มีตัวเลขจากกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขระบุว่า คนไทยป่วยโรคไตเรื้อรัง 8 ล้านคน ในจำนวนนี้ป่วยไตเรื้อรังระยะสุดท้ายกว่า100,000คน ที่ต้องรับการฟอกเลือดหรือล้างไตทางช่องท้อง และมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องร้อยละ 15-20 ต่อปี ปั่นทอนคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและญาติ ทำให้รัฐบาลต้องใช้ทรัพยากรบุคคลและเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาปีละกว่า 20,000 ล้านบาท
ด้วยเหตุนี้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งเน้นแนวทางหาทางป้องกันโรค จึงได้จัดโครงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม-ชะลอความเสื่อมของไต โดยใช้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) บ้านชำป่างาม และโรงพยาบาลสนามชัยเขต อ.สนามชัยเขตจ.ฉะเชิงเทรา นำร่องโครงการ ด้วยการจัดหาเครื่องมือวัดความเค็มในอาหาร ในกลุ่มเสี่ยง
นพ.อภิชาติ รอดสม รองเลขาธิการสปสช.พร้อมด้วย นพ.สุรทิน มาลีหวล ผู้อำนวยการ สปสช.เขต 6 ระยอง ลงพื้นที่รพ.สต.บ้านชำป่างาม ต.ท่ากระดาน อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อเยี่ยมชมการดำเนินโครงการ “ส่งเสริมสุขภาพปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดโรค และชะลอความเสื่อมของไตในผู้ป่วยเบาหวานความดันโลหิตสูง” ดำเนินการโดยกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น (กปท.) ท่ากระดาน รพ.สต.บ้านชำป่างาม และโรงพยาบาลสนามชัยเขต อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา
นายสมศักดิ์ รักษาทรัพย์ ผู้อำนวยการ รพ.สต.บ้านชำป่างาม เปิดเผยว่า โรคไตมีสาเหตุมาจากการทานเค็มเป็นหลัก ซึ่งความเค็มก็ไม่ได้มาจากเกลืออย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงน้ำปลา ผงชูรส ผงปรุงรส ฯลฯ โดยประชาชนอาจจะไม่ทราบว่าอาหารที่รับประทานไปนั้นมีรสเค็มขนาดไหน ทำให้การลงเยี่ยมบ้านในแต่ละครั้งจะมีเครื่องมือตรวจอาหารในครัวเรือนว่าค่าความเค็มนั้นอยู่ในระดับปกติ ปานกลาง หรือเสี่ยง และก็จะมีการปรับเปลี่ยนผ่านการแนะนำการเลือกบริโภคอาหาร
โครงการชะลอไตเสื่อมของ รพ.สต.บ้านชำป่างาม เริ่มจากการที่ได้คัดกรองผู้ป่วยโรคความดัน และเบาหวาน พบว่าผลการตรวจค่าไตเริ่มมากขึ้น จึงใช้งบประมาณ ของกปท. เพื่อทำโครงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยการเข้าไปให้ความรู้ และสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนในพื้นที่
“ผลการดำเนินงานเมื่อปีที่ผ่านมาพบว่ามีผู้ป่วยโรคไต 83 ราย จากการทำโครงการพบว่ามี 9 รายที่ค่าไตอยู่ในเกณฑ์ดีไม่มีภาวะแทรกซ้อนและรุนแรง ซึ่งเป็นที่น่าพอใจว่ามีการชะลอดีขึ้น” นายสมศักดิ์ พร้อมกับบอกอีกว่า อนาคตจะของบประมาณจากกปท. ซื้อเครื่องวัดค่าความเค็ม (Salinity Meter) ให้แก่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่เป็นหมอคนแรกของชุมชน เพื่อติดตัวเอาไว้สำหรับการตรวจเยี่ยมบ้านที่รับผิดชอบ โดยในช่วงแรกจะเป็นไปเยี่ยมแบบไม่ได้นัดหมายเพื่อให้รู้ข้อมูลตามจริง ซึ่งจะทำอาทิตย์ละครั้งในช่วงแรก แต่ถ้าประชาชนมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดีขึ้นก็อาจจะมีการเว้นระยะห่างเป็น 2 อาทิตย์ครั้ง
นพ.สมคิด วิระเทพสุภรณ์ นายแพทย์เชี่ยวชาญด้านเวชกรรมป้องกัน ต่ออายุราชการโรงพยาบาลสนามชัยเขต และรับผิดชอบ รพ.สต.บ้านชำป่างาม กล่าวว่า อำเภอสนามชัยเขตมีประชากรประมาณกว่า 6 หมื่นคน ซึ่งก็พบว่าผู้ป่วยบางรายอยู่ห่างจากโรงพยาบาลประมาณ 50-75 กิโลเมตร ทำให้ผู้ป่วยโรคเรื้อรังบางรายขาดยา และส่งผลให้มีอาการแย่ลง จึงมีแนวคิดแบ่งผู้ป่วยออกเป็นพื้นที่ พื้นที่ละ 1 หมื่นคน โดยมีแพทย์รับผิดชอบ 1 คนต่อพื้นที่
นอกจากนี้ ก็ได้มีการพัฒนาเรื่อยๆ โดยมีการลงไปดูที่ รพ.สต.อาทิตย์ละ 1 ครั้ง เนื่องจากส่วนมากผู้ป่วยโรคเรื้อรังจะต้องไปรับยาอยู่แล้ว แต่ก็มีสิ่งที่ต่างจากอำเภออื่นคือถ้าผู้ป่วยในพื้นที่ที่รับผิดชอบเจ็บป่วยหนักต้องนอนโรงพยาบาล แพทย์เจ้าของพื้นที่ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ส่วนตัวจึงคิดว่าหากไม่อยากมีผู้ป่วยต้องรับผิดชอบมากก็ต้องพยายามส่งเสริมป้องกันเพื่อไม่ให้ป่วย หรือช่วยให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
“การจะให้ชาวบ้านปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต้องอย่าทำให้เป็นเรื่องยาก เพราะบางทีชาวบ้านเขาไม่เข้าใจ ซึ่งเมื่อไหร่ที่พบว่ามีผู้ป่วยเบาหวาน หรือความดันโลหิตสูงที่ควบคุมอาการไม่ได้ ก็จะมีการลงไปเยี่ยมบ้าน เพื่อดูอาหารที่ผู้ป่วยกิน บางครั้งก็เจอว่าในตู้กับข้าวของชาวบ้านมีแต่อาหารเค็ม ตรงนี้ก็ต้องให้ความรู้ว่าอาหารแบบไหนควรรับประทานหรือไม่ควรรับประทาน” นพ.สมคิด กล่าว
ด้าน นพ.อภิชาติ กล่าวเสริมว่า ภาวะไตเสื่อมมีปัจจัยจากการป่วยเป็นโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง และพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่ถูกต้อง ซึ่ง สปสช. มีงบประมาณ กปท. ที่จะช่วยให้ท้องถิ่นสามารถทำโครงการชะลอไตในพื้นที่ของตนเองเพื่อส่งเสริมป้องกัน และชะลอภาวะไตเสื่อมได้ อย่างไรก็ดี หากชะลอไม่ให้เป็นโรคไตเรื้อรังก็จะสามารถประหยัดงบประมาณได้ เพราะการส่งเสริมและป้องกันนั้นใช้งบประมาณที่น้อยกว่า ซึ่งเดิมทีการรักษาผู้ป่วยโรคไตจะใช้งบประมาณอยู่ที่ 900-1,000 ล้านบาทต่อปี แต่เมื่อประมาณ 10 ปีที่ผ่านมาได้เพิ่มขึ้นเป็น 1.2 หมื่นล้านบาทต่อปี ขณะที่การส่งเสริมป้องกันโรคใช้งบประมาณต่อหัวประชากรประมาณ 147-150 บาทต่อปีต่อหัวประชากร นอกจากนี้ หากเทียบประชาชนทั้งประเทศจำนวน 66 ล้านคน จะใช้งบฯ ประมาณ 2 หมื่นล้านบาทที่จะสามารถดูแลได้ 48 ล้านคน แต่ถ้างบฯ การรักษาจำนวน 1.2 หมื่นล้านบาทนั้นดูแลผู้ป่วยโรคไตได้ประมาณหลักแสนคน
“การปรับพฤติกรรมเป็นเรื่องไม่ง่าย ก็ชื่นชมเจ้าหน้าที่ ทีมงานของโรงพยาบาล และ รพ.สต. ที่ได้ลงมาเยี่ยมผู้ป่วย เพื่อลงมาดูพฤติกรรมและให้คำแนะนำ รวมไปในขณะนี้มีเรื่องอาหารเสริม หรือการซื้อยาทานเองที่อาจจะไม่ถูกต้อง หรือไม่เหมาะสมซึ่งเจ้าหน้าที่ก็จะลงมาให้คำแนะนำด้วย” นพ.อภิชาติ กล่าว
ในการลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมบ้าน นางลำพัน พูลสวัสดิ์ อายุ 83 ปี ที่ป่วยด้วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และโรคไตระยะที่ 3 ที่ได้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และปรุงอาหารโดยได้รับการดูแลจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข รพ.สต.บ้านชำป่างาม รวมไปถึงได้รับการดูแลจากคลินิกชะลอไตเสื่อม โรงพยาบาลสนามชัยเขต เดิมทีนางลำพันติดอาหารหวาน และติดใส่เครื่องปรุงรส ทำให้อาหารที่รับประทานมีรสจัด ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ได้มีการลงเยี่ยมบ้านและวัดค่าอาหาร รวมไปถึงให้คำแนะนำเรื่องการปรุงอาหารส่งผลให้ค่าไตเพิ่มขึ้นเป็น 60 จากเดิมค่าไตอยู่ที่ 45
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'หมอเหรียญทอง' แจกแจงแนวคิดจ่ายเงินเอง ราคาบัตรทอง ชี้ช่วยลดความแออัดผู้ป่วยรพ.รัฐ
พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่า โครงการ 'จ่ายเงินเอง ราคาบัตรทอง แอดมิตไม่ต้องเสียเงิน ทุกเขตทั่วราชอาณาจักรไม่ต้องใช้ใบส่งตัว'
ตีปี๊บ '30 รักษาทุกที่' เต็มรูปแบบ ครอบคลุมทุกพื้นที่ 77 จังหวัดของไทย
รัฐบาล ประกาศ '30 รักษาทุกที่' เต็มรูปแบบ ด้วยโอกาสของคนไทยนับจากนี้ ต้องมีชีวิตดี สุขภาพดี เริ่มแล้วครอบคลุมทุกพื้นที่ 77 จังหวัดของประเทศไทย