช่วยลดความรุนแรง/ตายในผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 สูตรผสม ได้ผลดีที่สุดในช่วง 14-120 วันหลังจากฉีดเข็มสุดท้ายเฉลี่ย  91-93% หากนานกว่า 4 เดือนขึ้นไป ประสิทธิผลจะเริ่มลดลงเฉลี่ย 71% และถ้านานกว่า 6 เดือน จะลดลงเหลือ 68% ซึ่งประชากรในกลุ่ม 608 แนะนำให้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นที่ 3 และ 4 ตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไปหลังจากวันที่ฉัดวัคซีนเข็มสุดท้าย

“โดยในขณะนี้เข็ม 3 ในไทยฉีดไปประมาณ 39% ส่วนตัวมีความรู้สึกว่ายังดีไม่พอ เพราะเดิมเมื่อกลางปีที่แล้วเข็ม 3 ฉีดอยู่ที่ 35% แต่ควรจะครอบคลุม 60-80% ซึ่งในประเทศสิงคโปร์ และมาเลเซียฉีดเข็ม 3 สูงกว่าบ้านเรา สัดส่วนของเขาอยู่ที่  60-70% และเราควรมีการฉีดกระตุ้นเข็ม 4 โดยไม่ต้องรอวัคซีนรุ่นใหม่ เพราะต้องยอมรับว่า วัคซีนในขณะนี้ ไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อ แต่ลดความรุนแรงและการเสียชีวิตได้” นพ.สุวัฒน์  กล่าว

นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ สถาบันบำราศนราดูร กรมควบคุมโรค กล่าวเสริมในส่วนของการใช้แอนติบอดีหรือภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปที่ออกฤทธิ์ยาว (LAAB) ว่า LAAB ประกอบด้วยแอนติบอดีสองชนิดได้แก่ Tixagevimab และ Cilgavimab เป็นภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปป้องกันโควิด 19 ซึ่งจากการศึกษาพบว่า ประสิทธิภาพในการป้องกันโควิด-19 แบบมีอาการได้ 82.8% เมื่อติดตามไป 6 เดือน ส่วนประสิทธิภาพในการรักษา ลดความเสี่ยงในการเกิดโรครุนแรงหรือเสียชีวิต(จากทุกสาเหตุ) ได้ 88% ในกลุ่มที่ได้รับ LAAB ภายใน 3 วันหลังแสดงอาการและยังลดความเสี่ยงถึง 50% ในกลุ่มที่ได้รับ LAAB ภายใน 7 วันหลังแสดงอาการ

“ทั้งนี้สายพันธุ์ BA.2.75 ที่ระบาดในไทยถาพรวมทั้งประเทศประมาณ 90% สายพันธุ์BA.4 BA.5 ประมาณ 7% และโอมิครอน 2% โดยประสิทธิภาพของ LAAB สามารถตอบสนองต่อเชื้อโควิดสายพันธุ์ BA.2.75 ได้ดี ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ระบาดในไทยขณะนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับสายพันธุ์ดั้งเดิม แต่หากเป็นสายพันธุ์ที่ระบาดอยู่ในอเมริกา ก็อาจจะลดประสิทธิภาพในการยับยั้งเชื้อลง” นพ.วีรวัฒน์ กล่าว

นพ.วีรวัฒน์ กล่าวต่อว่า แนวทางการให้ LAAB คือต้องมีอายุ 12 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ผู้ที่อายุ 60 ปีขึ้นไปที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีน ผู้ที่อายุ 70 ปี ขึ้นไป ที่ได้รับวัคซีนเข็มสุดท้ายเกิน 6 เดือน ผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค และต้องไม่เป็นสตรีตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร และผู้ที่แพ้ยา L-Histidine,L-Histidine hydrochloride monohydrate, Sucrose และPolysorbate 80 ส่วนรูปแบบการให้บริการปัจจุบันคือ Opt-in ผู้สมัครใจแจ้งความประสงค์เพื่อรับบริการ แต่รูปแบบใหม่คือ Encouraging decision ทุกคนลงนามแจ้งความประสงค์ว่าต้องการหรือไม่ต้องการฉีด ในสถาพยาบาล เช่นคลินิกอายุรกรรมและคลินิกเฉพาะโรค สถาพยาบาลสังกัด สธ. สังกัดกรมการแพทย์  สังกัดกรมควบคุมโรค โรงเรียนแพทย์ และสถานดูแลผู้สูงอายุ โดยล่าสุด LAAB มีการจัดส่งไปยังสถานพยาบาลดังกล่าวกว่า 1.24 แสนโดส คงคลังอีกกว่า 1.37 โดส และให้บริการไปแล้วกว่า  2 แสนโดส .

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

หนาวสะท้าน! ยอดดอย ’เลย-เชียงใหม่’ 7 องศาฯ อ.คลองหลวง ปทุมธานี 18.5 องศาฯ

กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานอุณหภูมิต่ำสุดบริเวณประเทศไทย เช้าวันนี้ (22 ธ.ค. 67) วัดได้  11.0 องศาเซลเซียส บริเวณภาคเหนือ ที่ อ.อุ้มผาง จ.ตาก และบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ อ.เมืองเลย จ.เลย

แปลงใหญ่กาแฟบ้านป๊อก จ.เชียงใหม่ กาแฟไทย ใจรักษ์ป่า นำนวัตกรรม ยกระดับผลิตภัณฑ์ ตอบโจทย์ BCG Model

จากการพัฒนาตามนโยบายตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ ร่วมกับผลการพัฒนาภายใต้ระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ เพื่อมุ่งตอบโจทย์การเพิ่มรายได้เกษตรกร 3 เท่าใน 4 ปี และการเป็นผู้ให้บริการทางการเกษตรแบบครบวงจรที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม (Go Green) ด้วย BCG Model ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กลุ่มแปลงใหญ่กาแฟบ้านป๊อก ตำบลห้วยแก้ว อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่

ฝุ่นควัน PM2.5 ย่ำแย่หนัก เชียงใหม่ ประกาศเขตภัยพิบัติไฟป่าเพิ่มเติม ที่ อ.เชียงดาว

จังหวัดเชียงใหม่ ประกาศเขตภัยพิบัติไฟป่า เพิ่มเติมที่ อ.เชียงดาว ขณะที่สถานการณ์ฝุ่นย่ำแย่หนักคละคลุ้งปิดทั้งภูมิภาค จนท.ดับสุดล้า ฝนหลวงทำงานหนักทุกวัน

‘บิ๊กป้อม’ อ้อนชาวเชียงใหม่ อยากให้ ปท.เป็นหนึ่งเดียวต้องเลือก พปชร.

‘ประวิตร’ ขึ้นเวทีปราศรัยเชียงใหม่ อ้อนอยากให้ประเทศเป็นหนึ่งเดียวต้องเลือก พปชร. ลั่นทุกนโยบายเป็นรัฐบาลแล้วจะทำทันที เมินไม่ติด 1 ใน 10 อันดับแรกนายกฯในใจ ขอเดินหน้าต่อ