สธ.ตั้งเป้าคนไทยลดบริโภคเกลือ 30% ภายในปี 68 พบกินเค็มมากกว่ากำหนด 1.8 เท่า ป่วยโรคความดันสูง 13.2ล้านคน

7 ก.พ. 2566- นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นประธานการประชุมผนึกกำลังความร่วมมือตามยุทธศาสตร์การลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในประเทศไทย ปี พ.ศ. 2559-2568 ร่วมกับ ศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) รักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา และวิทยาลัยธุรกิจการอาหารไทยและนานาชาติ ซึ่งการประชุมมีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันแผนนโยบายยุทธศาสตร์การลดการบริโภคเกลือและโซเดียม ตั้งเป้าหมายให้ประชาชนร่วมมือกันลดโซเดียมในอาหารให้ได้ร้อยละ 30 เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย “ประชาชนมีสุขภาพดีจากการบริโภคเกลือและโซเดียมลดลง”

นพ.ธเรศ กล่าวว่า โรคไม่ติดต่อ หรือ กลุ่มโรค NCDs ประกอบด้วยหลายโรคหลัก เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง รวมถึงโรคไตเรื้อรัง เหล่านี้เป็นปัญหาสุขภาพสำคัญระดับประเทศ ซึ่งประชาชนไทยขณะนี้มีการบริโภคโซเดียมสูงเป็น 1.8 เท่าของปริมาณที่องค์การอนามัยโลกแนะนำไม่ควรเกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเทียบเป็นปริมาณเกลือ ไม่ควรเกิน 1 ช้อนชาต่อวัน การได้รับโซเดียมเกินอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน เป็นสาเหตุของการเกิดภาวะความดันโลหิตสูงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งมีคนไทยป่วยด้วยโรคที่สัมพันธ์กับการบริโภคโซเดียมสูงถึง 22.05 ล้านคน (โรคความดันโลหิตสูง 13.2 ล้านคน โรคไต 7.6 ล้านคน โรคหัวใจขาดเลือด 0.75 ล้านคน โรคหลอดเลือดสมอง 0.5 ล้านคน)

นพ. อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรค ได้มอบหมายให้กองโรคไม่ติดต่อ ดำเนินการขับเคลื่อนการลดบริโภคโซเดียมระดับจังหวัด ตั้งเป้าหมายให้ประชาชนลดการบริโภคโซเดียมลง ร้อยละ 30 ภายในปี 2568 มีการดำเนินงานร่วมกับสำนักงานป้องกันควบคุมโรคเขต และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในปี พ.ศ. 2563 – 2566 รวมทั้งสิ้น 36 จังหวัด และมีแผนขยายผลการดำเนินงานเฝ้าระวังและลดการบริโภคเกลือและโซเดียมระดับจังหวัดให้ครอบคลุมทุกจังหวัด ภายในปี 2568

ศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า หนึ่งในพันธกิจของมหาวิทยาลัยมหิดลคือ การให้บริการทางวิชาการ โดยมหาวิทยาลัยมหิดลได้ให้ทุนสนับสนุน “โครงการสังเคราะห์นโยบายเพื่อขับเคลื่อนกลยุทธ์การปรับขยายมาตรการใช้เครื่องตรวจวัดโซเดียมคลอไรด์ในอาหารร่วมกับการให้ความรู้ในชุมชนของประเทศไทยนอกพื้นที่นำร่อง” เพื่อทำความเข้าใจโครงสร้างของระบบสุขภาพและบริบทการบริโภคอาหารในแต่ละภูมิภาค ซึ่งเป็นที่มาของพฤติกรรมทั้งที่พึงประสงค์และไม่พึงประสงค์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับประสิทธิผลของการดำเนินงานนโยบายชุมชนลดเค็มในประเทศไทย โดยใช้กระบวนการคิดเชิงระบบ สังเคราะห์ความรู้และถอดบทเรียนสำหรับพัฒนาเป็นคู่มือการปฏิบัติงานเรื่องชุมชนลดเค็มในประเทศไทย สื่อสารข้อเสนอเชิงนโยบายและผลักดันขยายผลให้เกิดเป็นชุมชนลดเค็มในทุกจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งมหาวิทยาลัยมหิดลมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือในการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์การลดการบริโภคเกลือ และโซเดียมในประเทศไทย ปี พ.ศ.2559-2568 โดยภาคีเครือข่ายต่างๆ ที่มาร่วมกันในวันนี้ ซึ่งความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นจะนำมาสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนไทยทั้งประเทศ การประหยัดค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้ป่วยโรคไตในภาพรวมของประเทศที่จะลดลงในอนาคต

ศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กล่าวว่า การสำรวจปริมาณโซเดียมในอาหารด้วยเครื่องวัดความเค็ม (Salt Meter) จัดทำขึ้นเพื่อสนับสนุนการสำรวจแหล่งอาหารท้องถิ่นที่มีปริมาณโซเดียมสูง ซึ่งมีผลโดยตรงต่อการบริโภคโซเดียมของประชากรการวัดระดับโซเดียมในอาหารท้องถิ่นด้วยเครื่องวัดความเค็มเป็นวิธีที่ง่าย ไม่ต้องส่งตรวจห้องปฏิบัติการทางอาหารและแสดงผลได้รวดเร็วสร้างความตื่นตัวให้ประชาชน การบริโภคโซเดียมสูงอย่างต่อเนื่องแบบไม่รู้ตัวทำให้มีระดับความดันโลหิตสูงขึ้นส่งผลต่อปัญหาสุขภาพต่างๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไต เป็นต้น ซึ่งมาตรการใช้เครื่องวัดความเค็มในอาหารร่วมกับการให้ความรู้ในชุมชนของประเทศไทยได้มีการทดสอบในพื้นที่นำร่องบริการสุขภาพ เขต 1, 2, 3, 8 และ 10

นอกจากนี้ ทางเครือข่ายลดบริโภคเค็มร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลและองค์การอนามัยโรคประจำประเทศไทย ได้เก็บข้อมูลพื้นที่เพื่อทดสอบประสิทธิผลของชุดมาตรการลดบริโภคเค็ม 4 กิจกรรม ได้แก่ การให้ความรู้ การปรับสูตรอาหาร การเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม และใช้เครื่องตรวจวัดความเค็มในอาหาร ในการลดความดันโลหิตและลดการบริโภคโซเดียมตามบริบทการบริโภคอาหารของพื้นที่ ผลการศึกษาพบว่ามาตรการใช้เครื่องตรวจวัดความเค็มในอาหารร่วมกับการให้ความรู้ในชุมชนผ่านกลไกการทำงานของระบบบริการสุขภาพภาครัฐสามารถลดความดันโลหิตและลดการบริโภคเค็มได้ในกลุ่มผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงได้เมื่อเปรียบเทียบกับก่อนเริ่มมีการใช้เครื่องตรวจวัดความเค็มในอาหาร

ทั้งนี้ เครือข่ายลดบริโภคเค็มให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในระดับประเทศสำหรับต่อยอดการพัฒนาในระยะต่อไป โดยการขยายมาตรการใช้เครื่องตรวจวัดความเค็มในอาหารเพื่อเป็นอุปกรณ์ส่งเสริมการปรับปรุงสูตรลดโซเดียมและรสชาติของเมนูอาหารในร้านอาหารและซูเปอร์มาร์เก็ตร่วมกับการให้ความรู้ในชุมชน ผ่านสื่อมวลชนและสื่อสังคมออนไลน์หรือการทำงานในพื้นที่และกลุ่มเป้าหมายอื่นๆของประเทศไทย

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส. กล่าวว่า สสส. ได้ร่วมกับเครือข่ายลดการบริโภคเค็ม รณรงค์ขับเคลื่อนสังคมด้วยองค์ความรู้ นวัตกรรม และการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ เพื่อสร้างความรอบรู้ด้านการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะ ลดการบริโภคเค็ม (โซเดียม) พร้อมทั้งส่งเสริมการจัดสภาพแวดล้อมด้านอาหารเพื่อสุขภาวะที่เอื้อต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค นำไปสู่การลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคไม่ติดต่อ (NCDs) และการประชุมในครั้งนี้ ขอหยิบยกในเรื่องของ แคมเปญใหญ่ “ลดซด ลดปรุงลดโรค” ในโครงการลดเค็ม ลดโรค รณรงค์ให้คนไทยเห็นภัยร้ายจากการกินโซเดียมเกินมาตรฐาน ซึ่งเกิดขึ้นจากการวิเคราะห์โจทย์หลายอย่างในชีวิตประจำวัน เช่น คนไทยส่วนใหญ่ชอบกินน้ำซุปทุกมื้ออาหาร จากอาหารประเภท แกงจืด ก๋วยเตี๋ยว ต้มยำ พะโล้ ข้าวมันไก่และอาหารประเภทต้ม โดยไม่รู้ว่าน้ำซุปที่กินเข้าไปเป็นอันตราย เนื่องจากมีโซเดียมซ่อนอยู่ทั้งในวัตถุดิบต่างๆ และน้ำซุป รวม 1,400 – 1,500 มิลลิกรัม/ชาม หากกินหมดชามแถมซดน้ำซุปจนเกลี้ยง เท่ากับ 1 มื้อ ร่างกายจะได้รับโซเดียมเกือบถึงเกณฑ์ใน 1 วันแบบไม่รู้ตัว ขนาดยังไม่ได้รวมกับมื้ออื่นๆ เลย

สำหรับแคมเปญดังกล่าว เป็นการสื่อสารให้คนไทยปรับพฤติกรรมการกินและเห็นถึงภัยร้ายจากโซเดียม ลดการซดน้ำซุป น้ำผัด น้ำแกง น้ำยำ ในแต่ละมื้ออาหาร ให้น้อย สามารถติดตามได้ทางสื่อโทรทัศน์ ออนไลน์ และเฟซบุ๊กแฟนเพจ ลดพุง ลดโรค นอกจากนี้ สสส. และเครือข่ายลดการบริโภคเค็ม ยังได้ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขและกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนมาตรการลดการบริโภคเกลือโซเดียมในประชากรไทย โดยมีเป้าหมายในการขับเคลื่อนมาตรการภาษีโซเดียม สร้างกติกากลางให้กับภาคอุตสาหกรรมเพื่อนำไปสู่การปรับสูตรลดปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชนอีกด้วย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไทยติดโควิดรอบสัปดาห์ 353 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 6 - 12 ตุลาคม 2567 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่

ไทยติดโควิดใหม่รอบสัปดาห์ 281 ราย ดับเพิ่ม 4 คน

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 29 กันยายน - 5 ตุลาคม 2567 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่

ไทยติดโควิดใหม่รอบสัปดาห์ 287 ราย ดับเพิ่ม 3 คน

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 22 - 28 กันยายน 2567 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ รักษาในโรงพยาบาล (รายสัปดาห์) 287 ราย

ศูนย์จีโนมฯ จับตาโอมิครอน KP.2.3/XEC ลูกผสมพันธุ์ใหม่ แพร่เร็วกว่าเดิม 2 เท่า

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า โอมิครอน KP.2.3/XEC : ลูกผสมสายพันธุ์ใหม่แพร่เร็วกว่าเดิม 2 เท่า