น้ำท่วมอยุธยาชาวบ้านต้องทนทุกข์ต้องอยู่กับน้ำท่วมนานหลายเดือน หลังจากน้ำลดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกอบกู้เมืองกรุงเก่า พร้อมเร่งเยียวยาชาวบ้าน เพราะไม่อยากให้เดือดร้อนมากไปกว่านี้ ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมผ่านมิติทางศาสนา ล่าสุด กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กรมการศาสนา ร่วมกับองค์การศาสนาพุทธ ศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ศาสนาซิกข์ วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก วัดนาคปรก และวัดสะพาน จัดโครงการศาสนิกสัมพันธ์ช่วยเหลือผู้ประสบภัย ระหว่างวันที่ 14 – 15 พฤศจิกายน 2565 มอบเครื่องอุปโภคบริโภค จำนวน 1,100 ชุด ให้แก่ผู้ที่ประสบภัยน้ำท่วม อันเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันระหว่างผู้นำศาสนากับศาสนิกชนในพื้นที่ และเยี่ยมเยียนศาสนสถานต่างๆ โดยนำเครื่องสมณบริขารถวายแด่พระภิกษุ สามเณร จำนวน 400 ชุด และมอบเครื่องอุปโภค บริโภค แก่ผู้นำทางศาสนาและศาสนิกชน (พุทธ อิสลาม และคริสต์) จำนวน 600 ชุด และศิลปินพื้นบ้าน จำนวน 100 ชุด ส่วนใหญ่เป็นผู้ประสบภัยในพื้นที่ หมู่ 4, 6 และ 7 ตำบลบ้านป้อม อำเภอเมืองพระนครศรีอยุธยา และหมู่ 1, 2 ตำบลไม้ตรา อำเภอบางไทร เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนจากภัยธรรมชาติในเบื้องต้น
กิจกรรมรวมพลัง 5 ศาสนาช่วยเหลือผู้ประสบภัย พระครูอนุกูลศาสนกิจ เจ้าคณะอำเภอพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานฝ่ายฆราวาส โดยมีนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ผู้แทนองค์การทางศาสนาพุทธ ศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ศาสนาซิกข์ นายประทีบ การมิตรี รองผู้ว่าฯ พระนครศรีอยุธยา เข้าร่วม
นายอิทธิพล คุณปลื้ม กล่าวว่า การจัดโครงการศาสนิกสัมพันธ์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยครั้งนี้ แสดงถึงความห่วงใยของภาครัฐ องค์การทางศาสนาทุกศาสนา และองค์กรเครือข่ายภาคเอกชนที่มีต่อประชาชนชาวไทย เป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันระหว่างหน่วยงานของรัฐและศาสนิกชนทุกศาสนา เป็นการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล ในการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมแก่ประชาชน บนพื้นฐานหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มุ่งเน้นการสร้างความรัก ความสามัคคีในสังคมไทย โดยทุกองค์การศาสนาในประเทศไทยต้องร่วมกันส่งเสริมให้ศาสนิกชนนำหลักธรรมทางศาสนาไปสู่การปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เพื่อให้ศาสนิกชนเป็นคนดี มีคุณธรรม ร่วมเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ร่วมทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์ เพื่อสร้างความเข้าใจอันดีและความสมานฉันท์ระหว่างศาสนิกชนต่างศาสนา ทำให้ประเทศมีความสงบร่มเย็นอย่างยั่งยืน
“ นอกจากกิจกรรมศาสนิกสัมพันธ์ ภายหลังน้ำลด กรมศิลปากรจะสำรวจโบราณสถานที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งมีมากกว่า 80 แห่ง โดยจัดลำดับความสำคัญ และความเสียหายของโบราณสถานนั้นๆ จากการที่กรมศิลปากรได้มีการเตรียมการป้องกันลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับโบราณสถาน ทำให้ปีนี้ไม่มีโบราณสถานใน จ.พระนครศรีอยุธยา ได้รับความเสียหายจนถึงขั้นพังทลายลงมา มีเพียงอิฐ ปูนที่ผุกร่อนจากการถูกน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วธ.ได้พิจารณาจัดลำดับความสำคัญเขตเกาะเมืองอยุธยาเป็นลำดับแรกๆ ซึ่งจะตั้งงบประมาณ ดูแล บูรณะ และป้องกันน้ำท่วมระยะยาว เพราะเป็นพื้นที่หลักของแหล่งมรดกโลก สามารถสร้างรายได้ด้านการท่องเที่ยวให้กับประเทศสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ใหม่ของ วธ. ที่มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ การดูแลรักษาแหล่งท่องเที่ยวที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์จะช่วยดึงดูดให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมาเที่ยวชม สร้างรายได้สู่ท้องถิ่นมากขึ้น “ รมว.วธ.กล่าว
ผู้แทนศาสนาอิสลาม อิหม่ามนะวาท ไกรพันธุ์ รองประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า น้ำท่วมส่งผลกระทบวงกว้างในจ.อยุธยา แม้ชาวอยุธยาอยู่กับน้ำ แต่ปีนี้น้ำท่วมสูง เรายินดีที่กรมการศาสนาร่วมกับ 5 ศาสนา เข้ามาช่วยเหลือดูแล แสดงถึงสังคมพหุวัฒนธรรม ชาวมุสลิมอยุธยามีกว่าหนึ่งแสนคน ส่วนมัสยิดมี 64 แห่ง มัสยิดที่ได้รับผลกระทบอุกทภัยจะอยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำน้อย
“ สังคมพหุวัฒนธรรมอยุธยามีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา จังหวัดอยุธยาเป็นพื้นที่ศึกษาดูงานของ 3 จังหวัดชายแดนใต้ หลายศาสนาอยู่ร่วมกับโดยไม่มีข้ดขัอแย้งทางศาสนา เกื้อหนุนจุนเจือกัน ในการสานสัมพันธ์กับศาสนาอื่นๆ ยึดหลักสร้างสันติสุข สร้างความเข้าใจ ไม่มีเรื่องขัดแย้งทางศาสนา เคารพและให้เกียรติซึ่งกันและกัน ผู้นำแต่ละศาสนามีความสัมพันธ์อันดีมาโดยตลอด พุทธ คริสต์ อิสลาม นั่งพูดคุยกันฉันมิตร คุ้นเคยกัน ทำด้วยใจไม่สร้างภาพ เป็นเสน่ห์ของอยุธยาเมืองมรดกโลก นอกจากวัดโบราณ ยังมีมัสยิดเก่าแก่สมัยกรุงศรีอยุธยา เช่น มัสยิดกุฎีช่อฟ้า มัสยิดภูเขาทอง มัสยิดตะเกี่ยโยคิน เป็นสัญลักษณ์โดดเด่นของชุมชนมุสลิมที่มีประวัติศาสตร์ มีพิธีกรรม การแสดงอันเป็นเอกลักษณ์ รวมถึงงานน้ำชาประจำปี “ อิหม่ามนะวาทระบุ พร้อมเชิญทุกคนมาสัมผัสองค์ความรู้มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมในพื้นที่อยุธยา สถานการณ์ตอนนี้กลับสู่ภาวะปกติพร้อมเปิดพื้นที่ต้อนรับผู้มาเยือน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
วธ.จัดมหกรรม‘ปลาร้า หมอลำอีสาน’ ยกระดับวัฒนธรรมพื้นบ้านให้ดังก้องโลก
กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ร่วมกับจังหวัดขอนแก่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และภาคเอกชนระดับประเทศ อาทิ หอการค้าไทยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย บริษัท
สุดม่วน! วธ.จัด ‘หมอลำเฟสติวัลร้อยแก่นสารสินธุ์’ หนุนยูเนสโกขึ้นทะเบียนมรดกวัฒนธรรมจับต้องไม่ได้
กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ร่วมกับจังหวัดขอนแก่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และภาคเอกชนระดับประเทศ อาทิ หอการค้าไทยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย บริษัท ขอนแก่น อินโนเวชั่น เซ็นเตอร์ จำกัด Sustainable Brands (SB) Thailand และ บริษัท
พิกัด 11 วัด งานอารามอร่ามประดับไฟรับปีใหม่
เพื่อส่งมอบความสุขปลายปีและเสริมสิริมงคลแก่ชีวิต กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) จัดกิจกรรม “อารามอร่าม 11 วัด 1 โบสถ์พราหมณ์1 พิพิธภัณฑ์ ประดับไฟฉลองต้อนรับเทศกาลปีใหม่ 2568 “ ถือเป็นอีกหมุดหมายที่ห้ามพลาดและไม่ได้จัดเป็นประจำ เพราะ
ฉลอง'ต้มยำกุ้ง' กระหึ่มโลก ชวนลองเมนูมรดกวัฒนธรรม
โด่งดังก้องโลกกับเมนูต้มยำกุ้งของดีเมืองไทย กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จัดงานฉลองต้มยำกุ้งและเคบายา มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ ในโอกาสที่ ยูเนสโก ได้ประกาศขึ้นทะเบียน “ต้มยำกุ้ง” (Tomyum Kung) และ “เคบายา” เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Representative List
วธ.จัดกิจกรรมถวายพระราชกุศล ร.9
28 พ.ย.2567 - นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ องค์การทางศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ศาสนาซิกข์และกลุ่มภาคีเครือข่ายจัด “กิจ