การท่องเที่ยวเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมของมนุษย์ที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ด้วยเหตุนี้ จึงมีกระแสเที่ยวคาร์บอนตต่ำ(Low Carbon Tourism) หรือการท่องเที่ยวสีเขียว เกิดขึ้น ซึ่งเป็นการท่องเที่ยวอีกรูปแบบ ที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนและรบกวนสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ก็ได้มีแนวคิดยกระดับการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ สู่เป้าหมาย คาร์บอนเป็นศูนย์ ผ่านกระบวนการ ปรับ – ลด – ชดเชย คือ ไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแบบเข้มข้น และชดเชยด้วยการทำคาร์บอนเครดิต นำร่อง 5 แหล่งท่องเที่ยวต้นแบบได้แก่ 1.บ้านถ้ำเสือ จ.เพชรบุรี 2.บ้านริมคลองโฮมสเตย์ จ. สมุทรสงคราม 3.ไร่ใจยิ้ม จ. กาญจนบุรี 4.ฟาร์มสเตย์ไร่คืนรัง จ.นครราชสีมา และ5.สวนส้มโอไทยทวี จ.นครปฐม เพื่อการท่องเที่ยวยั่งยืนตามแนวทาง BCG Model ซึ่งในทริปครั้งนี้เราจะพาไปตะลุย 2 ใน 5 แหล่งท่องเที่ยวนำร่อง ที่อยู่ใกล้ๆ กรุงเทพฯ ไปเช้าเย็นกลับสบายๆเลย
เริ่มต้นด้วยการแวะแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจระหว่างทาง เพราะที่นี่บรรยากาศดีสุดๆที่ บ้านสวนพาฝัน อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร คาเฟ่ริมคลองสายเล็กๆ ตั้งอยู่ท่ามกลางสวนมะพร้าวของเจ้าของร้านเอง ภายในร้านจึงร่มรื่น มีลมโชยเบาๆให้คลายร้อน โซนนั่งทานก็มีให้เลือกหลายมุมที่ถูกจัดตกแต่งให้เข้ากับสวนมีทั้งแบบกระท่อมน่ารัก หรือเป็นโต๊ะแบบมินิมอล ให้ความรู้สึกเงียบสงบ ผ่อนคลาย แต่ร้านอาจจะอยู่ลึกหน่อยนะ แต่สามารถนั่งเรือ หรือ เดินลัดเลาะริมคลอง ชมบ้านเรือนและวิถีชีวิตของชาวบ้านก็ได้ อาหารก็มีทั้งคาวหวาน รสชาติแบบเฉพาะของทางร้าน หรือจะเป็นเมนูน้ำดับกระหายก็ให้เลือกหลากหลาย แอบกระซิบว่าต้องจองล่วงหน้าไปดีที่สุด เพราะบางวันคนค่อนข้างจะเยอะทีเดียว
จากจ.สมุทรสาคร สู่จุดหมายแรกของเราที่ จ.สมุทรสงคราม ณ บ้านริมคลองโฮมสเตย์ ในอ.เมือง แหล่งท่องเที่ยวที่ทำให้เราได้ใกล้ชิด และเรียนรู้วิถีชาวสมุทรสงครามที่มีความผูกพันกับสายน้ำคลองผีหลอกแห่งแม่น้ำกลอง โดยมีป้าเล็ก-ถิรดา เอกแก้วนำชัย ผู้ก่อตั้งวิสาหกิจชุมชนบ้านริมคลองโฮมสเตย์ เป็นผู้ริเริ่มในทำการท่องเที่ยวเชิงเกษตร และนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาประยุกต์สร้างเป็นกิจกรรมให้นักท่องเที่ยว ส่งเสริมรายได้ให้กับชาวบ้านในชุมชนด้วย
ไม่รอช้าเราเริ่มไปตะลุยกิจกรรมต่างๆ กันเลย กิจกรรมแรกกับการปั่นจักรยานชมสวน ถึงจะร้อนหน่อยแต่ก็พอมีลมพัดเย็นๆ ต่อด้วยพายเรือในคลองเส้นทางสั้นๆ ไม่ต้องกลัวว่าจะพายวนหรือเข้าฝังไม่ได้ เพราะมีชาวสวนนั่งเป็นกัปตันเรือไปด้วย พายพอได้ใช้กำลังแขนก็มาพักกับกิจกรรมเบาๆ อย่างการสานหมวกใบมะพร้าวที่ดูเหมือนง่ายๆจับพับซ้อนๆกันแต่แอบต้องใช้ความละเอียด มือเบาๆจับกลีบใบเรียงสลับกันเป็นลายเพื่อความหนาแน่นพอตอนใบมันแก่เป็นสีน้ำตาลก็ยังสวมใส่ได้นะกันแดดดีทีเดียว
ในส่วนของกิจกรรมทำขนมต้มกับลูกชุบ ที่มีวัตถุดิบจากในสวนรสชาติหวานอร่อย ส่วนที่ต้องไปมุงดูกันคือการกวนน้ำตาลมะพร้าวที่ยังคงใช้คนกวนด้วยวิธีดั้งเดิมและวิธีสมัยใหม่รสชาตินี่หวานเจี๊ยบถึงใจ มีกิจกรรมย้อมผ้าแถมให้สำหรับคนที่ชื่นชอบในการได้สร้างสรรค์ศิลปะ และที่นี่ยังมีการจัดการคัดแยกขยะ อย่างเศษอาหารก็นำไปทำเป็นปุ๋ย เป็นต้น จากที่ได้เล่าไปทั้งหมดนั้นเป็นกิจกรรมของบ้านสวนริมคลองเป็นส่วนหนึ่งในการลดคาร์บอนและการใช้พลังงาน รวมไปถึงมีการจัดกิจกรรมปลูกต้นไม้เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการลดปัญหาสิ่งแวดล้อม และชดเชยด้วยคาร์บอนเครดิตด้วย
มาถึงถิ่นท้าวเวสสุวรรณ เราก็ต้องไปเสริมสิริมงคลสักหน่อย ที่ วัดจุฬามณี ขนาดวันธรรมดาในวันที่ฝนพร่ำคนก็ยังหนาแน่นด้วยพลังแห่งศรัทธาจริงๆ ที่วัดแห่งนี้จะแตกต่างจากวัดอื่นเพราะมีท้าวเวสสุวรรณถึง 4 ปาง ได้แแก่ ปางพรหมาสูติเทพ กายสีขาวปูนปั้นพระพักตร์แบบพรหม ซึ่งเป็นองค์แรกที่วัดสร้างขึ้น, ปางจาตุมหาราช, ปางเทพบุตรสูติเทพ และปางมนุษย์ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วผู้คนที่เดินทางมาก็จะมีขอเรื่องโชคลาภ เงินทอง และการงาน
อีกจุดที่มีเสน่ห์ของสมุทรสงคราม คือ ตลาดน้ำคลองท่าคา บรรยากาศแบบบ้านๆ ทำให้เรานึกถึงบ้านที่ต่างจังหวัด กับการพบปะพ่อค้าแม่ขายที่พายเรือมาทักทายกันอย่างคนคุ้นเคย เรือแต่ละรำกลายเป็นร้านขายอาหารทีทั้งผัดไทย ปากหม้อ ผลไม้จากสวนที่ขนมาแบบจัดเต็ม หรือจะเป็นร้านค้าบนบกก็เติมเต็มสีสันให้ตลาดครึกครื้นส่งเสียงเจื้อยแจ้วเรียกลูกค้า
ที่นี่มีกิจกรรมล่องเรือด้วยราคาราวๆ 200 บาท นั่งได้ประมาณ 5 คน ระยะทาง 2 กิโลเมตร ซึ่งเป็นเรือของชาวบ้านเอง ในระหว่างทางชาวบ้านที่รับหน้าเป็นฝีพาย ก็เล่าถึงชุมชนด้วยใบหน้ายิ้มแย้มประหนึ่งว่าเป็นไกด์นำเที่ยว ระหว่างทางจะผ่านสวนมะพร้าวที่รายล้อมสองฝั่ง และยังได้เห็นบ้านกำนันจันทร์ ที่รัชกาลที่ 5 เคยเสด็จประพาสต้นด้วยเรือแจวด้วย สภาพบ้านเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาแต่ก็ยังได้รับการดูแลรักษาอย่างดี
จบที่ตลาด ก็ไปอีกหนึ่งตลาดของจ.นครปฐม ตลาดสุขใจ แหล่งช้อปปิ้งสินค้าและผลิตภัณฑ์ออแกนิก ผักผลไม้เกษตรอินทรีโดยเกษตรกรที่มีการปลูกด้วยระบบอินทรี ทำให้ที่นี่ขึ้นชื่อเรื่องผักผลไม้ปลอดสารพิษ นอกจากนี้ก็ยังมีสิ้นค่าอื่นๆให้ได้เลือกซื้อ แต่อาจจะต้องไปช่วงเช้าจะดี เพราะบ่าย 2 ตลาดก็เริ่มวายแล้วจ้า
จุดหมายสุดท้ายที่สวนส้มโอไทยทวี สวนส้มโอของท้องถิ่นขนาดพื้นที่ 30 ไร่ ที่มีอายุกว่า 50 ปี โดยธนกฤต ไทยทวี ทายาทรุ่น 2 ได้เล่าถึงสวนแห่งนี้ด้วยความภาคภูมิใจว่า พ่อได้ทำสวนส้มโอด้วยความตั้งใจ เพราะนอกจากจะสร้างรายได้ให้ทางครอบครัวแล้ว และยังสร้างชื่อเสียงให้แก่จ.นครปฐม เพราะส้มโอเป็นอีกหนึ่งผลผลิตของเกษตรกรที่สร้างรายได้ดี และทางสวนก็มีการปลูกด้วยวิธีแบบเกษตรอินทรีหลังจากที่มีการใช้สารเคมีแล้วส่งผลกระทบต่อผู้คนและสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันสวนแห่งนี้เป็นอินทรีทั้งหมด มีสัตว์และแมลงที่เป็นตัวชี้วัด อย่าง นก กระรอก แมลงต่างๆ ในน้ำก็มีปลา กุ้งฝอย เต่า อาศัยอยู่ ซึ่งที่สวนมีส้มโอ 5 สายพันธุ์ ได้แก่ ขาวทอง ขาวแป้น ขาวน้ำผึ้ง ขาวพวง และทองดี ส่งผลให้ส้มโอที่ลูกค้าได้รับจากสวนปลอดสารมีรสชาติตามชนิดพันธุ์ ที่นี่ยังมีกิจกรรมทำยำส้มโอ และล่องเรือชมสวนซึ่งพี่ๆฝีพายน่ารัก สร้างเสียงหัวเราะตลอดทางรับกับบรรยากาศดีๆในสวน ใครมาเที่ยวนครปฐมก็สามารถแวะมาเที่ยวได้แถมได้ส้มรสชาติดีๆกลับไปฝากคนที่บ้านด้วย
การท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำ หรือการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดให้น้อยที่สุด นอกจากแหล่งท่องเที่ยวแล้ว นักท่องเที่ยวถือเป็นอีกกรงล้อสำคัญในการขับเคลื่อนที่จะสร้างการท่องเที่ยวสีเขียวอย่างยั่งยืนในอนาคต
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'หลวงพี่น้ำฝน' เผยผลสอบ 'พระปีนเสา' ก่อตั้งสำนักปฏิบัติธรรมไม่ถูกต้อง
พระครูปลัดสิทธิวัฒน์ หรือ หลวงพี่น้ำฝน เจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม พร้อมหลายหน่วยงานตรวจสอบสำนักปฏิบัติธรรมในนครชัยศรี
'สิงห์ออลสตาร์'ดวล'มทร.รัตนโกสินทร์' รายได้สร้าง'ลานกีฬาชุมชน คนแข็งแรง'นครปฐม
เข้าสู่สนามสุดท้ายกับการแข่งขันฟุตบอลการกุศลสิงห์ออลสตาร์ในปีนี้ ที่ร่วมกับ 4 มหาวิทยาลัยนำรายได้จากการแข่งขันสมทบทุนแต่ละกิจกรรม ภายใต้แนวคิด "โลกแข็งแรง คนแข็งแรง” เพื่อสร้างโลกแข็งแรง ผ่านการดูแลสิ่งแวดล้อม และสร้างคนแข็งแรง ส่งเสริมให้ทุกคนสุขภาพดี มีพื้นที่ออกกำลังกาย สร้างโอกาสให้คนเข้าถึงบริการทางการแพทย์อย่างมีคุณภาพ
ป.ป.ช. ฟัน '2 บิ๊กนักการเมืองท้องถิ่น' ร่ำรวยผิดปกติ
นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แถลงว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิด นางเรณู พลเสน
'สำนักงานเกษตรนครปฐม' ดันนครปฐมสู่เมืองอัจฉริยะด้านแปรรูป-นวัตกรรม
สำนักงานเกษตรจังหวัดนครปฐม กำหนดการจัดงาน ภายใต้โครงการพัฒนานครปฐมให้เป็นเมืองอัจฉริยะที่มีอัตลักษณ์ด้านแปรรูป ด้วย
สร้าง'ศาสนทายาท' สานพระราชปณิธานในหลวง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนาและทรงสนพระทัยศึกษาธรรมของพระพุทธเจ้าที่ได้ทรงแสดงสั่งสอนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพระไตรปิฎก ทรงมีพระราชประสงค์ส่งเสริมการเรียนการสอนพระบาลีเพื่อให้เข้าถึงพระไตรปิฎก