สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เพราะทั่วโลกเหลือเวลาน้อยมากในการหยุดยั้งไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยโลกเพิ่ม 1.5 องศาเซลเซียส เพราะถ้าผ่านจุดนี้แล้วจะเกิดการสูญเสียระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพแบบไม่มีวันหวนกลับมาอีกต่อไป
ความวิกฤตของปัญหาโลกร้อนนี้มาจากรายงานสหประชาชาติประเมินว่า แม้ทุกประเทศเดินตามเป้าที่วางไว้ ตามแผนแม่บทข้อตกลงปารีส ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปลดปล่อยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศจะยังเพิ่มสูงถึงร้อยละ 10 ภายในปี 2573 เมื่อเทียบกับปี 2553 ส่วนคณะกรรมการสหประชาชาติด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระบุการลดปล่อยก๊าซต้องลดให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 43 ภายในปี 2573 เพื่อควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน และมีความคาดหวังจากเวทีโลกร้อน COP27 ที่อียิปต์ ระหว่างวันที่ 6-18 พ.ย.2565 ที่เหล่าผู้นำทั่วโลกที่ได้ลงนามและให้สัตยาบันไว้กับข้อตกลงปารีสจะเดินทางมาเจรจาหารือกัน
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ ประเทศไทย) จัดงานเสวนาเวทีสาธารณะหัวข้อ “จาก COP26 สู่ COP27: เดินหน้าภาคพลังงานสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน 2050” เวทีครั้งนี้ได้นำเสนอผลงานวิจัยโครงการ CASE จากสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มุ่งศึกษาแนวทางลดคาร์บอนในภาคพลังงาน เพื่อมุ่งสู่การเปลี่ยนผ่านพลังงานของประเทศไทยไปสู่พลังงานทดแทนและพลังงานสะอาด เพื่อให้ไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน พร้อมเปิดเสวนารับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ
ดร.สิริภา จุลกาญจน์ นักวิจัยโครงการ CASE จากสถาบันวิจัยพลังงาน กล่าวว่า นายกฯ ไทยประกาศไว้ใน COP26 จะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 และบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2606 เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในภาคพลังงานในอีก 30 ปีข้างหน้าเป็นไปได้ และต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงที่เริ่มตั้งแต่วันนี้ แผนและนโยบายปัจจุบันยังไม่เพียงพอให้บรรลุเป้าหมายได้
เส้นทางตามการศึกษาของ CASE ต้องอาศัยเป้าหมายลดคาร์บอนที่เข้มข้นขึ้นในภาคไฟฟ้า อุตสาหกรรม และขนส่ง ภาคพลังงานสามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้มากที่สุด 60 mton ในปี 2593 ไทยยังต้องการแหล่งดูดซับคาร์บอนเพื่อเป้าหมายเป็นกลางทางคาร์บอน ซึ่งประเมินว่า แหล่งดูดซับคาร์บอนอยู่ที่ 95 mton ในปี 2593 จากภาคป่าไม้ เวียดนามตั้งเป้าหมายในปี 2593 เหมือนไทย ส่วนอินโดนีเซียตั้งเป้า Net-Zero GHG ปี 2060
ภาคการผลิตไฟฟ้าต้องเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน เน้นแสงอาทิตย์และลม ลดสัดส่วนเชื้อเพลิงฟอสซิล มาตรการไปสู่เป้าหมาย การติดตั้งโซลาร์บนหลังคา ไม่ต้องอุดหนุนราคา เพราะต้นทุนต่ำกว่าไฟฟ้าฟอสซิลแล้ว เน้นลดอุปสรรคด้านกฎระเบียบติดตั้ง ลดต้นทุนการเงินในการติดตั้ง , เพิ่มความยืดหยุ่นในการระบบไฟฟ้า รองรับพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้น ทั้งด้านทำสัญญาซื้อขายและนำเทคโนโลยีใหม่ๆ และวางแผนการเปลี่ยนลดเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างครอบคลุม
ภาคอุตสาหกรรม (ความร้อน) เน้นการเปลี่ยนมาใช้ไฟฟ้าและเทคโนโลยีพลังงานประสิทธิภาพสูง โดยเพิ่มแรงจูงใจและลดอุปสรรคให้อุคสาหกรรมเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยสะอาดและประสิทธิภาพสูง ติดตั้งโซลาร์ ส่งเสริมธุรกิจประหยัดพลังงาน บังคับใช้มาตรฐานประสิทธิภาพพลังงาน และส่งเสริมการใช้ชีวมวลและไฮโดรเจนทดแทนถ่านหินในอุตสาหกรรม
ภาคขนส่ง เปลี่ยนมาใช้พลังงานไฟฟ้าขับเคลื่อน สำหรับขนส่งระบบสาธารณะ ระบบราง และรถส่วนตัว เสนอการส่งเสริมการผลิตและใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ทั้งมาตรการภาษีผู้ซื้อ ส่งเสริมวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่สำหรับผู้ผลิต แล้วก็ต้องอาศัยการเปลี่ยนโหมดการเดินทาง จากรถส่วนตัวเป็นรถสาธารณะ จากถนนสู่ระบบรางขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ภาคขนส่งต้องเริ่มวางแผนเลย เพื่อให้เห็นผลในปลายปี 2573 และปี 2593
“ ผลการศึกษาเส้นทางสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ไม่ทำให้ต้นทุนไฟฟ้าสูงขึ้น การเปลี่ยนผ่านตามเส้นทางนี้ต้องใช้เงินลงทุนต่อปีประมาณ 2-5 %ของ GDP ตั้งแต่วันนี้ถึงปี 2593 ทางเดินนี้ได้มากกว่าความเป็นกลางทางคาร์บอน ยังได้ประโยชน์ส่วนอื่นด้วย บรรเทาปัญหามลพิษทางอากาศ ลดความเสี่ยงและความผันผวนด้านราคาจากการนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิล ก่อให้เกิดการจ้างงานในประเทศเพิ่มขึ้น กระตุ้นเศรษฐกิจ ลดผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้า พลังงานเป็นพื้นฐานต่อยอดเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม หากโมเดลนี้ภาคธุรกิจจะนำไปต่อยอดจะเกิดประโยชน์ในภาพรวมประเทศ” ดร.สิริภา กล่าว
TDRI ผนึก GIZ จัดสัมมนาสาธารณะจาก COP26 สู่ COP27เดินหน้าภาคพลังงานฯ
ขณะที่วงเสวนา “ทบทวนคำสัญญาผู้นำไทยกับความเป็นไปได้สู่เวที COP 27 “ จิรวัฒน์ ระติสุนทร รองเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนธรรมชาติสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กรอบท่าทีเจรจาของไทยใน COP 27 ไทยจะสนับสนุนการเจรจาที่กำลังดำเนินอยู่ ภายใต้กรอบอนุสัญญาฯ และความตกลงปารีส และยืนยันว่า การเจรจาที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอยู่บนพื้นฐานความเป็นธรรม ความรับผิดชอบร่วมกันในระดับที่แตกต่างกัน โดยคำนึงถึงความสามารถของแต่ละภาคี การพัฒนาที่ยั่งยืน วันนี้เราต้องเร่งเปลี่ยน เพื่อลดกระทบสภาพการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในรุ่นลูกรุ่นหลาน
อาทิตย์ เวชกิจ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หากกลุ่มอุตสาหกรรมไทยไม่มีแผนสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนชัดเจน เช่น CBAM ซึ่งเป็นการกำหนดราคาสินค้านำเข้าบางประเภทเพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเข้ามาในสหภาพยุโรป EU ถ้าเราไม่ทำ จะส่งออกได้ลดลง หรืออุตสาหกรรมย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่น เช่น เวียดนาม นี่เป็นความเป็นความตายของธุรกิจ ภาคเอกชนตระหนักและกังวลมากจะคอมมิทกับคู่ค้าอย่างไร ปี 2593 ที่รัฐไปตกลงเป็นแผนของรัฐ แต่แผนของภาคอุตสาหกรรมต้องเชื่อมโยงกัน จะส่งเสริมเทคโนโลยีและสนับสนุนทางการเงิน ขยับไปพร้อมๆ กันอย่างไร คาดหวังความจริงจาก COP27 เพื่อให้ทุกภาคส่วนขับเคลื่อนถูกทิศทาง ทุกวันนี้แผนแต่ละหน่วยงานรัฐขัดแย้งกันเอง
ด้าน ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ นักวิชาการด้านพลังงาน กล่าวว่า รัฐบาลต้องทำอีกมากและทำอย่างถูกต้อง ภาคผลิตไฟฟ้าจากร่างแผน PDP2022 ยังต้องใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล 54% ก๊าซ 47% ถ่านหินอีก 7% ตัวเลขห่างจากผลศึกษารายงาน CASE มาก อย่างน้อยพลังงานหมุนเวียนต้องเกิน 50% อีกประเด็นเรื่องภาษีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและตลาดคาร์บอนควรศึกษาและทำจริงจัง ไม่ใช่เป็นภาคสมัครใจ โดยเริ่มจากอุตสาหกรรมซีเมนต์ อุตสาหกรรมเหล็กกล้า และกิจกรรมอื่นๆ ต้องมีแผนลดคาร์บอน ส่วนภาคไฟฟ้าต้องส่งเสริมผู้ผลิตไฟฟ้าได้เอง โดยเฉพาะโซล่าร์รูฟท็อป กำหนดราคาที่สมเหตุสมผล ปัจจุบันราคาต่ำเกินไป และมีมาตรการอุดหนุนส่งเสริมผู้ใช้ยินดีลงทุน อีกประเด็นการลดใช้ก๊าซหุงต้มจะกระทบระดับครัวเรือนและภาคธุรกิจ ต้องมีมาตรการส่งเสริมการใช้ก๊าซชนิดอื่นแทนที่ชัดเจน
“ ส่วนการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าต้องผ่อนปรนเงื่อนไขเพื่อให้การใช้เข้าเป้าภายใน 15 ปี คาดการณ์ขายได้ 4.4 แสนคัน จะเร่งรัดให้เข้าเป้าอย่างไร ส่วนระบบรางต้องลงทุนให้มีทั่วประเทศโดยเร็ว ปัจจุบันการขนส่งสินค้า 70% ใช้รถบรรทุกสิ้นเปลืองพลังงานมาก หากเปลี่ยนมาขนส่งและเดินทางด้วยระบบราง จะประหยัดพลังงานมาก สำหรับ COP27 ข้อตกลงที่เราให้ไว้ทั้งความเป็นกลางทางคาร์บอนและ NET ZERO ไทยควรยืนยันตามเดิม และยังมีข้อตกลงด้านถ่านหิน หากไทยอยากก้าวหน้าให้ตกลงไปเลย ถ้ามีแผนปฏิบัติการภาคพลังงานจากผลวิจัยอย่าง CASE ก็ควรนำเสนอในเวทีโลกด้วย ” ดร.พลายพล กล่าว
ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมขับเคลื่อนความเป็นกลางทางคาร์บอน สฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการ ด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด กล่าวว่า บ.ป่าสาละ ทำงานร่วมกับภาคประชาสังคม มีข้อแสนอแนะกับรายงานนี้ ซึ่งวางทางออกของการยกเลิกถ่านหินไว้ไกลมาก อยากให้นำแผนเลิกใช้ถ่านหินของกรีนพีซมาเทียบเคียง เพื่อทำความเข้าใจร่วมกัน อีกทั้งรายงานนี้เน้นกลไกตลาดคาร์บอนเป็นหลักแทนที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งมีรายงานต่างประเทศชี้ตลาดคาร์บอนเป็นการปั้นตัวเลขที่ไม่เป็นจริง มีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากขึ้น
การเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำเธอระบุควรยึดหลักการความยุติธรรมทางพลังงานสำคัญ การพูดถึงพลังงานหมุนเวียนจะทำอย่างไรเปิดกว้างให้ประชาชนเข้าถึง ไม่ใช่เปลี่ยนผ่านโดยมีเจ้าใหญ่ไม่กี่เจ้า ประชาชนเป็นเพียงผู้ใช้พลังงานเท่านั้น ส่วนเครื่องมือทางการเงินควรสนับสนุนโครงการที่ครอบคลุม ข้อเสนอแนะไม่ใช่แค่มิกซ์พลังงาน แต่เป็นปัญหาการกำกับโครงสร้างพลังงาน มีการฉ้อฉลเชิงอำนาจ การยึดกุมการกำกับดูแล ต้องปฏิรูป
“ ไทยในเวทีโลกไม่ได้ปล่อยเยอะ แต่ติดท็อปเท็นกลุ่มประเทศเปราะบาง รายงานหลายชิ้นยืนยันผลกระทบที่เกิดขึ้น นโยบายไทยควรเน้นการปรับตัวและการชดเชยความเสียหาย ซึ่งต้องไปคุยใน COP27 หากปรับตัวได้ดี มูลค่าความสูญเสียและเสียหายจะลดลง ปัจจุบันขาดข้อมูลชัดเจนด้านนี้ เพราะนโยบายรัฐไม่ชัด ในเวทีโลกร้อนไทยต้องแสดงท่าทีชัดเจนพร้อมข้อมูลชัดเจน อย่างปีนี้น้ำท่วมขัง 3 เดือน ไม่รวมภัยแล้งที่เชื่อมโยงโลกร้อน “ สฤณี ฝากถึงเวทีโลกร้อนที่อียิปต์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กระทรวงมหาดไทยลงนามความร่วมมือกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ)
สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย และ องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย ร่วมลงนามความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนโครงการพัฒนาเมืองแบบองค์รวมเพื่อส่งเสริมการเติบโตแบบคาร์บอนต่ำและการเป็นเมืองที่ฟื้นตัวได้ (Urban-Act: Integrated Urban Climate
'เศรษฐา' รับฟังข้อเสนอประธาน ทีดีอาร์ไอ ทั้งเห็นด้วย-เห็นต่างนโยบายรัฐบาล
นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) นำคณะผู้บริหารสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เข้าพบนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อหารือประเด็นนโยบายด้านการวิจัย
'สมชัย' แนะทำประชามติ 'แจกเงินดิจิทัล' ชี้งบถูกกว่าค่าดอกเบี้ยปีเดียว
นักวิชาการ TDRI เสนอรัฐทำประชามติ ประชาชนอยากได้เงินดิจิตอลจริงหรือไม่? ชี้งบถูกกว่าค่าดอกเบี้ยปีเดียว
กองทุนภูมิอากาศไทย หนุนลดก๊าซ-ปรับตัวสู้โลกร้อน
เพื่อส่งเสริมความร่วมมือมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 ของประเทศไทย สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) โดยกองทุนสิ่งแวดล้อม ร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) จัดงานสัมมนาวิชาการกองทุนสิ่งแวดล้อม ประจำปี พ.ศ. 2566
'กองทุนเยียวยาโลกร้อน'จาก COP27 ในมุมมองนักสิ่งแวดล้อมไทย
สภาพอากาศที่ส่ออาการ"สุดขั้ว" ในหลายประเทศ ทำให้เวทีการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP 27 ณ เมืองชาร์ม เอล ชีค ประเทศอียิปต์ ปิดฉากลงแล้ว พร้อมกับข้อตกลง ครั้งประวัติศาสตร์ ให้มีการตั้งกองทุนเยียวยาความสูญเสียและเสียหายจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพ