ติดอาวุธ'คนพิการทางสายตา'สู่'นักชิมมืออาชีพ'

การพัฒนา “สูตรอาหารใหม่” เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ของร้านอาหารเพื่อเพิ่มยอดขายและสร้างความแปลกใหม่ แต่การพัฒนาสูตรอาหารเฉพาะหรืออาหารซิกเนเจอร์ นักทดสอบชิมอาหารที่มีความรู้ด้านวัตถุดิบ เครื่องปรุง รวมทั้งมีประสาทสัมผัสที่ดีและมีทักษะในการทดสอบทางประสาทสัมผัส สามารถให้ข้อมูลที่เป็นประโยชนต่อผู้ประกอบการเพื่อใช้ในการปรับปรุงสูตร  ให้มีความพิเศษและแตกต่าง “อาชีพนักชิม” จึงเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่น่าสนใจ อีกทั้งถือเป็นอาชีพที่สามารถสร้างรายได้ได้ไม่น้อย

จากข้อมูลทางวิชาการซึ่งเป็นผลการศึกษาวิจัยในอดีตพบว่า ผู้พิการทางการมองเห็น มักมีศักยภาพในการจัดกลุ่มกลิ่นและแยกความแตกต่างของผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มได้ดีกว่าคนปกติทั่วไป   ซึ่งในต่างประเทศมีการยอมรับคนพิการเข้าไปทำงานทดสอบทางประสาทสัมผัสผลิตภัณฑ์หลายชนิด ก่อนที่จะออกสู่ตลาด อาทิ ผลิตภัณฑ์เวชสำอางในประเทศฝรั่งเศส หรือผลิตภัณฑ์ไวน์ในสหรัฐอเมริกา เป็นต้น แต่ในประเทศไทยยังไม่มีการใช้ศักยภาพของคนพิการทางการมองเห็นในการทดสอบสินค้า ส่วนหนึ่งมาจากต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง เนื่องจากขั้นตอนในการฝึกอบรมผู้พิการสายตา  เพื่อเพิ่มทักษะในการทดสอบทางประสาทสัมผัส ต้องใช้ระยะเวลานาน และต้องมีการฝึกฝนและทดสอบเพื่อให้เกิดความ “แม่นยำ”และ มีความ“ถูกต้อง” ก่อนที่จะให้ผู้พิการ ได้ทดสอบสินค้าหรือผลิตภัณฑ์เหล่านั้น

ทั้งหมดนี้ จึงเป็นที่มาของความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ในการจัดทำโครงการ “พัฒนาทักษะอาชีพนักชิมอาหารปรุงสำเร็จผู้พิการทางการเห็นเพื่อสร้างรายได้เสริม”ขึ้น ภายใต้ทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ระยะเวลาดำเนินงาน 12 เดือน (เริ่มเดือนกุมภาพันธ์ 2565 – กุมภาพันธ์ 2566) ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อยกระดับรายได้ให้กับคนพิการทางการเห็น ผ่านการพัฒนาทักษะอาชีพนักชิมอาหาร และเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านที่ 5 ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม แผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยดำเนินการร่วมกับบุคลากรและนักเรียนในโรงเรียนสอนคนตาบอด/ศูนย์ฝึกอาชีพคนตาบอด ในพื้นที่เป้าหมาย 3 แห่ง ได้แก่ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี อ.เมือง จ.สิงห์บุรี และ อ.สามพราน จ.นครปฐม

ผศ. ดร.ธิติมา วงษ์ชีรี

ผศ. ดร.ธิติมา วงษ์ชีรี นักวิจัย สังกัดศูนย์วิจัยและบริการเพื่อชุมชนและสังคม สำนักวิจัยและบริการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มจธ. หัวหน้าโครงการ กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ทำงานวิจัยพัฒนาศักยภาพของผู้พิการทางการเห็น มาตั้งแต่ปี 2558  เริ่มจากการทำโปรไฟล์กลิ่นฝักวนิลา การจัดกลุ่มกลิ่นข้าวหุงสุก ซึ่งพบว่า คนพิการทางการเห็น มีความสามารถในการจำแนกกลุ่มกลิ่นได้แม่นยำ นอกจากนี้  ยังมีความแม่นยำในการประเมินความกรอบของขนมกรุบกรอบได้ใกล้เคียงกับการใช้เครื่องมือวัดฯ ซึ่งเป็นความสามารถที่มีมากกว่าคนสายตาปกติ แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าคนพิการทางการเห็นไม่สามารถนำจุดเด่นเหล่านี้ มาสร้างรายได้ให้กับตัวเอง


“จึงเห็นว่า น่าจะหาโอกาสนำศักยภาพของคนพิการทางการเห็นมาสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือหาอาชีพใหม่หรืออาชีพอิสระ ที่ใช้ทักษะด้านการรับรสและกลิ่นที่ค่อนข้างดีกว่าคนปกติทั่วไป  ทำให้ “นักชิมอาหาร” เป็นอีกหนึ่งอาชีพทางเลือกที่คนพิการทางการเห็นสามารถพัฒนาตนเองเป็น “นักชิมอาหารปรุงสำเร็จมืออาชีพ” ได้ในอนาคต ทั้งนี้ต้องมีการเตรียมตัว ต้องมีความรู้ที่ลึกและกว้าง และจะต้องมีความรู้สินค้าวัตถุดิบหลายชนิดรวมถึงคุณลักษณะต่าง ๆ ของเมนูอาหาร ดังนั้น ก่อนที่คนพิการทางการเห็นจะเข้ามาร่วมงานวิจัยเราจะมีการทดสอบขีดความสามารถในการแยกแยะรสหวานเปรี้ยวเค็มขมต่ำสุดในระดับที่มนุษย์จะรับรสได้ตามหลักเกณฑ์มาตรฐาน “ผศ. ดร.ธิติมา กล่าว

จากสถานการณ์โควิค -19 เป็นโอกาสของผู้พิการทางสายตาผศ. ดร.ธิติมา เล่าว่า เนื่องจากช่วงนั้น ผู้บริโภคส่วนใหญ่จะสั่งอาหารจากร้านต่าง ๆ มาทาน จึงมองว่าถ้าคนพิการทางการเห็นไปชิมอาหารให้กับร้านค้าและสามารถให้ดาว ในด้านรสชาติอาหาร หรือสามารถทำให้ร้านอาหารออกเมนูใหม่ ๆ ทุก 3 เดือน 5 เดือน ในรสชาติที่แตกต่างจากร้านอื่นก็จะช่วยเพิ่มมูลค่ายอดขายให้กับผู้ประกอบการได้  ส่วนคนพิการทางการเห็นที่เป็นนักชิมก็จะมีรายได้ จึงได้ขอทุนสนับสนุนจาก วช. เพื่อพัฒนาอาชีพนักชิมอาหารปรุงสำเร็จฯ ขึ้นตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา

โครงการ “อาชีพนักชิมอาหารปรุงสำเร็จผู้พิการทางการเห็นฯ” จะเป็นการอบรม 3 หลักสูตรต่อเนื่องกัน  เริ่มจาก หลักสูตร Train the Trainer ระยะเวลาอบรม 1 เดือน ผ่านระบบออนไลน์ มีตัวแทนครูหรือผู้สอนคนพิการทางการเห็น จากศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการเข้าร่วมหลายแห่ง ต่อด้วย หลักสูตรพื้นฐานการชิมอาหาร ระยะเวลาอบรม 2 เดือน โดยมีผู้ผ่านเข้ารับการอบรมประมาณ 50 คน เป็นหลักสูตรออนไลน์ สอนตั้งแต่วัตถุดิบ ลักษณะเด่นของอาหารแต่ละภาค ลักษณะหวานเปรี้ยวเค็มขม และการใช้เครื่องเทศต่างกันอย่างไร สุดท้ายคือ หลักสูตรนักชิมเบื้องต้น หรือฝึกงานชิมอาหาร ที่มีผู้ผ่านเกณฑ์ 25 คน เป็นการพาไปชิมอาหารจากร้านที่เข้าร่วมโครงการ โดยก่อนการชิมอาหารจริง ผู้เข้ารับการอรมจะได้รับการฝึกอบรมในเรื่องของคุณลักษณะวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ อบรมการทดสอบการชิม และอบรมการให้คะแนนก่อนเพื่อทดสอบว่านักชิมจะสามารถแยกแยะรสชาติได้จริงหรือไม่

ผศ. ดร.อุศมา สุนทรนฤรังษี

ในส่วนของหลักสูตรนักชิมเบื้องต้นนั้น ผศ. ดร.อุศมา สุนทรนฤรังษี อาจารย์ประจำ ภาควิชาพัฒนาผลิตภัณฑ์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มก. อธิบายว่า เนื่องจากอาหารแต่ละประเภทมีคุณลักษณะที่แตกต่างกัน ดังนั้นขั้นตอนการทดสอบชิมจึงมีความแตกต่างกัน ในหนึ่งเมนูจะมีคุณลักษณะประจำอยู่ค่อนข้างมาก ซึ่งยังไม่รวมเรื่องรสชาติพื้นฐาน (หวาน เปรี้ยว เค็ม ขม อูมามิ) ดังนั้น ก่อนฝึกงานชิมอาหารให้กับร้านอาหารที่เข้าร่วมโครงการจริง คนพิการจะได้รับการอบรมเรื่องวัตถุดิบอาหารไทย และคุณสมบัติต่าง ๆ ผ่านระบบออนไลน์ โดยมี smelling training kit หรือชุดฝึกฝนการดมกลิ่นเครื่องเทศ ที่บริษัท บุญคอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้ทำการสร้างสรรค์และสนับสนุนให้ทดลองใช้ในราคาพิเศษ ทางโครงการได้ทำการจัดส่งให้กับคนพิการที่ผ่านการคัดเลือกคนละหนึ่งชุด เพื่อให้คนพิการทดลองดมตัวอย่างอ้างอิงเหล่านี้ก่อนแล้วให้บอกลักษณะของกลิ่นและรสสัมผัสที่ได้รับ เพื่อดูความเข้าใจคุณลักษณะเหล่านั้นของคนพิการเบื้องต้น เช่น กลิ่นมะกรูดเป็นอย่างไร กลิ่นเครื่องแกงในแกงเขียวหวานและทอดมันแตกต่างกันอย่างไร ก่อนจะอบรบเรื่องของระดับความเข้มของรสชาติพื้นฐาน (หวาน เปรี้ยว เค็ม ขม อูมามิ) สามารถบอกหรือแยกแยะความเข้มของรสชาติในลักษณะที่ใกล้เคียงกันได้ จากนั้นเป็นการฝึกให้คะแนน โดยการสร้างขั้นตอนในการชิม เพื่อเป็นไกด์ไลน์หรือแนวทางในการทดสอบให้กับคนพิการสามารถอธิบายคุณลักษณะและการให้คะแนนได้

สำหรับเมนูอาหารที่นำมาใช้ทดสอบความเป็นนักชิมอาหารของคนพิการทางการเห็นครั้งนี้ มีด้วยกัน 3 เมนู ได้แก่ ทอดมันหน่อกะลา (จากร้าน Mango 88 Cafe’ เกาะเกร็ด จ.นนทบุรี)  แกงเขียวหวานซี่โครงหมูกรุบกะลา (จากร้าน Little Tree Garden อ.สามพราน จ.นครปฐม) และเค้กมะพร้าวอ่อน (จากร้านชมเฌอ คาเฟ่ & บิสโทร อ.สามพราน จ.นครปฐม) มาเทียบกับอาหารเมนูเดียวกันที่ได้รับความนิยมจากร้านดังต่าง ๆ ที่นำมาทดสอบว่า มีความต่างกันอย่างไร  มีความโดดเด่นอย่างไร โดยการทดสอบชิมอาหารจัดขึ้น ณ ศูนย์ฝึกอาชีพหญิงตาบอดสามพราน อ.สามพราน จ.นครปฐม ในวันที่ 17 มกราคม 2566 ซึ่งนักชิมคนพิการทางการเห็นจะได้ใบประกาศนียบัตร เพื่อการันตีความรู้ที่ได้ผ่านการอบรมและการทดสอบประสาทสัมผัสในระดับหนึ่งที่จะเป็นใบเบิกทางในการสมัครงานหรือนำไปประกอบอาชีพนักชิมอาหารได้

ข้อมูลที่ได้จากการทดสอบชิมอาหารของคนพิการ จะถูกส่งกลับไปให้กับทางร้านเหมือนเป็นการให้ข้อมูลย้อนกลับให้ร้านได้รู้ว่าเมนูอาหารของร้านมีความเด่นอย่างไร อาหารของเขามีกลิ่นอะไรเด่น หรือมีความแตกต่างจากร้านอื่น ๆ อย่างไร ซึ่งทางร้านสามารถนำข้อมูลที่ได้ไปเป็นแนวทางการปรับปรุงหรือพัฒนาสูตรอาหาร ทั้งนี้ จะไม่ได้มีการตัดสินว่าอาหารของร้านดีกว่าอาหารร้าน 5 ดาวแต่อย่างใด

 “…ที่ผ่านมายังไม่เคยทำเกี่ยวกับอาหารคาวและเครื่องเทศต่าง ๆ การฝึกอบรมครั้งนี้เป็นครั้งแรก สุดท้ายเราหวังว่า โครงการนี้ จะเป็นการติดอาวุธให้คนพิการได้ตกปลาเอง และอยากให้พัฒนาเป็นกลุ่มอาชีพอิสระ ที่มีความรู้เพียงพอ มี product ของตัวเอง มีคนจ้างงาน และอยู่ได้ด้วยตัวเอง…”ผศ.ดร.ธิติมา กล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ม.เกษตรฯ ตั้ง 'เสกสกล' เป็นผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ คณะอุตสาหกรรมบริการ

นายจงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ลงนามในประกาศมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรื่อง แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ

อ.อ.ป. ผสานความร่วมมือ กรมป่าไม้ และ ม.เกษตรฯ ลงนามความร่วมมือ “โครงการขยายผลงานวิจัยไม้เศรษฐกิจพันธุ์ดีสู่ประชาชน”

วันนี้ (29 มีนาคม 2567) นายสุกิจ จันทร์ทอง ผู้อำนวยการองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ นายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ และ นายดำรง ศรีพระราม รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ