ในช่วงวันหยุด หากใครไม่อยากไปไหนไกล การเดินชิลท่องกรุง อาจได้อะไรมากกว่าที่คิด โดยบางสถานที่เราเคยผ่านไปผ่านมา แต่หารู้ไม่ว่าที่แห่งนั้นมีเรื่องลับๆ ซ่อนอยู่ ทริปนี้จึงมาในโหมด The Secret of พระนคร ตอน”เริงพระนครตะลอนสยามอารยะ” ซึ่งเป็นกิจกรรมดีๆ ของ KTC PR PRESS CLUB นำคณะสื่อมวลชนนั่งไทม์แมชชีนย้อนเวลาไปสัมผัสกับทุกย่างก้าวความเจริญก้าวหน้าของบ้านเมือง และการพัฒนาสยามสู่ความเป็นอารยประเทศในช่วงรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 ผ่านสถานที่สำคัญ ศิลปสถาปัตยกรรมฝรั่งในบางกอก ตลอดจนร้านรวงระดับตำนานที่อยู่มายาวนานจนปัจจุบัน โดยมีอาจาร์ยนัท-ธานัท ภุมรัช ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ เป็นไกด์พาชมพร้อมอธิบายความรู้ที่น่าสนใจ
เริ่มต้นที่ หอวชิราวุธานุสรณ์ ตั้งอยู่ภายในบริเวณหอสมุดแห่งชาติ ถนนสามเสน หลายคนอาจะยังไม่เคยไป ใครที่มีโมเม้นท์ผูกพันกับหุ่นขี้ผึ้งคนดังระดับโลกที่มาดาม ทุสโซ สยามดิสคัฟเวอรี่ ถ้ามาที่นี่จะได้รับประสบการณ์หุ่นขี้ผึ้ง แต่มาในธีมพระราชกรณียกิจ เราได้เห็นพระบรมรูปหุ่นไฟเบอร์กลาสพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ในพระอิริยาบถต่างๆ ขณะทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจสำคัญในรัชสมัยพระบรมรูปหุ่นทุกพระองค์จัดแสดงในห้องพระบรมราชะประทรรศนีย์ ดูแล้วสง่างามสมพระเกียรติ
เดินไล่ชมไปตั้งแต่พระบรมรูปทรงเครื่องแบบปกติ พลเอกพิเศษ กรมทหารราบเบา เดอรัม กองทัพบกอังกฤษ ทรงเป็นนายทหารเก่าแห่งอังกฤษ สมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 พระราชทานเงินส่วนพระองค์แก่ภรรยาหม้ายและลูกของของทหารในกรมนั้นที่ตายในสงคราม ประมุขอังกฤษทรงซาบซึ้ง จึงทูลเชิญให้ทรงดำรงพระยศเป็นนายพลเอกพิเศษ จากนั้นไปพบกับพระบรมรูปทรงเครื่องแบบปกตินายพลเสือป่า ผู้บังคับการพิเศษกรมเสือป่าราบหลวงรักษาพระองค์ประทับบนพระเก้าอี้สนาม ในการซ้อมรบสู้ศึกศัตรู ปี 2462 ทรงตั้งกองเสือป่าขึ้นฝึกหัดพลเรือนให้รบอย่างทหารสร้างกองหนุนยามคับขัน
เรียนรู้การก่อเกิดอุดมศึกษาไทยกับพระบรมรูปหุ่น ร. 6 ทรงก่อพระฤกษ์อาคารหลังแรกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทุกวันนี้คืออาคารมหาจุฬาลงกรณ์ ตื่นตาไปกับพระบรมรูปหุ่นทรงเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตตาภรณ์ทรงพระชฎามหากฐินในการเสวยราชสมบัติ พ.ศ. 2454 พร้อมด้วยหมู่พระที่นั่งในกลุ่มพระมหาปราสาทของพระวัชรินทร์ราชนิเวศน์ในเมืองสมมติ”ดุสิตธานี” ที่ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อวางรากฐานประชาธิปไตย บอกได้คำเดียวว่า เซอร์ไพรส์และตื่นเต้นมากที่ได้เจอหุ่นขี้ผึ้งใจกลางกรุง ซึ่งมีความเหมือนจริงด้วยฝีมือละเอียดประณีตทุกอณู แถมเข้าชมในระยะใกล้ชิดได้เลย แต่งดเซลฟี่
ภายในหอวชิราวุธานุสรณ์ ยังมีห้องสมุดรามจิตติ ห้องสมุดเฉพาะที่จัดตั้งขึ้นเป็นแหล่งค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับรัชกาลที่ 6 ที่นี่ทุกคนสามารถค้นหาข้อมูลนามสกุลพระราชทาน 6,432 นามสกุลได้ด้วย ซึ่งใน ร. 6 พระราชทานนามสกุลให้แก่ขุนนาง พ่อค้า ประชาชน นามสกุลสามารถบอกได้ถึงอาชีพ นอกจากนั้น ยังมีห้องปรศุรามซึ่งจำลองห้องทรงพระอักษรที่มีหนังสือส่วนพระองค์เก็บรักษาจำนวนมาก หากเปิดหนังสือจะพบตราประจำพระองค์ บางเล่มเป็นหนังสือส่วนพระองค์ใน ร.5 สืบต่อรุ่นต่อรุ่น เป็นการชมชั่วโมงกว่าที่ตื่นเต้นสุดๆ
จากนั้นนั่งรถออกไปร้านเซ่งชง พิกัดถนนนครสวรรค์ ใกล้วัดโสมนัส ร้านเครื่องหนังยุคแรกที่เปิดมานาน 126 ปี คุณอาจฤทธิ์ ประดิษฐบาทุกาทายาทรุ่นที่ 4 ของเซ่งชง รอต้อนรับพร้อมเล่าเรื่องของตระกูล ที่ตัดฉลองพระบาทให้รัชกาลที่ 6 ร้านนี้เป็นต้นกำเนิดร้านเครื่องหนังที่สร้างงานถวายราชสำนัก กองเสือป่า และเครื่องหนังประกอบทหารม้ากองทัพบก รวมถึงการตัดเย็บเครื่องหนังอานม้าในงานพระราชพิธีพระบรมศพในหลวง ร.9
ทายาทรุ่นที่ 4 เซ่งชงชวนย้อนความหลังไปเมื่อปี พ.ศ. 2435 คุณทวด นายเซ่งชง แซ่หลิว เดินทางมาจากมณฑลกวางตุ้งสู่สยาม เพราะความเป็นคนจีนแคระที่เก่งงานฝีมือ จึงมาเปิดร้านรองเท้าย่านเจริญกรุง สมัยก่อนคนไทยไม่ใส่รองเท้า แต่เมื่อวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามา สยามต้องนำเข้ารองเท้าซึ่งมีราคาแพง ชนชั้นสูงเท่านั้นที่มีกำลังซื้อรองเท้าจากนอก ทางร้านจึงทำรองเท้าในราคาที่ถูกลง คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ หลังจากนั้นก็ดำเนินกิจการเรื่อยมา จนได้รับใช้ราชสำนัก ได้รับพระราชทานตราครุฑ ปี พ.ศ..2462 ต่อมาได้พระราชทานราชทินนามจาก ร. 6 หลวงประดิษฐบาทุกา ซึ่งนำมาใช้เป็นนามสกุลสืบต่อมา
ต่อมาร้านย้ายจากเจริญกรุงมาสามยอดจนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 10 ปี ขายรองเท้ารูปแบบต่างๆ รวมทั้ง กระเป๋า เข็มขัด อุปกรณ์ขี่ม้า จุดเด่นของร้านคือ เป็นเครื่องหนังแท้ ควบคุมคุณภาพทุกชิ้น ราคาสมเหตุสมผล ก่อนกลับ ชาวคณะช้อปสินค้ากันกระจาย ใครสนใจแวะมาชมได้ที่ร้านเซ่งชงที่นี่ที่เดียว
ไปต่อกันที่โรงแรมเดอะ ระวีกัลยา แบงค็อก บนถนนกรุงเกษม ชมเรือนโบราณศิลปะโคโลเนียล ของคุณทัต พึ่งบุญ ณ อยุธยา ซึ่งเป็นแม่นม ร.6 และเป็นมารดาของเจ้าพระยารามราฆพ และพระยาอนิรุทเทวา มหาดเล็กคู่พระทัย ปัจจุบันที่นี่กลายเป็นโรงแรม ที่สุดแสนคลาสสิก ถ้าไม่มาพัก สามารถแวะเวียนมาเรียนรู้”น้ำปรุงชาววัง”ที่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ได้ ซึ่งเจ้านายในวังนิยมสมัยนั้น ใช้เป็นน้ำหอมประจำพระองค์ โดยใช้พื้นที่โรงแรมเนรมิตคลาสช่างฝีมือชาววังสอนให้กับคณะของเรา พร้อมชมสาธิตทำน้ำปรุงจากสารสกัดกลิ่นหอมของดอกไม้ไทยนานาชนิด เช่น ดอกมะลิ ดอกโมก ดอกจำปี จำปา กระดังงา กุหลาบ ชมนาด สายหยุด สายน้ำผึ้ง พุทธชาด กับ ครูเอ๋ – ทิวาพร เสกตระกูล ผู้แทนครูภูมิปัญญาท้องถิ่น เจ้าของแบรนด์เทวาภิรมย์ ที่สืบทอดตำรับชาววัง วันนั้นทุกคนได้รับน้ำปรุงเทวาภิรมย์กลิ่น “ KTC PR PRESS Club “ เป็นที่ระลึก
เที่ยงพอดีพวกเราได้ลิ้มรสมื้อกลางวันแสนอร่อยละมุนลิ้นจากห้องอาหาร “เดอะ ระวีกัลยา ไดนิ่ง” ซึ่งเน้นวัตถุดิบออร์แกนิคตามฤดูกาล หลังอิ่มท้องแล้ว ไปต่อกันที่ บ้านพิบูลธรรม อาคารที่มีสถาปัตยกรรมงดงามสองแผ่นดินสร้างสมัย ร.5 กับ ร. 6 ปัจจุบันเป็นกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน บ้านพิบูลธรรม เดิมชื่อ “บ้านนนที” ตามชื่อวัวพระนนทิการ เทวพาหนะของพระอิศวร และเป็นตราประจำเสนาบดีกระทรวงวัง
บ้านหลังนี้ ร.5 พระราชทานให้เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (หม่อมราชวงศ์ ปุ้ม มาลากุล) เสนาบดีกระทรวงวัง ในขณะดำรงตำแหน่งเป็นพระยาอนุรักษราชมณเทียร ต่อมา ร.6 โปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินให้สร้างตึกอีกหลังเพื่อจะเสด็จมาประทับชั่วคราวใน พ.ศ. 2463 ด้วยเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดียังเป็นอธิบดีกรมศิลปากรด้วย ซึ่งกรมศิลปากรเวลานั้น มีนายช่างชาวอิตาเลียนรับราชการอยู่ จึงให้มาช่วยออกแบบก่อสร้างตกแต่งบ้าน โดยมีนายแอร์โกเล มันเฟรดี เป็นผู้ออกแบบ ส่วนนายคาร์โล ริโกลี วาดภาพสีปูนเปียก ตอนสำคัญในวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์บนกลางเพดานและฝาผนังในห้องต่างๆ รวมถึงภาพเทวดาสไตล์ยุโรป นกการเวก ซึ่งเป็นอัตลักษณ์เรือนหลังนี้
เมื่อเดินเข้าสู่โถงรับรอง เดิมใช้แสดงละครจะพบกับความตระการตา ของงานแกะสลักไม้ลวดลายนีโอคลาสสิค และภาพดอกกุหลาบหลากสี ไฮไลท์สำคัญกลางเพดานมีภาพนกหัสดายุปราบทศกัณฐ์ที่ลักนางสีดา สื่อความหมายเชิงสัญลักษณ์ ให้ปัดเป่าทุกข์ภัย ทศกัณฐ์วาดหน้าเหมือนคนจริงตามจินตนาการศิลปิน นั่งบนราชรถแบบไทย บ้านนนทียังมีภาพพระรามตามกวาง สะท้อนความจงรักภักดี ดูสวยงามอีกด้วย
จุดสุดท้ายไปจบที่ พิพิธภัณฑ์รถไฟไทย แหล่งเรียนรู้ที่ซ่อนตัวลับๆ อยู่ในสถานีรถไฟกรุงเทพ ที่ใครๆ เรียกว่า “หัวลำโพง” ได้พบ ว่าที่ ร.ต.ปิติพนธ์ ศรีอุ้มสุข พนักงานการเดินรถ 6 แฟนพันธุ์แท้รถไฟไทย มาเล่าวิวัฒนาการกิจการรถไฟไทยตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน พร้อมนำชมมิวเซียมเล็กๆ แต่อัดแน่นด้วยคุณภาพ
ที่นี่จัดแสดงของหายากน่าชมระดับตำนาน เช่น หมวกพนักงานรถไฟทำจากหนังช้างสมัย ร.6 เครื่องใช้ต่างๆ จากโรงแรมรถไฟไทย เครื่องใช้บนตู้เสบียงรถไฟ แต่ที่ห้ามพลาดอุปกรณ์สำหรับทางเดินรถไฟ อย่างเครื่องตราทางสะดวก ลูกตราทางสะดวก ที่ยังใช้ในปัจจุบันที่ถ้ำกระแซ จ.กาญจนบุรี เครื่องควบคุมการเดินรถ มีตัวอักษรชื่อย่อสถานี เช่น ด.ม. ดอนเมือง
ไม่รวมเครื่องขายตั๋วตั้งแต่ยุคแรก และพัฒนาหลายเจนเนอเรชั่น หนุ่มรถไฟเล่าจากอดีตถึงปัจจุบันมี 3 ยุค ตั๋วหนาถูกยกเลิกไปในปี 2535 และมาสู่ตั๋วคอมพิวเตอร์รุ่นแรก จนมาปี 2563 เป็นตั๋วระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ระบบ E-ticket จำหน่ายผ่านเคาน์เตอร์และระบบออนไลน์ เราละเลียดชมตู้เก็บตั๋วและเครื่องแสตมป์ตั๋วแข็งที่ไม่มีใช้ในปัจจุบัน แผนที่ทางรถไฟ และสารพัดป้ายเตือน ในอดีตที่ช่างเขียนวาดแบบสมจริง ดูแล้วน่าหวาดเสียว
ก่อนเดินขึ้นบันไดวนไปชมสถานีรถไฟเก่าแก่ที่สุดในไทยสร้างขึ้นในสมัย ร.5 ด้วยสถาปัตยกรรมตะวันตกแบบอิตาเลียน-เรอเนสซองส์ ที่ประดับอาคารบางส่วนด้วยหินอ่อนและลวดลายปูนปั้น โดดเด่นด้วยโดมโค้งประดับกระจกขนาดใหญ่งดงามคล้ายกับสถานีรถไฟแฟรงก์เฟิร์ตเยอรมนี ถ่ายรูปเช็คอินโลเกชั่นสวยๆ อวดเพื่อนในโซเชียล
ปิดทริปเที่ยวพระนครครบถ้วน สถานที่ต่างๆ ที่แวะไป ใช้เวลาเพียงวันเดียว ใครที่ผ่านตาคิดว่าไม่เห็นมีอะไรเลย ถ้าได้รับรู้ความเป็นมา รับรองจะประทับใจ และอยากชวนคนที่ยังไม่ได้ไปมาสัมผัสสักครั้ง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เริ่มแล้ว! เทศกาล 'ลอยกระทง' คลองผดุงฯ
รัฐบาลเชิญชวนประชาชน เที่ยวงานเทศกาล “สีสันแห่งสายน้ำ มหกรรมลอยกระทง ปี 2566” สืบสานประเพณีวิถีไทยอันทรงคุณค่า
รฟท.เล็งเปิดหัวลำโพงจัดอีเวนต์สำคัญของประเทศ
รฟท.ลุยเปิดสถานีหัวลำโพง ยกระดับเป็นแลนด์มาร์กการจัดกิจกรรมที่สำคัญของประเทศ หวังเพื่อส่งเสริมอนุรักษ์หัวลำโพงเป็นมรดกสำคัญทางประวัติศาสตร์ ย้ำไม่กระทบต่อการเดินทางของประชาชน
ร้องนายกฯ ยกเลิกปิดสถานีหัวลำโพง จี้ต้องอนุรักษ์ให้ประชาชนได้ประโยชน์
นายวัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นหนังสือผ่าน นายพันศักดิ์ เจริญ ผอ.ส่วนประสานมวลชนและองค์กรประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
‘น้ำปรุงเทวาภิรมย์’ เครื่องหอมที่ชวนหลงไหล
หากพูดถึงเครื่องหอมที่มีมาแต่โบราณ กลิ่นหอมละมุนไม่เหมือนใคร “น้ำปรุง” เป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่นึกถึง ด้วยคุณสมบัติที่มีความหอมตราตรึงใจและผ่อนคลายที่มอบให้แก่ผู้ใช้งาน อีกทั้งน้ำปรุงชั้นดีจะมีความหอมติดทนนานกว่า 6 ชั่วโมง เราจึงพบเครื่องหอมไทยชั้นสูงนี้ใช้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์
หัวลำโพงโมเดล 'พี่ศรี' สบช่องเย้ย 'ชัชชาติ' สร้างภาพไว้ก่อนพี่สอนไว้
นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กว่า“หัวลำโพงโมเดล” แปลกใจวิธีการทำงานของ