จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) และ ดิ โอเชียน คลีนอัพ (The Ocean Clean Up) จากประเทศเนเธอร์แลนด์ พัฒนาการจัดการปัญหาขยะในทะเลด้วยงานวิจัยและเทคโนโลยีผ่านการติดตั้งกล้องบันทึกภาพ (The River Monitoring System) และพัฒนาโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ เพื่อใช้ตรวจติดตามปริมาณขยะลอยน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา หลังพบขยะไหลลงสู่ทะเลผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาจำนวนมาก
กล้องบันทึกภาพติดตามปริมาณขยะลอยน้ำในเจ้าพระยา
กล้องติดตามขยะ 8 ชุดได้รับการติดตั้งบนสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าในพิกัดที่เห็นสายน้ำไหลผ่านชัดเจน เพื่อบันทึกภาพตามติดขยะทุกประเภทโดยไม่รบกวนการจราจรทางน้ำ และจะตั้งกล้องติดตามขยะเพิ่มบนสะพานอรุณอัมรินทร์อีก 6 ชุด และสะพานภูมิพลอีก 13 ชุด ซึ่งสะพานสามแห่งเรียงตัวตามลำน้ำเจ้าพระยา คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนตุลาคมนี้
ศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ รองกรรมการผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และรองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ ได้ไปร่วมติดตั้งและทดสอบกล้องบันทึกภาพบนสะพานพระปิ่นเกล้า กล่าวว่า ประเทศไทยติดอันดับ 1 ใน 10 ประเทศจัดการขยะไม่ถูกต้อง ส่งผลให้ขยะบนบกไหลลงแม่น้ำและสู่ทะเลจำนวนมาก ปัจจุบันทุกหน่วยงานพยายามลดปริมาณขยะทั้งบนบก แม่น้ำ และขยะทะเล เพื่อแก้ปัญหามลพิษทางน้ำ ลดผลกระทบต่อสัตว์ทะเล เราได้เห็นกรณีเต่ากินขยะพลาสติกในทะเล แพขยะในทะเลกระทบการท่องเที่ยว ภาพลักษณ์ประเทศเสียหาย
“ แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแม่น้ำสายใหญ่และสายสำคัญของประเทศไทย เกิดจากการรวมกันของแม่น้ำ ไหลผ่านจังหวัดต่างๆ และกรุงเทพ ก่อนออกสู่ทะเลอ่าวไทย ด้วยความเป็นแม่น้ำใหญ่โอกาสที่ขยะจากบกลงแม่น้ำสู่ทะเลจะมากยิ่งขึ้น โครงการฯ ติดตั้งกล้องเพื่อสำรวจประเภทขยะที่ลอยในแม่น้ำ ปริมาณขยะระหว่างสะพานหนึ่งไปอีกสะพานหนึ่ง เพิ่มหรือลดลง โดยกล้องจะบันทึกภาพทุก 15 นาที ข้อมูลขยะที่ได้จากภาพถ่ายสะพานทั้ง 3 แห่งจะนำมาสู่การวิเคราะห์ภายใน 6 เดือนจะเห็นแนวทางจัดการและแก้ไขขยะในแม่น้ำอย่างยั่งยืน “ ศ.ดร.สุชนา กล่าว
ศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ ร่วมทดสอบระบบกล้อง
การตามดูเส้นทางขยะลอยน้ำเจ้าพระยาถือเป็นการช่วยพัฒนาความเข้าใจเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดขยะ การเดินทางสู่ทะเล รอง ผอ.สถาบันวิจัยทรัพยากรน้ำยกตัวอย่างว่า หากข้อมูลขยะที่ได้จากสะพานปิ่นเกล้า ไปสะพานอรุณอมรินทร์ ปริมาณขยะเพิ่มมากขึ้น แสดงว่า มีการรั่วไหลขยะ ควรมีการจัดการ เช่น กำจัดขยะในบริเวณนั้น การดักจับขยะก่อนไหลลงแม่น้ำ หรือกรณีขยะค่อยๆ ลดปริมาณลงจากจุดหนึ่งไปจุดหนึ่ง ต้องมีการวิเคราะห์เกิดจากสาเหตุใด ขยะติดริมชายฝั่งหรือไม่ หากเราได้ข้อมูล ทุกฝ่ายจะจัดการได้
“ เราติดตามขยะทุกประเภท แต่ปัจจุบันขยะพลาสติกมีสัดส่วนมากกว่า 50% เพราะพลาสติกนำไปใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรม ขยะจากฟู้ดเดลิเวอรี่ กล่องอาหาร ถุง ช้อนส้อม เมื่อใช้งานแล้ว พลาสติกเหล่านี้กลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม การตั้งกล้องติดตามขยะเป็นอีกก้าวในการจัดการขยะในทะเล และความเป็นไปได้เพื่อสกัดกั้นขยะในแม่น้ำสาขา ชุมชน ก่อนไหลลงเจ้าพระยา “ศ.ดร.สุชนา
สะพานพระปิ่นเกล้า 1 ใน 3 สะพานที่ตั้งกล้องติดตามขยะ
ทั้งนี้ นักวิชาการจุฬาฯ ย้ำว่า มีรายงานทั่วโลก ขยะลงทะเลมาจากแม่น้ำประมาณ 60-70% ฉะนั้น การจัดการขยะที่ดีต้องลดการสร้างขยะและกำจัดขยะตั้งแต่ต้นทาง ปัญหาต้นทางตอนนี้คนทิ้งขยะไม่ถูกที่ ขยะรั่วไหลลงแม่น้ำลำคลอง ถูกพัดพาไปลงเจ้าพระยา ลอยไปไกลลงทะเล ขณะที่ทุกฝ่ายบอกได้สร้างความตระหนักรู้ให้ประชาชน แต่ภาพขยะลอยน้ำ การปล่อยของเสียครัวเรือนลงสู่แม่น้ำ แสดงให้เห็นว่าการแก้ปัญหายังดีเท่าที่ควร การเร่งสร้างความตระหนักยังจำเป็นอยู่ ต้องกลับมาดูว่าที่ไม่เป็นรูปธรรม เป็นเพราะสื่อสารข้อมูลความรู้ไปไม่ถึงหรือไม่ หากมีการจัดการให้ชุมชนคัดแยกและกำจัดขยะได้อย่างเป็นระบบและทั่วถึงจะไม่เพียงแก้ปัญหาขยะทั่วไปได้ แต่ช่วยแก้ปัญหาขยะทะเลได้ด้วย
“ ตอนที่ไปสำรวจขั้วโลกเหนือ แม้กระทั่งพื้นที่ไกลขนาดนี้ เราก็พบอวน ตาข่ายจากประมง ขวดพลาสติก แล้วยังมีรายงานพบไมโครพลาสติกอยู่ในตัวอย่างน้ำและหิมะ สะท้อนปัญหาใหญ่และต้องแก้ต้นเหตุ จำเป็นต้องหยุดการไหลของขยะลงแม่น้ำและทะเล ตั้งกล้องติดตามขยะเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่นำมาใช้จัดการมลพิษ และเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการขยะให้ดีขึ้น เป็นเทคโนโลยีใหม่ๆ สนับสนุนเป้าหมายลดขยะทะเลให้ได้อย่างน้อย 50% ภายในปี 2570 นอกจากนี้ ข้อมูลขยะที่ได้ยังมีประโยชน์หนุนเสริมการทำงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งบนบกและในทะเลร่วมจัดการขยะ ปกป้องแม่น้ำและทะเล “ศ.ดร.สุชนา กล่าว
ตั้งกล้องติดตามขยะบนสะพานพระปิ่นเกล้า
การติดตั้งกล้องบันทึกภาพเพื่อติดตามปริมาณขยะลอยน้ำในประเทศไทยถือเป็นครั้งแรก แต่ก่อนหน้านี้ ดิ โอเชียน คลีนอัพ เนเธอร์แลนด์ มีโครงการจัดการขยะในทะเลด้วยการติดตั้งกล้องบันทึกภาพ (The River Monitoring System) ชนิดเดียวกันในแม่น้ำในประเทศแอฟริกาใต้ และประเทศสาธารณรัฐโดมินิกัน สะท้อนขยะทะเลเป็นปัญหาที่ทั่วโลกเผชิญ ซึ่งหลายประเทศตระหนักและหามาตรการเพื่อลดปัญหาขยะทะเลอย่างยั่งยืน
โครงการนี้เป็นหนึ่งในโมเดลทดลองบนแม่น้ำเจ้าพระยาจากความร่วมไม้ร่วมมือกัน อย่างไรก็ตาม ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีการดำเนินการเชิงรุกในพื้นที่ชุมชนชายฝั่งทะเลทั่วประเทศอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะควรมีการจัดหามาตรการส่งเสริมการสร้างองค์ความรู้ให้กับชุมชนริมแม่น้ำและชุมชนริมชายฝั่งทะเลในการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี และปลอดภัย ควบคู่กับการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถังขยะประเภทต่างๆ และตำแหน่งจัดทิ้งขยะในชุมชน ตลอดจนต้องมีการจัดหาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเข้ามาให้ความรู้ รื่องการจัดการขยะที่ถูกสุขลักษณะให้กับประชาชนในพื้นที่เป้าหมายทั่วประเทศ
มาตรการต่างๆ จะสามารถช่วยลดปริมาณขยะทั้งในพื้นที่ชุมชน รวมถึงขยะทะเล อีกทั้งสามารถช่วยให้เป้าหมายการลดการสร้างขยะทะเลจากต้นทางภายในปี 2570 ของรัฐบาลมีความเป็นไปได้มากยิ่งขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เก็บขยะศึกษาแหล่งที่มาในทะเล ปลุกความรับผิดชอบผู้ผลิต
กรม ทช. เก็บตัวอย่างขยะทะเลและศึกษาปริมาณขยะบริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก เพื่อตรวจสอบบาร์โค้ดเป้าหมายเพื่อให้ผู้ผลิตตระหนักถึงพลาสติกและขยะที่ตกค้างในสิ่งแวดล้อม และหันมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลหรือย่อยสลายได้
จุฬาฯ เดินหน้ายุทธศาสตร์ใหม่ สร้าง Siam Square ให้เป็นพื้นที่สำหรับคนไทยทุกคน รวมพลคนพิการโชว์พลังครั้งใหญ่ที่สุด!
อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำทีม PMCU (สำนักทรัพย์สินจุฬาฯ) และ มูลนิธิ Five for All เปิดงาน Siam Square Walking Street For All ครั้งแรก! บนพื้นที่ใจกลางสยามสแควร์ ให้กลายเป็นพื้นที่สำหรับคนไทยทุกคน ทุกกลุ่ม
'หมอยง' แนะแนวทางแก้ไขหลุดพ้นจากกับดักผลงานวิชาการ
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก
อ.ไชยันต์ยกตัวอย่างการอภัยโทษในต่างประเทศที่น่าสนใจ!
ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์
ดิจิทัล วอร์รูม เตือนภัยฝ่าน้ำท่วม-ดินโคลนถล่ม
ภาคเหนือเผชิญอุทกภัยรุนแรง โดยเฉพาะที่ อ.แม่สาย น้ำท่วมตัวเมือง มีน้ำป่าไหลทะลักลงตามแม่น้ำสาย ทำให้บ้านเรือน ร้านค้า ตลาดสด พื้นที่เกษตรที่ติดลำน้ำสายได้รับความเสียหายอย่างหนัก ปัจจุบันแม้น้ำแห้งแล้วแต่ประชาชนยังจมโคลนจมฝุ่นต้องการการช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยาจากปัญหาที่น้ำท่วมได้ทิ้งไว้ตามบ้านเรือนของประชาชนและสถานที่ต่างๆ
โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย