ชาวบ้านบ้านยาง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ดอยคำ และเหล่าเยาวชนหัวใจจิตอาสาร่วมแรงร่วมใจสร้างฝายชะลอน้ำ หรือ”ฝายดอยคำ” จากไม้ไผ่เพื่อขวางกั้นทางเดินของน้ำในลำธารบริเวณพื้นที่ต้นน้ำเป็นระยะๆ ทำให้ช่วงที่น้ำไหลหลาก น้ำไหลช้าลง ลดความเร็วและความรุนแรงป้องกันภัยจากธรรมชาติ และบรรเทาปัญหากัดเซาะดินให้น้อยลง ช่วยกักเก็บตะกอนไม่ให้ไหลลงไปทับถมในลุ่มน้ำตอนล่าง เมื่อผ่านพ้นฤดูฝนฝายชะลอน้ำนี้ยังเพิ่มความชุ่มชื้นในดินและป่าไม้ เกิดเป็นร่องน้ำทำอีกหน้าที่ป้องกันไฟป่าได้อีกด้วย
ต้นฝนปีนี้บ้านยางทำฝายชะลอน้ำไปแล้วมากกว่า 10 ฝาย ถ้ารวมฝายดอยคำทั้งหมดที่สร้างกระจายในพื้นที่บ้านยาง ต.แม่งอน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ซึ่งใกล้โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 1 (ฝาง) จังหวัดเชียงใหม่ ที่ บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด พัฒนาร่วมกับชุมชนขึ้นตลอดระยะเวลา 14 ปีที่ผ่านมา มีตัวเลขประมาณ 1,500-2,000 ฝาย ถือเป็นปัจจัยสำคัญทำให้ชุมขนและโรงงานหลวงฯ ไม่มีความสูญเสียจากน้ำป่าไหลหลากและดินถล่ม
นายพิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการ กล่าวในงานเปิดกิจกรรม” เยาวชนหัวใจดอยคำ” ณ โรงงานหลวงฯ ฝาง ว่า ฝายดอยคำเป็นการนำแนวทางฝายชะลอน้ำตามแนวพระราชดำริ ในหลวง รัชกาลที่ 9 มาพัฒนาให้มีความยั่งยืนมากขึ้น และสามารถทำหน้าที่ชะลอน้ำในระยะยาวได้ดีกว่า ถ้าแบบฝายไม้แนวเดียว ปักไม้ไผ่อายุใช้งาน 1- 2 ปี ผุพังเปื่อยย่อยสลาย ส่วนฝายคอกหมู จะปักไม้เสาสองแนวห่างกัน นำหิน ดินทิ้งในพื้นที่ใส่ระหว่างกลาง ถ้าฝนมากน้ำไหลแรง ส่งผลให้ดิน หินพังลงมา ไหลตามร่องเขา นำมาสู่การพัฒนาฝายยั่งยืน เกิดเป็นฝายดอยคำ โดยใช้ธรรมชาติดูแลธรรมชาติตามที่ในหลวง ร.9 ทรงสอน
ผู้บริหารดอยคำ เผยจุดเด่นของฝายดอยคำว่า เป็นฝายที่ทำมาจากไม้ไผ่ เหมือนฝายคอกหมู แต่ออกแบบให้มี 3 ชั้น แต่ละชั้นห่างกันครึ่งเมตร ชั้นแรกใช้ลำไม้ไผ่ตัดเป็นท่อนตอกลงดินเรียงเป็นแนวผนังขวางกับร่องน้ำ โดยให้ผนังด้านข้างสูงกว่าตรงกลาง ปลูกหญ้าแฝกตรงคันดินด้านข้างระหว่างฝายแต่ละชั้น พื้นที่ตรงกลางฝายให้เป็นทางน้ำไหล ส่วนหญ้าแฝกจะช่วยยึดหน้าดินไว้ให้คงความเป็นคันดิน ทำหน้าที่ชะลอน้ำต่อไป หากไม้ไผ่ผุพังย่อยสลาย รูปแบบนี้ช่วยเพิ่มความแข็งแรงคงทนและสามารถทำหน้าที่ชะลอน้ำในระยะยาวได้ แม้ว่าไม้ไผ่จะผุพังไปบ้างแล้ว
“ ฝายเมื่อสร้างเสร็จช่วยชะลอการไหลของน้ำ เหนือฝายที่เป็นรูปเกือกม้าสามารถเก็บกักน้ำ เมื่อฝนหยุดตกความชุ่มชื้นจะอยู่หน้าฝาย ต้นไม้ พรรณพืช เมล็ดพันธุ์ ที่มีอยู่ในบริเวณนั้น จะเติบโตงอกงาม เกิดความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า เป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตธรรมชาติให้ชาวบ้านพึ่งพิง ส่วนหญ้าแฝกรากหยั่งลึกลงไปใต้ดินกว่า 20 เมตร ถ้าทำฝายช่วงต้นฝนหญ้าแฝกขยายเป็นกอกลายเป็นกำแพงธรรมชาติ ช่วยกรองตะกอนดินไม่ให้ไหลลงไปท้ายน้ำ ผลสำเร็จของฝายดอยคำไม่ได้อยู่ที่ปริมาณ แต่วัดจากเมื่อฝนตกหนัก 30 นาที น้ำในลำธารข้างโรงงานหลวงฯ ยังใส แสดงว่า ฝายทำหน้าที่แล้ว ขณะเดียวกันบริเวณสองข้างของหูฝายปลูกไม้ไผ่ เพื่อเป็นวัสดุสร้างฝายปีต่อไป โดยไม่รบกวนไม้ไผ่ในพื้นที่หรือจากชุมชนอื่นๆ รวมถึงเตรียมชำหญ้าแฝก ประหยัดค่าใช้จ่าย “ นายพิพัฒพงศ์ย้ำฝายดอยคำ ช่วยอนุรักษ์ดิน น้ำ ป่า
ส่วนการบำรุงรักษาฝายดอยคำ ชาวบ้านและหน่วยงานในพื้นที่จะสำรวจและดูแลฝายอย่างต่อเนื่องแล้ว นายพิพัฒนพงศ์เผยมีแผนจะพัฒนาฝายดอยคำด้วยเทคโนโลยีโดรนมาดำเนินการศึกษา สำรวจ พร้อมจัดทำพิกัดฝายดอยคำให้ชัดเจน ตลอดจนติดตามสภาพปัญหาการกัดเซาะหน้าดิน เพื่อจะได้เห็นแนวทางจัดการดิน น้ำ ในต้นน้ำอย่างยั่งยืน ปี 2566 ดอยคำจะมีปฏิทินทำฝายดอยคำ และจะเชิญชวนประชาชน องค์กร และหน่วยงาน ร่วมทำฝายชะลอน้ำ เพื่อทำประโยชน์ให้ชุมชน ทั้งนี้ ตั้งเป้าให้”ฝายดอยคำ” เป็นโมเดลต้นแบบทำฝายยั่งยืนแก่พื้นที่ต้นน้ำอื่นๆ ตลอดจนเป็นศูนย์การเรียนรู้เพื่อให้นักเรียนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมและเรียนรู้ประโยชน์การทำฝายดอยคำ
กิจกรรม”เยาวชนหัวใจดอยคำ” ที่นำเยาวชนระดับมัธยมศึกษาร่วมทำฝาย แต่ละปีจะมีนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 30 คน สำหรับปีนี้มีนักเรียนเข้าร่วมทำฝายดอยคำ รวม 22 คน แบ่งเป็นเยาวชนในพื้นที่บ้านยาง 18 คน จาก 5 โรงเรียน คือ โรงเรียนรัตนเอื้อวิทยา, โรงเรียนเจ้าแม่หลวงอุปถัมภ์ 1 ,โรงเรียนฝางอุปถัมภ์, โรงเรียนรังษีวิทยา และโรงเรียนวิทยาลัยการอาชีพฝาง ที่เหลือเป็นน้องๆ เยาวชนจิตอาสาจากกรุงเทพฯ เดินทางมาร่วมทำฝาย โดยทุกคนร่วมทำฝายอย่างตั้งใจและเติมเต็มประสบการณ์นอกห้องเรียน ทั้งนี้ นักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมอาสาได้รับหนังสือรับรองบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม
ตัวแทนเยาวชนจิตอาสาจากกรุงเทพฯ นิวส์-นางสาวชนกนันท์ พรดิลกรัตน์ เล่าว่า ที่ผ่านมา เคยร่วมกิจกรรมต่างๆ กับโรงเรียนมาบ้าง แต่การสร้างฝายชะลอน้ำถือเป็นครั้งแรก ถือเป็นประสบการณ์ใหม่ที่ดีมาก ได้ลงมือทำจริงๆ ถึงจะเหนื่อย ร้อน แต่สนุกดี แล้วก็ได้ความรู้เกี่ยวกับฝายมากขึ้น โดยเฉพาะชนิดของฝาย อย่าง “ฝายดอยคำ” เป็นฝายชะลอน้ำประเภทชั่วคราว จัดอยู่ในประเภทฝายแม้ว ทำจากไม้ไผ่ ถูกออกแบบเพื่อให้มีความแข็งแรงคงทน และสามารถทำหน้าที่ชะลอน้ำในระยะยาวได้ นอกจากนี้ ยังมี “ฝายไม้แนวเดียว”และ “ฝายคอกหมู” กิจกรรมนี้ได้รู้จักเพื่อนๆ ที่มาจากต่างโรงเรียนด้วย
ด.ญ.จิรภัทร์ สมบัติรัตนากร กับเพื่อนๆ เยาวชนจิตอาสา ด.ญ.ลลดา ชัยสุขศรีส่องฟ้า และ น.ส.แก้ว ลุงหลู่ เร่งส่งต่อลำไม้ไผ่และอุปกรณ์ทำฝายแข่งกับเวลา กล่าวว่า เรียนอยู่ชั้น ม.4 เป็นครั้งแรกที่มีโอกาสได้มาร่วมทำฝายชะลอน้ำ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากน้ำป่าที่จะเกิดขึ้น เพราะหลังฝนตกน้ำบนภูเขาจะไหลลงไปในหมู่บ้าน อาจทำให้เกิดน้ำท่วมสร้างความเสียหาย ถ้ามีฝายสามารถช่วยชะลอน้ำ แก้ปัญหาได้มาก การทำกิจกรรมจิตอาสาเพื่อสังคม ถือเป็นประสบการณ์ที่ดี ที่ผ่านมา โรงเรียนส่งเสริมให้นักเรียนทำกิจกรรมต่างๆ อาทิ มัคคุเทศก์แนะนำแหล่งท่องเที่ยวชุมชน ตลอดจนร่วมกิจกรรมทำประโยชน์ให้กับชุมชน การดูแลไม่ทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ขณะที่ น้องพิณแพง – ด.ญ.ศินาถ สารภิรมย์ อายุ 9 ปี นักเรียนชั้น ป. 4 โรงเรียนอนุบาลปัตตานี จ.ปัตตานี ที่ใช้เวลาช่วงปิดเทอมมาร่วมทำฝายดอยคำ เล่าว่า วันนี้ได้ตอกไม้ไผ่เพื่อทำฝายเรียงติดกัน โดยมีพี่ๆ จิตอาสามาช่วยสอน และได้ลำเลียงหญ้าแฝกเพื่อส่งต่อให้ชาวบ้านปลูกระหว่างฝายแต่ละชั้นเหมือนเป็นกำแพง ได้ความรู้หญ้าแฝกช่วยกรองตะกอนดินและรักษาหน้าดิน แม้ช่วงทำฝาย อากาศจะร้อน แต่สนุกดี ชอบที่ได้มาช่วยกันทำฝาย และได้รู้จักเพื่อนๆ พี่ๆ หลายคน
ดอยคำจัดกิจกรรมสร้างฝายมอบให้ชุมชน นอกจากได้แหล่งกักเก็บน้ำคืนความชุ่มชื้นให้กับผืนป่าอนุรักษ์ดิน น้ำ ป่าไม้ ป้องกันการพังทลายของดิน ยังสร้างการมีส่วนร่วมในชุมชน เกิดจิตสำนึกหวงแหนอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ รวมถึงบ่มเพาะหัวใจสีเขียวให้กับเยาวชนผ่านการร่วมสร้างฝายดอยคำ
อย่างไรก็ตาม สำหรับกลุ่มบุคคลหรือหน่วยงานที่สนใจต้องการเป็นส่วนหนึ่งร่วมสร้างฝายยั่งยืนกับดอยคำ สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นายศรายุทธ ปัญญาเลิศ เจ้าหน้าที่ชุมชนสัมพันธ์พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงสำเร็จรูปที่ 1 (ฝาง) จังหวัดเชียงใหม่ โทร.084-9509769
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'สถานีดอยคำ'เพิ่มสีสันเรียนรู้ศาสตร์พระราชา
เติมสีสันและสร้างแรงบันดาลใจใจกลางเมือง ดอยคำจัดนิทรรศการดอยคำ 30 ปี กับการพัฒนาที่ยั่งยืน ศาสตร์พระราชาในตำราดอยคำบนพื้นที่สื่อประชาสัมพันธ์ภายในสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส ราชเทวี ทั้ง 3 ชั้น เป็นระยะเวลา 1 ปี
มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง(ภาฯ) ร่วมกับดอยคำช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม
31 ส.ค.2567 - มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย รับมอบผลิตภัณฑ์น้ำผลไม้พร้อมดื่ม บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด โดยมีนางปาริชาต ธีระศิลป์ รองผู้จัดการมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) เป็นผู้รับมอบผลิตภัณฑ์ดอยคำ สำหรับช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ทางภาคเหนือ
ครั้งแรกพบไวรัส2สายพันธุ์ในสตรอว์เบอร์รี 80 ป้องกันแพร่ระบาด ยกระดับผลผลิตคุณภาพ
นับเป็นการค้นพบครั้งแรกในประเทศไทย คณะนักวิจัย บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ค้นพบเชื้อไวรัส strawberry latent ringspot virus (SLRSV) และ strawberry crinkle virus (SCV) ในสตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 80 สาเหตุการเกิดโรคใบจุดและใบย่นในพื้นที่เพาะปลูก
เปิดเมนูดับร้อน...ข้าวแช่ตำรับชาววัง
ข้าวแช่ ดอยคำ ตำรับบ้านอิศรเสนา ณ อยุธยา รสชาติแบบชาววังโบราณ หน้าร้อนปีนี้ นายพิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ซึ่งสืบทอดมาจากราชสกุลสาย กุญชร ณ อยุธยา หนึ่งในผู้สืบทอดตำรับข้าวแช่ชาววัง เชิญชวนมาร่วม
ชวนเยาวชน'แกะ ล้าง เก็บ' งานวันเด็ก'ทำเนียบรัฐบาล'
13 ม.ค.2566 - บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด โดยมี นายรมร ธนะโสภณ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ สายการผลิต นางสาวอัญกรณ์ มีนะกรรณ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่สายการตลาด นำทีมฅนดอยคำร่วมสร้างสีสันในงานวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2567 ณ บริเวณตึกบัญชาการ 2
‘Doi Kham Living Green’ ชูจัดการขยะตั้งแต่ต้นถึงปลายน้ำ
ปัญหาขยะไม่ควรมองข้ามและควรให้ความสำคัญจริงจัง บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด นำโดยพิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการใหญ่ จับมือกรุงเทพมหานคร และบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) จัดกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม “Doi Kham Living Green”