” สมอง ถือเป็นอวัยวะสำคัญที่คอยควบคุมสั่งการของหู เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในระบบการได้ยิน ดังนั้นกระบวนการทำงานหูอาจถูกกระทบได้ถ้าสมองทำงานผิดปกติ การทดสอบการได้ยินจึงเป็นส่วนหนึ่งที่บ่งชี้ได้ว่ามีอาการเข้าข่ายภาวะสมองเสื่อมหรือไม่ ….”
หนึ่งในความกังวลของโรคภัยในกลุ่มวัยผู้สูงอายุ คือ “ภาวะสมองเสื่อม” ซึ่งในประเทศไทยได้ก้าวสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างเต็มตัวแล้ว มีผู้สูงอายุวัย 60 ปีขึ้นไป มากกว่า 12 ล้านคน คิดเป็น 18.94% ของประชากรทั้งหมด( ประชากรไทยในปี 2565 มากกว่า 66.09 ล้านคน) การตรวจเช็คปัจจัยเสี่ยง ที่บ่งบอกว่า ผู้สูงวัยอาจจะมีภาวะสมองเสื่อม จึงเป็นช่องทางหนึ่งในการตั้งรับและป้องกันภาวะนี้ได้
ปัจจุบันประเทศไทย ใช้การตรวจภาวะสมองเสื่อม โดยการถ่ายภาพสมอง CT Scan หรือการทำ MRI ซึ่งมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง หรืออีกทางเลือกหนึ่ง คือ การทำแบบคัดกรองโดยแพทย์เฉพาะทาง ด้วยเหตุนี้ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยคณะแพทยศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จึงได้หาวิธีการตรวจรูปแบบใหม่ ๆ ที่สะดวก มีค่าใช้จ่ายไม่มาก และสามารถเข้าถึงผู้สูงอายุได้อย่างทั่วถึง โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ ทำการวิจัยพัฒนาแอปพลิเคชัน “Eartest by Eartone” ซึ่งเป็นแอป สำหรับตรวจการได้ยินด้วยคำพูดภาษาไทย ภายใต้โครงการ Tranforming System through Partnership ที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก Royal Academy of Engineering ประเทศอังกฤษ และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งสามารถบ่งชี้ได้ว่าในอนาคต 5 – 10 ปีข้างหน้า ผู้สูงวัยนั้น จะมีโอกาสมีภาวะสมองเสื่อมหรือไม่
ภายใต้ความร่วมมือครั้งนี้ได้มีการนำองค์ความรู้จากประเทศอังกฤษ มาสร้างห้องแลปไร้เสียงสะท้อนที่จำลองสภาพเหมือนจริงของเสียงที่เข้ามาจากทิศทางต่างๆ ด้วยคำพูดภาษาไทย เพื่อใช้ทดสอบการได้ยินและความสามารถในการประมวลผลเสียงพูดในระดับสมอง เพื่อให้เข้าถึงประชาชนทั่วไป จึงได้พัฒนาเป็นแอปพลิเคชันเป็นตัวคัดกรองเบื้องต้น เพื่อประเมินว่าผู้เข้ารับการตรวจ เข้าข่ายความเสี่ยงสมองเสื่อมหรือไม่ หรือใช้ตรวจการได้ยินและความสามารถในการจับใจความจากจากคำพูดและประโยคที่เป็นภาษาไทยได้หรือไม่ ซึ่งจะสามารถช่วยป้องกันและชะลอภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุซึ่งยังไม่สามารถรักษาให้หายได้
Stuart Rosen อาจารย์ภาควิชา Speech Hearing and Phonetic Sciences, University College of London(UCL) กล่าวว่า ในช่วงระยะกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ได้มีการสั่งสมประสบการณ์และความเชี่ยวชาญมากมาย ทั้งในส่วนของการบันทึกเสียงพูด การสร้างแบบทดสอบที่เกี่ยวข้องกับการรับรู้คำพูด อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงที่ว่า คำพูดมีหลากหลายภาษา ทำให้ตนกำลังเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับภาษาอื่นๆ และภาษาหนึ่งที่น่าสนใจอย่างมากก็คือ ภาษาไทย เป็นตัวอย่างของภาษาที่มีเสียวรรณยุกต์ ไม่เหมือนภาษาทางยุโรป โดยการแปรผันของระดับเสียงบ่งบอกถึงความหมายที่แตกต่างกันในภาษาไทย เช่น ถ้าพูดคำว่า มา ซึ่งจะแตกต่างจากคำว่า หมา แต่ในภาษาอังกฤษไม่มีอะไรทำนองนี้
“ผมเคยมีประสบการณ์กับเสียงภาษาที่มีวรรณยุกต์มาก่อนอย่าง ภาษากวางตุ้ง โยรูบาและจีนกลาง นั้นเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้คุณเข้าใจวิธีการในการรับรู้คำพูดภาษาต่างๆ จึงคิดว่านี่เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งเพราะความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยให้เราได้เกิดการเรียนรู้และเข้าใจลักษณะเฉพาะของภาษาอื่นๆ” Stuart กล่าว
ด้าน ผศ.ดร.นพ.ชัยภัทร ชุณหรัศมิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า คาดการณ์ว่า ในประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุที่อายุเกิน 60 ปี จำนวน 12 ล้านคน ในจำนวนนี้เฉลี่ย 5-10% หรือประมาณ 1 ล้านคน ที่อาจมีความเสี่ยงเกิดภาวะสมองเสื่อม (Dementia Syndrome) โดยประเภทของภาวะสองเสื่อมที่พบมากที่สุดคือ อัลไซเมอร์ มีอาการหลักๆคือ จดจำเรื่องราวได้ระยะสั้นเป็นความทรงจำเฉพาะตัว รองลงมาคือ ภาวะสมองเสื่อมจากหลอดเลือดสมองตีบ ซึ่งการตรวจในปัจจุบันก็จะมีการสแกนสมอง ซึ่งวิธีนี้ไม่ใช่ทุกคนจะเข้าถึงได้ จึงต้องมีอีกวิธีคือ การทำแบบคัดกรองโดยแพทย์ แต่ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาอาการสมองเสื่อมให้หายได้ จึงอาจส่งผลให้เกิดความยากลำบากต่อครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นชีวิตประจำวันหรือค่าใช้จ่าย
ผศ.ดร.นพ.ชัยภัทร กล่าวอีกว่า จากการศึกษาของต่างประเทศได้มีการรวบรวมข้อมูลถึงปัจจัยเสี่ยงของภาวะสมองเสื่อมที่สามารถแก้ไขได้ หนึ่งในนั้นข้อสำคัญคือ การได้ยิน แม้ว่าในผู้สูงอายุอาจจะมีอาการตามช่วงวัยปกติคือ หูตึง หรือหลงๆลืมๆ บ้าง แต่หากเมื่อไหร่ที่มีอาการหลงลืมชื่อของสิ่งนั้นๆไปเลย ก็ควรที่จะเข้ารับการตรวจคัดกรองการได้ยินเพื่อความสบายใจ และสามารถวางแผนรับมือหากพบว่ามีโอกาสเป็นภาวะสมองเสื่อม
ดร.พญ.นัตวรรณ อุทุมพฤกษ์พร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการได้ยิน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ให้ข้อมูลเพิ่มว่า ทางองค์การอนามัยโลก( WHO) ได้ออกประกาศเมื่อปีที่แล้วว่าด้วยเรื่องของผู้สูงอายุตั้งแต่ช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไปทุกคนควรมีการตรวจการได้ยินเบื้องต้น เพื่อประเมินอาการการได้ยิน สำหรับประเทศไทยผู้สูงอายุเริ่มมีความกังวลและให้ความสนใจที่จะเข้ารับการตรวจการได้ยิน ซึ่งหากมาที่โรงพยาบาลเป็นจุดหมายเดียวกันอาจจะไม่เพียงพอต่อการรองรับ ดังนั้นในยุคที่มีสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต การตรวจเบื้องต้นควรจะทำอยู่ที่บ้านได้ จึงทำให้ทีมนักวิจัยไทยได้มีแนวคิดในการวิจัยพัฒนาเกี่ยวการตรวจการได้ยินผ่านแอปพลิเคชัน เพื่อประเมินการได้ยินด้วยตัวเอง ก่อนที่จะเข้ารับการตรวจอย่างละเอียดอีกครั้งที่โรงพยาบาล ทั้งนี้ผู้ที่รับการทดสอบแล้วพบว่าประสบปัญหาทางด้านการได้ยินสามารถใช้สิทธิ์ในการเบิกเครื่องช่วยฟังได้ จึงอยากให้ผู้สูงอายุและผู้ที่มีข้อบ่งชี้จากแพทย์ว่าสมควรต้องใส่เครื่องช่วยฟังสามารถใส่เครื่องช่วยฟังเพื่อประโยชน์ในการป้องกันภาวะสมองเสื่อมในอนาคต
ดร.ยุทธนา รุ่งธรรมสกุล อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านฟิสิกส์การได้ยิน คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ให้ข้อมูลในส่วนของห้องไร้เสียงสะท้อนที่ใช้เทคนิคเทคนิคภาพจำลองเสมือนจริงของเสียงที่เข้ามาจากทิศทางต่างๆ เพื่อประเมินการแปลผลของสมองว่า สมอง ถือเป็นอวัยวะสำคัญที่คอยควบคุมสั่งการของหู เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในระบบการได้ยิน ดังนั้นกระบวนการทำงานหูอาจถูกกระทบได้ถ้าสมองทำงานผิดปกติ การทดสอบการได้ยินจึงเป็นส่วนหนึ่งที่บ่งชี้ได้ว่ามีอาการเข้าข่ายภาวะสมองเสื่อมหรือไม่ ดังนั้นภายในห้องทดลองจะประกอบไปด้วย ลำโพง 8 ตัวที่มีเสียงเข้ามาจากทิศทางต่างๆ แต่ละตัวทำมุม 30 องศา ตรงกลางห้องจะเป็นเก้าอี้ให้ผู้ทดสอบไว้นั่งฟังเสียงลำโพงแต่ละตัว ผนังทุกด้านทำจากวัสดุรูปลิ่มดูดซับเสียงกันเสียงสะท้อน โดยจะให้อาสาสมัครที่มีการได้ยินปกติทดลองก่อนในระยะแรก ก่อนจะทดลองระยะต่อไปในผู้ป่วยจริง เพื่อฟังเสียงพูดและเสียงรบกวนพร้อมๆ กัน เป็นการประเมินความสามารถจับใจความจากประโยคที่ได้ฟังได้ในระดับใด นำไปสู่การประมวลผลเสียงพูดในระดับสมองต่อไป
“สำหรับการตรวจการได้ยินผ่านแอปพลิเคชันโดยเชื่อมต่อกับหูฟัง ที่ใช้คลื่นความถี่เดี่ยวใช้เทคนิคแหล่งกำเนิดเสียงแบบเสมือนในอนาคต พร้อมกับตรวจการจับใจความคำพูดเป็นภาษาไทยสั้นๆ ซึ่งคนทั่วไปก็สามารถใช้ตรวจระดับการได้ยินได้ ซึ่งการพัฒนานี้หากมีประสิทธิภาพก็จะวามารถต่อยอดเป็นระบบซอฟแวร์ใช้ในโรงพยาบาลต่างได้ด้วย” ดร.ยุทธนา กล่าว
ผู้สนใจทดสอบการได้ยิน สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Eartest by Eartone ได้ฟรีทั้งโทรศัพท์สมาร์ทโฟนในระบบ IOS และ Android.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'อภัยภูเบศร' ยกผลวิจัยทั่วโลกระบุชัด 'บัวบก' ป้องกันสมองเสื่อม
อภัยภูเบศร ยกผลวิจัยทั่วโลกระบุชัด 'บัวบก' ป้องกันสมองเสื่อม แต่การปลูกควรเป็นระบบอินทรีย์ ชวนพบผู้เชี่ยวชาญแนะนำได้ในงานเสวนา 'รับมือสังคมสูงวัย ด้วยสมุนไพรชะลอเสื่อม' ได้ฤกษ์แจกบัวบกยักษ์ ศาลายา1 18 พ.ย. นี้