ด้วยเป็นที่ประจักษ์โดยทั่วกันว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ทรงให้ความสำคัญในด้านการสาธารณสุขเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนชาวไทย อีกทั้งทรงมีสายพระเนตรที่ยาวไกลไปถึงการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่อร้ายแรงจากสัตว์มาสู่คน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “โรคพิษสุนัขบ้า” ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ จึงโปรดให้มีการออกหน่วยสัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์เพื่อรณรงค์ควบคุม และป้องกันการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าภายใต้โครงการ “สัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า” ตามพระปณิธานฯ ณ ฐานทัพเรือสัตหีบ อำเภอสัตหีบจังหวัดชลบุรี ระหว่างวันที่ 8-9 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา
โอกาสนี้ พระราชทานพระวโรกาสให้ พลเรือเอก อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ เฝ้ารับพระราชทานอาหารสัตว์เลี้ยง และวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า จำนวน 700 โดส สำหรับใช้ในการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับสุนัขและแมวจรจัดภายในศูนย์ดูแลสุนัขจรจัด ของกองเรือยุทธการและพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันและลดความเสี่ยงของการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าในท้องถิ่นต่อไป
พร้อมกันนี้ ทรงฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้กับสุนัขของประชาชน พร้อมกับพระราชทานป้ายคล้องคอสุนัขในโครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธานฯ เป็นที่ระลึกด้วย จากนั้นทรงงานวิสัญญีทางสัตวแพทย์เพื่อผ่าตัดทำหมันและรักษาโรคให้กับสุนัข เช่น อาการมดลูกอักเสบในสุนัขเพศเมีย ภาวะทองแดงในสุนัขเพศผู้ ร่วมกับทีมสัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์ ภายในรถผ่าตัดเคลื่อนที่ที่มีมาตรฐานความปลอดภัยสูง โดยมีอุปกรณ์และเครื่องมือต่าง ๆ อันทันสมัย อาทิ เครื่องดมยาสลบ เครื่องช่วยหายใจ เครื่องให้น้ำเกลือระหว่างผ่าตัด เครื่องจี้ห้ามเลือด และเครื่องเฝ้าระวังสัญญาณชีพ เพื่อให้การผ่าตัดทำหมันสุนัขเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และถูกต้องตามหลักวิชาการทางสัตวแพทย์
สำหรับการออกหน่วยสัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์ในครั้งนี้ มีทีมสัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานท้องถิ่นต่าง ๆ ร่วมให้บริการตรวจรักษาสุขภาพสัตว์เลี้ยงของประชาชนด้วย อาทิ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดชลบุรี สำนักงานปศุสัตว์เขต 2 เทศบาลเมืองสัตหีบ และศูนย์วิจัยและพัฒนาการทางสัตวแพทย์ภาคตะวันออก ซึ่งตลอดทั้ง 2 วันที่ผ่านมา ทีมสัตวแพทย์ได้ทำการผ่าตัดทำหมันให้กับสุนัข และ แมว รวมจำนวน 327 ตัว และฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า รวมจำนวน 585 ตัว สำหรับโรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคติดต่อร้ายแรงจากสัตว์มาสู่คน อีกทั้งปัจจุบันยังไม่มียาใช้รักษา แต่สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนให้แก่สัตว์เลี้ยงรวมถึงประชาชนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน และลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า ส่วนการทำหมันให้กับสัตว์เลี้ยง เป็นการควบคุมจำนวนประชากรสัตว์ และยังเป็นอีกวิธีหนึ่งในการลดโอกาสการแพร่เชื้อและลดอัตราการเกิดโรคพิษสุนัขบ้าทั้งในคนและสัตว์ได้อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ พื้นที่จังหวัดชลบุรี เป็นหนึ่งในเป้าหมายของการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งการออกหน่วยสัตวแพทย์พระราชทานครั้งนี้ เป็นการช่วยยกระดับมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งเป็นโรคอันตรายติดต่อได้ทั้งในคนและสัตว์ และเพื่อให้การขับเคลื่อนการดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งบรรลุผลดังพระปณิธานฯ โดยเร็ว มูลนิธิจุฬาภรณ์ หน่วยงานในพระดำริฯ ขอเชิญชวนประชาชนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสมทบทุนเพื่อจัดซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการสัตวแพทย์ในรถผ่าตัดเคลื่อนที่พร้อมรับเสื้อลายภาพวาดฝีพระหัตถ์ ฯ เป็นที่ระลึก ผู้สนใจสามารถร่วมสนับสนุนเสื้อลายภาพวาดฝีพระหัตถ์ฯ หรือร่วมบริจาคสมทบทุนได้ที่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ชื่อบัญชีมูลนิธิจุฬาภรณ์ เพื่อโครงการ “ปันน้ำใจ สู้ภัยพิษสุนัขบ้า” เลขที่บัญชี 468-116003-1 เงินบริจาคสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า และติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ แฟนเพจเฟซบุ๊ก : ปันน้ำใจ สู้ภัยพิษสุนัขบ้า
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กรมพระศรีสวางควัฒนฯ ทรงเป็นประธานประชุมกรรมการบริหารสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์
14 ก.ย.2565 - เวลา 14.00 น.ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เสด็จออก ณ ห้องประชุมชั้น 8 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา บรมราชินีนาถ โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทรงเป็นประธานการประชุมกรรมการบริหารสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ครั้งที่ 2/2565
กรมพระศรีสวางควัฒนฯ ทรงงานร่วมกับทีมสัตว์แพทย์อาสาจุฬาภรณ์ที่อุดรธานี
21 ก.พ. 2565 - ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงพระกรุณาโปรดให้ออกหน่วยสัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์ เพื่อให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และผ่าทำหมันให้กับสัตว์จรจัดและสัตว์เลี้ยงของราษฎร ในโครงการ