สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของมรดกภูมิปัญญาวัฒนธรรมการทอผ้าของไทย ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจเกี่ยวกับผ้าไทยพื้นถิ่นตามชุมชนในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ทรงสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าอย่างครบวงจร
ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ผ้าทอย้อมครามเกิดเป็นลวดลายใหม่ๆ ดีไซน์ทันสมัย และหลายเฉดสีตามเทรนด์แฟชั่น สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน จาก’ดอนกอยโมเดล’ต่อยอดสู่โครงการต้นแบบที่ยั่งยืนด้วยการก่อตั้งศูนย์เรียนรู้ผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย ‘วิชชาลัยดอนกอย วิถีแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน’ โดยกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย (มท.)และสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ ดำเนินงานตามพระราชดำริ ‘ผ้าไทยใส่ให้สนุก’ มุ่งพัฒนาคุณภาพผ้าของชุมชนบ้านดอนกอยสู่การเป็นชุมชนต้นแบบของประเทศ
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จไปทรงเปิดอาคารเฉลิมพระเกียรติ 36 พรรษา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา วิชชาลัยดอนกอย วิถีแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2566
สุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า เนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เจริญพระชนมายุครบ 3 รอบ วันที่ 8 ม.ค. 2566 มท.น้อมนำแนวทางพระดำริจัดสร้าง “อาคารเฉลิมพระเกียรติ 36 พรรษาฯ “ เพื่อประกาศพระเกียรติคุณที่ทรงมีพระเมตตาต่อคนไทย โดยเฉพาะบ้านดอนกอย พระราชทานโครงการพระดำริแห่งแรก “ดอนกอยโมเดล” เกิดการเปลี่ยนแปลงและสร้างคุณประโยชน์
จุดเริ่มต้นดอนกอยโมเดลมาจากเมื่อครั้งเสด็จทอดพระเนตรขั้นตอนการผลิตผ้าย้อมครามกลุ่มทอผ้าบ้านดอนกอย วันที่ 15 พ.ย. 2563 มีพระประสงค์พัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าทอบ้านดอนกอยให้มีความทันสมัย ยกระดับภูมิปัญญาและชิ้นงานให้เป็นที่ต้องการของตลาดไทยและตลาดโลก ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชนดีขึ้น
เหตุนี้ กรมการพัฒนาชุมชนบูรณาการองค์ความรู้ระหว่างสมาชิกกลุ่มทอผ้าบ้านดอนกอยและผู้เชี่ยวชาญออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวบรวมองค์ความรู้วัฒนธรรมชุมชน ภูมิปัญญาด้านการทอผ้า การย้อมคราม และการใช้สีธรรมชาติ มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความเป็นสากล รวมถึงยกระดับเป็น Premium OTOP ส่งเสริมภาพลักษณ์ผ้าไทย
ปลัด มท. กล่าวว่า ส่งเสริมให้มีการพัฒนามาจากลายดั้งเดิมของชุมชนบ้านดอนกอย ต่อยอดด้านการใช้สีธรรมชาติจนพัฒนาได้ถึง 10 โทนสี รวมทั้งพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ออกแบบโดยคำนึงถึงอัตลักษณ์ชุมชนบ้านดอนกอย สร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับผ้าไทย ทำให้สวมใส่ได้ในทุกโอกาส การพัฒนาตั้งแต่ปี 2563 ถึงปัจจุบันส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ผ้าทอย้อมครามเป็นผ้าไทยที่ใส่สนุก มีลวดลายใหม่ๆ ดีไซน์ที่ทันสมัย ทุกอำเภอของสกลนครนำโมเดลนี้ไปขับเคลื่อน ปัจจุบันต่อยอดสู่โครงการ “ดอนกอยโมเดลสู่สากล” สร้างคอลเลคชั่นร่วมสมัย พร้อมจัดทำหนังสือ “ดอนกอยโมเดล” รวบรวมการพัฒนาหมู่บ้านย้อมครามดอนกอย
ในฐานะหัวเรือสำคัญบอกด้วยว่า การฟื้นฟูภูมิปัญญาผืนผ้าพื้นถิ่นมีความร่วมมือจาก 10 กลุ่มชุมชนร่วมโครงการ คัดเลือกผ้าที่โดดเด่นนำไปออกแบบเสื้อผ้าโดยนักออกแบบชั้นนำ สร้างรายได้ให้กับสมาชิกในกลุ่มทอผ้า จากเดิม 700 บาทต่อคนต่อดือน เพิ่มเป็นเดือนละกว่า 15,000 บาท ส่วนศูนย์เรียนรู้ผ้าย้อมครามบ้านดอนกอยจะเป็นแหล่งรวบรวมภูมิปัญญาผ้าทอพื้นเมืองจ.สกลนคร เป็นแหล่งถ่ายทอดองค์ความรู้กระบวนการทอผ้า และเรียนรู้นวัตกรรมใหม่ ๆ
ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ เล่าว่า เมื่อครั้งพระองค์เสด็จไปทรงเยี่ยมกลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย ได้มีพระวินิจฉัยและพระราชทานคำแนะนำเรื่องลายผ้าโบราณ เพื่อฟื้นฟูภูมิปัญญาท้องถิ่น ให้ย้อมผ้าในโทนสีที่อ่อนลงให้มีความร่วมสมัย และปรับการทอชายผ้าถุงให้กว้าง ปรับทอหัวผ้าถุงให้ยาวขึ้น ทรงมีพระวินิจฉัยให้ผสมลวดลายเดิมเข้าด้วยกันให้เกิดลายใหม่ร่วมสมัย เช่น ทอผ้าลายโคมไฟใหญ่สลับกับลายพิกุลทอง ทอผ้าลายต้นกล้วยแทรกด้วยลายฟันปลา และทอผ้าลายตุ้มป่องใหญ่ให้มีสัดส่วนลายเล็กลง เมื่อครั้งเสด็จเปิดงาน OTOP City 2020 กลุ่มบ้านดอนกอยนำผ้าที่ทอขึ้นตามพระวินิจฉัย ทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทอดพระเนตร พระองค์ตรัสว่าสวยมาก และพระราชทานพระดำริให้ปรับขั้นตอนการค้นหมี่ ให้ฟืมกับโฮงหมี่มีขนาดเท่ากัน ไม่ให้เส้นขอบด้ายมีพื้นที่เหลือเกินจำเป็น
ด้าน นางถวิล อุปรี ประธานกลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย กล่าวด้วยความซาบซึ้งในพระกรุณาธิคุณว่า อดีตเราทอผ้าแบบโบราณ ทอเฉพาะใช้ พระองค์ท่านมาพระราชทานเสริมให้ลายผ้ามีความหลากหลาย เพื่อให้ชุมชนเรามีรายได้ พระองค์ทรงตรัสว่า “แม่ ๆ หนูมานี่มาให้กำลังใจแม่ ๆ นะ แม่ ๆ อย่าขี้คร้านนะ” ทรงมีน้ำพระทัยนัก เมื่อพระองค์ทรงใช้พระหัตถ์จับเครื่องมือเครื่องทอ ได้แต่ทูลว่าเป็นห่วงพระองค์ ทรงตรัสตอบว่า “แม่ไม่ต้องห่วง หนูทำได้ หนูเคยตามเสด็จสมเด็จย่าบ่อย ๆ” นอกจากนี้ สิ่งที่พวกเราทำไม่ได้ พระองค์ทรงโปรดให้กลุ่มผู้เชี่ยวชาญช่วยให้แง่คิด ข้อชี้แนะ องค์ความรู้ด้วย ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น รายได้เพิ่ม ลายผ้าเฉดสีมากขึ้น ทั้งครามน้ำหนึ่ง ครามน้ำสอง ครามน้ำกลาง และผสมผสาน เราจะน้อมนำพระดำริมาทำให้วิชชาลัยดอนกอยเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ ถ่ายทอดความรู้ให้ลูกหลานได้สืบสาน รักษา และพัฒนาต่อยอดให้เกิดความยั่งยืน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ประกวด'ผ้าลายสิริวชิราภรณ์'เฟ้นผลงานทรงคุณค่า
ผู้ประกอบการผ้าทอพื้นถิ่นของไทยและช่างทอผ้าสามารถสร้างสรรค์ผลงานโดดเด่นเต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ฟันฝ่าเกณฑ์การตัดสินเข้าสู่รอบรองชนะเลิศในการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” และงานหัตถกรรม รอบรองชนะเลิศ (Semi Final)
62 ปี กรมการพัฒนาชุมชนจัดยิ่งใหญ่ งาน “วันพัฒนาชุมชน” (CD Day 2024) “เศรษฐกิจฐานรากมั่นคง ชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน”
กรมการพัฒนาชุมชนจัดยิ่งใหญ่ งาน “วันพัฒนาชุมชน” (CD Day 2024) ภายใต้ธีมงาน “เศรษฐกิจฐานรากมั่นคง ชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน” ( Strengthened grassroots economy , resilient and sustainable communities)
'สืบสานใจ หัตถศิลป์ไทย สู่สากล' โชว์ชุดผ้าไทย 11 แบรนด์ชั้นนำ
ร่วมสืบสานความงดงามอันทรงคุณค่าของผ้าไทย มรดกจากภูมิปัญญาที่นำเสนออัตลักษณ์ความเป็นไทยผ่านงานฝีมือสุดประณีตบรรจง ให้ได้รับการเชิดชูสู่ระดับสากล เอ็ม ดิสทริค โดย เอ็มโพเรียม เอ็มควอเทียร์ เอ็มสเฟียร์ ร่วมกับ มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
ปิดฉาก OTOP Midyear 2024 ยอดจำหน่ายทะลุเป้า กว่า 700 ล้านบาท
วันนี้ (17 มิถุนายน 67 ) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน จัดงาน OTOP
รัฐบาล ตีปี๊บชวนเที่ยวงาน OTOP MIDYEAR 2024 ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี
รัฐบาล เชิญชวนประชาชนเที่ยวงาน OTOP MIDYEAR 2024 'หลากหลายผลิตภัณฑ์ สีสันภูมิปัญญาไทย' ระหว่าง 8 - 16 มิ.ย. 67 ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี
นายกฯ เยือนโรงงานผลิตผ้าแบรนด์ชั้นนำอิตาลี ต่อยอดภูมิปัญญาผ้าย้อมครามไทยสู่สากล
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เดินทางไปเยี่ยมชมโรงงานของห้องเสื้อ Zegna เมืองวาลดิลานา (Valdilana) และพบหารือกับนาย Gildo Zegna ผู้บริหารของห้องเสื้อ Zegna