ถึงแม้ว่าพายุ”โนรู” จะผ่านพ้นไป แต่ผลกระทบจากพายุ และปริมาณฝนที่ตกหนักมากในพื้นที่ 12 จังหวัด 43 อำเภอของสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และน้ำท่วมขังมากกว่า 50 จังหวัด ประชาชนได้รับผลกระทบจำนวนมาก
จากข้อมูลสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำองค์การมหาชน (สสน.) ปริมาณฝนยังส่งผลให้ช่วงวันที่ 4-10 ต.ค.2565 มีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนรวมทั้งประเทศ 5,194 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยเขื่อนภูมิพลมีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนสูงสุด 1,078 ล้านลูกบาศก์เมตร รองลงมาเขื่อนอุบลรัตน์ และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ขณะที่การเร่งระบายน้ำออกสู่อ่าวไทยเพื่อลดกระทบพบอุปสรรคจากสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงต่อเนื่องตั้งแต่ 6 ต.ค.2565 ทำให้ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีนเพิ่มสูงขึ้นบริเวณ จ.ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพฯ สมุทรปราการ และนครปฐม ส่งผลมีน้ำท่วมในพื้นที่คันกั้นน้ำต่ำ หรือแนวฟันหลอ รวมถึงชาวบ้านที่อยู่นอกแนวคันกั้นน้ำ
สถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา ปัจจุบัน (13 ต.ค.2565 ) มีปริมาณน้ำรวมกันมากกว่า 20,000 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 81 ของความจุอ่างฯ รวมกัน ขณะที่เขื่อนภูมิพล จ.ตาก งดระบายน้ำตั้งแต่วันที่ 4 ต.ค.ที่ผ่านมา เพื่อบรรเทาผลกระทบพื้นที่ท้ายน้ำ ด้านเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ ปรับระบายน้ำเล็กน้อย จากเดิมงดระบาย
อีก 2 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่มีน้ำเกินความจุอ่างฯ แล้ว ได้แก่ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก มีปริมาณน้ำ 952 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี มีปริมาณน้ำ 1,052 ล้าน ลบ.ม. ยังต้องระบายน้ำต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ฝนลดลง น้ำเหนือเริ่มทรงตัว เหลือแค่การระบายน้ำในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาลงอ่าวไทย
หากเปรียบเทียบข้อมูลสถิติปริมาณน้ำปี 2565 และปี 2554 ใน 2 จุดใหญ่ ได้แก่ สถานีตรวจวัดน้ำ C.2 จ.นครสวรรค์ ปริมาณน้ำไหลผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ที่ 3,059 ลบ.ม.ต่อวินาที ขณะที่ปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีตรวจวัด C.29A อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา เฉลี่ยอยู่ที่ 3,100 ลบ.ม.ต่อวินาที
ส่วนปี 2554 แม่น้ำเจ้าพระยา สถานี C.2 จ.นครสวรรค์ ปริมาณน้ำไหลผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ที่ 4,236 ลบ.ม.ต่อวินาที (สูงสุดอยู่ที่ 4,686 ลบ.ม.ต่อวินาที วันที่ 13 ต.ค.2554) จะเห็นได้ว่าปริมาณน้ำเหนือเขื่อนปี 2554 ที่เกิดมหาอุทกภัยมากกว่าปีปัจจุบันราว 1,100 ลบ.ม.ต่อวินาที
จากข้อมูลในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา น้ำท่วมปี 2565 แม้จะวิกฤต ก็ไม่สาหัสเท่ากับปี 54 แต่จะมีบางพื้นที่ที่ต้องรับน้ำ รวมถึงกระทบจากแม่น้ำเอ่อล้นผลจากการระบายน้ำเหนือเขื่อน
แหล่งข่าวจากศูนย์ส่วนหน้า อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา ระบุว่า จากการวิเคราะห์สถานการณ์น้ำอยุธยา โดยหน่วยวิเคราะห์และติดตามสถานการณ์น้ำเคลื่อนที่ ขณะนี้ (13 ต.ค.) น้ำไหลผ่าน จ.นครสวรรค์ 3,048 ลบ.ม.ต่อวินาที โดยลดลงอย่างช้า ส่วนน้ำที่ระบายจากเขื่อนเจ้าพระยา เพราะยังมีน้ำไหลมาเติมจากแม่น้ำสะแกกรัง ทำให้ระดับน้ำหน้าเขื่อนยังอยู่สูงจนเป็นอันตรายต่อบานประตู ทำให้ยังคงระบายน้ำที่ 3,159 ลบ.ม.ต่อวินาที ระดับน้ำเจ้าพระยาท้ายเขื่อนบริเวณ จ.สิงห์บุรี จ.อ่างทอง แม้จะมีการระบายเพิ่ม แต่ส่งผลให้มีระดับน้ำเพิ่มเล็กน้อย เพราะคันกั้นน้ำขาดหลายจุด ทำให้น้ำไหลบ่าออกไป อยุธยาตอนนี้มีระดับน้ำทรงตัว ส่วนที่ อ.เสนา ระดับน้ำลดลง น้ำทะเลหนุนลดลง
อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำในทุ่งบางบาล ทุ่งป่าโมก ทุ่งผักไห่ รับน้ำเต็มและเกินความจุแล้ว กำลังส่งน้ำลงไปยังพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งเจ้าเจ็ด อยุธยา ซึ่งยังมีปริมาณน้ำ 57% อยู่ตอนบนของทุ่ง ต้องทำความเข้าใจกับผู้น้ำชุมชนและชุมชนในพื้นที่ แนวโน้มสถานการณ์น้ำท่วมอยุธยาจะมีระดับน้ำทรงตัวไปอีก 3 วัน จากนั้นระดับน้ำจะค่อยๆ ลดลง เพราะน้ำทะเลหนุนต่ำลง สามารถระบายน้ำออกสู่อ่าวไทยได้มากขึ้น แต่ต้องใช้เวลา
ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคกลาง ล่าสุด สสน. ได้ติดตั้งโทรมาตรวัดระดับน้ำอัตโนมัติเพื่อติดตามระดับน้ำในทุ่งรับน้ำเจ้าพระยา ทั้ง 10 ทุ่งลุ่มต่ำ ได้แก่ ทุ่งเจ้าเจ็ด ทุ่งผักไห่ ทุ่งป่าโมก ทุ่งโพธิ์พระยา ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท –ป่าสัก ทุ่งท่าวุ้ง ทุ่งเชียงราก ทุ่งบางกุ่ม ทุ่มบางกุ้ง และทุ่งบางบาล-บ้านแพน จากสถานีโทรมาตรดังกล่าวช่วยติดตามข้อมูลสถานการณ์น้ำแบบเรียลไทม์ใช้วางแผนจัดการน้ำในพื้นที่ อีกทั้งเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลผ่านแอปพลิเคชั่น Thaiwater อีกด้วย
แม้กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์จะะไม่มีพายุเข้าใกล้ประเทศไทยซ้ำเติมพื้นที่น้ำท่วม แต่สถานการณ์ยังไม่น่าวางใจ เพราะช่วงวันที่ 14-16 ต.ค.นี้ มีการประกาศเตือนพายุดีเปรสชั่น TWENTY-TWO บริเวณทะเลจีนใต้มีแนวโน้มเคลื่อนตัวสู่ชายฝั่งเวียดนาม ส่งผลให้อีสานตอนล่างมีจะมีฝนเพิ่มขึ้น
2-3 วันนี้ ฝนจะตกหนักอุบลราชธานี ศรีษะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ นครราชสีมา อำนาจเจริญ ยโสธร ร้อยเอ็ด มหาสารคาม มุกดาหาร กาฬสินธุ์ ขอนแก่น รวมถึงภาคใต้ฝนตกหนักชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา กระบี่ ตรัง สตูล ยะลา ปัตตานี นราธิวาส
ชั่วโมงนี้อีสานยังต้องเฝ้าระวังระดับน้ำ แม่น้ำชี-แม่น้ำมูล ที่ยังล้นตลิ่งในหลายพื้นที่ บริเวณน้ำมูล จ.อุบลราชธานี แม้ระดับน้ำทรงตัว และลำน้ำสาขาลดลงบางพื้นที่ แต่ยังคงต้องเฝ้าติดตามเพราะมีการระบายน้ำจากเขื่อนลงมาอย่างต่อเนื่อง และปริมาณน้ำในเขื่อนสิรินธร ลำตะคอง อุบลรัตน์ จุฬาภรณ์ ลำนางรอง ลำพระเพลิง และห้วยหลวง ยังอยู่ในเกณฑ์น้ำมาก
สอดรับกับข้อมูลน้ำของ รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะประธานแผนงานวิจัยเข็มมุ่งการบริหารจัดการน้ำ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า สถานการณ์ลุ่มน้ำชี-มูล ว่า ยังต้องประเมินหน้างานในทุกวัน ขณะน้ำชีกำลังเดินทางไปลำน้ำมูล คาดว่า น้ำชีจาก จ.ขอนแก่น ไปน้ำมูลที่ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี น่าจะใช้เวลาประมาณ 7 วัน ช่วงที่มวลน้ำชีไปถึง น้ำมูลอาจจะเริ่มลดระดับลงบ้าง หลังจากที่ระดับน้ำทรงตัวจากระดับน้ำขึ้นสูงสุด ปีนี้ระดับสูงกว่า ปี 2562 วัดได้ประมาณ 50เซนติเมตร
“ โจทย์ใหญ่ต้องเฝ้าระวังน้ำท่วมหนัก จ.อุบลราชธานี เพราะสภาพพื้นที่มีข้อจำจัด ไม่มีทุ่งรับน้ำ ไม่มีเขื่อน จะต้องจัดโซนน้ำท่วม ล้อมเขตเมือง เขตเศรษฐกิจ และหาพื้นที่ให้น้ำอยู่ในกรณีที่จำเป็นและต้องประคองไป โชคดีที่การระบายน้ำลงแม่น้ำโขงทำได้ดี ระดับแม่น้ำโขงต่ำกว่าแม่น้ำมูล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องจัดเตรียมพื้นที่อพยพและซักซ้อมแผนเผชิญเหตุประชาชนในพื้นที่เสี่ยง สถานการณ์ในลุ่มน้ำชี-น้ำมูลยังจะมีน้ำท่วมสูงอีกนาน 2 เดือน แล้วก็ลดลง น้ำที่เอ่อท่วมจะกลับเข้าสู่ลำน้ำหลัก และสามารถบริหารจัดการน้ำได้ จากนั้นกลาง เดือน พ.ย. น้ำจะท่วมภาคใต้ ก่อนที่จะเข้าสู่ปรากฎการณ์เอลนีโญ คาดว่าจะหลังเมษายน ปี 2567 ส่งผลต่อไทยมีฝนน้อย “
ส่วนแนวทางป้องกันความเสียหายน้ำท่วมระยะยาว รศ.ดร.สุจริต ระบุควรใช้หลายมาตรการร่วมกัน อย่างการควบคุมผังเมือง โซนนิ่งล้อมเมืองเป็นชั้นๆ จัดระบบถนนกั้นน้ำ นอกจากนี้ กรมชลประทานเสนอโครงการขุดคลองลัดนำน้ำจากน้ำมูลมาลงโขง เพื่อลดปริมาณน้ำผ่านเมืองจาก 5,000 ลบ.ม.เหลือ 3,000 ลบ.ม. แต่ใช้งบประมาณสูง ถ้าโครงการผ่านจะช่วยบรรเทาความเสียหายจากอุทกภัยที่เกิดขึ้นทุกปีได้
ส่วนการรับมือมือน้ำท่วมในลุ่มน้ำเจ้าพระยานั้น รศ. ดร.สุจริต กล่าวว่า ขณะนี้ทุ่งรับน้ำทั้ง 10 ทุ่ง ที่รองรับปริมาณน้ำ 500-600 ล้าน ลบ.ม. เต็มความจุแล้ว ขณะที่น้ำใหม่ลงมาเติมไม่มาก น้ำทะเลหนุนลดลง คาดว่าใช้เวลา 2 สัปดาห์ถึง 1 เดือน จะสามารถระบายออกอ่าวไทย พอดีเวลากับน้ำทะเลจะหนุนสูงอีกปลายเดือนตุลาคม ทั้งนี้ สาเหตุหลักของน้ำท่วมในลุ่มน้ำเจ้าพระยา คือ ปริมาณน้ำฝนที่ตกมากกว่าค่าเฉลี่ย ปริมาณน้ำเหนือจากพื้นที่ตอนบนลุ่มน้ำเจ้าพระยา และภาวะน้ำทะเลหนุน
“ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้ฝนแปรปรวน ฝนตกหนักมาก อย่างกรณีรังสิตฝนตกไม่หยุดน้ำท่วม รถจมน้ำ แนวโน้มฝนจะแปรปรวนมากขึ้น การบริหารจัดการน้ำนอกจากพัฒนาระบบฐานข้อมูลและการประมวลผลแบบอัตโนมัติสำหรับการบริหารจัดการน้ำ เพื่อดูปริมาณน้ำท่าให้แม่นยำมากขึ้นท่ามกลางความแปรปรวนของสภาพฝน ยังต้องจัดการที่มนุษย์ จัดการการใช้ประโยชน์ที่ดิน จัดทำแผนที่เสี่ยงภัย พื้นที่ไหนท่วมได้ พื้นที่ไหนไม่ควรท่วม ตลอดจนพัฒนาแนวทาง Green Finance หรือการเงินสีเขียว ทั่วโลกให้ความสนใจเทรนด์นี้เพื่อช่วยโลกสู่กับภาวะโลกร้อน คนเมืองที่ได้รับประโยชน์จากน้ำไม่ท่วมหรือองค์กรธุรกิจที่รับผิดชอบที่สิ่งแวดล้อมจ่ายเพิ่ม ช่วยเหลือคนในพื้นที่รับน้ำ “ รศ.ดร.สุจริต กล่าว
ภาพรวมน้ำท่วมปี 2565 ประธานแผนงานวิจัยเข็มมุ่งการบริหารจัดการน้ำ วช. สรุปท้ายยังอยู่ในเกณฑ์สูง แต่ไม่เท่าปี 2554 อย่างไรก็ตาม จะต้องระวังเรื่องระบบระบายน้ำของแต่ละพื้นที่ และพัฒนาระบบเฝ้าระวังเตือนภัยของรัฐให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่านี้ ต้องพัฒนาเทคโนโลยีการเอไอเตือนภัย โดยเฉพาะแอปพลิเคชั่นที่กำหนดพื้นที่น้ำท่วมชัดเจน ลงระดับชุมชน เป็นบริการพื้นฐานเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างทันท่วงที ปัจจุบันหลายประเทศทำแล้ว เช่น ญี่ปุ่น เพราะการเผยแพร่ข้อมูลผ่านแพลตฟอร์มของหน่วยงานแต่ละยังไม่เพียงพอ
“ น้ำท่วมกรุงเทพฯ น้ำท่วมรุนแรงเทศบาลนครต่างๆ ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย จำเป็นต้องตั้งหลักใหม่ ทบทวน ปรับปรุงการบริหารน้ำ อยากให้ร่วมกันจัดทำแผนจัดการน้ำเฉพาะท้องถิ่น ไม่หวังพึ่งพารัฐ รวมถึงในภาวะวิกฤตต้องประสานการทำงานระหว่างกทม.กับชุมชนอย่างใกล้ชิด รวมถึงการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหารับมือน้ำท่วม “ รศ.ดร.สุจริต ทิ้งท้ายต้องจัดทัพใหม่รับมือสภาพอากาศแปรปรวน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
จุฬาฯ จับมือกรม Climate Change และเครือข่ายพันธมิตรภาคเอกชน เปิดตัวหลักสูตร “TOP Green” หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้าน Sustainability
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม หอการค้าไทย และสภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ UN Global Compact Network Thailand
จุฬาฯ “เปิดแพลตฟอร์ม ฝ่าพิบัติ: Digital War Room” นวัตกรรมเตือนพื้นที่น้ำท่วมและแนวดินถล่มจากอุทกภัย
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดงานเสวนาวิชาการ Chula the Impact ครั้งที่ 25 เรื่อง “แพลตฟอร์มจุฬาฯ ฝ่าพิบัติ: Digital War Room” เพื่อนำเสนอนวัตกรรมจากคณาจารย์นักวิจัยจุฬาฯ
จุฬาฯ อันดับ 1 มหาวิทยาลัยไทย Top ของประเทศ 3 ด้าน จากการจัดอันดับโดย THE WUR 2025
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับการจัดอันดับให้เป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของไทย จากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลกโดย The Times Higher Education World University Rankings 2025 (THE WUR 2025) จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วโลกที่ได้รับการจัดอันดับกว่า 2,000 แห่ง กว่า 115 ประเทศ