วิทยสถาน'ธัชภูมิ' ศูนย์กลางอัดพลังวิจัยพื้นที่ พาไทยก้าวสู่ประเทศพัฒนาแล้วในปี 2580

ถ้าถามว่าประเทศเราจะเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร  ซึ่งคงต้องอาศัยแรงผลักดันทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และอีกด้านในโลกยุคใหม่ศตวรรษที่ 21 สิ่งที่ขาดไม่ได้ คือ การวิจัยและการพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ในฐานะที่เป็นหน่วยงานขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนาของประเทศ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรืออว.จึงได้ผุดวิทยสถาน “ธัชภูมิ” ทำหน้าที่ เป็นศูนย์กลางที่จะระดมแนวความคิดในพัฒนาพื้นที่ เพราะการพัฒนาพื้นที่เป็นหัวใจสำคัญที่จะสร้างรากฐานอันแข็งแกร่งให้กับประเทศ โดยเฉพาะกับกลุ่มท้องถิ่นในระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล เป็นต้น

ก่อนหน้านี้ อว. มีหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท) เป็นหน่วยงานหลัก ในการเชื่อมโยง ระหว่าางงานวิจัย กับพื้นที่  โดยอาศัย 5 สถาบันความรู้ ในสังกัด บพท. เป็นกลไกสำคัญ ได้แก่ สถาบันความรู้เพื่อการจัดการทุนทางวัฒนธรรม, สถาบันความรู้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน, สถาบันความรู้เพื่อการสร้างโอกาสทางสังคม, สถาบันความรู้เพื่อการพัฒนาเมือง และสถาบันความรู้เพื่อเสริมพลังท้องถิ่น

ซึ่งบทบาทของธัชภูมิ ที่ครอบคลุม 5 สถาบัน นอกจากจะต้องพัฒนาพื้นที่ อีกส่วนที่สำคัญคือการผลิตและพัฒนานักวิจัยเชิงพื้นที่,  พัฒนาระบบจัดการงานวิจัยเชิงพื้นที่ในมหาวิทยาลัยต่างๆ, ยกระดับความรู้เชิงแนวคิด ทฤษฎี สังเคราะห์องค์ความรู้เพื่อนำสู่นโยบาย, จัดทำฐานข้อมูลสำคัญเพื่อการพัฒนาพื้นที่, ขับเคลื่อนการขยายผลองค์ความรู้, สร้างเครือข่ายวิชาการระหว่างศาสตร์สาขา ระหว่างสถาบัน และระหว่างประเทศ  และสังเคราะห์โจทย์วิจัยใหม่

เอนก เหล่าธรรมทัศน์

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการ กล่าวว่า ปัญหาของเมืองไทย  ที่พบคือ ทุกหน่วยย่อยทำงานดี แต่ต่างคนต่างทำ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของกระทรวงที่จะหาวิธีรวมความเข้มแข็งทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี  สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ศิลปศาสตร์ หรือในศาสตร์อื่นๆ นำมาร่วมกันเพื่อให้เกิดระดมความคิดในการพัฒนาประเทศ ด้วยเป้าหมายที่ตั้งเรือธงไว้ว่า ประเทศไทยจะก้าวเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วภายในปี 2580 นับว่าเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง เพราะตั้งแต่มีการพัฒนาประเทศมายังไม่เคยกล้าปักธงว่าประเทศไทยได้พ้นจากประเทศที่กำลังพัฒนา หรือด้อยพัฒนา หรือประเทศที่ยากจนแล้ว

แผนผังกรอบการทำงานของธัชภูมิ

ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย ประธานคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาการขับเคลื่อน วิทยสถานธัชภูมิ เพื่อการพัฒนาพื้นที่ อธิบายว่า แนวคิดของธัชภูมิ คือแพลตฟอร์มความรู้ เหมือนกับสถานที่ที่นำความรู้มาแลกเปลี่ยนกันในลักษณะความรู้คนละชุดจากหลากหลายแหล่ง และในการทำงานที่เน้นเจาะจงเชิงพื้นที่ของ บพท. ที่ผ่านๆมาในแต่ละจังหวัดทำให้พบคนเก่ง แต่ไม่มีพลังในการสร้างสรรค์ด้วยโครงสร้างภายในองค์กร หรือในบางจังหวัดมีบางปัญหาที่แก้ไม่ได้ โดยพบปัจจัยที่ทำให้แก้ปัญหาไม่ได้ คือ ระบบในการบริหารราชการแผ่นดิน ระบบงบประมาณ หรือระบบการไม่บูรณาการ ข้อมูลที่มีไม่เชื่อมโยงกับปัญหาภายในพื้นที่ ทำเฉพาะจุด เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาคลาสสิคของระบบภายในหน่วยงานบ้านเรา  

“การสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้จริง โครงสร้างพื้นที่ เป็นหัวใจสำคัญ ดังนั้นการทำงานในพื้นที่และคนในท้องถิ่น ถือเป็นเส้นทางที่ต้องได้รับการแก้ปัญหาให้ตรงจุด เสริมศักยภาพประชาชน ให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งธัชภูมิจะเป็นตัวกลางในแลกเปลี่ยนข้อมูลของทั้ง 5 สถาบัน ที่จะทำให้เห็นปัญหาอย่างตรงจุด แก้ไขให้ถูกที่ สร้างการมีส่วนร่วมของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน “ดร.สีลาภรณ์ กล่าว

แผนการดำเนินงานเบื้องต้นของสถาบันทุนทางวัฒนธรรม

ด้าน ดร.กิตติ  สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการ บพท. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการทำงานวิจัยเชิงปฏิบัติการในพื้นที่ต่างๆ ของบพท.ในระยะเวลา 3 ปี ได้ค้นพบคำตอบว่าการพัฒนาประเทศให้ก้าวไปข้างหน้าคือ พื้นที่ และเป็นโอกาสในการสร้างความเข้มแข็ง การค้นพบความรู้ และสั่งสมเป็นชุดความรู้ ซึ่งจะมีผลในการนำไปขยายผลเป็นแนวความคิดใหม่ในการขับเคลื่อนประเทศในอีก 10 ปีข้างหน้า และประชาชนจะต้องเข้าสู่การเป็น Smart citizen ดังนั้นบทบาทหน้าที่ของ บพท. ที่รับผิดชอบในการประมวลและสังเคราะห์องค์ความรู้จากงานวิจัย นวัตกรรม และภูมิปัญญาจากพื้นที่ จะช่วยให้งานของสถาบันภายใน”ธัชภูมิ”ครอบคลุมทุกมิติไม่ว่าจะเป็น ด้านขจัดความยากจนและสร้างโอกาสทางสังคม  ด้านเศรษฐกิจฐานราก จากฐานทุนทรัพยากรพื้นถิ่น  ด้านการพัฒนาทุนทางวัฒนธรรม ด้านการพัฒนาเมืองเพื่อกระจายศูนย์กลางความเจริญ และด้านการเสริมสร้างความเข้มแข็งของท้องถิ่นและชุมชน

แผนการแก้ปัญหาความจน ของสถาบันความรู้เพื่อสร้างโอกาสทางสังคม

“นอกจากนี้กลไกในการขับเคลื่อนที่สำคัญคือ การทำงานร่วมกับสถาบันอุดมศึกษา เพราะประเทศไทยแทบทุกจังหวัดมีมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นส่วนที่ทำให้เข้าถึงประชาชนในพื้นที่ได้ง่าย เข้าใจบริบมท้องถิ่น สามารถสร้างข้อตกลง หรือการมีส่วนร่วมต่างๆ  ผลักดันเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อนำไปสู่การพัฒนาพื้นที่และลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ นำประเทศไปสู่เป้าหมายในปี 2580” ดร.กิตติ กล่าว
มุมมองที่ชี้ให้เห็นความสำคัญของการทำวิจัยเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่   รศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์องค์กร บพท. กล่าวว่า  การพัฒนาเมือง คือ การพัฒนาเชิงโครงสร้างที่มีมิติในการวิเคราะห์เมือง ท้องถิ่น จังหวัด และภูมิภาค ไม่ใช่เพียงแค่การใช้เอกสาร หนังสือ หรือบทเรียนเท่านั้น แต่ยังต้องประกอบไปด้วยความร่วมมือของคน องค์กร นักวิชาการ ผู้นำการเปลี่ยนแปลง และสถาบันต่างๆ ดังนั้นการจะสร้างเศรษฐกิจต้องสร้างกลไกการขับเคลื่อนใหม่ พัฒนาพื้นที่ระดับท้องถิ่น และจังหวัด เพื่อยกระดับระเบียงเศรษฐกิจ สู่การสร้างมูลค่าในการลงทุน  โดยมีเครื่องมือและกระบวนการที่สำคัญคือ ระบบการมีส่วนร่วมสาธารณะ โครงสร้างพื้นฐานทางข้อมูล กองทุนเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคม วิสาหกิจเพื่อสังคมของการร่วมเปลี่ยนแปลง และนักพัฒนาเมืองระดับสูง(พมส.) เป็นต้น

ด้าน รศ.ดร.บัณฑิต อินณวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์กลางนวัตกรรมอาหาร  มหาวิทยาลัยศิลปากร (EAST) กล่าวว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนต้องผสมผสานทั้ง การบริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์ สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ซึ่งกลไกในการขับเคลื่อนที่ต้องมีคือ คน สร้างธุรกิจ โดยใช้ข้อมูลในตลาด และของที่ถูกผลิตตอบโจทย์ผู้บริโภค คนในพื้นที่จึงมีส่วนสำคัญอย่างมากในการสร้างสิ่งเหล่านี้  อาจจะต้องมีกระบวนการในการเปลี่ยนแนวคิด ปลูกฝั่งเรื่องทักษะ และปรับฐานการบริหารจัดการ ดังนั้นจุดเริ่มต้นสำคัญ คือ Local Enterprises:LE หมายถึง ธุรกิจที่ทำมา-หากิน สร้างท้องถิ่นภายใต้เงื่อนไข้ 3 ข้อ ได้แก่ ใช้ทรัพยากรพื้นถิ่นมาสร้างมูลค่า สร้างและจ้างงานคนในพื้นที่ และโครงสร้างการกระจายรายได้ถึงคนฐานราก ซึ่งคาดว่าจะเกิดการสร้างมูลค่าให้การทำธุรกิจแบบ LE ถึง 14% สามารถเพิ่มสัดส่วนแบ่งรายได้สู่ฐานรากจากเดิม 7%  เป็น 17% อีกด้วย

รศ.ดร.วีรศักดิ์ เครือเทพ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การพัฒนาพื้นที่ ต้องมาคู่กับเรื่องของท้องถิ่น ซึ่งในการทำงานของบางท้องถิ่นทำให้ประชาชนในพื้นที่ไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ ส่วนหนึ่งเพราะประชาชนไม่เกิดความเชื่อใจในการบริหารงาน ดังนั้นจึงต้องมีการจัดการใหม่ของท้องถิ่นเพื่อประชาชน โดยมาตรฐานวิจัยที่ผ่านการทดลอง เช่น การพัฒนาระบบงาน ฐานข้อมูล การพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัล และกระบวนการบริหารจัดเก็บรายได้ท้องถิ่นเป็นมาตรการกระตุ้นเชิงพฤติกรรมศาสตร์ ผ่านการรับชำระภาษี ค่าธรรมเนียม เช่น ภาษีที่ดินว่างเปล่า ภาษีสิ่งปลูกสร้าง ภาษีป้าย ภาษีรถยนต์ ที่อาจจะเป็นรายได้หลักของถิ่น โดยล่าสุด 12 ม.ค.66 ทางรัฐก็ได้มีมติ ครม. สนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเดินหน้าในการจัดทำแผนตามงานวิจัยต่อไปได้ ซึ่งความท้าทายนี้คือ การเพิ่มขีดความสามารถของท้องถิ่นที่มีถึง 7,850 แห่งของไทย.

แผนที่ในการพัฒนาท้องถิ่นจำนวน 7,850 แห่งในประเทศไทย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

วันนี้ 'วันครีษมายัน' กลางวันยาวสุดของปี พระอาทิตย์อยู่บนท้องฟ้าเกือบ 13 ชม.

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) หรือ NARIT กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) แจ้งว่า ในวันที่ 21 มิถุนายน 2567 เป็น “วันครีษมายัน”

'เอนก' ยกคติธรรม 'พุทธทาสภิกขุ' สอนนักการเมือง ควรทำตัวอย่างไร

นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ อดีต รัฐมนตรีว่ากระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และ นวัตกรรม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า