มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง(ภา)ฯ สภากาชาดไทย ผนึก สปป.ลาว เฝ้าระวัง เตือนภัยน้ำท่วม ติด 11 สถานีโทรมาตรอัตโนมัติในพื้นที่ลุ่มน้ำโขง ลดสูญเสีย รมว.มส.ลาว เผยประเทศเผชิญภัยแล้ง-น้ำท่วม-ดินถล่ม จากโลกร้อน
16 พ.ย.2565 – มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย โดยศาสตราจารย์พิเศษ ดร. สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รองประธานกรรมการที่ปรึกษา และประธานกรรมการบริหารมูลนิธิฯ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว) โดยนางบุนคำ วอละจิด รัฐมนตรีว่าการฯ ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วย“ความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูล ข่าวสาร เพื่อการเฝ้าระวัง การเตือนภัย และการบรรเทาทุกข์จากปัญหาอุทกภัย ระหว่างมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย แห่งราชอาณาจักรไทย และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว” โดยมีคณะกรรมการมูลนิธิฯ พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของทั้งสองฝ่ายเข้าร่วมเป็นสักขีพยาน
ในโอกาสนี้ มูลนิธิฯ ได้ส่งมอบสถานีโทรมาตรอัตโนมัติเพื่อตรวจวัดปริมาณน้ำฝน สภาพอากาศ และระดับน้ำ ระยะที่ 1 จำนวน 11 สถานี และมอบเกียรติบัตรให้เจ้าหน้าที่กรมอุตุนิยมและอุทกศาสตร์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สปป.ลาว ที่ผ่านการอบรมหลักสูตรการเพิ่มศักยภาพ (Capacity Building) การใช้ระบบการเฝ้าระวัง การเตือนภัย จำนวน 3 คน ณ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สปป.ลาว เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2565 ที่ผ่านมา
ศ.พิเศษ ดร. สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รองประธานกรรมการที่ปรึกษา และประธานกรรมการบริหารมูลนิธิฯ กล่าวว่า จากอุทกภัยร้ายแรงที่เกิดขึ้น ณ แขวงอัตตะปือ สปป.ลาว เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2561 ก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินต่อประชาชนชาวลาวที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่วอย่างมาก เมื่อความทราบถึง พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ นายกกิตติมศักดิ์ตลอดชีพ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ประธานกรรมการมูลนิธิฯ ทรงมีความห่วงใยและทรงมีรับสั่งให้มูลนิธิฯ มอบเงินสมทบช่วยเหลือและถุงยังชีพแก่ผู้ประสบอุทกภัย และด้วยสายพระเนตรอันยาวไกล ทั้งสองพระองค์ทรงเล็งเห็นว่า ประเทศไทยและสปป.ลาวมีพื้นที่ทางภูมิศาสตร์เดียวกัน หากเราสามารถป้องกันความเสียหายได้ ทั้งสองประเทศก็พ้นวิกฤตหรือปัญหาภัยพิบัติต่างๆ ไปพร้อมๆ กัน มูลนิธิฯ จึงรับสนองพระดำริและนำมาหารือกับผู้นำระดับสูงของสปป.ลาว จนเกิดการจัดทำบันทึกความใจในครั้งนี้
“ความร่วมมือที่เกิดขึ้นในระยะแรก ซึ่งเป็นระยะเร่งด่วน มูลนิธิฯ ได้ให้ความช่วยเหลือด้านการเฝ้าระวังอุทกภัย โดยได้ดำเนินการติดตั้งสถานีโทรมาตรอัตโนมัติ เพื่อสนับสนุนการเตือนภัยอย่างยั่งยืนในพื้นที่ลุ่มน้ำโขง สปป.ลาว จำนวน 11 สถานี กระจายตัวครอบคลุมตั้งแต่ตอนเหนือสุด คือ แขวงบ่อแก้ว ไปจนถึงตอนใต้สุด คือ แขวงสาละวัน แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2565 ต่อมา ในการประชุมร่วมคณะผู้รับผิดชอบของ 2 ฝ่าย เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เพื่อเป็นกรอบในการพัฒนาและขยายความร่วมมือให้ครอบคลุมพื้นที่ใน สปป.ลาวเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งเพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งการเฉลิมฉลองครบรอบ 72 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างราชอาณาจักรไทยกับ สปป. ลาว ในปี 2565 นี้ โดยความร่วมมือในระยะที่ 2 นอกจากจะมีการติดตั้งสถานีโทรมาตรอัตโนมัติเพิ่มขึ้นอีก 9 สถานีแล้ว ยังจะขยายความร่วมมือให้ครอบคลุมถึงเรื่องของการฝึกอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับบุคลากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเฝ้าระวังป้องกันภัย การเตรียมความพร้อมรับภัยพิบัติ และการให้การช่วยเหลือประชาชนระหว่างเกิดภัยพิบัติ การศึกษาดูงานในด้านโทรมาตรและการสร้างเครือข่ายเตือนภัยในระดับชุมชน รวมทั้งการเปิดเผยและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันภายใต้กฎหมายของ สปป.ลาว”ศ.พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ กล่าว
ด้าน นางบุนคำ วอละจิด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สปป.ลาว กล่าวว่า ลาวก็เหมือนกับประเทศกำลังพัฒนา ในโลกที่อ่อนไหวต่อภัยพิบัติหลายประเภท เกิดน้ำท่วมและดินถล่มบ่อยครั้งในทุกภูมิภาค ส่วนบางปีเกิดภัยแล้งในหลายพื้นที่ นอกจากนี้ ลาวยังประสบกับปัญหาศัตรูพืชและโรคระบาด ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม ดังนั้น การป้องกันและลดผลกระทบจากภัยธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพจึงจำเป็นต้องมีข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำเกี่ยวกับอุตุนิยมวิทยาและอุทกวิทยา
“ ในโอกาสอันรุ่งโรจน์นี้ ข้าพเจ้าขอเป็นตัวแทนรัฐบาลของ สปป. ลาว รวมทั้งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อแสดงความขอบคุณมูลนิธิฯ ที่ให้การสนับสนุนการติดตั้งสถานีวัดระดับน้ำอัตโนมัติ รวมถึงการจัดเตรียมอุปกรณ์และการแลกเปลี่ยนบทเรียนต่างๆ เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้เรียนรู้ และสามารถบริหารจัดการระบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตุนิยมวิทยาและอุทกวิทยาได้ผลดี อันจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนทั้งสองประเทศให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุข”นางบุนคำ กล่าว
เมื่อเสร็จสิ้นพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ ศ.พิเศษ ดร. สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รองประธานกรรมการที่ปรึกษาและประธานกรรมการบริหารมูลนิธิฯ และนางบุนคำ วอละจิด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สปป.ลาว พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของทั้งสองฝ่าย เดินทางไปยังกรมอุตุนิยมและอุทกศาสตร์ กระทรวงทรัพยากรธรรมและสิ่งแวดล้อม สปป.ลาว เพื่อเปิดสถานีโทรมาตรอัตโนมัตินำร่อง ระยะที่ 2 ณ กรมอุตุนิยมและอุทกศาสตร์ โดยมูลนิธิฯ จะดำเนินการติดตั้งสถานีโทรมาตรอัตโนมัติ ระยะที่ 2 ทั้งหมดจำนวน 9 สถานี ใน 9 แขวงที่เหลือของ สปป.ลาว พร้อมทั้งได้เยี่ยมชมการปฏิบัติงานและการนำข้อมูลจากสถานีโทรมาตรอัตโนมัติมาใช้ในการเฝ้าระวังป้องกันภัยของเจ้าหน้าที่กรมอุตุนิยมและอุทกศาสตร์ ณ ศูนย์เตือนภัยแห่งชาติ
นายแก้ว อุ่นละวง นักวิชาการอุตุนิยมและแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมและอุทกศาสตร์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สปป.ลาว หนึ่งในเจ้าหน้าที่ที่เข้าอบรมหลักสูตรการเพิ่มศักยภาพ (Capacity Building) การใช้ระบบการเฝ้าระวัง การเตือนภัย ได้เผยถึงประโยชน์ของสถานีโทรมาตรอัตโนมัติที่รับจากมูลนิธิฯ กล่าวว่า จากการใช้งานสถานีโทรมาตรอัตโนมัติมาเกือบหนึ่งปี ช่วยให้การพยากรณ์น้ำและการเฝ้าระวังสามารถทำได้อย่างรวดเร็วขึ้น เนื่องจากเป็นระบบอัตโนมัติรายงานสถานการณ์น้ำทุกๆ 30 นาทีเข้าสู่ระบบ ช่วยลดระยะเวลาในการเก็บข้อมูลและประมวลผล ไม่เพียงแค่เรื่องน้ำ แต่โทรมาตรนี้ยังสามารถติดตามรายงานผลเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ และค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องมีการฝึกอบรมพัฒนาเจ้าหน้าที่ของเราในอีกหลายด้านเพื่อให้มีการใช้งานสถานีโทรมาตรอัตโนมัติที่ได้รับจากมูลนิธิฯ อย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชน สปป.ลาว ต่อไป
ในโอกาสนี้ ศ.พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ได้เข้าเยี่ยมคารวะนางปานี ยาท่อตู้ รองประธานประเทศ สปป.ลาว ณ สภาแห่งชาติลาว โดยได้หารือถึงการพัฒนาความร่วมมือในการติดตั้งสถานีโทรมาตรอัตโนมัติให้ครอบคลุมพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยทุกแขวงใน สปป.ลาว การจัดตั้งเครือข่ายเตือนภัยระดับชุมชนใน สปป.ลาว และการฝึกอบรมให้แก่เจ้าหน้าที่ของ สปป.ลาว เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากสถานีโทรมาตรอัตโนมัติเพื่อการบริหารจัดการน้ำและการเตือนภัยให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อประโยชน์ของประชาชนทั้งสองประเทศ โดยฝ่าย สปป.ลาว ได้กล่าวแสดงความชื่นชมต่อความร่วมมือดังกล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์ จับมือภาคีเครือข่ายสนับสนุนกิจกรรม “หนาวนี้ทำดีเพื่อพ่อ 2567” สภากาชาดไทย
วันที่ 12 พฤศจิกายน 2567 นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ ประธานมูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์ พร้อมด้วยภาคีเครือข่าย นางสาวบุปผา รอดสุด รองปลัดกระทรวงแรงงาน กระทรวงแรงงาน กลุ่มบริษัทไทยสมายล์บัส(TSB) กลุ่มพลังงานบริสุทธิ์(EA) บริษัท ไบ่ ลี่ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด
'เบทาโกร' สยายปีกทุ่ม 650 ล้านบาท เปิดตัวโรงงานอาหารสัตว์แห่งแรกใน สปป.ลาว
บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) หรือ “BTG” เปิดตัวโรงงานอาหารสัตว์แห่งแรกใน สปป.ลาว ภายใต้งบลงทุนกว่า 650 ล้านบาท นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการผลิตอาหารสัตว์และบริหารทรัพยากร ด้วยกำลังการผลิต 108,000 ตันต่อปี มุ่งสร้างผลิตภัณฑ์คุณภาพตั้งแต่ต้นน้ำ รองรับดีมานด์ที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
ไอเดียเจ๋ง! แต่งผีชวนคนบริจาคเลือดฉลองฮาโลวีน
นางสาวศิริลักษณ์ เพียกขุนทด หัวหน้าภาคบริการโลหิตแห่งชาติที่ 5 จ.นครราชสีมา พร้อมด้วยนางสาวปพิชญา ณ นครพนม ผู้อำนวยการศูนย์การค้าฯ ร่วมจัดกิจกรรมแต่งผีชวนคนมาให้เลือด เนื่องในวันฮาโลวีน
นายกฯอิ๊งค์ สวมเสื้อ 'คุณหญิงพจมาน' ผ้าจากโครงการแม่ฟ้าหลวง ร่วมประชุมอาเซียน
ภารกิจการเดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในการเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 44 และ 45 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง
นายกฯ กล่าวถ้อยแถลง ไทยจะมีบทบาทเชิงรุกมากขึ้นในการนำสันติภาพในเมียนมากลับคืนมา
นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมและกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 45 (แบบไม่เป็นทางการ)