ล่องเรือกว๊านพะเยา เที่ยวชมวัดงามล้านนา

พะเยา ขึ้นชื่อเมืองที่เต็มไปด้วยเสน่ห์วิถีวัฒนธรรมอันงดงามและอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ  ถ้าใครได้มาเยี่ยมเยือนจะต้องหลงไหลในความมหัศจรรย์ของธรรมชาติ  โดยเฉพาะภาพความสวยงามตรึงตาในยามเช้าและยามเย็นของกว๊านพะเยา แหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่สุดของภาคเหนือ และใหญ่เป็นอันดับที่สามของประเทศ รองจากหนองหานและบึงบอระเพ็ด  ที่เป็นแม่เหล็กดึงดูดนักเดินทางให้มาสัมผัสความงามด้วยตาตัวเองสักครั้งในชีวิต  ส่วนในเมืองพะเยาก็เป็นที่ตั้งของวัดวาอารามสำคัญที่มีสถาปัตยกรรมแบบล้านนา  ชวนให้เรียนรู้อย่างเพลิดเพลิน

กว๊านพะเยายังมีประเพณีเวียนเทียนทางน้ำ หนึ่งเดียวในโลก ปีหนึ่งจะจัดขึ้นเพียง 3ครั้งเท่านั้น ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา คือ วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา และวันอาสาฬหบูชา เมื่อพระอาทิตย์ใกล้ตกดินผู้คนจะนำดอกไม้ธูปเทียน จุดไฟสว่างไสว ล่องเรือไปเวียนเทียนสักการะพระพุทธรูปหินทราย หลวงพ่อศิลา อายุกว่า 500 ปี ประดิษฐานประจำวัดติโลกอาราม กลางกว๊านพะเยา ซึ่งวันมาฆบูชาปีนี้ตรงกับวันที่ 6 มีนาคม ภาพพุทธศาสนิกชนชาวพะเยาและนักท่องเที่ยวจำนวนมากมาร่วมขบวนเรือพายเวียนเทียนกลางน้ำกลางกว๊านพะเยาจะเกิดขึ้นอีกครั้ง  นอกจากนี้ ยังมีประเพณีขบวนแห่ตานข้าวทิพย์ทางเรือถวายแด่พระองค์เจ้าตนหลวงที่กว๊านพะเยา วัดศรีโคมคำงดงามและมีรูปแบบทางเรือที่เดียวอีกด้วย

สักการะหลวงพ่อศิลาอายุกว่า 500 ปี กลางกว๊านพะเยา

ทริปนี้เราได้นั่งเรือ ชมทะเลสาบ ไหว้พระกลางน้ำ โดยชาวบ้านใช้เวลาพายเรือจากท่าน้ำไปถึงวัดกลางน้ำประมาณ 15 นาที ระหว่างล่องเรือในทะเลสาปใหญ่ ได้สัมผัสวิถีชาวบ้านที่ผูกพันกับกว๊านพะเยา เป็นวิถีประมงพื้นบ้านที่สืบทอดจากอดีตมาจนถึงทุกวันนี้ เพราะกว๊านพะเยาเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำขนาดใหญ่ที่มีสัตว์น้ำและปลาหลากชนิดพันธุ์อาศัยอยู่ ส่วนวิวทิวทัศน์ยามเย็นแสนโรแมนติก เราเห็นวิวภูเขาทอดยาวสลับซับซ้อนเบื้องหน้า ถ้าหันหลังกลับไปจะเป็นวิวเมืองพะเยา ความงดงามที่ปรากฎเบื้องหน้าทำให้ทุกคนต้องหยิบมือถือขึ้นมาบันทึกภาพกันทุกคนเลย

ชาวบ้านยังบอกเล่าว่า กว๊านพะเยา เป็นแอ่งน้ำใหญ่ “กว๊าน” เป็นคำที่ใช้เฉพาะที่จังหวัดพะเยาแห่งเดียวเท่านั้น ซึ่งบึงน้ำขนาดใหญ่นี้เกิดจากการรวมตัวของลำห้วยต่างๆ ถึง 18 สายด้วยกัน   ผู้เฒ่าผู้แก่เล่ากันว่า  หลังจากที่มีการสร้างประตูกั้นแม่น้ำอิง  เรือกสวนไร่นา วัดวาอารามร้างกว่า  20 วัด  จมอยู่ใต้น้ำกว๊านพะเยา หนึ่งในนั้นคือ วัดติโลกอาราม

ล่องเรือชมทิวทัศน์ธรรมชาติงดงามของกว๊านพะเยา 

เมื่อถึงเกาะวัดกลางน้ำ ซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดติโลกอาราม โบราณสถานอายุ 527 ปี เราถอดเสื้อชูชีพ เพื่อขึ้นเกาะ จากนั้นเดินไปกราบสักการะหลวงพ่อศิลาทราย สิ่งศักดิ์สิทธิคู่บ้านคู่เมือง ย้อนไป 40 ปีก่อน  หลวงพ่อศิลาองค์นี้จมอยู่ใต้น้ำ ชาวบ้านได้พบพระพุทธรูปหินทรายปางมารวิชัยองค์ใหญ่นี้ ตัวองค์คว่ำหน้า  ยกฐานขึ้นมา ยังมีสภาพสมบูรณ์  จากนั้นนิมนต์พระลงไปทำพิธี ก่อนที่ชาวบ้านจะนำพระพุทธรูปหินทรายองค์นี้ล่องน้ำ โดยใช้เรือ 2 ลำผูกติดเป็นแพติดกัน เพื่อไปทำพิธีสมโภชน์ 7 วัน 7 คืน  มีผู้คนแห่แหนมาสักการะต่อเนื่อง  ก่อนจะมีขบวนแห่อัญเชิญพระพุทธรูปหินทรายหลวงพ่อศิลากว๊านพะเยาผ่าน 7 ประตูเมืองสำคัญในอดีต และประดิษฐาน ณ วัดศรีอุโมงค์คำ เมืองพะเยา เป็นเวลากว่า 24 ปี

จนกระทั่งปี 2550  จังหวัดและเจ้าอาวาสวัดศรีโคมคำสมัยนั้น ลงสำรวจและพัฒนาวัดร้างแห่งนี้ ซึ่งมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์  ศิลาจารึก เขียนด้วยอักษีฝักขาม  แปลความว่า วัดติโลกอาราม เป็นวัดที่พระเจ้าติโลกราชแห่งราชอาณาจักรล้านนาเมืองเชียงใหม่โปรดให้เจ้าหัวแสน เจ้าเมืองพะเยาก่อสร้าง ระหว่าง พ.ศ.2019-2029 และในพิธีผูกพัทธสีมาวัดแห่งนี้ มีพระเถระชั้นผู้ใหญ่เมืองพะเยา 7 วัด ร่วมพิธีด้วย สะท้อนว่าเป็นวัดสำคัญและเก่าแก่ ส่วนวันพิธีอัญเชิญหลวงพ่อศิลากลับมาประดิษฐานที่วัดติโลกอารามกลางกว๊านพะเยา เกิดขึ้นวันที่ 18 ส.ค. 2550  วันนั้นชาวบ้านร่วมพิธีศักดิ์สิทธิ์  นั่งเรือตามขบวนแห่ทางน้ำ สวดมนต์ดังกังวาลทั่วทะเลสาป ชาวบ้านไปโปรยข้าวตอก ดอกไม้ และน้ำส้มป่อยสักการะหลวงพ่อตามวิถีล้านนา  แค่นึกภาพตามก็รับรู้ได้ถึงพลังศรัทธาในพุทธศาสนา  ที่น่าชื่นชมยังมีการสืบสานวัฒนธรรมดีงามนั่งเรือเวียนเทียนรอบวัดติโลกอารามกลางกว๊าน การล่องเรือไหว้พระ ถือเป็นประสบการณ์ที่แสนพิเศษ  

เช็คอินประติมากรรมพญานาคกว๊านพะเยา

ล่องเรือแล้ว มาเดินเล่นต่อบริเวณริมกว๊าน มีร้านอาหาร สวนสาธารณะประดับดอกไม้สวยงามสำหรับพักผ่อนหย่อนใจ  ทั้งคนพะเยาและนักท่องเที่ยวต่างพากันมากินลมชมวิว ปั่นจักรยาน วิ่งออกกำลังกาย  แน่นอนว่า มุมไฮไลท์สุดฮิต  คือ ประติมากรรมพญานาคสีขาวสองตนกลางน้ำหันหน้าเข้าหากัน ในยามค่ำคืนจัดแสงสีเพิ่มความโดดเด่นเป็นสง่า ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวมาถ่ายภาพคู่กับกว๊านพะเยาได้ดีเลย

ตรงข้ามกับพญานาคกว๊านพะเยา เป็นที่ตั้งอนุสาวรีย์พ่อขุนงำเมือง   บูรพกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ในอดีต และเป็นบุคคลสำคัญที่ชาวพะเยาไม่เคยลืมเลือน  พระองค์เป็นพระสหายร่วมน้ำสาบานกับพ่อขุนเม็งรายแห่งเมืองเชียงราย และพ่อขุนรามคำแหงแห่งกรุงสุโขทัย สามพระองค์ได้กระทำสัตย์ต่อกัน ณ แม่น้ำอิง บริเวณสถานีประมงน้ำจืดพะเยาในปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังเชื่อกันว่าพ่อขุนงำเมืองเป็นผู้ทรงอิทธิฤทธิ์ กล่าวกันว่าเมื่อพระองค์เสด็จไปทางไหน “แดดก็บ่อฮ้อน ฝนก็บ่อฮำ จักให้แดดก็แดด จักให้บดก็บด” จึงได้พระนามว่า “งำเมือง” วันที่ 5 มีนาคม ของทุกปี จังหวัดและประชาชนร่วมจัดพิธีสักการะบวงสรวงพ่อขุนงำเมืองยิ่งใหญ่

กราบพระเจ้าตนหลวง พระพุทธรูปเชียงแสนใหญ่ที่สุดในล้านนา

ชมความงามกว๊านพะเยาแล้ว วันรุ่งขึ้นเราไปชมวัดสวยๆ ในเมือง เริ่มที่วัดศรีโคมคำ หรือที่คนพะเยาเรียกขานกันว่า “วัดพระเจ้าตนหลวง”  เป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าตนหลวง พระพุทธรูปศิลปะเชียงแสนองค์ใหญ่ที่สุดในดินแดนล้านนา มีขนาดหน้าตักกว้าง 14 เมตร สูง 16 เมตร ใช้เวลาสร้างถึง 33 ปี รวม 3 แผ่นดิน  คือ แผ่นดินพระยาเมืองยี่ พญาหัวเคียน และพระเมืองตู้  อายุมากกว่า 500 ปี

เราเข้าไปกราบพระเจ้าตนหลวง พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองพะเยา และพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองอาณาจักรล้านนาไทย วันวิสาขบูชาทุกปี จะจัดงานประเพณีนมัสการพระเจ้าตนหลวงเดือนแปดเป็ง   วัดนี้ยังเป็นที่ตั้งของพระธาตุจอมทอง  สร้างขึ้นมาในอาณาจักรโยนก ภายในบรรจุพระบรมธาตุส่วนหน้าผากของพระพุทธเจ้า ซึ่งปรากฎในตำนานต่างๆ เข่น ตำนานเมืองเชียงแสน ตำนานเมืองโยนกนคร  ตำนานวัดพระธาตุจอมกิตติ และพงศาวดารโยนก

สักการะอัฐิครูบาศรีวิชัยภายในสถูป ณ วัดศรีโคมคำ

ภายในวัดศรีโคมคำยังมีสถูปอัฐิครูบาเจ้าศรีวิชัย รูปปั้นครูบาศรีวิชัย  หลังมรณภาพที่วัดบ้านปาง อ.ลี้ จ.ลำพูน  อัฐิของท่านแบ่งออกเป็น  7 ส่วน ไปบรรจุตามวัดต่างๆ นอกจากวัดศรีโคมคำแล้ว ไปวัดจามเทวี ลำพูน  วัดสวนดอก เชียงใหม่ วัดพระแก้วดอนเต้า ลำปาง  วัดพระธาตุช่อแฮ แพร่  วัดน้ำออกรู  แม่ฮ่องสอน  และวัดบ้านปาง ลำพูน   ส่วนคนที่ชื่นชอบเสพงานศิลป์แนะนำไปพระอุโบสถที่ตั้งอยู่ริมกว๊านพะเยามีงานจิตรกรรมฝาผนังวิจิตรงดงามรังสรรค์ด้วยฝีมืออาจารย์อังคาร กัลยาณพงศ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ แม้จะจากโลกไปแล้ว แต่ฝากศิลปะไว้บนแผ่นดิน

วัดศรีอุโมงค์คำ วัดสำคัญอีกแห่งของพะเยา

นอกจากพระเจ้าตนหลวงแล้ว พะเยายังมีพระพุทธรูปงดงามประดิษฐานอยู่ที่วัดศรีอุโมงค์คำ  ที่อยู่ไม่ไกลจากวัดศรีโคมคำมากนัก ถือเป็นวัดที่มีสิ่งน่าสนใจให้ชมมากมาย  โดยเฉพาะพระเจ้าล้านตื้อ พระประธานของวัดแห่งนี้ วัดศรีอุโมงคำสันนิษฐานว่าน่าจะสร้างในสมัยอยุธยา ราวพุทธศตวรรษที่ 20-21 เพราะพบหลักฐานเป็นพระพุทธรูปหินทราย และงานแกะสลักหินทรายอื่นๆ อาทิ เทวรูป รูปสัตว์ต่างๆ ในยุคหินทรายเมืองพะเยาอยู่เป็นจำนวนมาก ชาวบ้านมักเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า วัดสูง ตามลักษณะพื้นที่ตั้งวัดที่เป็นเนินสูง มาถึงวัดจะเห็นองค์พระธาตุเจดีย์บนเนินที่ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ด้านหลังของโบสถ์ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นสมัยเชียงแสน เป็นเจดีย์แบบล้านนาย่อไม้มุมสิบสอง ฐานสี่เหลี่ยมซ้อนกัน 3 ชั้น เรือนธาตุรูปแปดเหลี่ยมย่อมุม มีซุ้มจระนำทั้งสี่ทิศ มีพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ประดิษฐานภายในซุ้ม จากนั้นไปไหว้พระพุทธรูปในห้องลานธรรมตรงข้ามเจดีย์ ทางขึ้นเป็นประติมากรรมตัวมอมกินกัน  ที่นี่เคยเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อศิลาที่ขุดพบในกว๊านพะเยา ทางวัดศรีอุโมงค์คำสร้างองค์พระเจ้ากว๊านจำลองขึ้นมา เพื่อบันทึกว่าครั้งหนึ่งท่านเคยมาประดิษฐานอยู่ที่แห่งนี้

อธิษฐานขอพรพระเจ้าทันใจที่วัดศรีอุโมงค์คำ

จากนั้นเข้าวิหารพระเจ้าทันใจที่สร้างขึ้นใหม่บริเวณหน้าวัด สักการะพระเจ้าทันใจ ว่ากันว่า ศักดิ์สิทธิ์ คนมาตั้งจิตอิษฐานขอพรมักสมปรารถนา ภายในวิหารยังได้ชมจิตรกรรมฝาผนังตามความเชื่อเรื่องการไหว้พระธาตุประจำปีเกิดของล้านนา แล้วมาไหว้พระต่อกันที่โบสถ์ พระเจ้าล้านตื้อเป็นพระประธาน เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ทำจากทองสำริด หน้าตักกว้าง 184 เซนติเมตร สูง 270 เซนติเมตร องค์พระพุทธรูปเป็นสีทองเปล่งปลั่ง พระพักตร์ดูอมยิ้ม ให้ความรู้สึกสุขใจ  ซึ่งคำว่า “ตื้อ” เป็นจำนวนนับที่เยอะมากของล้านนา   ล้านตื้อสื่อพระพุทธรูปองค์นี้มีน้ำหนักมาก นอกจากนี้ยังมีอีก 2 ชื่อเรียก คือ พระเจ้าแสนแส้ และหลวงพ่องามเมืองเรืองฤทธิ์ เพื่อเชิดชูความงามของพระพุทธรูปองค์นี้

ทริปวันเดียวแอ่วพะเยา เราได้สัมผัสแต่ละสุดยอดทั้งธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม  ถือว่ามาถึงพะเยาแล้ว ที่สำคัญเมืองพะเยาต้อนรับนักท่องเที่ยวดี จนอยากกลับไปเที่ยวอีกครั้ง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พะเยา-เชียงราย-แพร่-น่าน จัด'วิ่งเลาะเวียงเมืองล้านนาตะวันออก' 4จังหวัด4สนาม

พะเยา เชียงราย แพร่ น่าน ผนึกกำลัง 4 จังหวัดภาคเหนือตอนบน 2  จัดใหญ่งานวิ่งเลาะเวียงเมืองล้านนาตะวันออก  กว่า 700 คนเหล็กเตรียมตบเท้าเข้าร่วม  4 จังหวัด 4 สนาม เริ่มสนามแรก วันที่ 30 พ.ย.-1  ธ.ค. 67  ที่จังหวัดพะเยา 

ถนนทรุดตัวยาวกว่า 100 เมตร เส้นรอยต่อ อำเภอเมืองพะเยา ถึงอำเภองาว จ.ลำปาง

ได้เกิดเหตุถนนทรุดตัวฝั่งขาเข้าจังหวัดพะเยา สถานที่เกิดเหตุถนนทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 1 กิโลเมตรที่ 815 + 800 ถึงกิโลเมตรที่ 815 + 900 เมตร(ขาขึ้น)

เตือน น่าน เชียงราย พะเยา เฝ้าระวังฝนตกหนัก

รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต และรองประธานฯ ที่มูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ

ชลประทาน เตือนพื้นที่ริมน้ำยมสายเก่าพิษณุโลก รับมือน้ำล้นตลิ่ง ในอีก 1-2 วันนี้

สถานการณ์น้ำแรกที่หลากมาจาก จ.พะเยา เข้าสู่ จ.แพร่ แล้วผ่านจุดพีคสูงสุดที่ จ.สุโขทัย มาแล้ววานนี้ ทำให้วันนี้ น้ำมาอยู่ในพื้นที่ จ.พิษณุโลก ในแม่น้ำยมสายเก่า และแม่น้ำยมสายหลัก จ.พิษณุโลก