มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จัดการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ประจำปี 2565 ตอน “สะกดทัพ” เพื่อเฉลิมฉลอง 2 โอกาสมหามงคลของชาวไทย ได้แก่ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 70 พรรษา 28 กรกฎาคม 2565 และเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565
เป็นที่ปลื้มปีติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรการแสดงโขนรอบปฐมทัศน์ เรื่อง รามเกียรติ์ ตอน “สะกดทัพ” ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2565 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ฯ วันที่ 29 ต.ค. โดยมีนายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ เลขาธิการมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และประธานคณะกรรมการจัดการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ พร้อมคณะกรรมการมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ เฝ้าฯ รับเสด็จ
การแสดงโขน “สะกดทัพ” ครั้งนี้ นำบทพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์ฉบับในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ร. 1 มาจัดทำบทการแสดงโขนตอนนี้ ซึ่งเคยจัดแสดงในปี 2554 ในชื่อตอน “ศึกมัยราพณ์” นั้น แสดงตามบทละครพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ร. 2 ซึ่งแตกต่างกับบทครั้งนี้ มีการออกแบบสร้างสรรค์ฉาก และการแสดงให้ถ่ายทอดจินตนาการเมื่อ 200 กว่าปีก่อน ออกมาโลดแล่นบนเวทีได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ อีกทั้งยังสะกดชื่อ “ไมยราพ” ตามอักขรวิธีตามต้นฉบับรัชกาลที่ 1
เรื่องราวความเป็นมารามเกียรติ์ก่อนถึงตอนสะกดทัพ เริ่มจากทศกัณฐ์ ลักพานางสีดามเหสีของพระรามไปไว้ในกรุงลงกา พระรามกับพระลักษมณ์ได้พบกับหนุมาน ซึ่งนำสุครีพและพลสวาวานรมาสวามิภักดิ์ โดยพระรามใช้ให้หนุมาน องคต และชมพูพาน ไปสืบเส้นทางที่จะข้ามไปกรุงลงกา กระทั่งได้พบกับนางสีดาซึ่งพำนักอยู่ในสวนขวัญ พร้อมถวายแหวนและผ้าสไบเพื่อแจ้งข่าวว่าพระรามกำลังติดตามมา ก่อนกลับหนุมานได้ทำลายสวนขวัญและถูกอินทรชิตจับตัวไปถวายทศกัณฐ์ แต่หนุมานใช้เล่ห์กลจุดไฟเผาตนเอง และเผากรุงลงกาในที่สุด จากนั้นกลับมาเฝ้าพระราม เมื่อพญาพิเภก น้องทศกัณฐ์ถูกขับออกมาจากกรุงลงกาและสวามิภักดิ์กับพระรามแล้ว พระรามได้เสด็จยาตราทัพจองถนนยกพลวานรข้ามมหาสมุทรมาประชิดกรุงลงกา โดยตั้งกองทัพอยู่ที่เชิงเขามรกต พระรามให้องคตเป็นทูตเชิญสารไปถึงทศกัณฐ์ขอให้ส่งนางสีดาคืน ทศกัณฐ์ไม่ยอมส่งคืนทั้งได้คิดอุบายเผด็จศึก และหาทางกำจัดพระรามต่อไป
การแสดงโขนมูลนิธิฯ “สะกดทัพ” เป็นตอนที่สนุกอย่างยิ่ง เล่าเรื่องการต่อสู้ของหนุมาน ยอดวานรทหารเอกพระรามที่ฝ่าฟันด่านต่าง ๆ เพื่อช่วยพระรามกลับมาจากเมืองบาดาล หลังจากถูกไมยราพ พญายักษ์เมืองบาดาล ผู้มีกล้องยาวิเศษพร้อมมนต์ลอบเข้ามาสะกดทัพและลักพาตัวไป แล้วจึงแบกพระรามพาแทรกแผ่นดินไปเมืองบาดาล เป็นเหตุให้หนุมานตามไปช่วยพระราม ในระหว่างทางหนุมานจะสามารถฝ่าฟันด่านไปช่วยพระรามกลับมาได้สำเร็จหรือไม่ ต้องไปชมกัน
ครั้งนี้เตรียมไฮไลท์หลายฉากเพื่อสร้างความประทับใจแก่ผู้ชม ไม่ว่าจะฟื้นฟูกระบวนท่ารำที่หาชมได้ยาก เช่น เพลงหน้าพาทย์ดำเนินพราหมณ์ที่เก่าแก่ มีประวัติความเป็นมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ รวมถึงฉากการแสดงที่เพิ่มสีสันให้ตระการตา ได้แก่ ฉากหนุมานแปลงร่างใหญ่โต 4 พักตร์ 8 กร สูงเทียมฟ้า เคลื่อนไหวด้วยกลไกทันสมัย และฉากหนุมานอมพลับพลา ที่โชว์ความอลังการสร้างฉากชวนเร้าใจยิ่งขึ้น รวมทั้งการต่อสู้เพื่อผ่านอุปสรรคหลายด่านเพิ่มความสนุกการผจญภัยของหนุมานให้ตื่นเต้นมากขึ้น เช่น ด่านช้างตกมัน ด่านภูเขาเพลิงกระทบกัน ด่านยุงตัวเท่าแม่ไก่ ด่านหนุมานรบมัจฉานุที่สระบัว เป็นต้น
โขน ตอน “สะกดทัพ” มี 2 องก์ รวม 13 ฉาก องก์ที่ 1 ประกอบด้วย ฉากที่ 1 ขบวนทัพไมยราพ ฉากที่ 2 ท้องพระโรงกรุงลงกา ฉากที่ 3 โรงพิธี ฉากที่ 4 ห้องบรรทมพระราม ฉากที่ 5 พลับพลาพระราม และฉากที่ 6 หนุมานอมพลับพลา
องก์ที่ 2 ประกอบด้วย ฉากที่ 1 หนุมานทำลายด่าน ฉากที่ 2 สระบัว ฉากที่ 3 สระน้ำนอกเมืองบาดาล ฉากที่ 4 หน้าประตูเมือง ฉากที่ 5 ปราสาทไมยราพ ฉากที่ 6 ป่าดงตาล และฉากที่ 7 เทพชุมนุม
เปิดการแสดงแล้ววันที่ 30 ต.ค. ถึง 5 ธ.ค.นี้ ณ ศูนย์วัฒนธรรมฯ ซื้อบัตรเข้าชมได้ที่ไทยทิคเก็ต เมเจอร์ หรือ www.thaiticketmajor.com รอบนักเรียน นักศึกษา บัตรราคา 200 บาท หยุดพักการแสดงทุกวันจันทร์และอังคาร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ที่เดียวในโลก ‘นายกฯ ทับซ้อน’ | ห้องข่าวไทยโพสต์
ห้องข่าวไทยโพสต์ : วันศุกร์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ.2567