ปัจจุบันเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence) ช่วยให้มนุษย์มีชีวิตที่สะดวกสบายมากขึ้นและปลดล็อกศักยภาพที่เป็นข้อจำกัดสำหรับหลายคน เช่นการวาดภาพและสร้างสรรค์งานศิลปะ ที่หลายคนมองว่าตัวเองไม่มีทักษะและพรสวรรค์ด้านนี้เอาเสียเลย
แต่ตอนนี้เพียงป้อนคำและข้อความ AI โปรแกรมวาดภาพจะแปลงคำให้เป็นภาพตามที่เราคิดและจินตนาการอย่างรวดเร็ว ไม่ต้องเป็นศิลปินหรือเรียนศิลปะก็สร้างสรรค์ผลงานได้ โปรแกรม AI แบบนี้จึงได้รับความนิยมใช้อย่างแพร่หลาย อีกมุมหนึ่งมีคำถามกับเทคโนโลยีนี้ว่าจะเข้ามาแทนที่ศิลปินหรือไม่ จะมีผลกระทบต่องานและรายได้ของศิลปินอย่างไร จินตนาการและฝีมือของมนุษย์ยังจำเป็นอยู่หรือไม่ รวมถึงคุณค่าของผลงานศิลปะด้วย
ประเด็นเหล่านี้ ผศ.ดร.สุกรี สินธุภิญโญ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงทัศนะว่า AI ไม่ได้เข้ามาแทนที่มนุษย์ แต่เข้ามาเติมเต็มและช่วยให้มนุษย์ทำงานได้เร็วขึ้นและทำสิ่งที่อยากทำให้ อย่างวาดรูปได้ดีมากขึ้น
ผศ.ดร.สุกรี อธิบายการทำงานของ AI วาดรูป โดยยกตัวอย่างเว็บไซต์ Midjourney -โปรแกรมสร้างภาพจากการเขียนข้อความที่กำลังได้รับความนิยมอยู่ในปัจจุบันว่า เราแค่ป้อน คำ ข้อความ หรือ text prompt ที่ต้องการวาดในภาพ แล้ว AI จะประมวลผลจากคลังข้อมูลที่มีแล้วสร้างสรรค์เป็นชิ้นงานที่เราต้องการออกมาให้ได้หลากหลายและแตกต่าง แม้จะป้อนคำเหมือนกัน โอกาสที่ภาพของ AI จะผลิตมาซ้ำกันร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่มากนัก
“ การพัฒนา AI รูปแบบนี้เน้นประโยชน์สำหรับงานภาพ วิดีโอ ภาพเคลื่อนไหว ไม่ว่าจะตัดรูป ตัดภาพพื้นหลัง การแต่งหน้า แปลงภาพถ่ายให้เป็นรูปการ์ตูน ช่วยเพิ่มความน่าสนใจและรูปแบบใหม่ๆ ให้กับงานหลายด้านที่จำเป็นต้องใช้สื่อภาพ ปัจจุบันมีการนำ AI วาดรูปไปใช้ทำงานอย่างกว้างขวางและเป็นการสร้างสรรค์งานอดิเรกด้วย ไม่ว่าจะเป็นงานออกแบบปกหนังสือ โปสเตอร์ ภาพประกอบ story board เสนอแนวคิดงานโฆษณาและสร้างภาพการ์ตูน ฯลฯ “
ประเด็น AI ต่อเติมหรือลดทอนจินตนาการมนุษย์ ผศ.ศุภวัฒน์ หิรัญธนวิวัฒน์ ศิลปินอาจารย์จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ แสดงทัศนะว่า AI ช่วยแปลงภาพในหัวเราให้ปรากฏเป็นภาพที่ชัดเจนขึ้น เป็นเครื่องมือทำให้การทำงานศิลปะสะดวกขึ้นอีกหนึ่งช่องทาง AI ไม่ได้ทำให้คนมีจินตนาการลดลง ตรงกันข้ามช่วยต่อยอดจินตนาการ อย่างเราอยากวาดภาพที่ดูสลัว ๆ มีแสงไฟเล็ก ๆ ตอนกลางคืน ป้อนคำว่า “twilight” เข้าไป AI อาจสร้างภาพแสงม่วง ๆ มาให้ เราเห็น โดยที่ยังไม่ต้องลงมือวาดรูป ลดระยะเวลาทำงาน ให้เราทดลองความคิด เห็นภาพจินตนาการก่อนลงมือทำ AI ไม่มีจินตนาการ ทำงานกับข้อมูลเดิมที่มี แต่มนุษย์มีจินตนาการ อยากทำสิ่งใหม่ ที่สำคัญมนุษย์ยังเป็นผู้ที่ต้องคิดต่ออยู่ดีว่าจะวาดหรือจะทำอะไร
“ AI เข้ามาแทนที่ศิลปินไม่ได้ คนที่จะซื้องานศิลปะเพื่อสะสมงานยังคงต้องการผลงานของศิลปิน ยังไม่มีใครที่สะสมงานจากคอมพิวเตอร์ แม้ AI วาดรูปจะสร้างสรรค์ผลงานได้ว้าว แต่ถ้าถามว่าคนที่ทำงานชิ้นนั้นรู้สึกหวงภาพนั้นไหม ภาพมีมูลค่าหรือคุณค่ากับเราไหม คิดว่าไม่ คุณค่าของงานศิลปะไม่ได้อยู่ที่ความงามเท่านั้น แต่อยู่ที่เรื่องราว กระบวนการสรรค์สร้าง และตัวตนของผู้สร้างสรรค์ผลงานด้วย “ ผศ.ศุภวัฒน์ กล่าว
ผศ.ศุภวัฒน์ กล่าวด้วยว่า ในวงการศิลปะ เทคโนโลยียังไม่สามารถแทนที่คนได้ ศิลปินสร้างสรรค์ผลงานเพื่อสื่อสารกับสังคม และขายผลงานเพื่อดำรงชีพ หากมีคนซื้อชิ้นงานลดลง คงไม่ใช่เพราะ AI แต่เป็นเพราะปัจจัยทางเศรษฐกิจมากกว่า ผู้ที่เสพ ซื้อ และสะสมผลงานศิลปิน ต้องเป็นผู้มีเงินและเล็งเห็นมูลค่าชองงานศิลปะที่จะเก็งกำไรได้
เช่นเดียวกับ ผศ.ดร.สุกรี ที่เห็นตรงกันงานศิลปะที่มนุษย์รังสรรมีพลัง ผู้สอนเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ผู้นี้ ทิ้งท้าย“human touch” ซึ่งหาไม่ได้จากผลงานที่ทำโดย AI เราต้องแยกให้ออกระหว่างเครื่องมือกับฝีมือ อย่างไรก็ตาม การพัฒนาเทคโนโลยีด้านปัญญาประดิษฐ์ยังคงเดินหน้า นับวันจะยิ่งมี AI ที่มีศักยภาพและความสามารถหลากหลาย ตอนนี้คนทำเรื่องนี้เยอะ เป็นประโยชน์ภาพรวมต่อคนจะเริ่มอาชีพใหม่ๆ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
IRPC - คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมวิจัยและพัฒนา สร้างวัสดุการพิมพ์ 3 มิติ จากพลาสติกรีไซเคิล
บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC โดย คุณพยม บุญยัง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ศูนย์นวัตกรรม IRPC และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สรายุทธ ทรัพย์สุข
วาดอนาคต’ถนนสายไม้บางโพ’ ช่วยชุมชนอยู่รอด
ถนนสายไม้บางโพ เป็นถนนสายเดียวในกรุงเทพฯ ที่ตลอดระยะทาง 1 กิโลเมตรในซอยประชานฤมิตรมีชุมชนประกอบอาชีพเกี่ยวกับงานไม้ครบวงจร ทั้งไม้แปรรูปสำหรับก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ไม้ตกแต่งบ้าน และบรรดาช่างแกะสลักไม้มากฝีมือ ร้านรวงสองข้างทางเกือบ 150 ร้าน