ความพยายามผลักดันกรุงเทพมหานครให้เป็น”เมืองศิลปะ” เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนเมืองควบคู่กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมหานครถูกนำเสนอผ่านเทศกาล Colorful Bangkok 3 เดือนเต็มที่งานศิลปะ แสงสี และดนตรี จะสาดส่องให้เมืองมีชีวิต ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2565 – เดือนมกราคม 2566 ธีมต่างกันแต่ละเดือน
เริ่มที่เทศกาลศิลปะสร้างสรรค์ เดือนพฤศจิกายน เทศกาลแสงสี เดือนธันวาคม และเทศกาลดนตรี เดือนมกราคม โดยกระจายงานไปอยู่ตามสถานที่ต่างๆ ตั้งแต่แลนด์มาร์คของเมือง ย่านเก่า ตามชุมชน ไม่กระจุกที่ใดที่หนึ่ง เป้าหมายเพื่อเปิดพื้นที่สาธารณะจัดกิจกรรมให้คนกรุงเทพฯ หรือนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศได้ร่วมเสพความสุนทรีย์ เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ
รวมพลังขับเคลื่อนกรุงเทพฯ สู่เมืองศิลปะ
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวในงานแถลงข่าวเทศกาล Colorful Bangkok ที่กรุงเทพมหานครและภาคีเครือข่ายวงการศิลปวัฒนธรรมร่วมกันจัดขึ้น ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ว่า เมือง คือ คนไม่ใช่สิ่งปลูกสร้าง กทม.เป็นผู้ประสาน และหาพื้นที่ให้เครือข่ายศิลปวัฒนธรรม การที่คนได้มีช่องทางและเวทีในการแสดงออกผ่านศิลปวัฒนธรรม ทำให้เปลี่ยนมุมมองของเมืองได้ เกิดความคึกคัก เทศกาลนี้จะขับเคลื่อนกรุงเทพฯ เป็นอาร์ตซิตี้อย่างแท้จริง สร้างความหวังให้กับคนในเมืองได้ ถึงเวลาทำให้เข้มแข็ง ไม่ต้องใช้งบประมาณ แต่อาศัยความร่วมมือ ที่ผ่านมา ดนตรีในสวน เทศกาลกรุงเทพฯ กลางแปลง กิจกรรมศิลปะ ทำให้เมืองมีสุนทรียภาพมากขึ้น เกิดรายได้ในหลายอาชีพ และกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวม
คนกรุงได้รับความสุนทรีย์นอกบ้าน
ด้าน ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม. พ่องาน กล่าวว่า จะเป็น 3 เดือนเต็มที่กรุงเทพฯ จะกลับมามีสีสันและชีวิตชีวาหลังจากอัดอั้นจากสถานการณ์โควิด-19 กรุงเทพฯ ต้องแข่งขันกับเมืองท่องเที่ยวหลายเมืองทั่วโลก เรามีหอศิลป์กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่รวมศิลปวัฒนธรรม แต่ยังไม่เพียงพอ เทศกาลนี้รวมศิลปะกว่า 100 กิจกรรม โดยมีเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน สนับสนุนศิลปินน้อยใหญ่กลุ่มดนตรี กลุ่มละคร และชุมชนมีพื้นที่แสดงออก ร่วมสร้างสรรค์งานศิลปะ ดนตรี และแสงสี ที่มีความเชื่อมโยงกับพื้นที่ ใช้ศิลปะร่วมพัฒนาเมือง กรุงเทพฯ พร้อมแล้วที่จะเปิดต้อนรับนักท่องเที่ยวทั่วโลก และทำให้คน กทม.ได้รับความสุนทรีนอกบ้านในทุกวัน
กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ประธานกรรมการมูลนิธิ BACC
กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ประธานกรรมการมูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ศิลปวัฒนธรรมในกรุงเทพฯ แทรกซึมอยู่ทุกพื้นที่ งานนี้เป็นจุดเริ่มต้น ศิลปะต้องอยู่คู่ กทม.ไปตลอดไม่ใช่งานอีเว้น ศิลปะเป็นการสร้างคน สร้างสติปัญญา คนเหล่านี้สร้างเมืองที่ดีต่อไปในอนาคต คัลเลอร์ฟูล หมายถึง หลายสี แต่ไม่ว่าสีอะไร ก็สีเดียวกัน ใช้ศิลปวัฒนธรรมสร้างความสามัคคีคนในชาติ ต้องทำต่อเนื่องให้ปักหมุดกรุงเทพฯ เป็นอาร์ตฮับ
ตัวแทนภาคประชาชนหนุนกรุงเทพฯ เมืองศิลปะ ชลิดา ทัฬหากาญจนากุล กลุ่ม’ตลาดพลูดูดี’ บอกว่า เราร่วมจัดทริป เดินไป กินไป เป็นการเดินเมือง เชื่อมโยงจากตลาดพลูไปย่านจอมทองและย่านบางมด ซึ่งอยู่ฝั่งธนด้วย กำนดวันที่ 5 ธ.ค. จะเล่าเรื่องในตลาดพลู ซึ่งโดดเด่นด้วยวัฒนธรรมจีนแต้จิ๋วที่อพยพมาในอดีตและเชื่อมโยงกับคนไทยในชุมชน มีวัดดั้งเดิมที่สวยงาม เช่น วัดนางชี วัดอัปสรสวรรค์ มีอาหารท้องถิ่นขึ้นชื่อ เราพัฒนาเส้นทางอาหาร มีเสวนา จัดสอนศิลปะ อบรมมัคคุเทศน์น้อย ให้คนเข้ามาเที่ยว คนในชุมชนจะได้พัฒนาร่วมกัน
“ ศิลปวัฒนธรรมอยู่คู่กับชุมชน ทั้งการแสดง วัดวาอาราม ศิลปะการทำอาหาร เทศกาลนี้ทำให้ตลาดพลูได้เป็นที่รู้จักกว้างขวางขึ้น กรุงเทพฯ จะเป็นเมืองศิลปะได้ สิ่งสำคัญทุกชุมชนต้องเห็นคุณค่าของชุมชนมีอะไรดี นำเสนอจุดเด่นออกมาให้คนภายนอกรับรู้ จะสามารถต่อยอดได้ “ ชลิดา บอก
สวนเบญจกิติ 1 ใน 12 สวน จัดเทศกาลดนตรี
ด้าน กานต์ นิโครสหเกียรติ คณะกรรมาธิการพัฒนาเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน เคลื่อนงานชุมชนที่เขตบางขุนเทียน บอกว่า จัดธีม”บางขุนเทียนบานสะพรั่ง” ไฮไลต์มีดนตรีและศิลปะในสวนสาธารณะ เปลี่ยนห้องสมุดประชาชนบางขุนเทียนให้กลายเป็นแกลเลอรี รวบรวมศิลปวัฒนธรรมของย่านนี้ ทั้งคนมอญ คนจีน คนป่าชายเลน ไม่ใช่แค่ภาพวาด แต่หยิบเครื่องใช้ในชีวิตมาเล่าเรื่องท้องถิ่น งานศิลป์ยังสื่อปัญหาผลกระทบโลกร้อนด้วย การยกระดับกรุงเทพฯ สู่เมืองศิลปะต้องอยู่บนฐานความต้องการของชุมชน ทุกภาคส่วนทำต่อเนื่อง ไม่ใช่จบเพียงแค่งานเทศกาล
ตอนนี้เปิดเทศกาล Colorful Bangkok ตลอดเดือน พ.ย. เนรมิต เทศกาลศิลปะสร้างสรรค์ในแกลเลอรี โรงละคร และพื้นที่สาธารณะ เช่น เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ “บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2022” ภายใต้แนวคิด “CHAOS : CALM” หรือ “โกลาหล : สงบสุข” นำเสนอศิลปะ200 กว่าชิ้นจาก 73 ศิลปินชั้นนำทั่วโลกบนแลนด์มาร์ค 12 แห่ง จนถึง – 23 ก.พ.66
สีสันศิลปะ ปลุกกทม.ให้มีชีวิต
นิทรรศการ Walking through a Songline: ก้าวย่างผ่านของไลน์ นิทรรศการดิจิทัลอาร์ตให้ประสบการณ์ แสง สี เสียง และศิลปะ ภูมิปัญญาโบราณของชาวอะบอริจิน ชาวพื้นเมืองออสเตรเลีย, เทศกาลละครกรุงเทพ 2022 ดื่มด่ำการแสดงหลากหลายจัดเต็มกว่า 30 เรื่อง พร้อมกิจกรรมWorkshop เสวนา ณ หอศิลป์กรุงเทพ และโรงละครต่างๆ ช่วงวันที่ 12-13, 19-20, 26-27 พ.ย.นี้
ขณะที่ตามชุมชนจัดเทศกาลศิลปะชุมชน “บางกอกบานฉ่ำ” ใน 21 ย่าน 16 เขต ระหว่างวันที่ 5 พ.ย. – 11 ธ.ค. มีธีม “ปั่น เดิน ล่อง ทอดน่อง ย่านสร้างสรรค์” ชวนเที่ยวชุมชนพร้อมกับชื่นชมศิลปะ เวิร์กช็อปศิลปะกับกูรูในท้องถิ่น และพบการกลับมาของ “สามแพร่ง facestreet ย่านพระนคร วันที่ 26-27 พ.ย.
ไฮไลต์ถัดมา Unfolding Bangkok ระหว่างวันที่ 12-20 พ.ย. เล่าเรื่องพุทธศาสนาและการตกแต่งสถาปัตยกรรมของวัดด้วย Interactive ผ่านแสงสี และเสียงในวัดย่านตลาดพลู ได้แก่ วัดอินทารามวรวิหาร วัดราชคฤห์ และวัดจันทาราม
เดือนธันวา ชูเทศกาลแสงสีสัญลักษณ์แห่งการเฉลิมฉลอง ชวนออกมาชมสีสันยามค่ำคืน รวมถึงเป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ผู้จัดงานหลายกลุ่มแต่งแต้มสีสันทั่วเมืองผ่านการจัดแสดงไฟ มีไฮไลต์ อย่าง Awakening Bangkok กลับมาในธีม “Endless Tomorrow จัดแสดง Lighting Spot กว่า 30 จุดทั่ว กทม. พร้อมกับย่านไฮไลต์ของงาน เจริญกรุง ตลาดน้อย ปลุกชีวิตใหม่ยามราตรีด้วยศิลปะแสงสี ฟื้นย่านเก่ากลับมามีชีวิต ระหว่างวันที่ 16 – 25 ธ.ค.
สาวกพิพิธภัณฑ์เตรียมพบเทศกาล Night at the Museum Festival 2022 เที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน จัดงาน 2 ช่วง 16-18 ธ.ค. พิพิธภัณฑ์ในกรุงเทพฯ และ 23-25 ธ.ค. พิพิธภัณฑ์ย่านปริมณฑลและต่างจังหวัด มี 20 พิพิธภัณฑ์เข้าร่วม ส่วนงานแสงสีบริเวณสี่แยกราชประสงค์ โดยสมาคมราชประสงค์ จัดทั้งบนสกายวอล์ค และลานศูนย์การค้ารอบสี่แยกตลอดเดือน
มกราปีหน้าเตรียมเทศกาลดนตรีจะบรรเลงดังทั่วเมืองกับดนตรีในสวน 12 สวนจัดแสดงพร้อมกันช่วงสุดสัปดาห์ตลอดเดือน เปิดจะพื้นที่ให้กับศิลปินทั้งระดับชุมชน นักเรียน นักศึกษา ศิลปินอิสระหน้าใหม่ รวมถึงศิลปินดังโชว์
การเดินเครื่องสู่เมืองศิลปะครั้งนี้ได้เปิดตัวเว็บไซต์ www.bangkokartcity.org ทำหน้าที่เป็นคลังรวบรวมข้อมูลกิจกรรม ตลอดจนสถานที่จัดแสดงทางด้านศิลปวัฒนธรรมแขนงต่างๆ เช่น ทัศนศิลป์ วรรณกรรม ศิลปะการแสดง ดนตรี ภาพยนตร์ วัฒนธรรมชุมชน หรือสถานที่ท่องเที่ยววัฒนธรรมที่จัดขึ้นในกทม. เพื่อตอบสนองการใช้งานของคนกรุงและนักท่องเที่ยวให้เข้าถึงงานมากขึ้น ทำให้ใช้เวลาอยู่ในกรุงเทพฯ นานขึ้น เป็นอีกกลไกพัฒนากรุงเทพฯ เมืองศิลปะในอนาคต
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สว.สมชาย ฟันธง กฤษฎีกาหยุด“โต้ง”.. ถูกต้อง..มีมาตรฐาน | ตรงปก ตรงประเด็น กับ...สำราญ รอดเพชร
ตรงปก ตรงประเด็น กับ...สำราญ รอดเพชร : วันพฤหัสบดีที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2567
พรรคส้มเปิดเกมสู้ ‘แม้ว’ | ห้องข่าวไทยโพสต์
ห้องข่าวไทยโพสต์ : วันพฤหัสบดีที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2567
ศึกอบจ. ทักษิณทุบส้ม เคลม..ดีลลับ | ตรงปก ตรงประเด็น กับ...สำราญ รอดเพชร
ตรงปก ตรงประเด็น กับ...สำราญ รอดเพชร : วันพุธที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2567