เจาะพื้นที่เสี่ยงรับ’ดินถล่ม’

ยังคงต้องติดตามและเฝ้าระวังภัยดินถล่มอย่างต่อเนื่องในระยะนี้ แม้พายุ”โนรู”จะอ่อนกำลังเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง ปกคลุมบริเวณภาคเหนือตอนล่างภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ ประเทศไทยยังมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ ในบริเวณดังกล่าวประขาชนมีความเสี่ยงอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม

สุวิทย์ โคสุวรรณ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่ปรึกษาทางการบริหารจัดการทรัพยากรธรณี รองโฆษกกรมทรัพยากรธรณี กล่าวว่า ศูนย์ปฏิบัติการธรณีพิบัติภัย กรมทรัพยากรธรณี (ทธ.) ได้ติดตามสภาพอากาศและเฝ้าระวังสถานการณ์ดินถล่ม พบว่า พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากดินถล่มส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบเชิงเขา และชุมชนที่ตั้งอยู่ริมฝั่งทางน้ำตามร่องเขาที่มวลดินเคลื่อนที่ผ่านโดยจากการคาดการณ์ เนื่องจากอิทธิพลพายุไต้ฝุ่น “โนรู” พบว่า ประเทศไทยมีพื้นที่เฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ดินถล่มและน้ำป่าไหลหลาก 43 จังหวัด  เฝ้าระวังภัยดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากในระหว่างวันที่ 28-30 กันยายน 2565 และวัดปริมาณน้ำฝนอย่างต่อเนื่อง พร้อมปฏิบัติตามแผนเฝ้าระวัง

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 26-27 ก.ย.ที่ผ่านมา เกิดเหตุดินถล่มลงมาปิดทับทางหลวงหมายเลข 12 (หล่มสัก-ชุมแพ) อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ ส่วนที่จ.นครราชสีมา ดินถล่มลงมาที่อำเภอวังน้ำเขียว ขณะที่ จ.เชียงใหม่ เกิดการเลื่อนไถลของดินพื้นที่ตำบลป่าแป๋  อ.แม่แตง  ส่งผลตะกอนดินและเศษตอไม้ไหลเข้าบ้านเสียหาย ส่วนวันที่ 30 ก.ย.สถานการณ์น้ำป่าไหลหลากกระทบ อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ ระดับน้ำสูงท่วมบ้านเรือนและพื้นที่เกษตร  แล้วยังมีที่บ้านเขาขาด อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ ฝนที่ตกหนักต่อเนื่อง ปริมาณสะสมทำให้น้ำในคลองเพิ่มขึ้น เกิดน้ำป่าไหลหลาก  ส่วนที่อุทยานฯตาดหมอก มีดินถล่มและเศษตอไม้ไหลปิดทับทางเข้า ทุกเหตุการณ์ มีจนท.ดำเนินการแก้ไขสู่ภาวะปกติ ก่อนเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูต่อไป

พิบัติภัยที่ อ.ภูสิงห์ จ.ศรีษะเกษ วันที่ 29 ก.ย.65

สำหรับพื้นที่อ่อนไหวต่อการเกิดดินถล่มประเทศไทย กรมทรัพยากรธรณีดำเนินการเตรียมความพร้อมรับมือในสภาวะการสถานการณ์ปกติ รองโฆษกฯ กล่าวว่า มีการกำหนดเขตพื้นที่ที่มีโอกาสเกิดดินถล่ม จากการวิเคราะห์ปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ลักษณะภูมิประเทศลักษณะธรณีวิทยา และการใช้ประโยชน์ที่ดิน และประเมินผลทางสถิติเพื่อหาความเป็นไปได้ของการเกิดดินถล่มในแต่ละพื้นที่

กำหนดพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากดินถล่มและน้ำป่าไหลหลาก โดยจัดทำเป็นแผนที่เสี่ยงภัยดินถล่มระดับชุมชนที่แสดงถึงตำแหน่งหมู่บ้านและบ้านเรือนเสี่ยงภัยที่จะได้รับผลกระทบจากดินถล่ม ข้อมูลเกี่ยวกับเครือข่ายเฝ้าระวังแจ้งเตือนธรณีพิบัติภัย และจุดปลอดภัย เป็นต้น 

“ ปัจจุบันแผนที่เสี่ยงภัยครอบคลุมพื้นที่มีโอกาสเกิดดินถล่ม 1,084 ตำบล ทั่วประเทศ เพื่อให้หน่วยงานท้องถิ่นและชุมชนนำไปใช้ในการวางแผนการเฝ้าระวังแจ้งเตือนภัยในชุมชนต่อไป  การจัดตั้งเครือข่ายเฝ้าระวังแจ้งเตือนธรณีพิบัติภัย เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยทำหน้าที่เฝ้าระวังธรณีพิบัติดินถล่มในชุมชนของตน สนับสนุนการซักซ้อมแผนการเฝ้าระวังแจ้งเตือนธรณีพิบัติภัยที่ร่วมกันจัดทำไว้ ปัจจุบันมีเครือข่ายฯ กว่า 45,000 คน จาก 51 จังหวัด “ สุวิทย์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม แม้ไต้ฝุ่น”โนรู” สลายกำลัง รองโฆษกฯ ย้ำยังเฝ้าระวังสถานการณ์การเกิดพิบัติภัย ผ่านศูนย์ปฏิบัติการธรณีพิบัติภัยอย่างต่อเนื่อง ส่วนการดำเนินการช่วงหลังจากเหตุการณ์พิบัติภัย โดยเข้าไปตรวจสอบพื้นที่เพื่อศึกษาถึงสาเหตุการเกิด ปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ผลกระทบที่เกิดขึ้น สำหรับใช้ในการกำหนดแนวทางการฟื้นฟูพื้นที่

สุวิทย์ โคสุวรรณ รองโฆษก ทธ.

ฤดูฝนยังไม่สิ้นสุดไทยยังเสี่ยงเจอพายุเข้า  โอกาสนี้ ทธ.เสนอข้อปฏิบัติในการเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ธรณีพิบัติภัยแผ่นดินถล่มหรือหลีกเลี่ยงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ดังนี้ การเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือก่อนเกิดเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยดินถล่ม ควรหลีกเลี่ยงที่จะอาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่ม หลีกเลี่ยงการก่อสร้างที่กระตุ้นให้เกิดแผ่นดินถล่ม หลีกเลี่ยงการใช้ประโยชน์ที่ดินหรือปรับเปลี่ยนสภาพพื้นที่บริเวณที่สูงชัน และที่ลาดเชิงเขาที่มีผลทำให้เสถียรภาพของลาดดินลดลง อาจส่งทำให้เกิดการเลื่อนไถลของชั้นดินและหินได้

ควรศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับพื้นที่เสี่ยงภัย และลักษณะบ้านเรือนที่เสี่ยงภัยในชุมชน พร้อมทั้งร่วมกันจัดทำแผนเฝ้าระวังแจ้งเตือนภัยในชุมชน รวมถึงแผนอพยพหนีภัย ตลอดจนร่วมเป็นเครือข่ายเฝ้าระวังแจ้งเตือนภัยดินถล่มของชุมชน หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

สังเกตสิ่งบอกเหตุการณ์เกิดดินถล่มและน้ำป่าไหลหลาก เช่น มีฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน ระดับน้ำในทางน้ำสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว สีของน้ำในทางน้ำเปลี่ยนเป็นสีดิน มีเสียงดังมาจากภูเขาเนื่องจากเกิดการถล่มบนภูเขา เป็นต้นพร้อมทั้งการติดตามข่าวสารสภาพอากาศ ประกาศแจ้งเตือนภัยดินถล่ม และข่าวประชาสัมพันธ์จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ส่วนการปฏิบัติตนขณะเกิดดินถล่ม ควรอพยพไปยังสถานที่ปลอดภัยตามเส้นทางอพยพที่กำหนดไว้ โดยการอพยพควรกระทำอย่างรวดเร็วและไม่ควรกังวลในการเก็บทรัพย์สิน ทั้งนี้ ข้อพึงระวังในช่วงการอพยพคือ ไม่ควรอพยพข้ามลำน้ำ เพราะอาจจะเกิดการชำรุดหรือพังลงมาของสะพานข้ามลำน้ำ ทำให้ถูกน้ำพัดพาไปได้ และระหว่างที่อพยพอย่าเข้าใกล้บริเวณดินถล่มและเส้นทางของดินถล่มโดยเด็ดขาด

กรณีพลัดตกน้ำ ให้หาต้นไม้ใหญ่ยึดเกาะและปีนให้พื้นน้ำ ห้ามว่ายน้ำหนีเพราะอาจกระแทกกับเศษหิน ดิน ซากต้นไม้ ที่ลอยมากับน้ำได้  ไม่ควรเข้าใกล้หรือกลับเข้าไปในบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหาย เพราะอาจเกิดดินถล่มซ้ำได้

ลักษณะพื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่ม เป็นหมู่บ้านตั้งอยู่ในบริเวณภูเขาที่มีความลาดชันสูง ,หมู่บ้านตั้งอยู่ในหุบเขา และใกล้ทางน้ำไหลผ่าน มีการสร้างบ้านเรือนบริเวณที่ลาดเชิงเขา หรือตัดไหล่เขาสร้างบ้าน หมู่บ้านที่ถูกน้ำป่าไหลหลากบ่อยๆ

มีร่องรอยดินแยกบนภูเขาเหนือหมู่บ้าน มีกองหิน ทราย และซากไม้อยู่เป็นจำนวนมากในลำน้ำ หมู่บ้านที่เคยเกิดดินถล่มหรือมีหลักฐานทางธรณีวิทยา ว่าเคยเกิดดินถล่มในอดีต

ในท้ายนี้ รองโฆษก ทธ. แนะนำให้ติดตามข้อมูลสภาพอากาศและปริมาณน้ำฝน โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกหนักมากกว่า 100 มม./24 ชั่วโมง  พื้นที่ลุ่มต่ำ น้ำท่วมถึง ควรเก็บข้าวของ สัตว์ สิ่งของต่าง ๆ ขนย้ายขึ้นที่สูง หรือที่ปลอดภัย  รวมถึงสังเกตสิ่งบอกเหตุ เช่น สีของน้ำขุ่นข้น มีเศษซากไม้ลอยตามน้ำมา ฯลฯ หลีกเลี่ยงการเดินทางข้ามทางน้ำ เดินลัดลำน้ำ หรือลงน้ำหาปลา นอกจากนี้ ควรจัดเวรยามเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง มีการแจ้งเตือนภัยตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และท้ายน้ำ เตรียมไฟฉายหรืออุปกรณ์ส่องสว่างไว้ให้พร้อม ตื่นตัวและเตรียมพร้อมไปยังจุดปลอดภัยเสมอ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กรมอุตุฯ ประกาศพายุดีเปรสชันฉบับ 3 เตือนฝนตก 25-26 ธ.ค.

นางสาวสุกันยาณี ยะวิญชาญ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง พายุดีเปรสชัน บริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่าง ฉบับที่ 3 โดยมีใจความว่า

อุตุฯ เตือนอากาศเย็นถึงหนาว อุณหภูมิสูงขึ้น 1-2 องศา ใต้ฝนฟ้าคะนอง 10-20%

กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้าว่า บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบน และภาคใต้ตอนบนเริ่มมีกำลังอ่อนลง

ประกาศฉบับสุดท้าย เตือนฝนถล่ม 8 จังหวัดใต้ เรือเล็กงดออกจากฝั่ง

เมื่อเวลา 05.00 น. ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก ออกประกาศฉบับที่ 9 ซึ่งเป็นฉบับสุดท้ายเรื่อง ฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออกและคลื่นลมแรงบริเวณอ่าวไทย ในวันที่ 16 ธันวาคม 2567 โดยมีใจความว่า

กรมอุตุฯ ประกาศฉบับ 14 เตือนไทยตอนบนหนาว ใต้ฝนตกหนักมาก

นางสาวสุกันยาณี ยะวิญชาญ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง อากาศหนาวเย็นบริเวณประเทศไทยตอนบน ฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณภาคใต้ และคลื่นลมแรงบริเวณอ่าวไทย

ชุมพรอ่วม! ฝนถล่มหนัก ดินถล่มทับบ้าน ถนนสายหลักฝั่งอ่าวไทยถูกตัดขาด

จากสถานการณ์ฝนตกหนักครอบคลุมในพื้นที่ จ.ชุมพร ทั้ง 8 อำเภอ ตั้งแต่วันที่ช่วงค่ำวันที่ 13 ธ.ค.ที่ผ่านมา จนถึงวันที่ 14 ธันวาคม ได้เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมในหลายพื้นที่ ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่การเกษตร