‘บูลลี่’พุ่งในหมู่เด็ก พฤติกรรมที่ต้องเลี่ยง!

ปัญหาการบูลลี่ในไทยไม่มีแผ่วเมื่อเทียบกับประเทศทั่วโลก ข้อมูลมูลนิธิเครือข่ายครอบครัวระบุปี 2563 ประเทศไทยติดอันดับ 2 ในโลก รองจากญี่ปุ่น เป็นการบูลลี่ (BULLY) ด้วยการใช้ตัวอักษรผ่านโซเชียลมีเดีย ขณะที่ Punch Up x Wisesight เปิดข้อมูลพบว่า คำที่คนไทยใช้บูลลี่มากที่สุดเป็นเรื่องรูปลักษณ์ เพศ และความคิดกับทัศนคติ ได้แก่ ไม่สวย, ไม่หล่อ, , ขี้เหร่,หน้าปลอม, ผอม,อ้วน, เตี้ย, สิว, ดำ, ขาใหญ่, จอแบน, เหยิน, เหม่ง, ตุ๊ด, สายเหลือง, ขุดทอง, กะเทย,  กะหรี่, แมงดา, ชะนี, แรด, หากระโปรงมาใส่, โง่, สลิ่ม, ตลาดล่าง, ปัญญาอ่อน, ต่ำตม, ไดโนเสาร์ เป็นต้น  ยังไม่รวมการล้อเล่นที่ทำให้อีกฝ่ายขายหน้า

กรมสุขภาพจิต โดยสถาบันสุขภาพจิตเด็กและเยาวชนและวัยรุ่นราชนครินทร์ ร่วมมือกับ บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTA GROUP พัฒนาแอปพลิเคชันชื่อว่า BuddyThai ช่วยเหลือเด็กที่โดนรังแกหรือโดนบูลลี่ที่โรงเรียน โดนบูลลี่ผ่านโซเชียลมีเดีย และบรรเทาปัญหาการฆ่าตัวตายในกลุ่มวัยรุ่นบ้านเรา 

สอดรับกับข้อมูลเครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน สำรวจกลุ่มเด็กอายุ 10 – 15 ปี ใน 15 โรงเรียน พบว่า ร้อยละ 91 เคยถูกบูลลี่ วิธีการที่ใช้มากที่สุด คือ การตบหัว ถูกล้อชื่อพ่อชื่อแม่ ถูกเหยียดหยาม ล้อปมด้อย พูดจาเสียดสีสารพัด การกลั่นแกล้งมักเกิดขึ้นที่โรงเรียน ในเวลาหลักเลิกเรียน ที่สนามเด็กเล่น, สนามบาส, ลานอเนกประสงค์ หรือเส้นทางกลับบ้านของนักเรียน

การบูลลี่ในโรงเรียนนำไปสู่ปัญหาแก่เด็กๆ บ้างกังวล บ้างกลัว ทำให้ไม่อยากไปโรงเรียน ส่งผลต่อการเรียนและความปลอดภัยของเด็ก มีปัญหาอาชญากรรม เช่น กรรโชกทรัพย์ เหยื่อมักเป็นเด็กอายุ 12 – 18 ปี ยิ่งกว่านั้นการเกิดขึ้นซ้ำๆ กระทบสภาพทางจิตใจ หรือแม้กระทั่งเสี่ยงให้เด็กตอบโต้เอาคืนด้วยวิธีรุนแรง

บูลลี่มีกี่ประเภท กรมสุขภาพจิต ระบุไว้ 3 ประเภท ประกอบด้วย 1.การกลั่นแกล้งทางวาจา คือ การสื่อสาร เขียน เพื่อสื่อความหมายกลั่นแกล้ง เช่น ล้อเล่น, เรียกชื่อ, แสดงความคิดเห็นทางเพศที่ไม่เหมาะสม, เหน็บแนม และขู่ว่าจะทำอันตราย

2.การกลั่นแกล้งทางสังคม คือ วิธีการทำให้เสียหน้า หรือแกล้งให้สูญเสียความสัมพันธ์กับผู้อื่น อย่างตั้งใจ เช่น ขับเพื่อนออกจากกลุ่ม, กระจายข่าวลือให้เสียหาย, กีดกันไม่ให้เป็นเพื่อนกัน, ทำให้อับอายในที่สาธารณะ

3.การกลั่นแกล้งทางกายภาพ คือ การกลั่นแกล้งที่เกี่ยวข้องกับร่างกายและสวัสดิภาพของผู้ถูกกลั่นแกล้ง เช่น การทุบตี ทำร้าย ทำให้สะดุด แย่งสิ่งของ แสดงออกทำท่าทางหยาบคายใส่

นพ.ดุสิต ลิขนะพิชิตกุล ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การบูลลี่ คือ การกลั่นแกล้งรังแกทั้งคำพูดหรือพฤติกรรม ที่ทำให้ผู้ถูกกระทำเกิดความเจ็บปวดต่อร่างกาย เกิดผลกระทบทางจิตใจรู้สึกกลัว ทุกข์ ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ดังนั้น การเฝ้าระวังและสอดส่องติดตามปัญหาดังกล่าวเป็นวิธีการที่สำคัญต่อภารกิจในการลดปัญหาการบูลลี่ในโรงเรียนและผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย หลายครั้งที่นักเรียนไม่กล้าแม้แต่จะพูดคุยหรือปรึกษาเพื่อน ครู หรือผู้ปกครอง เนื่องจากโดนจับตามองอยู่ตลอดเวลาจากเพื่อนหรือกลุ่มเพื่อนที่บูลลี่ผู้อื่น ทำให้หลายครั้งการแก้ปัญหาทำได้ล่าช้า เยาวชนบางคนเครียด เป็นโรคซึมเศร้า ไม่มีที่พึ่ง

“ การมีแอปพลิเคชัน BuddyThai ที่สามารถใช้เป็นช่องทางการขอความช่วยเหลือและบันทึกสถานะอารมณ์ของเด็ก ๆ ได้นั้น ถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตสามารถให้ความช่วยเหลือเด็กที่ต้องการเชิงรุกและนำไปสู่การลดปัญหาการบูลลี่และผลกระทบที่เกิดขึ้นในอนาคตได้ “ นพ.ดุสิต กล่าว

ด้าน เฉลิมชัย มหากิจศิริ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TTA กล่าวว่า ปัจจุบันการบูลลี่กันในกลุ่มเด็กและเยาวชนเป็นปัญหาสำคัญที่ถูกมองข้ามและไม่มีใครลุกขึ้นมารณรงค์แก้ไขกันอย่างจริงจัง การบูลลี่ไม่ใช่เป็นแค่เรื่องร่างกายที่บาดเจ็บ แต่เป็นปัญหาด้านจิตใจจนฝังรากลึก สถานการณ์การกลั่นแกล้งต่างๆ ดูเหมือนจะเพิ่มมากขึ้น มีข่าวเด็กและเยาวชนเครียด เป็นโรคซึมเศร้า และฆ่าตัวตาย ให้ได้ยินบ่อยมาก ทั้งที่ความจริงเด็กและเยาวชนยุคใหม่เก่งและมีความสามารถสูง  

“ คำถาม คือ ทำอย่างไรถึงจะช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่โดนบูลลี่ ให้พวกเขามีจิตใจที่เข้มแข็งและมีทักษะในการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุข เราต้องการให้เด็กเหล่านี้มีที่ปรึกษาที่อุ่นใจอยู่ข้างกายตลอดเวลา เป็นผู้เชี่ยวชาญจิตวิทยาที่ไว้ใจได้ ช่วยได้จริง ทาง TTA Group ร่วมกับกรมพัฒนาแอป BuddyThai มุ่งช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่โดนบูลลี่โดยเฉพาะ นอกจากจะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันจิตใจให้กับเด็กแล้ว ยังเปิดโอกาสให้โรงเรียน คุณครู ผู้ปกครอง และนักจิตวิทยาใช้ติดตามช่วยเหลือกลุ่มเด็กที่มีปัญหาจนกระทบต่อสุขภาพจิตขั้นรุนแรงได้ทันท่วงที “ เฉลิมชัย กล่าว

แอปพลิเคชัน BuddyThai มีคุณสมบัติและฟังก์ชันที่ออกแบบมาเพื่อเป็นที่ปรึกษาแก่เด็กและเยาวชนโดยเฉพาะ ซึ่งมีจุดเด่น คือ ประเมิน มีแบบประเมินตนเอง ด้านความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) รวมถึงมีชุดความรู้และแบบฝึกหัดทักษะการใช้ชีวิต ที่จะทำให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้ว่า จะต้องรับมือกับสถานการณ์ในชีวิตอย่างไร โดยเฉพาะเมื่อโดนบูลลี่ พร้อมมีคำแนะนำดีๆ จากนักจิตวิทยาที่เชื่อถือได้

ปรึกษา มีปุ่มขอคำปรึกษากับนักจิตวิทยาได้โดยตรง เพื่อให้เด็กและเยาวชนสามารถกดปุ่มนี้เพื่อติดต่อถึงสายด่วน 1323 ของกรมสุขภาพจิต หรือเลือกแชทกับนักจิตวิทยาผ่าน Facebook ของกรมสุขภาพจิต รวมทั้งผ่านนักจิตวิทยาและอาสา LoveCare Station ของมูลนิธิแพธทูเฮลท์ และผ่าน Facebook ของ BuddyThai App ได้เช่นกัน

ป้องกัน มีระบบบันทึกข้อมูลอารมณ์ในแต่ละวัน เด็กและเยาวชนสามารถเข้ามาบันทึกอารมณ์ของตัวเองได้ทุกวันและวันละหลายๆ ครั้ง และใส่เหตุผลได้ด้วย ข้อมูลอารมณ์จะบันทึกเป็นสถิติรายสัปดาห์และรายเดือน ทำให้เด็กและเยาวชนตรวจสอบได้ว่า ที่ผ่านมาส่วนใหญ่ตนเองมีอารมณ์ในรูปแบบใด แรงจูงใจใด โดยมีเทคนิคการจัดการอารมณ์ให้เด็กอ่านง่ายๆ ด้วยตนเอง

ขณะที่ถ้าพบว่าเด็กและเยาวชนคนไหนบันทึกว่า มีอารมณ์เครียด ซึมเศร้าติดต่อกันเป็นอาทิตย์ และมีแนวโน้มคิดฆ่าตัวตาย ทีมแอดมินจะเฝ้าระวังเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้อย่างใกล้ชิด และสามารถแจ้งไปยังโรงเรียนและคุณครู หรือนักจิตวิทยาสายด่วนในการติดต่อเชิงรุกป้องกันก่อนสายเกินแก้

สำหรับแอป Buddy Thai กรุงเทพมหานครร่วมนำร่องให้นักเรียนในโรงเรียนสังกัดกทม. ดาวน์โหลดใช้งาน พร้อมแชร์ประสบการณ์ให้ทีมพัฒนาแอปนำไปวางแผนปรับปรุงให้ดีขึ้นต่อไป รวมทั้งจัดทำแบบสอบถามกับนักเรียน เพื่อเป็นข้อมูลในการพัฒนา Buddy Thai App เฟสต่อไป ให้มีประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์ต่อเด็กมากที่สุด

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'กรมสุขภาพจิต' ขอความร่วมมือ หลีกเลี่ยง สร้างภาพจาก AI จะเร้าอารมณ์ผู้ที่กำลังโศกเศร้า

เพจ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข โพสต์ข้อความว่า ขอความร่วมมือเขียนข้อความไว้อาลัยอย่างเหมาะสม โดย ”หลีกเลี่ยง“ การวาดภาพประกอบขึ้นมาใหม่หรือสร้างภาพจาก AI

เคาะ 6 ข้อเสนอ แผน 'สุขภาพจิตชุมชน' พร้อมดันสู่วาระชาติ

นายชาญชัย ทองสัมฤทธิ์ ผู้อำนวยสถาบันพัฒนาศักยภาพเพื่อความเท่าเทียมทางสังคม มูลนิธิบุญยง-อรรณพ นิโครธานนท์ ตัวแทนแกนนำขับเคลื่อนโครงการพัฒนาความร่วมมือ

'กรมสุขภาพจิต' ส่งทีมเยียวยาจิตใจ ผู้ประสบอุทกภัยเชียงใหม่-เชียงราย

'กรมสุขภาพจิต' ส่งทีมเยียวยาจิตใจผู้ประสบภัยน้ำท่วม ทั้งเชียงใหม่-ศูนย์พักพิงจังหวัดเชียงราย โดยเฉพาะเด็กและผู้สูงอายุ ชี้ยิ่งนานยิ่งน่าห่วง

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จับมือ กรมสุขภาพจิต สานพลัง สร้างสรรค์สื่อ เพื่อส่งเสริมสุขภาพจิตสู่สังคม

15 สิงหาคม 2567 กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดย ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้ลงนามความร่วมมือกับ นายแพทย์พงศ์เกษม ไข่มุกด์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต โดยมีผู้บริหาร ดร.ชำนาญ งามมณีอุดม