7 ม.ค.2566- ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่าตามที่มีข่าวเรื่องเข้ามาถือหุ้นของทุนจากต่างประเทศในสถาบันอุดมศึกษาเอกชนนั้น ซึ่งในปัจจุบันนั้นมี 3 มหาวิทยาลัยที่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างมีต่างชาติเป็นผู้ถือหุ้นโดยมีผู้บริหารและกรรมสภามหาวิทยาลัยที่เป็นชาวจีน คือ 1) ม.เกริก 2) ม.เมธารัถย์ และ 3) ม.นานาชาติแสตมฟอร์ด แต่สัดส่วนการถือครองหุ้นยังคงเป็นนิติบุคคลสถานะไทย ตาม พรบ.การประกอบธุรกิจคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ซึ่งตามกฎหมายไทย สถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย นายกสภามหาวิทยาลัย และอธิการบดี สามารถเป็นต่างชาติได้ แต่ กรรมสภามหาวิทยาลัย ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง ต้องเป็นคนไทย
รองปลัด อว.กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน ม.เกริก ทั้งนายกสภาและอธิการบดี เป็นคนไทย มีกรรมการสภาที่เป็นชาวจีนประมาณ 17% ม.เมธารัถย์ ทั้งนายกสภาและอธิการบดีเป็นชาวจีนกรรมการสภาเป็นชาวจีน ประมาณ 40% ในขณะที่ ม.นานาชาติแสตมฟอร์ด เดิมผู้ถือหุ้นเป็นชาวสิงคโปร์ แต่ได้เปลี่ยนเป็นชาวจีน มีนายกสภา เป็นชาวจีน อธิการบดีเป็นคนไทย และมีกรรมการสภาเป็นชาวจีนประมาณ 40%
ทั้งนี้ สถาบันอุดมศึกษาเอกชนทุกแห่งซึ่งได้รับมอบหมายให้จัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาแทนภาครัฐต้องได้รับการรับรองวิทยฐานะใน 2 ระดับ โดยมีวงรอบ 5 ปี ตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงการขอให้รับรองและการรับรองวิทยฐานะสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. 2558 ได้แก่ 1) ระดับสถาบัน ซึ่งจะพิจารณาผลการดำเนินงานในระดับหลักสูตรด้านการกำกับมาตรฐาน และองค์ประกอบอื่นๆ นอกจากนี้ ยังพิจารณามาตรฐานศักยภาพและความพร้อมในการจัดการศึกษา ประกอบด้วย ด้านกายภาพ ด้านวิชาการ ด้านการเงิน และด้านการบริหารจัดการ และมาตรฐานด้านการดำเนินการตามภารกิจของสถาบันอุดมศึกษาในด้านการผลิตบัณฑิต ด้านการวิจัย ด้านการให้บริหารทางวิชาการแก่สังคม และด้านการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม และ 2) ระดับหลักสูตร ซึ่งจะพิจารณาจากการจัดการศึกษาที่สอดคล้องตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตระดับอุดมศึกษา
สำหรับการรับรองวิทยฐานะสถาบันอุดมศึกษาทั้ง 3 แห่งข้างต้น ม.เกริก และ ม.สแตมฟอร์ดได้รับการรับรองเมื่อวันที่ 14 พย.2561 ถึงวันที่ 13 พย.2566 ส่วน ม.เมธารัถย์ กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการรับรองวิทยฐานะของ อว.
“อย่างไรก็ตาม ไม่ว่ามหาวิทยาลัยจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหรือผู้บริหารอย่างไร ก็ต้องถูกกำกับควบคุมภายใต้ พรบ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน และ พรบ.การอุดมศึกษา และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับสถาบันอุดมศึกษาเอกชนของไทยอย่างเคร่งครัด โดยมี คณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) คณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา (กมอ.)และสำนักปลัดกระทรวง อว. เป็นผู้กำกับดูแล ทุกหลักสูตรที่เปิดสอนต้องเป็นไปตามมาตรฐานอุดมศึกษาของไทย ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างหลักสูตร คุณสมบัติอาจารย์ผู้สอน อาจารย์ผู้สอบวิทยานิพนธ์ และสถาบันอุดมศึกษาเอกชนต้องถูกประเมินเพื่อรับรองวิทยฐานะ และรับรองมาตรฐานการอุดมศึกษาระดับหลักสูตรเป็นระยะๆ ตามที่กฎหมายกำหนด” ศ.ดร.ศุภชัย กล่าว