ฟื้นฟู'เจดีย์ศรีสุพรรณ’จากหลักฐานโบราณคดีสำคัญ

วัดศรีสุพรรณเป็นวัดที่มีคุณค่าในประวัติศาสตร์และโบราณคดีมากที่สุดแห่งหนึ่งในเมืองเชียงใหม่ หลังเจดีย์วัดศรีสุพรรณอายุเก่าแก่กว่า 500 ปี อ.เมือง จ.เชียงใหม่ พังถล่มเสียหายลงมาด้วยถูกพายุฝนพัดถล่มอย่างหนักเมื่อปลายเดือนกันยายนปีที่แล้ว   แนวทางอนุรักษ์และบูรณะเจดีย์วัดศรีสุพรรณ ตลอดจนการจัดการโบราณวัตถุที่ได้มีการค้นพบหลังเจดีย์ถล่ม ทั้งพระโบราณสมัยล้านนาจำนวนมาก  แผ่นจารึกลานเงิน และพระบรมสารีริกธาตุ  ได้รับความสนใจจากสังคมและแวดวงประวัติศาสตร์โบราณคดี

พระพุทธรูปหินแก้วควอทซ์ โบราณวัตถุสำคัญ

ล่าสุด นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ลงพื้นที่ตรวจติดตามการดำเนินงานบูรณะโบราณสถานภายในวัดศรีสุพรรณ บริเวณพระธาตุเจดีย์เก่าที่ถล่มลงมา  ซึ่งมีการกันเขตโดยรอบองค์เจดีย์เป็นพื่นที่ห้ามเข้า เพื่อความปลอดภัย เนื่องจากมีพื้นที่ติดกับโรงเรียนวัดศรีสุพรรณ  ตลอดจนหารือกับเจ้าอาวาสวัดศรีสุพรรณถึงแนวทางฟื้นฟูเจดีย์ทรงระฆังแบบล้านนา โบราณสถานที่สะท้อนความรุ่งเรืองของอาณาจักรล้านนา

เจดีย์วัดศรีสุพรรณอยู่ระหว่างการอนุรักษ์และฟื้นฟู

นายพนมบุตร จันทรโชติ กล่าวว่า ปัจจุบันความคืบหน้าในแผนงานอนุรักษ์และฟื้นฟูเจดีย์วัดศรีสุพรรณ กรมศิลปากรอนุมัติงบฉุกเฉินจำนวน 2 ล้านบาท เข้ามาดำเนินงานอนุรักษ์และฟื้นฟูเบื้องต้น โดยจะมีการศึกษารูปแบบสถาปัตยกรรม การศึกษาทางโบราณคดีเพื่อสร้างองค์ความรู้  จากนั้นจะเพิ่มเติมงบประมาณเมื่อมีแนวทางอนุรักษ์ชัดเจนต่อไป อย่างไรก็ตาม กรมจะไม่ต่อเติม ไม่ทำในสิ่งที่เราไม่รู้ จะรักษาความเป็นของแท้ดั้งเดิม แต่หากวัดมีความประสงค์จะสร้างเจดีย์ครอบขึ้นมา กรมจะสนับสนุนเรื่องวิชาการ  รูปแบบเจดีย์สมัยพระเมืองแก้วเป็นอย่างไร เพื่อให้ถูกต้องตามรูปแบบสถาปัตยกรรมล้านนา เพราะเป็นวัดที่พระเมืองแก้ว กษัตริย์ราชวงศ์มังรายแห่งอาณาจักรล้านนาเป็นผู้สร้าง 

 “ การบูรณะเจดีย์ศรีสุพรรณ ทางวัดยังไม่ได้ข้อสรุป อาจสร้างเจดีย์ครอบใหม่ นำโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุจากวัดบรรจุไว้ใต้เจดีย์เหมือนเดิม หรือนำโบราณวัตถุมาจัดแสดงในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ ซึ่งกรมศิลปากรพร้อมจะช่วยด้านวิชาการและการจัดแสดงให้เป็นมาตรฐานสากล “ นายพนมบุตร กล่าว

อธิบดี ศก. กล่าวต่อว่า แม้เจดีย์วัดศรีสุพรรณพังทลาย แต่อีกแง่มุมกรมได้กำหนดอายุโบราณวัตถที่แม่นยำมากขึ้น เป็นข้อมูลทางโบราณคดีที่เกิดประโยชน์  แนวทางการอนุรักษ์เจดีย์วัดศรีสุพรรณ เป็นตัวอย่างการบูรณาการกรมใช้สรรพกำลังที่มี ได้แก่ สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ นักโบราณคดีส่วนกลาง กลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ภัณฑารักษ์จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่ และนักจดหมายเหตุ ร่วมทำงานงานอนุรักษ์กับวัด ชุมชน โดยไม่มีความขัดแย้ง และเป็นไปในทิศทางเดียวกันเพื่อรักษามรดกศิลปวัฒนธรรมของประเทศ

พระพุทธรูปสมัยล้านนา พบหลังเจดีย์เก่าแก่ถล่ม

นายยอดดนัย  สุขเกษม  นักโบราณคดีชำนาญการ กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่  กล่าวว่า จากการประเมินและตรวจโครงสร้างเบื้องต้น พบโครงสร้างด้านในของเจดีย์มี 2 ชั้น ด้านในสุดสันนิษฐานน่าจะเป็นโครงสร้างสมัยล้านนา  ส่วนการก่อเสริมด้านนอกเป็นโครงสร้างที่ได้รับจากการบูรณะใหญ่  โบราณวัตถุที่พบภายในเจดีย์แบ่งได้ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มโบราณวัตถุยุครุ่งเรืองยุคทองของล้านนา อายุกว่า 500 ปี พบเกือบ90 ชิ้น ซึ่งทำทะเบียนและมอบให้วัดศรีสุพรรณเก็บรักษาแล้ว ส่วนกลุ่มโบราณวัตถุและศิลปวัตถุ พ.ศ.2518 ชุดนี้น่าจะถูกบรรจุเข้าไปในองค์เจดีย์คราวบูรณะใหญ่   จากการศึกษาจะนำมากำหนดแนวทางการบริหารอนุรักษ์และพัฒนามรดกวัฒนธรรมล้านนาแห่งนี้

“  เดือนกุมภาพันธุ์นี้จะดำเนินงานขุดแต่ง  เริ่มจากการคัดแยกสิ่งก่อสร้างรุ่นใหม่หลังปี 2518 เพื่อจัดการพื้นที่ให้พร้อมสำหรับการทำงานโบราณคดีทั้งหมด จะมีทั้งคัดแยกอิฐจากองค์เจดีย์ตามแต่ละยุคสมัย เพื่อใช้เป็นวัสดุในการบูรณะต่อไป จากนั้นจะขนตัวดินออก สิ่งที่ต้องระวังที่สุด คือ โบราณวัตถุ เพราะมีหลายยุคสมัย หลายขนาด ดังนั้น ต้องใช้แรงงานคนที่ละเอียดเป็นพิเศษในการตกแต่งทางโบราณคดี จากนั้นจะเป็นงานขุดค้น หาชั้นอยู่อาศัยของเจดีย์วัดศรีสุพรรณว่ามีการใช้พื้นที่ทับซ้อนกันกี่ยุคสมัย และแต่ละสมัยมีรูปแบบใด ข้อมูลทางวิชาการทั้งหมดนำมาสู่การกำหนดแนวทางการอนุรักษ์ โดยกรมศิลปากรจะหารือร่วมกับทางวัด และชุมชน เพื่อหาข้อสรุปทางโบราณคดี ก่อนตัดสินใจว่าเจดีย์วัดศรีสุพรรณจะฟื้นฟูทิศทางใด ” นายยอดดนัย กล่าว

พระบรมสารีริกธาตุที่บรรจุในพระเจดีย์

สำหรับโบราณวัตถุที่ค้นพบจากเจดีย์วัดศรีสุพรรณ นักโบราณคดีระบุถึงชิ้นสำคัญอย่างจารึกวัดศรีสุพรรณ เป็นศิลาจารึกหินทรายแดง อักษรฝักขาม จารึกขึ้นในปี 2052  ,เจดีย์จำลองโลหะสำริด  ด้านในบรรจุจารึกลานเงินวัดศรีสุพรรณ  ร่วมกับพระหินแก้วควอทซ์ นิยมสร้างสมัยล้านนา พระพุทธรูปโลหะนาก มีศรีสุกปรั่งสภาพสมบูรณ์เหมือนเมื่อ 500 ปีก่อน

“ โบราณวัตถุที่พบเป็นภาพสะท้อนของความเจริญรุ่งเรืองของล้านนา มีกษัตริย์มาสร้างวัด โบราณวัตถุที่ขุดค้นพบ ส่วนใหญ่จะเป็นของอุทิศจากชนชั้นสูงในช่วงการก่อสร้างวัด ทั้งนี้ โบราณวัตถุจากเจดีย์อาจไม่ค่อยสมบูรณ์ เพราะก่อนการบูรณะครั้งใหญ่ มีการลักลอบขุดโบราณวัตถุไปจำนวนมาก ส่วนยุค 2518 จะเป็นโบราณวัตถุที่เกี่ยวกับความเชื่อ เรื่องถวายเป็นพุทธบูชา      ” นายยอดดนัยกล่าว พร้อมทิ้งท้ายการพังทลายของเจดีย์วัดศรีสุพรรณ นอกจากสร้างโอกาสเรียนรู้และองค์ความรู้ใหม่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่อย่างมีส่วนร่วม  ยังนำไปสู่การเฝ้าระวังและสำรวจโบราณสถานอื่นๆ ในพื้นที่โดยละเอียด ป้องกันไม่ให้เกิดเหตุพังถล่มซ้ำ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'พระเจ้าตอง' กลับพะเยา หลังโดนขโมย 36 ปีก่อน ค้นพบที่สวิต กรมศิลป์พิสูจน์แล้วของจริง

นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้ประสานงานและติดตามนำ “พระเจ้าตอง” กลับจังหวัดพะเยา รับส่งมอบพระเจ้าตอง จากนางสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม 

ชมพิพิธภัณฑ์ยามค่ำ Night at The Museum

กลับมาอีกครั้งสำหรับบิ๊กอีเว้นท์ของคนรักพิพิธภัณฑ์ เมื่อกรมศิลปากร โดยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำหนดจัดกิจกรรม "ชมพิพิธภัณฑ์ยามค่ำ" Night at the Museum ในเทศกาลท่องเที่ยวพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน

บูรณะวัดไชยวัฒนารามนำชีวิตชีวาสู่มรดกโลก

วัดไชยวัฒนาราม จ.พระนครศรีอยุธยา งดงามทรงคุณค่า เป็นหนึ่งในหลักฐานที่แสดงถึงความยิ่งใหญ่และรุ่มรวยทางวัฒนธรรมของกรุงศรีอยุธยาอดีตเมืองหลวงอันยิ่งใหญ่ วัดเก่าแก่แห่งนี้เป็นโบราณสถานสำคัญของอยุธยา และเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาที่โดย

'4วัด1วัง'เที่ยวมรดกโลกอยุธยายามราตรี

กระแสตอบรับดีสำหรับโครงการท่องเที่ยวโบราณสถานยามค่ำคืนในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปีนี้กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร ยกระดับท่องเที่ยวโบราณสถานยามราตรีเปิดโบราณสถานให้นักท่องเที่ยวได้เข้าชมเพิ่มขึ้นเป็น 5 แห่ง ประกอบด้วย