อุทยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สวนป่าธรรมชาติ ปอดแห่งใหม่ใจกลางกรุงเทพฯ นับเป็นอีกหนึ่งความปลาบปลื้มใจใต้ร่มพระบารมี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพื้นที่สีเขียวแห่งนี้ให้คนไทย โดยการจัดสร้างอุทยานฯ มีความคืบหน้าตามลำดับ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ไปทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 9 เมื่อเย็นวันที่ 13 ตุลาคม 2565 ตรงกับวันคล้ายวันสวรรคต ร.9 ประชาชนทั่วทุกสารทิศเฝ้าฯ รับเสด็จเนืองแน่น ในการนี้ สำนักพระราชวังเปิดให้ประชาชนถวายสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ ร.9 ระหว่างวันที่ 14 -16 ต.ค. เวลา 08.00-19.00 น.
บรรยากาศแต่ละวันประชาชนที่ทราบข่าวต่างเดินทางเข้าร่วมสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 9 ตั้งแต่เช้าจรดค่ำอย่างไม่ขาดสาย นำดอกไม้และพวงมาลัยมาสักการะ หลายคนก้มลงกราบพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 9 ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ หลังจากนี้อุทยานเฉลิมพระเกียรติ ร.9 จะปิดเพื่อปรับภูมิทัศน์ และดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามพระราชดำริในหลวง รัชกาลที่ 10
อุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ รัชกาลที่ 9 มีเนื้อที่ 279 ไร่ เมื่อเสร็จสมบูรณ์จะเป็นแลนด์มาร์ค สถานที่ท่องเที่ยว สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ มากกว่านั้นเป็นแหล่งเรียนรู้ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ผ่านองค์ความรู้เรื่องป่าและน้ำ
ที่นี่โดดเด่นด้วยการออกแบบภูมิสถาปัตย์ตามแบบอย่างโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อถวายพระเกียรติยศ แสดงให้เห็นถึงความผูกพันและความจงรักภักดีที่ประชาชนมีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ แนวคิดหลักในการออกแบบอุทยานฯ แห่งนี้ สอดคล้องกับพระปฐมบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2562
“ เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป”
อุทยานฯ สร้างบนพื้นที่อดีตราชตฤณมัยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์” หรือที่นิยมเรียกกันว่า “สนามม้านางเลิ้ง”ซึ่งสร้างขึ้นมาตั้งสมัย ร.6 ให้บริการแข่งม้าสำหรับคนไทยและนำรายได้มาใช้บำรุงพันธุ์ม้าจากประเทศออสเตรเลียและอังกฤษ พร้อมทั้งจัดทำทะเบียนประวัติม้า เจ้าของและผู้ที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งให้บริการอื่นๆ เช่น สนามเทนนิส, สระว่ายน้ำ และห้องอาหารจัดเลี้ยงต่าง ๆ
หลังหมดสัญญาเช่ากับสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เมื่อ พ.ศ. 2561 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นสวนสาธารณะ มีพระราชประสงค์ให้พื้นที่แห่งนี้ยังมีประโยชน์แก่ประชาชน เป็นปอดของคนกรุงเทพฯ ช่วยบรรเทามลพิษจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ดูดซับก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยต้นไม้ใหญ่ร่มรื่นมากกว่า 4,500 ต้น จัดวางคล้ายป่าธรรมชาติ ปลูกไม้ที่มีความหมายและมีประโยชน์ เช่น ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ปลูกพืชกรองฝุ่น ปลูกไม้โตเร็วเพื่อสร้างร่มเงา รวมถึงต้นไม้ประจำจังหวัด ไม้หายากและพืชบำบัดน้ำ
รวมถึงมีการทำเกษตรทฤษีใหม่เพื่อให้ผู้มาใช้สวนแห่งนี้ได้รับความรู้หลายมิติ อีกทั้งได้รับความเพลิดเพลินจากธรรมชาติภายในสวนแห่งนี้ สร้างระบบนิเวศที่สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ควบคู่พัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนด้วยการเพิ่มพื้นที่ใช้งานด้านนันทนาการและกีฬานานาชนิด
ส่วนพระบรมราชานุสาวรีย์ ร.9 ตั้งอยู่ใจกลางสวน เปรียบดั่งศูนย์รวมจิตใจของชาวไทยทุกหมู่เหล่าเกิดขึ้นจากพระราชปณิธานของในหลวงและพระราชินี ทรงตั้งพระราชหฤทัยเฉลิมพระเกียรติ ร.9 และน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้วยทศพิธราชธรรมบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ราษฎรตลอดระยะ 70 ปี ครองราชย์
ทั้งนี้ พระบรมราชานุสาวรีย์ ร.9 ประดิษฐานเหนือผังแปดเหลี่ยม ตามอย่างคติของพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ อันเป็นสัญลักษณ์เบื้องแรกแห่งการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สื่อว่า ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเปี่ยมด้วยพระบรมเดชานุภาพ มีผู้แทนของปวงชนในแผ่นดินทั่วทั้งแปดทิศต่างน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายแผ่นดินด้วยความจงรักภักดี พระบรมรูปหันพระพักตร์ไปทางพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต หล่อด้วยโลหะสำริด ความสูง 7.7 เมตร หรือขนาด 4 เท่าครึ่งของพระองค์จริง ฉลองพระองค์เครื่องแบบทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ และประดิษฐานอักษรพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร. ที่ด้านหน้าของแท่น พร้อมประดับแผ่นคำจารึกหล่อด้วยโลหะสำริด ทั้ง 8 ทิศ ที่แท่นฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ ซึ่งได้จารึกพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ และพระเกียรติคุณของ ร.9 รวมทั้งพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ทุกตารางนิ้วภายในอุทยานฯ ร.9 ออกแบบให้เกี่ยวข้องกับในหลวง ร.9 ประกอบด้วยสะพานหมายเลข 9 ที่เป็นเส้นทางเดินภายในส่วนนำสู่พระบรมราชานุสาวรีย์ ร.9 ,สะพานหยดน้ำพระทัยที่สื่อให้เห็นถึงน้ำพระราชหฤทัยดั่งสายน้ำที่หล่อเลี้ยงคนไทยมาตลอด 70 ปี สะพานออกแบบอย่างสวยงามโดยเฉพาะยามสะท้อนเงาจากแผ่นน้ำ นอกจากนี้ จำลองสะพานไม้เจาะบากง จ.นราธิวาส สะพานที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เคยเสด็จไปทรงงาน บริเวณสะพานมีท่าน้ำ น้ำตกและลำธารจำลองตามแบบป่าฝนเขตร้อนกลมกลืนกับพื้นที่และจะมีสระน้ำรูปเลข ๙ ไทย เป็นหนึ่งในไฮไลท์
นอกจากออกแบบอย่างสวยงามเหมาะกับการท่องเที่ยวแล้ว ยังเป็นพื้นที่รองรับน้ำ หรือ “แก้มลิง” ที่สำคัญในยามกรุงเทพฯ เผชิญวิกฤตจากอุทกภัย โดยสามารถผันน้ำเชื่อมโยงกับคลองเปรมประชากรที่อยู่ด้านนอกอุทยานฯ
นางสาวเอมอร ศรีสกาน เดินทางมาจากบ้านพัก จ.นนทบุรี พร้อมสามีและลูกชาย ด.ช.แทนคุณ ยุทธศักดารักษ์ อายุ 10 ปี กล่าวว่า ครบ 6 ปี ร.9 สวรรคต ปลาบปลื้มใจที่ได้มากราบพระบรมราชานุสาวรีย์ ร.9 ถือเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ เวลาที่คิดถึงพระองค์ท่าน ก็มาที่อุทยานฯ แห่งนี้ ทราบจากข่าวว่า ปีหน้าอุทยานฯ จะแล้วเสร็จ เป็นสวนป่า มีน้ำตก สระน้ำเลข ๙ ลูกชายยังชวนให้มาเที่ยวที่นี่อีก
“ สวนนี้จะบอกเล่าเรื่องราวโครงการพระราชดำริ ร.9 และพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ส่งเสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียน มีมากกว่าในหนังสือเรียน ทั้งยังปลูกฝังความรักสถาบันกษัตริย์อีกด้วย “ นางสาวเอมอร กล่าว
ส่วน น้องแทนคุณ บอกว่า ได้มาเห็นพระบรมราชานุสาวรีย์ร.9 ภูมิใจที่ได้มากราบ ท่านทรงทำฝนเทียม ปลูกป่า แก้ปัญหาน้ำท่วม 70 ปี ครองราชย์ทรงเยี่ยมราษฎรทุกภาคโดยไม่เหน็ดเหนื่อย พระองค์อยู่ในใจเสมอ
นางยุภาพรรณ ทาฟู อายุ 42 ปี ชาวบ้านย่านรังสิต เดินทางมาพร้อมสามีและลูกสาวคนเล็ก ด.ญ. ปุณยนุช ผิวคราม อายุ 10 ปี นร.ชั้น ป.5 รร.สิวลี คลองสาม บอกว่า ทุกครั้งที่มีงานพระราชพิธีมักจะพาลูกๆ มาเฝ้าฯ รับเสด็จด้วย รวมถึงงานพระบรมศพในรัชกาลที่ 9 ตอนนั้นลูกอายุเพียง 5 ขวบ ตนคิดว่า ลูกเกิดในรัชกาลที่ 9 และเกิดในแผ่นดินของพระองค์ท่านเพียง 5 ปี อยากพาลูกมาแสดงความจงรักภักดี เพราะเป็นงานสุดท้ายของรัชสมัยพระองค์ท่านแล้ว
“ อุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ แห่งนี้ ไม่ได้มองแค่เป็นสวนสาธารณะแห่งใหม่ แต่แห่งนี้นั้นยึดเหนี่ยวจิตใจเปรียบดั่งลานพระบรมรูปทรงม้าที่คนไทยได้ร่วมรำลึกถึงรัชกาลที่ 5 ” นางยุภาพรรณ กล่าวด้วยรอยยิ้ม
ด้าน นางอักษรพรรณ วงษ์สืบพงศ์ อายุ 53 ปี กล่าวว่า 6 ปีที่ผ่านมาคิดถึงพระองค์ท่านมาก วันนี้พอได้เห็นพระบรมราชานุสาวรีย์ตื้นตันใจมาก ได้สักการะแล้ว เดี๋ยวจะมาอีก เพราะจุดนี้เป็นศูนย์ร่วมจิตใจ ขอให้ในหลวง พระราชินีทรงพระเจริญ พระองค์ทรงงานหนักสืบสานพระกรณียกิจจากรัชกาลที่ 9
อุทยานเฉลิมพระเกียรติ ร.9 เริ่มพัฒนาแบบตั้งแต่ปี 2561 คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้ประชาชนเข้าใช้บริการได้ในปี 2567
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ในหลวง พระราชินี ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทาน เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพรัชกาลที่ 9
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง ไปทรงวางพุ่มดอกไม้ ณ พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เขตดุสิต
สนว.เปิดให้วางพวงมาลา-ถวายสักการะที่อุทยานเฉลิมพระเกียรติ ร.9
สนว.เปิดให้วางพวงมาลาและถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ในหลวง ร.9 เนื่องในวันนวมินทรมหาราช
สำนักพระราชวังเปิดให้สักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ ร.9
13 ต.ค.2565 - พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ณ อุทยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร
'ในหลวง-พระราชินี' ทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ ร.9 เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต 13 ตุลาคม
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง จากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปยังอุทยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช
'พี่คนดี' ร่ายกลอน 'ตราบฟ้าสิ้น ดินสลาย' ผู้ใดมีจิตคิดทำลาย ขอให้แพ้พ่ายไม่ตายดี
เพจเฟซบุ๊ก P.khondee (พี่คนดี กวีสมัครเล่น) โพสต์บทกลอนเรื่อง "ตราบฟ้าสิ้น ดินสลาย" มีเนื้อหาดังนี้ คุณความดี ของพระองค์ จะคงอยู่
'ผู้พันเบิร์ด' เผยที่มา 'อุทยานเฉลิมพระเกียรติ ร.9' จากแนวพระราชดำริในหลวง
“ผู้พันเบิร์ด”พันเอกวันชนะ สวัสดี จิตอาสา 904 เปิดเผยถึงความเป็นมาในการใช้ที่ดินสนามม้านางเลิ้งและแนวคิดของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในการปรับปรุงพื้นที่เป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่และเป็นพื้นที่จอดรถของโรงพยาบาลรามาธิบดี