'กองทุนเยียวยาโลกร้อน'จาก COP27 ในมุมมองนักสิ่งแวดล้อมไทย

สภาพอากาศที่ส่ออาการ”สุดขั้ว” ในหลายประเทศ ทำให้เวทีการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP 27 ณ เมืองชาร์ม เอล ชีค ประเทศอียิปต์  ปิดฉากลงแล้ว พร้อมกับข้อตกลง ครั้งประวัติศาสตร์  ให้มีการตั้งกองทุนเยียวยาความสูญเสียและเสียหายจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยผลจากข้อตกลงการจัดตั้งกองทุนเยียวยาฯนี้  มาจากการเดินหน้าผลักดันอย่างเต็มที่ของประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งมีบรรดาหมู่เกาะต่างๆ เป็นกองหนุนสำคัญ เพราะเป็นกลุ่มประเทศที่เสี่ยงต่อการจมน้ำ ถูกลบออกจากแผนที่โลก เนื่องจาก ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น จากภาวะโลกร้อน ซึ่งการจัดตั้งกองทุนฯดังกล่าว เป็นเรื่องที่ต้องจับตาต่อไป

 แต่สาระสำคัญของ การประชุมCop 27 ที่พุ่งเป้าเรื่องลดอุณภูมิโลกให้ได้  1.5 องศาฯ ล้วนเป็นภารกิจที่ผูกโยงกับทุกประเทศที่เข้าร่วม  ซึ่งการประชุมCop 26 ปีที่แล้ว นายกรัฐมนตรีไทยประกาศเป้าหมายการลดก๊าซคาร์บอนไว้ชัดเจน  ปีนี้ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เดินทางไปประชุมที่อิยิปต์ด้วย  

ผลการประชุมจะมีนัยยะต่อนโยบายโลกร้อนไทยและโลกอย่างไร   นารีรัตน์ พันธุ์มณี ผู้อำนวยการกองประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  กล่าวว่า ขณะนี้ไทยปรับยุทธศาสตร์ระยะยาวปล่อยก๊าซเรือนกระจกระดับต่ำ และเพิ่มการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตร ซึ่งโฟกัสที่ก๊าซมีเทน ปลดปล่อยมากกว่าก๊าซคาร์บอน 20 เท่า ที่เพิ่มมา คือ การดูดกลับก๊าซเรือนกระจก ผ่านการดูแลรักษาป่าไม้ ป่าธรรมชาติดีที่สุด  ไม่ต้องลงทุน  รมว.ทส. แถลงในเวที COP 27  เราเดินหน้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และหนึ่งปีที่ผ่านมา จากที่นายกฯ พูดในเวที COP 26  จนวันนี้ ถึง COP 27 ไทยทำตามสัญญาแล้ว  เช่น การตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจก 40% ภายในปี 2030  และตั้งเป้าความเป็นกลางทางคาร์บอน ไว้ปี 2050 เราต้องทำงานร่วมกันแล้วทุกสิ่งจะเป็นไปได้

ข้อสรุปในการประชุม COP27  นารีรัตน์ ระบุข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์ ชี้ชัดความจำเป็นเร่งด่วนในการควบคุมอุณหภูมิโลกให้ไม่ให้เกิน1.5 องศา เพราะผลกระทบที่จะเกิดขึ้นมีความรุนแรงต่ำกว่า 2 องศาอย่างมาก นำไปสู่แผนงานด้านการลดก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น ,การปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ,กลไกการเงินสำหรับการสูญเสียและความเสียหาย , การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อย่างกองทุนภูมิอากาศสีเขียว,กรอบความโปร่งใส ,ความร่วมมือภายใต้ข้อ 6 ของความตกลงปารีส และภาคป่าไม้และมหาสมุทร

 “ ช่วงท้ายประชุมยืดเยื้อและมีข้อถกเถียงเกี่ยวกับมาตรการในการลดการใช้ก๊าซพลังงานถ่านหิน  และเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่ไม่มีประสิทธิภาพ แต่ไม่ได้เรียกร้องให้มีการหยุดใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลทั้งหมด เพื่อให้ทุกประเทศมีที่ยืนและยอมรับได้ เพราะเป็นความร่วมมือระดับโลก “ นารีรัตน์ กล่าว

นารีรัตน์ กล่าวอีกว่า อีกข้อถกเถียงเธอระบุเป็นการจัดตั้งกองทุนเพื่อเยียวยาการสูญเสียและความเสียหายจากภาวะโลกร้อน  ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องของประเทศเล็กที่เปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่วนใหญ่เป็นเกาะ และมีสัดส่วนปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าประเทศ แต่กลับได้รับผลกระทบมาก ประเทศเหล่านี้เรียกร้องประเทศพัฒนาแล้วสมทบเงินเข้ากองทุนที่จัดตั้งใหม่สำหรับชดเชยความสูญเสีย โดยยังไม่มีรายละเอียดของกลไก แต่มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาและจัดประชุมขับเคลื่อนให้เกิดกลไกใหม่นี้ ซึ่งประเทศพัฒนาแล้วเสนอให้ใช้กองทุนเดิมที่มีอยู่แล้ว

ความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจในการประขุมสุดยอด COP27 ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กรรมการกำกับกิจการพลังงาน ผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐ เพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม  กล่าวว่า การประชุม COP 27 ครั้งนี้มีผู้ร่วมประชุม 4.5 หมื่นคน เวทีนี้ทำหน้าที่กดดันข้อตัดสินใจที่ต้องเร่งรัดและติดตาม มีความเคลื่อนที่น่าสนใจกลุ่ม G77 กับประเทศจีน นำโดยปากีสถาน ซึ่งเผชิญกระทบจากภัยพิบัติน้ำท่วม ตายไป 1,300 กว่าคน น้ำท่วม 1 ใน 3 ของประเทศ ปากีสถานเพิ่มน้ำหนักเรียกร้องกลไกการเงินสำหรับความสูญเสีย ถือเป็นความสำเร็จประวัติศาสตร์ที่สามารถนำมาพูดคุยและได้ข้อสรุป COP27 ยกระดับการปรับตัว ก่อนหน้านี้ถูกเรียกเป็นลูกเลี้ยง ส่วนความสูญสียและเสียหายเป็นแค่ลูกกำพร้า ขึ้นมาให้มีความสำคัญครั้งแรก รวมถึงการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม

อีกประเด็นสำคัญการรักษาเป้าหมาย 1.5 องศา ต้องลดก๊าซเรือนกระจก 43% จากระดับการปล่อยปี 2019 ภายในปี 2030 และย้ำมติ COP 26 เรื่องการลดใช้ถ่านหิน และเลิกอุดหนุนที่ไม่มีประสิทธอภาพต่อพลังงานฟอสซิล  กลไกการเงินที่เคยเรียกร้องให้ประเทศพัฒนาแล้วสนับสนุนเงืนตามเป้าหมาย 100 Billion ดอลล่าร์ต่อปี ภายในปี 2020 รายงานเขียนชัดว่าเราล้มเหลว

“ โลกกำลังถูกขับเคลื่อนจากการต่อสู้โลกร้อนและจากการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน เพราะภาคพลังงานปล่อยก๊าซเรือนกระจก 77% ของทั้งโลก เราเหลือเวลาอีก 6 ปี กับ 200 กว่าวัน ที่จะต้องลดก๊าซให้ได้ ปัจจุบันทั่วโลกใข้พลังงานทางเลือกแล้ว 13% จำเป็นต้องเปลี่ยนไปสู่พลังงานทางรอด ตอนนี้เป็นทศวรรษที่วิกฤต ถ้ากราฟไม่ดิ่งลงไม่รอด เพราะก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยไปแล้วอยู่ในชั้นบรรยากาศยาวนาน ถ้าไม่ให้ถึง 1.5 องศาต้องลดอย่างมหาศาล” ดร.บัณฑูร กล่าว

อย่างไรก็ตาม เขาระบุนอกเวทีมีข้อเรียกร้องภาคประชาสังคมให้เลิกใช้พลังงานฟอสซิล แต่ไม่สำเร็จ เป็นประเด็นร้อนแรงในการเจรจา บริบทการเจรจาCOP ปีนี้มีฉากหลังเรื่องสงคราม วิกฤตพลังงาน ราคาพลังงานที่ขยับขึ้น ทำให้ประเด็นนี้เคลื่อนตัวไปได้ยาก นอกจากนี้ ถ้าจะบรรลุเป้าหมาย Net Zero ปี 2050 ต้องลงทุนด้านพลังงานทางเลือกล้านล้านบาทต่อปี ถ้าสู่ Low Carbon ต้องลงทุน 4-6 ล้านล้านต่อปี

ดร.บัณฑูร เสริมว่า  ระหว่างจีนกับสหรัฐขัดแย้งกันเรื่องต่างๆ แต่มีความร่วมมือที่ดีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สหรัฐผ่านกฎหมายทุ่มงบไปกับพลังงานทางเลือก ตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจก 40% แม้ในเวทีเจรจาจะดื้อดึง แต่ในประเทศมีบริบทอีกแบบหนึ่ง ในไทยเองภาคธุรกิจ บริษัทใหญ่ประกาศเป้าหมาย Net Zero ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในภาคธุรกิจ การลงทุนบริษัทข้ามชาติในไทยต้องการไฟสะอาด 100%  24 ชม. 7 วัน นี่เป็นกลไกภาคธุรกิจกดดันให้ไทยลดก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น นอกจากที่ให้คำมั่นในเวทีCOP

 “ 2 ทศวรรษที่แล้วภาวะโลกร้อนเกิดขึ้น เพราะประเด็นสิ่งแวดล้อม แต่วันนี้ไม่ใช่เชื่อมกับมิติเศรษฐกิจ การรักษาขีดความสามารถด้ารการแข่งขัน  ความมั่นคงรูปแบบใหม่ การพัฒนาประเทศ และการบรรลุเป้าหมาย SDGs การจัดการแก้ปัญหาโลกร้อน ไม่ได้เป็นแต่ต้นทุน แต่มูฟสู่การสร้างรายได้ การลงทุนสู่ระบบเศรษฐกิจใหม่ ที่เป็นเศรษฐกิจ โลว์ คาร์บอน และการสร้างงานใหม่ที่เป็นอาชีพสีเขียว “ วิฑูรย์ ระบุ

ศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ตั้งแต่รายงาน IPCC ฉบับที่ 6 ออกมา หลักฐานวิทยาศาสตร์เห็นชัดและเป็นข้อมูลให้เลขาธิการสหประชาชาติประกาศวาระร่วมกันระดับโลกจะต้องทำให้อุณหภูมิโลกอยู่ในระดับ 1.5 องศา เมื่อโลกใบนี้พูดถึงสภาพภูมิอากาศสุดขั้ว และแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งกระทบความมั่นคงทางอาหารและน้ำ

ความคืบหน้าเวที COP27 เราเห็นหลักสิทธิมนุษยชนที่กระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ( CRPD ) ที่ต่างจาก SDGs เพราะ CRPD จะเป็นเรื่องหลักในเวทีโลก พูดถึงความยั่งยืนของการแปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากดัชนีความเสี่ยงสภาพภูมิอากาศ ประเทศไทยจะเป็นสีแดงที่ได้รับผลกระทบ มีตัวอย่าง คือ ปรากฎการณ์โดมิโน่ น้ำท่วมทุกภาค เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรายจังหวัดอย่างมีนัยยะสำคัญ ถ้าไม่เตรียมปรับตัว จะไปไม่รอด บทเรียนน้ำท่วมไม่ใช่แค่เรื่องน้ำ เราเรียนรู้อะไรบ้างทั้งการจัดการสิ่งแวดล้อมผิดพลาด ขาดการวางแผนการเจริญเติบโตของเมือง การเปลี่ยนแปลงข้อมูลประชากร ธรรมาภิบาลล้มเหลว การใช้ชีวิตที่ยากลำบาก อนาคต กทม. อีก 10 ปี 30 ปี หรือ 50 ปี จะเป็นอย่างไร  น้ำเหนือหลากจากฝน 100 ปี ต้องมีนโยบายปรับตัว    

“ เวที COP27 มีการพูดคุยและสนับสนุนระบบเตือนภัยล่วงหน้า สำหรับป้องกันเหตุการณ์สภาพภูมิอากาศสุดขั้ว   ซึ่งสำคัญกับไทย ที่ผ่านมา ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงไม่มีคำตอบ ซึ่งเป็นจุดอ่อนไทยต้องปรับปรุง  สหภาพยุโรปประกาศสนับสนุนการควบคุมอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5 องศา “

นอกจากนี้ รศ.ดร.เสรีเสริมตามแผนลดก๊าซแต่ละประเทศสมาชิกไม่เพียงพอต่อการคงอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงกว่า  1.5 องศา  โอกาสสำเร็จมีเพียง 5%  และคาดการณ์ว่าอุณหภูมิเฉลี่ยจะไปถึง 2.7 หรือ 3 องศา ในปี 2100  แม้เราจะเดินบนเส้นทางที่ดีที่สุด ก็จะยังอยู่ในสถานการณ์ที่แย่ จะมีวิกฤตช่วง 2030-2070 ไทยได้รับผลกระทบมากขึ้นแน่นอน ต้องวางยุทธศาสตร์ล่วงหน้า และต้องคุยกันหนักในการจัดทำประเมินความเสี่ยง แผนรับมือภัยพิบัติที่ไทยมียังไม่เพียงพอเห็นได้จากสถานการณ์ปัจจุบัน
วนัน เพิ่มพิบูลย์ ผู้อำนวยการบริหาร Climate Watch ในฐานะภาคประชาสังคม ที่เข้าสังเกตุการณ์เวที COP 27 กล่าว เวทีนี้จำกัดสิทธิภาคประชาสังคม  ไม่สามารถจัดการชุมนุมได้  แค่ให้แสดงออกในพื้นที่การจัดงาน เราได้คุยกับรัฐบาลหลายประเทศเรื่องกลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  ประเทศหมู่เกาะไม่ได้มีผลก่อภาวะโลกร้อน แต่ได้รับผลกระทบเต็มๆ ต้องได้รับการชดเชย ซึ่งประเทศที่พัฒนาแล้วพยายามทำลายระบบการจ่ายเงิน กองทุน  Climate Finance ที่จะเกิดขึ้นในเวทีครั้งนี้ถูกดึงเวลาออกไป เหลือเพียงแค่ตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาการกำกับดูแลกองทุน ประเทศพัฒนาแล้วมีส่วนมากก่อภาวะโลกร้อนตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ต้องจ่ายหนี้ที่เกิดจากกิจกรรมในอดีต

ต้องติดตามกันหลัง COP 27 จะเกิดจุดเปลี่ยนในการแก้ปัญหาโลกร้อนและความฝันของประเทศเล็กๆ ที่ร้องขอให้ประเทศร่ำรวยแล้วจ่ายค่าชดเชยความเสียหายจะเป็นรูปธรรมเพียงใด

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยังไม่พอ! เสนอเร่งลดคาร์บอนภาคพลังงาน COP27

สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เพราะทั่วโลกเหลือเวลาน้อยมากในการหยุดยั้งไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยโลกเพิ่ม 1.5 องศาเซลเซียส เพราะถ้าผ่านจุดนี้แล้วจะเกิดการสูญเสียระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพแบบไม่มีวันหวนกลับมาอีกต่อไป