วันที่ 1 และวันที่ 16 ของทุกเดือน ดูจะเป็นวันแห่งความหวังของคนไทยหลายล้านชีวิตโดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง แม้โอกาสที่จะถูกรางวัลใหญ่ เช่น รางวัลที่ 1 จะมีเพียง 1 ในล้านหรือ 0.0001% และความน่าจะเป็นที่จะถูกรางวัลใดรางวัลหนึ่งก็มีอยู่แค่เพียง 1.41% เท่านั้นแต่คนไทยจำนวนมากก็ยังคงซื้อลอตเตอรี่อย่างต่อเนื่องไม่ว่าสภาพเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร ด้วยความหวังว่า
“งวดนี้ โชคอาจจะเข้าข้างเรา” ได้เลื่อนชั้นเป็นเศรษฐี มีอันจะกินกับเขาเสียทีหลายคนอาจมองว่าความเชื่อเช่นนั้นเป็นความหวังลม ๆ แล้ง ๆ ของนักเสี่ยงโชคที่ไม่พึ่งพาความสามารถและความพยายามของตนเอง แต่หากเรามองเรื่องนี้ด้วยความเข้าใจแล้ว
ผศ. ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชวนทำความเข้าใจเหตุที่คนไทยจำนวนมากฝากความหวังไว้ที่หวยและลอตเตอรี่ พร้อมวิเคราะห์ความนิยมซื้อลอตเตอรี่ว่าเกี่ยวพันกับความเหลื่อมล้ำ การเลื่อนชั้นทางสังคม และการคอร์รัปชันเชิงนโยบายอย่างไร โดยกล่าวว่า เราความล้มเหลวในการจัดการปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้และเศรษฐกิจของประเทศที่ทำให้ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศต้องเข้าหาหวย ลอตเตอรี่ รวมไปถึงแชร์ลูกโซ่และธุรกิจสีเทา ต่าง ๆเพื่อจะมีโอกาสเลื่อนชั้นทางสังคม มีฐานะและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ลอตเตอรี่มีอยู่ในทุกประเทศ แต่ความคาดหวังจากลอตเตอรี่ของคนในแต่ละประเทศอาจแตกต่างกัน ผู้ซื้อลอตเตอรี่อาจหวังแค่ความสนุกที่จะได้ลุ้น มากกว่าที่จะหวังรวยจากลอตเตอรี่จริง ๆแต่ในประเทศไทย การเสี่ยงดวงกับตัวเลขเป็นเรื่องจริงจัง เห็นได้จากการถ่ายทอดสดการจับรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลทุกงวด การรายงานข่าวผู้โชคดีถูกหวยหรือลอตเตอรี่และอีกหลายข่าวทางสื่อต่าง ๆ ที่บอกใบ้เลขเด็ดเพื่อชี้ช่องรวยให้ใครหลายคน
“เรามักจะได้ยินคนพูดกันว่าการซื้อหวยคือการซื้อความหวัง แต่หากมองให้ลึกกว่านั้นคนส่วนใหญ่ที่หวังจะถูกหวยหรือลอตเตอรี่ เพราะเขาแทบไม่เหลือความหวังอื่นในชีวิตที่จะร่ำรวยขึ้นได้อีกแล้วเราอยู่ในสังคมที่คนยากจนมีโอกาสแทบจะเป็นศูนย์ในการเลื่อนชั้นทางสังคม (social mobility)ยิ่งเป็นคนระดับล่าง โอกาสขยับขึ้นมาเป็นชนชั้นกลางก็ยิ่งยาก เมื่อเป็นชนชั้นกลางแล้วอยากจะเลื่อนขึ้นไปเป็นคนรวยก็ยากขึ้นไปอีก การฝากความหวังไว้ที่หวยของคนไทยจึงเป็นภาพสะท้อนความเหลื่อมล้ำในสังคมที่ชัดเจน ถ้าผมขยันแล้วผมสามารถร่ำรวยขึ้นได้ในประเทศนี้ ผมอาจจะสนใจลอตเตอรี่น้อยลงแต่เราจะเห็นว่ามีคนยากจนจำนวนมาก ที่ทำงานหนักและเหนื่อยกว่าผมอีกแต่แทบไม่มีความหวังที่จะมีฐานะที่ดีขึ้น” ผศ.ดร. ธานี กล่าว
ผศ.ดร. ธานี มองว่า การยึดรัฐ (State Capture)ซึ่งเป็นการทุจริตทางการเมืองอย่างเป็นระบบชนิดนับเป็นการ ปิดโอกาสการเลื่อนชั้นทางสังคม โดยการลงทุนในหุ้น คริปโต การเทรดค่าเงินตรา แชร์ลูกโซ่และธุรกิจสีเทาต่าง ๆที่กำลังเป็นประเด็นข่าวร้อนในปัจจุบัน ดูจะเป็นเทรนด์ในหมู่คนรุ่นใหม่และชนชั้นกลางที่หวังจะรวยเร็วและรวยลัดในขณะที่คนจำนวนมากในสังคมหันเข้าหาหวยและลอตเตอรี่ แต่ไม่ว่าจะเล่นหรือซื้ออะไร
“ถ้าเราเป็นชนชั้นล่างถึงกลาง โดยเฉพาะชนชั้นล่างที่ไม่ได้รับการศึกษาจากสถาบันที่มีชื่อเสียงเกิดในครอบครัวที่ไม่ได้มีฐานะ ไม่ได้มีธุรกิจไม่ได้มีทรัพย์สินที่จะเป็นหลักประกันในการต่อยอด เพื่อขยับสถานะทางสังคม ลอตเตอรี่จึงเป็นความหวังเดียวในชีวิตที่จะมีโอกาสในการมีเงิน 6 ล้านบาทอยู่ในบัญชี ปฎิเสธไม่ได้เลยว่าการจะได้เงิน 6 ล้านบาทจากการทำงานไม่ง่ายนัก ”
State Capture หรือ การยึดรัฐ ซึ่งเป็นคำที่ปรากฏขึ้นครั้งแรก ในเอกสารของธนาคารโลกที่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 2000 ผศ.ดร.ธานี กล่าวว่า
การยึดรัฐโดยกลุ่มทุนทำให้คนรวยยิ่งรวยขึ้น คนจนเข้าถึงทรัพยากรได้ยากขึ้นและไม่สามารถรวยขึ้นได้เพราะนโยบายทางเศรษฐกิจไม่เอื้อให้คนจนเติบโต แต่เอื้อให้คนรวยได้กำไร คนจำนวนมากที่เป็นชนชั้นกลางถึงล่าง ทำงานหนัก แข่งขัน ปากกีดตีนถีบแค่ไหนก็รวยขึ้นได้แค่ระดับหนึ่งเท่านั้น พอนาน ๆ เข้า ความเหลื่อมล้ำก็สูงขึ้นเป็นเท่าทวีและสูงขึ้นบนฐานความชอบธรรมที่ถูกกำหนดโดยนโยบายที่เอื้อประโยชน์ให้ธุรกิจ
ไม่เพียงประเทศไทย แต่อีกหลายประเทศในอาเซียนก็มีภาพความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจคล้าย ๆ กันคือกลุ่มของเศรษฐีหรือตระกูลที่มีความมั่งคั่งยังเป็นคนกลุ่มเดิมกับเมื่อ 20-30 ปีก่อน“ประเทศไทยเป็นประเทศเล็ก ๆ ไม่ได้ร่ำรวยมาก แต่เรามีมหาเศรษฐีที่ติดอันดับโลกเยอะขึ้นอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่าคนกลุ่มนี้มั่งคั่งขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งที่ GDP ของประเทศก็ไม่ได้สูงมาก คนระดับล่างที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศอาจมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่ก็ในอัตราที่น้อยกว่าหรือยากจนลงโดยเปรียบเทียบ
ผศ.ดร. ธานี กล่าวเปรียบเทียบกับกรณีศึกษาของประเทศตะวันตกที่มีเสรีภาพทางเศรษฐกิจโดยยกตัวอย่าง ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งกลุ่มมหาเศรษฐีในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ยังมีคนหน้าใหม่ ๆเข้ามาบ้าง อาจจะมีบ้างเปลี่ยนหน้ามาเรื่อยๆ นั่นแปลว่าคนในประเทศของเขามีโอกาสเลื่อนชั้นทางสังคมหรือ social mobility สูง”การกุมอำนาจรัฐผ่านการกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจจึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำสูง
“จริง ๆรูปแบบของ State Capture มีหลากหลาย เช่น การให้ทุนสนับสนุนพรรคการเมืองการใช้ภาคธุรกิจในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้กับพรรคการเมืองการใช้ความสัมพันธ์หรือความสนิทชิดเชื้อเพื่อสนับสนุนซึ่งกันและกันก็ได้”
ผศ.ดร. ธานี กล่าวว่าการจะหยุดการยึดรัฐโดยกลุ่มทุนรัฐต้องเอาจริงและจริงใจกับการออกกฎหมายและบังคับใช้กฎหมายแข่งขันทางการค้าเนื่องจากปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเริ่มต้นตั้งแต่การกำหนดนโยบายเศรษฐกิจที่มักเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนใหญ่ หรือคน (รวย) ซึ่งเป็นคนส่วนน้อยของประเทศ หากการส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าทำได้ไม่ดีพอ กลุ่มทุนใหญ่ก็จะมีกำไรเยอะขึ้นและจะผูกขาดตลาดได้ง่ายขึ้น เช่นในธุรกิจค้าปลีก พลังงาน อุตสาหกรรมอาหารและการเกษตร ดังนั้นประเทศตะวันตก จึงมักส่งเสริมกฎหมายแข่งขันทางการค้าเพราะมันคือเครื่องมือปกป้องและคุ้มครองการผูกขาดทางธุรกิจ
ผศ.ดร. ธานี เสนอ 2 นโยบายขับเคลื่อน “ความหวัง” ในสังคม คือ หนึ่ง สร้างมาตรการที่ส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าอย่างจริงจังและสองออกนโยบายที่ส่งเสริมโอกาสให้คนทั่วไปสามารถเป็นผู้ประกอบการที่เติบโตได้ ยกตัวอย่างเช่นการเข้าถึงสินเชื่อที่เอื้อให้รายเล็กเติบโตได้มากขึ้น การส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ขึ้นอยู่กับความสามารถของบุคคลกระจายทุนและโอกาส อาทิ งานช่าง งานออกแบบ งานฝีมือต่าง ๆ เป็นต้นหากสามารถลดระดับความสัมพันธ์ของกลุ่มทุนและรัฐลงได้อย่างเหมาะสมให้คนชั้นล่างของสังคมได้เข้าถึงทุนและโอกาสในการแข่งขันอย่างทั่วถึง จนสามารถมี“ความหวังที่จะมีชีวิตที่ดีและมีโอกาสเลื่อนชั้นทางสังคมอย่างยุติธรรม” .
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'เอ๋ เชิญยิ้ม' ถูกรางวัลที่ 1 และรางวัลอื่น ๆ รวม 26 ใบ
ปังไม่ไหวสำหรับนักแสดงตลกชื่อดัง เอ๋ เชิญยิ้ม หลังเจ้าตัวได้ถูกรางวัลใหญ่ จากการซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลงวดประจำวันที่ 16 พฤศจิกายน 2567 ด้วยการถูกรางวัลที่ 1 จำนวน 1 ใบ พ่วงรางวัลอื่น ๆ รวม 26 รางวัล งานนี้รับเงินก้อนโตเลยทีเดียว
จุฬาฯ จับมือกรม Climate Change และเครือข่ายพันธมิตรภาคเอกชน เปิดตัวหลักสูตร “TOP Green” หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้าน Sustainability
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม หอการค้าไทย และสภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ UN Global Compact Network Thailand
จุฬาฯ “เปิดแพลตฟอร์ม ฝ่าพิบัติ: Digital War Room” นวัตกรรมเตือนพื้นที่น้ำท่วมและแนวดินถล่มจากอุทกภัย
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดงานเสวนาวิชาการ Chula the Impact ครั้งที่ 25 เรื่อง “แพลตฟอร์มจุฬาฯ ฝ่าพิบัติ: Digital War Room” เพื่อนำเสนอนวัตกรรมจากคณาจารย์นักวิจัยจุฬาฯ
จุฬาฯ อันดับ 1 มหาวิทยาลัยไทย Top ของประเทศ 3 ด้าน จากการจัดอันดับโดย THE WUR 2025
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับการจัดอันดับให้เป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของไทย จากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลกโดย The Times Higher Education World University Rankings 2025 (THE WUR 2025) จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วโลกที่ได้รับการจัดอันดับกว่า 2,000 แห่ง กว่า 115 ประเทศ