อ่าวพังงาขึ้นชื่อเรื่องความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์ทะเลนานาพันธุ์และความสวยงามของธรรมชาติ ความอุดมสมบูรณ์ในพื้นที่อ่าวพังงาเกิดจากป่าชายเลนอันสลับซับซ้อนและกว้างใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ตลอดอ่าวพังงาเต็มไปด้วยประมงพื้นบ้าน หนึ่งในแนวทางอนุรักษ์อ่าวพังงาที่ผ่านมา มีการกำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมเป็นกลไกทางกฎหมายใช้แก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ และฟื้นฟูสภาพความวิกฤตของคุณภาพสิ่งแวดล้อม รวมถึงป้องกันเหตุที่จะซ้ำเติมวิกฤตเกิดขึ้นในพื้นที่อ่าวพังงาอีก
ล่าสุด ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง ขยายระยะเวลาการใช้บังคับประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในท้องที่อำเภอคุระบุรี อำเภอตะกั่วป่า อำเภอท้ายเหมือง อำเภอทับปุด อำเภอเมืองพังงา อำเภอตะกั่วทุ่ง และอำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา พ.ศ.2559 ต่อออกไปอีก 2 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2566
โดยคงสาระสำคัญตามประกาศฉบับเดิมไว้ เพื่อให้การบังคับใช้มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ จ.พังงา เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ในระหว่างที่ ทส. ปรับปรุงมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมใน จ.พังงา รวมทั้งจัดทำร่างประกาศฯ ฉบับใหม่ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัญหาปัจจุบัน
การยืดเวลา 2 ปี บังคับใช้กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม 7 อำเภอพังงานี้ เป็นแค่มาตรการเสริมดูแลพื้นที่ โดยเฉพาะอ่าวพังงา เกาะยาวน้อย ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนชองชุมชนประมงท้องถิ่นขนาดเล็กที่พึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติ แต่ยังไม่เพียงพอที่จะพลิกฟื้นธรรรมชาติทั้งบนบกและในทะเล เพราะปัจจุบันยังมีช่องว่างทางกฎหมายและขาดมาตรการสิ่งแวดล้อมเฉพาะถิ่น เพื่ออนุรักษ์และคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพังงาให้เกิดความยั่งยืน
บรรจง นะแส ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่ง สมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าวถึงสภาพปัญหาพื้นที่จังหวัดพังงาว่า พังงาตั้งอยู่ทางใต้ของไทย สภาพภูมิประเทศเป็นภูเขา มีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ มีความหลากหลายของระบบนิเวศที่สำคัญของประเทศ โดยเฉพาะพื่นที่ในทะเล อย่างอ่าวพังงา มีเกาะแก่งมากมายอยู่ในเขตทะเลน้ำลึก มีพันธุ์สัตว์น้ำที่สมบูรณ์ เป็นแหล่งวางไข่เต่า สัตว์หายากและใกล้สูญพันธุ์ เป็นต้นทุนทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญของไทย ส่งผลให้จังหวัดพังงามีศักยภาพด้านการประมงและการท่องเที่ยวสูง เกิดปัญหาในการจัดการทรัพยากรในทะเล
ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรในทะเลพังงามาจากเครื่องมือทำกาประมงแบบทำลายล้าง ทำลายพันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อน บรรจง ให้ภาพชัดๆ ว่า ภาวะทรัพยากรทางทะเลกำลังวิกฤตจากอวนลาก เป็นเครื่องมือประมงที่ทำลายอย่างรุนแรง ปัจจุบันมีอวนลากเดี่ยว อวนลากคู่ อวนลากข้าง ประมงแบบนี้สัตว์หน้าดินไปหมด มีงานวิจัยผลผลิตจากอวนลากได้แค่ 33% ที่เหลือ67% เข้าโรงงานปลาป่น ต้องหาวิธียกเลิกประมงอวนลาก นอกจากนี้ ยังมีเรือปั่นไฟจับปลากะตัก ทำให้ลูกปลาทู ลูกปลาหมึก ตัวเล็กตัวน้อยถูกทำลายมหาศาล มีการต้ม ตาก ขาย เต็มตลาดในปัจจุบัน เครื่องทำลายล้างนี้ทำให้ทรัพยากรอ่าวพังงาสูญเสียไปมาก แม้จะกำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม แต่การดูแลไม่ทั่วถึง ด้วยจำนวนเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ รวมถึงพบการลักลอบทำประมงในเวลากลางคืน กลายเป็นปัญหาเรื้อรัง จนทรัพยากรทางทะเลร่อยหรอ
“ ความล้มเหลวในการจัดการทางทะเล จะต้องแก้ปัญหาและทบทวนนโยบายต่างๆ กรณีอวนลากเสนอให้ออกมาตรการไม่ให้มีการต่ออาญาบัตรและไม่ออกทะเบียนเรือเพิ่มเติม เมื่อเรือเก่า 10-15 ปี หมดอายุการใช้งาน อวนลากก็จะหมดไปจากทะเลไทย แต่ที่ผ่านมามาการนิรโทษกรรมเรืออวนลากมาถึง 4 ครั้ง ส่วนเรือปั่นไฟจับปลากะตัก หลังจากที่มีออกประกาศยกเลิกกลับไปทำประมงปั่นไฟได้อีก ยังไม่มีรัฐบาลไหนลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง ภูเขาหัวโล้นมองเห็นชัด แต่ทะเลโดนถลุง ไม่มีใครเห็น เพราะอยู่ใต้น้ำ “ บรรจง กล่าว
ผอ.สถาบันวิจัยและฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่ง กล่าวว่า ถ้ารัฐบาลไม่มีนโยบายบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเล ประชากรที่ทำอาชีพประมงจะเดือดร้อนขึ้น ทุกวันนี้ประมงพื้นบ้านยาวน้อย ประมงพื้นบ้านป่าครอกที่เคยเลี้ยงตัวเองจากอาชีพประมงได้ ต้องออกจากภาคการประมงสู่ภาคโรงงาน สะท้อนพึ่งพาฐานทรัพยากรในทะเลไม่ได้ ไม่รวมถึงปัญหาความขัดแย้งระหว่างประมงพาณิชย์กับประมงพื้นบ้านที่เอาปืนมายิงกันกลางทะเล จากข้อมูลปัจจุบันมีชาวประมงพื้นบ้านทั่วประเทศใน 22 จังหวัด รวมพังงา จำนวนถึง 85% ของประชากรที่ทำอาชีพประมง ขณะที่ประมงพาณิชย์มีเพียง 15% ภาครัฐต้องดูแลทั้งฐานทรัพยากรและอาชีพประมงพื้นบ้าน นำความมั่นคงทางอาหารกลับมา
“ กลไกทางกฎหมายนอกจากการขยายเวลาบังคับใช้ประกาศกระทรวงทรัพย์ เรื่องกำหนดเขตพื้นที่คุ้มครองต่อออกไปอีก 2 ปี อีกกลไกที่ต้องผลักดันเป็นมาตรการตามกฎหมายที่ยังไม่มีรายละเอียด ภาครัฐต้องเร่งรัดกระบวนการคุ้มครองสัตว์น้ำเศรษฐกิจขนาดเล็ก ตามมาตรา 57 ห้ามมิให้ผู้ใดจับสัตว์น้ำหรือนำสัตว์น้ำที่มีขนาดเล็กกว่ากำหนดขึ้นเรือประมง ของพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อแก้วิกฤตทรัพยากรประมง นอกจากนี้ ต้องมีการกำหนดขนาดตาอวนกุ้ง หมึก ที่เหมาะสม ส่วนมากตรการกำหนดขอบเขตประมงชายฝั่งต้องอยู่บนหลักการจัดการทรัพยากรและข้อเท็จจริงของสภาพธรรมชาติ ไม่ใช่การยกมือโหวตของคณะกรรมการประมงจังหวัด “ บรรจง กล่าวว่า
สถานการณ์ทรัพยากรธรรมชาติเกาะยาวน้อย หนึ่งในพื้นที่คุ้มครอง บรรจง กล่าวว่า เกาะยาวน้อยมีชุมชนประมงท้องถิ่นที่มีความสงบสุขและวิถีชีวิตอันเรียบง่าย เป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่ง ปัจจุบันมีการตั้งกลุ่มสำหรับบริการนักท่องเที่ยว ด้วยแนวคิดการนำเสนอวิถีชีวิตชาวประมงในอ่าวพังงาให้นักท่องเที่ยวได้ทำความเข้าใจและเรียนรู้เรื่องราวของอ่าวพังงาไปด้วยกัน
“ ทุกวันนี้อวนรุนหมดไป เป็นแรงจุงใจให้นักท่องเที่ยวเข้ามา มีการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาก็ชื่นชอบวิถีประมงพื้นบ้าน ดูลอบกุ้ง จับปลา ตกหมึก สัตว์น้ำได้เจริญเติบโต ผลผลิตจากทะเลนำมาขายผู้ประกอบการโรงแรม ร้านอาหาร กระจายผลประโยชน์ที่เป็นธรรม เป็นการพัฒนาชุมชมในภาพรวม ก่อให้เกิดรายได้จากการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน นี่คือ วิธีนำการท่องเที่ยวชุมชนมาบริหารจัดการทรัพยากร ไม่พึ่งแค่มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของรัฐ “ บรรจง เน้นย้ำใช้พลังชุมชนปกป้องทรัพยากรเป็นกุญแจสำคัญ
อย่างไรก็ตาม นักพัฒนาเอกชนสมาคมรักษ์ทะเลไทย แสดงความกังวลด้านสิ่งแวดล้อมต่อโครงการแลนด์บริดจ์รองรับเศรษฐกิจภาคใต้ เพราะการจัดสร้างท่าเรือน้ำลึก การคมนาคมของภาคขนส่งสินค้า จะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ ตลอดจนมีกิจกรรมรบกวนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การผลักดันโครงการใหญ่ๆ ของภาครัฐพิจารณาให้รอบด้าน และจัดทำรายงาน EIA ที่อยู่บนข้อเท็จจริง
สำหรับสาระสำคัญของการออกประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมจังหวัดพังงาเพื่อการอนุรักษ์และคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในจังหวัดพังงา ให้เกิดความยั่งยืน โดยการกำหนดมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในเรื่องที่ไม่มีการกำหนดในกฎหมายอื่น เช่น การคุ้มครองแหล่งวางไข่ของเต่าทะเล การคุ้มครองสิ่งมีชีวิตเฉพาะถิ่นของชนิดพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างแหล่ง พลับพลึงธาร การกำหนดห้ามจับหรือครอบครองปลาสวยงาม การกำหนดห้ามการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าชายเลน การควบคุมการใช้ประโยชน์เกี่ยวกับการก่อสร้างและประกอบกิจการโรงแรมหรือสถานที่พักตาก อากาศในพื้นที่อาเภอเกาะยาว การกำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการที่จะต้องจัดทำรายงาน ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) และรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) เป็นต้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เตือนเพื่อไทย! ปลุกผี 'เรืออวนรุน' ฆาตกรชายฝั่งทะเลไทย
“นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย” ฟาดหนักเพื่อไทยผ่อนผันเรืออวนรุน เปิดทางฆาตกรชายฝั่งทะเลไทยกลับมาอีกครั้ง ทำลายล้างระบบนิเวศย่อยยับ –ครอบครัวชาวประมงล่มสลาย เตือนเตรียมรับมาตรการตอบโต้ทั่วสารทิศไม่มีวันถอย
อาละวาดหนัก! คนร้ายลักตัดผลปาล์มน้ำมันเกลี้ยงสวน ช่วงราคาดี วอนลานเทอย่ารับซื้อของโจร
นายสมร สิงห์แก้ว ประธานสภา อบต.กระโสม อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา นำผู้สื่อข่าวไปพบกับ คุณตาประเภท ประทีป ณ ถลาง อายุ 81 ปี อาชีพเกษตรกร อยู่บ้านเลขที่ 58/1 ม.5 ต.กระโสม อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา
กมธ.คมนาคมบุกพังงา เร่งสร้างสนามบินอันดามัน 2 รันเวย์
นายอนุชา บูรพชัยศรี สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะกรรมาธิการการคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร โพสต์
ชาวเกาะยาวใหญ่ รวมพลังช่วยชีวิต 'พะยูนโตเต็มวัย' เกยตื้นช่วงน้ำทะเลลงต่ำสุดได้สำเร็จ
นายอนุพงษ์ อาษณาราษฎร์ รองนายกเทศมนตรีตำบลเกาะยาวใหญ่ อ.เกาะยาว จ.พังงา แจ้งกับผู้สื่อข่าวว่า เมื่อช่วงเย็นวานนี้(3 ต.ค.67) ชาวบ้านในพื้นที่บ้านหินกอง ม.4 ต.เกาะยาวใหญ่ อ.เกาะยาว จ.พังงา ได้พบเห็นพะยูนตัวใหญ่เกยตื้นติดน้ำแห้ง
คนไทยไม่ทิ้งกัน! น้ำใจชาวพังงาซับน้ำตาพี่น้องเชียงราย
เจ้าอาวาสวัดประชุมโยธี ปล่อยรถธารน้ำใจชาวพังงาซับน้ำตาพี่น้องชาวเชียงราย เผยในยามเผชิญสึนามิ คนไทยทั่วสารทิศยื่นมาช่วยเหลือ