ตู้พระธรรมเป็นงานศิลปกรรมไทยที่รังสรรค์ขึ้นเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาแก่วัดสำหรับเก็บคัมภีร์พระไตรปิฎก ตู้พระธรรมมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา สมัยธนบุรี เรื่อยมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งแต่ละยุคสมัยศิลปะลายไทยที่ช่างไทยบรรจงเขียนตกแต่งตู้มีความอ่อนช้อย และงดงามไม่ซ้ำกัน ศิลปกรรมชั้นเยี่ยมส่วนหนึ่งได้รับการอนุรักษ์ เก็บรวบรวมไว้และหลงเหลือมาให้คนรุ่นหลังได้ชื่นชมฝีมืออันละเอียดอ่อน
ตู้พระธรรมโบราณมักเป็นตู้ลายรดน้ำ เกิดจากการเขียนน้ำยา และปิดทองรดน้ำ ลวดลายหรือรูปภาพที่ได้จะมีเพียงสีทองเหลืองอร่ามบนพื้นรักสีดำทึบ จึงนิยมเรียก ตู้พระธรรมลายรดน้ำ ลวดลายที่นิยมตกแต่งตู้ มีทั้งลายกนกต่างๆ ลายพันธุ์พฤกษา ลายดอกพุดตานเถา ลายดอกเบญจมาศ หรือเป็นภาพที่เล่าเรื่องราวพุทธประวัติ ภาพชาดก ภาพรามเกียรติ์ ภาพที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา หรือภาพสัตว์หิมพานต์ที่ช่างสร้างสรรค์ตามจินตนาการ
ขณะนี้ตู้พระธรรมสมัยรัตนโกสินทร์ จำนวน 47 ตู้ ควรค่าแก่การชมที่สุด กรมศิลปากร โดย สำนักหอสมุดแห่งชาติ นำมาจัดนิทรรศการ ” ร.ศ.424 ชมตู้ลายทอง สืบสานงานศิลป์” ณ อาคารถาวรวัตถุ (ตึกแดง) ถนนหน้าพระธาตุ แต่ละตู้มีเอกลักษณ์สวยงามไม่แพ้กัน เส้นสายชวนรื่นรมย์ บ่งบอกถึงความเชี่ยวชาญของนายช่างรัตนโกสินทร์
ตู้พระธรรมในสมัยรัตนโกสินทร์เป็นยุคที่ช่างนิยมสร้างงานศิลปะที่มีแบบอย่างเพื่อเป็นแบบฉบับสำหรับการเขียนลาย ทำให้ลวดลายมักเป็นลายเดียวกันตลอดทั้งตู้ โดยเฉพาะลายกนก นิยมทำเถาของกนกยาวจากขอบล่างของตู้พุ่งเถากนกขึ้นไปจรดขอบบนของตู้ ตัวกนกอ้วนสั้น มีความอ่อนช้อย ช่องว่างระหว่างตัวกนกมีความถี่มากกว่าศิลปะอยุธยา เป็นความงามที่มีลักษณะเฉพาะของลายกนกในสมัยรัตนโกสินทร์ ภายในตู้มีชั้นไม้สำหรับวางคัมภีร์ใบลานประมาณ 3 ชั้น ขอบตู้ด้านบนและด้านล่างตกแต่งลวดลาย ขาตู้มีหลายประเภท อาทิ ตู้ขาหมู ตู้ขาหมูมีลั้ก ตู้เท้าสิงห์ ตู้เท้าสิงห์มีลิ้นชัก ตู้ฐานสิงห์ ตู้เท้าคู้ โดยเฉพาะตู้เท้าคู้ ขาตู้ประเภทนี้นิยมทำสมัยรัตนโกสินทร์
นิทรรศการครั้งใหญ่นี้แสดงให้เห็นถึงศิลปะในเชิงช่างสมัยรัตนโกสินทร์ผ่านลวดลายต่างๆ ที่งดงามบนตู้พระธรรมสมัยรัตนโกสินทร์ที่แบ่งเป็นหมวดหมู่ตามห้องจัดแสดงอย่างน่าสนใจ เริ่มจากห้องที่ 1 จัดแสดงนาฬิกาปารีส ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพประทานแก่หอพระสมุดวชิรญาณ ในโอกาสที่ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ครบรอบ 25 ปี
ห้องที่ 2 จัดแสดงตู้พระธรรมในสมัยอยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ ที่มีความโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ ห้องที่ 3 จัดแสดงตู้พระธรรมที่มีลวดลายเรื่องราวของพระพุทธบาท สิ่งที่ควรเคารพ ซึ่งสร้างขึ้นเป็นสัญลักษณ์แสดงว่า ณ พุทธสถานแห่งนี้ พระบรมศาสดาเคยเสด็จมาและประทับรอยพระพุทธบาทไว้เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้สักการะแทนพระองค์
ห้องที่ 4 จัดแสดงตู้พระธรรมที่มีลวดลายเกี่ยวกับเรื่องการสังคายนาพระไตรปิฎก ห้องที่ 5 จัดแสดงตู้พระธรรมที่มีลวดลายในเรื่องรามเกียรติ์ รามายณะ มหากาพย์ของอินเดีย ที่มีความผูกพันกับสังคมไทยแต่โบราณ งานศิลปกรรมสมัยรัตนโกสินทร์นิยมแสดงภาพตัวละครรามเกียรติ์ เขียนเป็น “ภาพยกรบ” แสดงกระบวนทัพของทั้งสองฝ่าย เช่น ศึกมัยราพณ์ (ตอนจองถนน) ศึกกุมภกรรณ (ตอนโมกขศักดิ์) หรือเขียน “ภาพจับ” ภาพแสดงการต่อสู้ในลักษณะประชิด
ห้องที่ 6 จัดแสดงตู้พระธรรมลวดลายเป็นรูปทวารบาลทั้งไทยและจีน ทวารบาล หมายถึง ผู้เฝ้าและรักษาประตู สถานที่สำคัญรวมถึงศาสนสถานมักมีรูปทวารบาลเป็นผู้พิทักษ์รักษาและป้องกันภูตผีปีศาจหรือสิ่งอัปมงคล พบการทำรูปทวารบาลสถิตประจำบานประตูตู้พระไตรปิฎกด้วย
ห้องที่ 7 จัดแสดงตู้พระธรรมที่มีลวดลายเรื่องพุทธประวัติ ตอนสำคัญที่พบเสมอ คือ พุทธประวัติที่เกิดขึ้น ณ สังเวชนียสถาน 4 แห่ง ได้แก่ ประสูติที่ใต้ต้นสาละ ทรงชนะพญามารก่อนการตรัสรู้ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ ทรงแสดงพระปฐมเทศนาที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน และเสด็จดับขันธปรินิพพานในป่าสาลวัน นอกจากนี้ ฉากทรงม้าเสด็จออกผนวช ฉากปลงพระเกศาด้วยพระขรรค์ริมฝั่งแม่น้ำอโนมานทีพบบ่อยในงานศิลปกรรม
ห้องที่ 8 จัดแสดงตู้พระธรรมที่มีลวดลายเรื่องชาดก และ ห้องที่ 9 จัดแสดงตู้พระธรรมที่มีลวดลายเรื่องป่าหิมพานต์และสัตว์หิมพานต์
นอกจากเข้าชมความสวยงามของนิทรรศการตู้ลายทองได้ที่อาคารตึกแดง ทุกวันพุธ – วันอาทิตย์ เวลา 09.00 -16.00 น. กรมศิลปากรยังจัดประกวดคลิปสั้น “ร.ศ. 424 ชมตู้ลายทองสืบสานงานศิลป์” เชิญชวนส่งผลงานที่ส่งเข้าประกวดเป็นคลิปวิดีโอเนื้อหาเกี่ยวกับตู้พระธรรมสมัยรัตนโกสินทร์ และมีภาพของตู้ลายทองที่จัดแสดงในห้องนิทรรศการ โดยไม่จำกัดรูปแบบ วิธีการ และเทคนิคนำเสนอ ผู้ส่งผลงานสามารถใช้อุปกรณ์ได้ตั้งแต่โทรศัพท์มือถือ หรืออุปกรณ์อื่นๆ ตามความเหมาะสม ใครมีเทคนิคเล่าเรื่องดีๆ มีความคิดสร้างสรรค์ ส่งผลงานชิงรางวัลได้ตั้งแต่วันนี้ – 31 ม.ค. 66 ประกาศผลวันที่ 28 ก.พ.นี้ โดยจะอัปโหลดคลิปที่คว้ารางวัลผ่าน YouTube ของหอสมุดแห่งชาติ “National Library of Thailand ”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
โบราณสถานเวียงกุมกามเสียหายหนักจากน้ำท่วม
7 ต.ค.2567 - นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ จ.เชียงใหม่ เพื่อติดตามผลกระทบของสถานการณ์อุทกภัยที่มีต่อโบราณสถานสำคัญของจังหวัด โดยพบว่า พื้นที่เวียงกุมกามที่เป็นเมืองโบราณสมัยพญามังรายปฐมกษัตริย์ล้านนา ที่ตั้งอยู่ในอำเภอสา
คนรักศิลปฯแย้งผู้ว่าฯทุบปูนปั้นครูทองร่วง ยันผู้เสียหายคือสาธารณะ เตือนผิดม.157
นายวรา จันทร์มณี เลขาธิการชมรมคนรักศิลปวัฒนธรรม อดีตเลขาฯศิลปินแห่งชาติ อังคาร กัลยาณพงศ์ โพสต์เฟซบุ๊ก กรณีทุบปูนปั้นครูทองร่วง เอมโอษฐ ที่วัดมหาธาตุวรวิหาร จังหวัดเพชรบุรี (ตอนที่ 2) ระบุว่า
วธ.สั่งวางมาตรการลดเสี่ยงโบราณสถานตลอดฤดูฝน
13 ก.ย.2567 - นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ซึ่งเป็นผลมาจากปริมาณน้ำฝนที่มีจำนวนมากที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดทางภาคเหนือ โดยเฉพาะที่จังหวัดเชียงราย รู้สึกห่วงใยชาวจังหวัดเชียงรายและพื้นที่ใกล้เคียงอย่างมากที่ประสบภัยน้ำท่วม ซึ่งได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัด
มั่นใจวัดไชยวัฒนารามรอดน้ำท่วม
5 ก.ย.2567 - นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า จากการประชุมเตรียมแผนรับมือสถานการณ์น้ำร่วมกับจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวานนี้ ซึ่งกรมชลประทานได้แจ้งการปรับเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยามากกว่า 1,500 ลูกบาศก์เมตร/วินาที เพื่อรองรับปริ
กำชับดูแลโบราณสถานลุ่มเจ้าพระยา หวั่นน้ำท่วม
28 ส.ค.2567 -น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า ได้ติดตามสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่รับน้ำภาคเหนือที่ จังหวัดสุโขทัย และจังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยาจากหน่วยงานในสังกัด โดยกำชับดูแลพื้นที่โบราณสถานกับศาสนสถาน และพื้นที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม
วธ.ตั้งศูนย์ประสานงานโบราณสถานน้ำท่วม
24 ส.ค. 2567 - นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ติดตามผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยของโบราณสถานในพื้นที่ภาคเหนืออย่างใกล้ชิด ในส่วนของสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ได้รา