จากสภาวะโลกร้อนที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวและจากกิจกรรมของมนุษย์โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่ปราศจากการควบคุม และขาดจิตสำนึกในการอนุรักษ์ธรรมชาติ ทำให้วันนี้ แนวปะการังที่สวยงามและสมบูรณ์เหลืออยู่เพียง 1 ใน 3 เท่านั้น หากไม่เร่งแก้ไข เราคงไม่เหลือปะการังให้คนรุ่นต่อไปได้เห็น ซึ่งผลกระทบนี้ไม่ได้มีแต่เรื่องท่องเที่ยวอย่างเดียวเท่านั้น ที่สำคัญยังกระทบไปถึงแหล่งอาหารทางทะเล เพราะเป็นที่รู้กันว่าปะการังทำให้ทะเลเกิดความสมบูรณ์แลหความหลากหลาย อีกทั้งเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน ก่อนที่จะเติบโต ปะการังจึงมีความสำคัญต่อการประมงอย่างมาก
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกับสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการเพาะพันธุ์ขยายพันธุ์และเลี้ยงปะการังอ่อน ด้วยระบบการทำฟาร์มบนบกและในทะเลเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศชายฝั่งที่เสื่อมโทรม
ปะการังอ่อน หรือ Soft Coral ซึ่งเป็นปะการังที่ไม่มีโครงสร้างหินปูน ถือว่าเป็นปะการังที่มีความสวยงามและดึงดูดใจนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศจากทั่วโลกเป็นอย่างมาก แต่ปัจจุบันปะการังอ่อนกำลังถูกคุกคามอย่างหนัก ซึ่งหลักๆน่าจะมาจากมนุษย์มากกว่าปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือภาวะโลกร้อน ส่งผลให้จำนวนชนิดและความสมบูรณ์ของปะการังลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก
ผศ.ดร.นิลนาจ ชัยธนาวิสุทธิ์ สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาฯ กล่าวว่า จากงานวิจัยยังพบว่าแหล่งท่องเที่ยวทุกแห่งในอ่าวไทยและทะเลอันดามันมีประชากรปะการังอ่อนทุกชนิดน้อยมากทั้งในแง่ความหลากหลายและความหนาแน่น ปัจจุบันจำนวนของปะการังอ่อนลดลงในทุกพื้นที่หากไม่ทำอะไรเลย แนวโน้มที่ปะการังอ่อนจะสูญพันธุ์ก็ใกล้เข้ามาทุกที หากเราสามารถเพาะขยายพันธุ์ปะการังอ่อนได้จะช่วยให้มีพันธุ์ปะการังอ่อนและขยายพันธุ์คืนสู่ธรรมชาติได้
“สถานการณ์ปะการังน่าเป็นห่วง ซึ่งพบว่า ลดลงทั้งชนิดและปริมาณ โดยเฉพาะทะเลแถบอ่าวไทย ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว เราพบว่าปะการังลดลงมาก บางที่เคยเจอ แต่พอไปอีกปี ไม่เจอแล้ว เช่นที่ เกาะมุก จังหวัดตรัง ที่เราเข้าไปขยายพันธุ์ปะการัง ปีต่อมาไปอีกครั้ง ไม่เจอ หมดไปแแล้ว ฐานหินที่ใช้เพาะปะการังก็ล้มระเนระนาด สาเหตุไม่แน่ชัด ว่าเป็นเพราะคนหรือผลกระทบทางธรรมชาติ หรือบางที่ ที่ไปสำรวจเจอเพียงแค่กอเล็กๆ สุ่มเสี่ยงว่าจะหายไปทั้งหมด แต่ในภาพรวมกิจกรรมของมนุษย์ทั้งทางบกและทางทะเล ล้วนส่งผลกระทบไปถึงปะการังทั้งสิ้น ” ผศ.ดร.นิลนาจ กล่าว
เพราะปะการังอ่อนมีความสวยงามไม่แพ้ปะการังแข็งเคยถูกขนานนามว่าเป็นรู้ง 7 สีในทะเล ทำให้เป็นที่หมายปอง ของธุรกิจปลาตู้สัตว์น้้าทะเลสวยงาม และบ่อสัตว์เลี้ยงทะเล แต่การที่ปะการังอ่อนทุกชนิดเป็นสัตว์คุ้มครองตามกฎหมายห้ามเก็บจากทะเล ห้ามซื้อขาย และห้ามมีไว้ครอบครอง ทำให้เกิดการลักลอบเก็บปะการังในทะเล ปะการังอ่อนตามธรรมชาติจึงลดลงอย่างมาก
“บางครั้งถ้าเดินไปตลาดนัดจตุจักร เราก็อาจจะพบเห็นปะการังอ่อนวางขาย ซึ่งหากสามารถเพาะเลี้ยงปะการังอ่อนได้มากขึ้น ก็จะทำให้ปะการังอ่อน กลายเป็นสัตว์ทะเลทางเศรษฐกิจประเภทสวยงามชนิดใหม่ ธุรกิจปลาตู้น้ำทะเล สามารถทำธุรกิจได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งการจำหน่ายภายในและต่างประเทศเช่นเดียวกับปลาการ์ตูน ที่เคยเป็นสัตว์ได้รับการคุ้มครอง ห้ามมีไว้ครอบครอง แต่พอมีการเพาะเลี้ยงได้ ก็ปลดล็อกข้อจำกัดนี้ และทำให้สัตว์สวยงามในทะเลเหล่านี้ไม่ถูกคุกคาม ดังนั้น การเพาะเลี้ยงปะการังอ่อน ให้ขยายพันธุ์มากๆ น่าจะเป็นทางออกแก้ปัญหาการลักลอบนำปะการังออกจากทะเล”ผศ.ดร.นิลนาจ กล่าว
ในด้านการเพาะเลี้ยงปะการังอ่อน ผศ.ดร.นิลนาจ บอกว่า สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาฯได้รับอนุญาตจากกรมประมงให้นำปะการังอ่อนที่พบที่เกาะสีชังมาใช้ในการศึกษาวิจัยครั้งนี้ขณะนี้ทีมวิจัยประสบความสำเร็จในการเพาะขยายพันธุ์ปะการังอ่อน 3ชนิด ได้แก่ ปะการังอ่อนหนังดอกเห็ด ปะการังอ่อนนิ้วมือ และปะการังอ่อนนิ้วมือสีดำดังกล่าว โดยสามารถเพาะขยายพันธุ์ได้ทั้งแบบอาศัยเพศและไม่อาศัยเพศ ทั้งนี้การเพาะขยายพันธุ์แบบอาศัยเพศได้นำพ่อแม่พันธุ์ปะการังอ่อนจากทะเลมาเพาะเลี้ยงในบ่อและกระตุ้นให้มีการปล่อยไข่และสเปิร์มเพื่อนำมาผสมพันธุ์จากนั้นเพาะเลี้ยงอนุบาลจนเป็นตัวอ่อนและเติบโตขึ้นเรื่อยๆซึ่งพบว่าปะการังอ่อนทั้งสามชนิดเจริญเติบโตได้ดีสำหรับการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศหรือการแตกหน่อ
ทีมวิจัยได้ใช้เทคนิคพิเศษในการตัดเนื้อเยื่อจากพ่อแม่พันธุ์ชิ้นเล็กที่สุดเพียง 0.5 – 1 ซม. และนำชิ้นเนื้อมาเลี้ยงในบ่อเป็นการเลี้ยงในลักษณะฟาร์มบนบกโดยมีการควบคุมปัจจัยสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมซึ่งพบว่าชิ้นเนื้อปะการังดังกล่าวสามารถเจริญเติบโตจนมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4 – 5 ซม. ภายใน 1 ปี ทั้งนี้ปะการังอ่อนจะเจริญเติบโตได้เร็วกว่าปะการังแข็งเนื่องจากไม่ต้องสร้างโครงสร้างหินปูนภายในถือเป็นความสำเร็จของทีมวิจัยที่พัฒนาเทคนิคการตัดชิ้นเนื้อปะการังอ่อนมาเพาะเลี้ยงต่อได้โดยที่พ่อแม่พันธุ์ไม่ตาย ที่สำคัญคือเมื่อชิ้นเนื้อของปะการังอ่อนในพ่อแม่พันธุ์ที่ถูกตัดไปเจริญเติบโตขึ้นมาใหม่ ก็สามารถตัดเพื่อนำไปเพาะขยายพันธุ์ได้อีก
“จากปัญหาโลกร้อนซึ่งทำให้เกิดปัญหาปะการังฟอกขาวปะการังอ่อนจะมีสาหร่ายตัวหนึ่งที่อยู่ในเนื้อเยื่อซึ่งสามารถสังเคราะห์แสงได้ อาหารหรือพลังงานทั้งหมดประมาณ 80%ของปะการังอ่อนได้จาก การสังเคราะห์แสงของสาหร่ายตัวนี้ดังนั้นถ้าเราขยายพันธุ์หรือฟื้นฟูปการังอ่อนในทะเลให้มีจำนวนมากจะมีส่วนช่วยเรื่องของโลกร้อนสามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ในน้ำและในอากาศได้” ผศ.ดร.นิลนาจกล่าว
ความคาดหวังจากการวิจัยเพาะเลี้ยงปะการังอ่อนสำเร็จ ผศ.ดร.นิลนาจ กล่าวว่า คือ ต้องการทำให้ศูนย์เพาะเลี้ยงที่เกาะสีชัง เป็นแหล่งเรียนรู้การเพาะเลี้ยงปะการัง ใครที่สนใจก็เข้ามาศึกษาได้ พร้อมกันนี้ ยังต้องการที่จะขยายการเพาะเลี้ยงปะการังอ่อนไปให้มากที่สุด โดยมีโครงการที่จะนำปะการังอ่อนที่เพาะได้ ไปขยายพันธุ์ในทะเลอ่าวไทยฝั่งตะวันออก และอ่าวไทยตอนล่าง ทั้งชุมพร สุราษฎร์ธานี โดยมีแผนฟื้นฟูใหญ่ นำประการังอ่อน จำนวนนับ 100 ต้น ปล่อยลงในทะเล ไม่ใช่แค่ 20-30 ต้นเหมือนที่่ผ่านมา เพื่อให้เกิดแนวประการังขนาดใหญ่ โดยจากการศึกษาติดตาม พบว่า ปะการังอ่อน ที่ปล่อยลงทะเล มีอัตราเติบโตเร็วพอสมควร 1ปีโตขึ้น 1.5 นิ้ว และผ่านไป 4ปี โตเกือบครึ่งเมตร
“งานวิจัยทางด้านปะการังอ่อนจำเป็นต้องใช้ความรู้ในหลายศาสตร์มาบูรณาการร่วมกันศูนย์เรียนรู้ธนาคารสัตว์ทะเลเกาะสีชังโดยชุมชนเพื่อชุมชนยั่งยืนในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีมีการทำฟาร์มต้นแบบการขยายพันธุ์ปะการังอ่อนแบบการทำฟาร์มบนบกพร้อมทั้งเปิดโอกาสแก่นักเรียน นักศึกษา นักท่องเที่ยวและภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการขยายพันธุ์ปะการังอ่อน ที่อ.เกาะสีชัง จ.ชลบุรีอีกด้วย”
ปะการังอ่อนยังมีประโยชน์ทางการแพทย์อีกด้วย มีรายงานว่าปะการังอ่อนบางชนิดเมื่อนำมาสกัดแล้วจะได้สารบางชนิดที่ยังยั้งเซลล์เนื้องอกและเซลล์มะเร็งได้ ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ในระหว่างการศึกษาวิจัยขั้นต่อยอดโดยสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาฯ เกี่ยวกับองค์ประกอบทางชีวเคมีในปะการังอ่อนทั้งสามชนิดคือ ปะการังอ่อนหนังดอกเห็ด ปะการังอ่อนนิ้วมือ และปะการังอ่อนนิ้วมือสีดำ ซึ่งการเพาะเลี้ยงได้จะตอบสนองการใช้ประโยชน์เพื่อการแพทย์ได้มากขึ้น
ผศ.ดร.นิลนาจ ยังย้ำถึงประเด็นผลสำเร็จของการวิจัย การเพาะเลี้ยวปะการังอ่อน จะทำให้ปะการังอ่อนกลายเป็นสัตว์เศรษฐกิจทางทะเลตัวใหม่ที่น่าสนใจ โดยปัจจุบันทีมวิจัยได้พัฒนาไปถึงขั้นติดไมโครชิพในปะการังอ่อนที่เพาะเลี้ยงทุกตัว ซึ่งหากมีการอนุญาตให้ครอบครองได้ ก็จะรู้ทันทีว่าปะการังอ่อนนั้น มาจากธรรมชาติ หรือมาจากการเพาะเลี้ยง
“การติดไมโครชิพ จะป้องกันปัญหาการสวมรอย ไม่ให้เอาปะการังธรรมชาติ มาซื้อขายกัน เพราะชิพ จะทำให้รู้ว่าปะการังนั้นมาจากที่ไหน ถ้ามาจากการเพาะเลี้ยงจากเราก็จะรู้ได้ทันที”ผศ.ดร.นิลนาจ กล่าว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ธนกร' ฝาก รบ.เดินเครื่องกระตุ้นท่องเที่ยวโกยต่างชาติเข้าไทยทะลุ 40 ล้าน
“ธนกร” ฝาก รบ.เดินเครื่องแคมเปญกระตุ้นท่องเที่ยวต่อเนื่อง มั่นใจ โกยต่างชาติเข้าไทยรับไฮซีซันยาวถึงปี 68 ทะลุเป้า 40 ล้านคนได้ชัวร์ ดัน รายได้ประเทศพุ่ง แนะ ควบคู่นโยบายแก้หนี้-ปรับค่าจ้าง-ปราบยาเสพติด ปั้น ผลงานรัฐบาลให้ชัด เชื่อ รอบ 90 วันทำปชช.พึงพอใจเพิ่มแน่