ไทยมีความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ ชาวไทยยวนเป็นหนึ่งในชาติพันธุ์ที่กระจายอยู่ในหลายภาค โดยเฉพาะพื้นที่ภาคกลางมีชาวไทยยวนอพยพมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระมหากษัตริย์ไทยจำนวนมาก ซึ่งมีอัตลักษณ์ด้านภาษาและวัฒนธรรม อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันภาษาไทยยวนเสี่ยงสาบสูญไปพร้อมกับภูมิปัญญาและองค์ความรู้ท้องถิ่น นำมาสู่การขับเคลื่อนโครงการวิจัย “อนุรักษ์เอกสารโบราณของชาวไทยยวนในเขตภาคกลาง” โดยมี อาจารย์ ดร.ยุทธพร นาคสุข อาจารย์ประจำหลักสูตรภาษาศาสตร์ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชียมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นหัวเรือใหญ่อนุรักษ์ภาษาถิ่นไทยยวน
พื้นที่วิจัยครั้งนี้อยู่ใน จ.ภาคกลาง โดยรอบมหาวิทยาลัยมหิดล โดยในปี 2564-2565 ที่ชุมชนไทยยวนบ้านท่าเสา ต.ห้วยม่วง อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม และจะขยายพื้นที่วิจัยไปที่ชุมชนไทยยวนบ้านนาหนอง และหมู่บ้านทุ่งหญ้าคมบางตำบลดอนแร่ อ.เมืองราชบุรี จ.ราชบุรี ในปี 2566
อาจารย์ ดร.ยุทธพร เป็นนักภาษาศาสตร์ที่ทุ่มเทเวลาให้กับงานด้านภาษาถิ่นจารึกและเอกสารโบราณ มีผลงานวิจัยและบทความเผยแพร่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผลงานภาษาจารึกและเอกสารโบราณของไทยยวน ถือเป็นกำลังสำคัญอนุรักษ์ภาษาและวัฒนธรรมของชาวไทยยวนในเขตภาคกลาง ก่อนหน้านี้ ได้รางวัลเชิดชูเกียรติในฐานะผู้มีคุณูปการต่อการใช้ภาษาไทย เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ พ.ศ.2563
จากงานวิจัยระบุชาวไทยยวนในเขตภาคกลาง มีบรรพบุรุษอพยพมาจากเมืองเชียงแสนเมื่อ 200 กว่าปีมาแล้ว โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯให้คนกลุ่มนี้มาตั้งถิ่นฐานในเมืองสระบุรีและเมืองราชบุรี ต่อมาได้กระจายไปตั้งถิ่นฐานยังจังหวัดอื่นๆ เช่น นครปฐม ลพบุรี พิษณุโลก ฯลฯ
โครงการนี้นักวิจัยภาษาศาสตร์ตั้งใจอนุรักษ์เอกสารของกลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่มในเขตภาคกลาง แต่เหตุที่เลือกอนุรักษ์เอกสารคนไทยยวนก่อน เพราะภาษาและวัฒนธรรมของคนกลุ่มนี้เริ่มจางลงไป พร้อมกับถูกแทรกแซงจากภาษาและวัฒนธรรมไทยกลางอย่างมาก คนไทยยวนรุ่นใหม่พูดภาษาไทยยวนไม่ค่อยได้ ที่วิกฤตยิ่งกว่า ภาษาเขียน เอกสารใบลานไทยยวนที่จารด้วยอักษรธรรมล้านนาแทบจะไม่มีคนในชุมชนอ่านได้แล้ว หากไม่เร่งอนุรักษ์ เอกสารเหล่านี้อาจสูญหายไปตลอดกาล ไม่ว่าจะด้วยน้ำมือมนุษย์หรือเสื่อมสภาพไปตามอายุการใช้งานของใบลานเอง
ที่น่าสนใจโครงการนี้นักวิจัยทำงานร่วมกับชุมชน เพื่อสร้างความตระหนักคุณค่าของเอกสารโบราณที่มีอยู่ และร่วมกันอนุรักษ์ภาษาและวัฒนธรรมของคนไทยยวน ทั้งยังมีภาคีเครือข่าย คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ตลอดจนนักศึกษาในหลักสูตรและบุคคลทั่วไปที่เคยอบรมกับ อาจารย์ ดร.ยุทธพร ร่วมกิจกรรมด้วย เช่น พระ อาจารย์มหาวิทยาลัย นักวิจัย นักวิชาการ นักศึกษา นักเรียน
กระบวนการอนุรักษ์เอกสารโบราณเริ่มตั้งแต่การทำความสะอาด การทำทะเบียน การทำสำเนาดิจิทัล การซ่อมแซมและการจัดเก็บ ซึ่งการทำสำเนาดิจิทัลจะช่วยยืดอายุของเอกสารต้นฉบับให้ยาวนานขึ้น เพราะสามารถอ่านจากสำเนา โดยไม่ต้องหยิบจับเอกสารต้นฉบับ แม้ต้นฉบับจะสูญสลายหรือเสียหาย สำเนาดิจิทัลยังคงอยู่ต่อไป
ปัจจุบันมีเอกสารโบราณที่ได้ทำสำเนาดิจิทัลแล้วกว่า 400 รายการ และอยู่ระหว่างการดำเนินการประมาณ 1,000 รายการ พบอักษรที่ใช้บันทึกถึง 5 ชนิด ได้แก่ อักษรธรรมล้านนา อักษรไทยสมัยรัตนโกสินทร์ อักษรขอมไทยอักษรธรรมลาว และอักษรไทยน้อย
อาจารย์ ดร.ยุทธพร กล่าวว่า ในการอนุรักษ์เอกสารโบราณ ตนเป็นเพียงฟันเฟืองเล็กๆ ที่ดำเนินการอยู่ในพื้นที่ภาคกลางของประเทศเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายหน่วยงานที่ทำงานแบบเดียวกันนี้ในภูมิภาคอื่นๆ รวมถึงมีฐานข้อมูลเอกสารโบราณที่สังกัดหน่วยงานเหล่านี้อีกไม่น้อย แต่ปัจจุบันมีลักษณะต่างคนต่างทำ เห็นว่า ควรจะมีหน่วยงานเจ้าภาพที่บูรณาการงานด้านนี้เข้าด้วยกัน เพื่อให้การอนุรักษ์มรดกภูมิปัญญาของชาติแขนงนี้มีความเป็นเอกภาพและมีประสิทธิภาพกว่าที่เป็นอยู่ ปลายทางของงานวิจัยอนุรักษ์เอกสารโบราณชาวไทยใต้ร่มชายคามหิดลนี้ มุ่งหมายสร้างฐานข้อมูลดิจิทัลเอกสารโบราณของกลุ่มชาติพันธุ์ในเขตภาคกลางให้มีสำเนาดิจิทัลมากที่สุด และเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจสามารถสืบค้นและดาวน์โหลดไปใช้ประโยชน์ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ขณะนี้อยู่ระหว่างการนำข้อมูลเข้าสู่ระบบ คาดว่า ฐานข้อมูลของโครงการจะแล้วเสร็จภายในเดือนมกราคมปีหน้า
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
อนุรักษ์คัมภีร์ใบลาน 2 รัชกาล วัดราชประดิษฐฯ
คัมภีร์ใบลานที่วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ประดิษฐานอยู่ที่หอพระไตร คัมภีร์โบราณนี้มีความสำคัญเทียบเท่ากับวัด ซึ่งเป็นวัดประจำพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เป็นคัมภีร์ใบลานที่เคยประดิษฐานอยู่ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคมตั้งแต่สมัย ร. 4 ถือว่าเป็นคัมภีร์ใบลานฉบับหลวง
ยลผ้าซิ่นงามที่พิพิธภัณฑ์ผ้าโบราณฝ้ายเงิน
ใครที่เคยขึ้นเหนือไปจังหวัดน่าน น่าจะมีโอกาสได้สัมผัสผ้าซิ่นตีนจกลายน้ำไหล ผ้าทอพื้นเมืองโบราณของชาวน่านที่ยังคงอัตลักษณ์โดดเด่นและมีการสืบทอดมรดกภูมิปัญญาการทอผ้ามาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งมีหลายชุมชนรวมตัวกันตั้งกลุ่มผ้าทอแบบโบราณเพื่อสืบสานวัฒนธรรม ตลอดจนมีพิพิธภัณฑ์เก็บรวบรวมผ้าโบราณ
อ.อ.ป. จับมือ ม.มหิดล เดินหน้าพัฒนานวัตกรรมต้นแบบการประเมินปริมาณคาร์บอนเครดิต ภาคป่าไม้ ด้วย ‘โดรน’ เพื่อใช้เป็นแนวทางการสำรวจปริมาณคาร์บอนเครดิตในสวนป่าเศรษฐกิจ...
เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ - คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือพัฒนาต้นแบบด้านนวัตกรรมไม้เศรษฐกิจ
พบในไทยแล้ว 4 ราย! โควิดเจน 3 โอมิครอน 'BA.2.75.2'
ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “Center for Medical Genomics” ว่า โควิดเจเนอเรชัน 3 "โอมิครอน BA.2.75.2" พบแล้วในไทยรวม 4 ราย
มหิดลผนึก สสส.จับมือ 25 สถาบัน upskill..บุคลากรสาธารณสุข
ทุกวันนี้โลกมีการเปลี่ยนแปลง มีการพัฒนาเทคโนโลยีก้าวไกล ความรู้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เมื่อเรียนจบจากมหาวิทยาลัยแล้วปฏิบัติหน้าที่ใช้ความรู้เดิมไม่เพียงพอแล้ว จำเป็นต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ หรือ upskill