‘สารเคมีรั่ว’ บทเรียนชีวิตเสี่ยงมลพิษรายวัน

จากเหตุการณ์รั่วไหลของสารเคมีที่ส่งกลิ่นเหม็นกระจายออกในวงกว้างจากโรงงานอินโดรามา โพลิเอสเตอร์ อินดัสตรีส์ ใน อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม วันพฤหัสที่ 22 กันยายน 2565  มีประชาชนในพื้นที่แจ้งเหตุไปยังสำนักงานควบคุมมลพิษที่ 5 สารเคมีที่รั่วในกลุ่มไดฟีนีลออกไซด์และไบฟีนีลออกไซด์ลอยฟุ้งกระจายในอากาศข้ามเขตรอยต่อถึงกรุงเทพฯ และ จ.นนทบุรี  ส่งผลให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบแสบตา แสบจมูก แสบคอเมื่อหายใจเข้าไป  หลายโรงเรียนประกาศให้หยุดเรียน 1 วัน หนีสารพิษจากโรงงาน

ส่วนการบังคับใช้กฎหมายกับโรงงานทอผ้าที่ทำเคมีรั่ว อุตสาหกรรมจังหวัดนครปฐมมีคำสั่งให้หยุดประกอบกิจการ 30 วัน จนกว่าจะปรับปรุงแก้ไขเสร็จ หลายฝ่ายเรียกร้องให้บริษัทรับผิดชอบและเยียวยาผลกระทบ ขณะที่มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) และกรีนพีซ ประเทศไทย (Greenpeace Thailand)  เห็นว่า เหตุการณ์สารเคมีรั่วครั้งนี้ คือ ประจักษ์พยานล่าสุดของการที่ชีวิตผู้คนในสังคมไทยต้องเสี่ยงภัยกับสารมลพิษทุกวัน  

เหตุการณ์สารเคมีรั่วไหลโรงงานย่านนครปฐม เมื่อวันที่ 22 ก.ย.65

ทั้งนี้ 3 องค์กรพัฒนาเอกขนมีข้อเรียกร้อง ประกอบด้วย 1.เจ้าของโรงงานอินโดรามา โพลิเอสเตอร์ อินดัสตรีส์ จ.นครปฐม ต้องมีภาระรับผิดชอบ โดยทำงานร่วมกับหน่วยงานรัฐชี้แจงและเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดต่อสาธารณะชนเกี่ยวกับเหตุการณ์ 2.ประเมินความเสียหายและผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชนเฉพาะหน้าในระยะสั้น และระยะยาว รวมถึงชดใช้และเยียวยาความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนที่เกิดขึ้น

3.กรมควบคุมมลพิษและกรมโรงงานอุตสาหกรรมต้องตรวจสอบเหตุการณ์รั่วไหลที่เกิดขึ้น และชี้แจงข้อมูลต่อสังคมอย่างรวดเร็วตรงไปตรงมา รวมถึงการดำเนินมาตรการทางกฎหมายกับผู้ก่อมลพิษ และการติดตามรวบรวมข้อมูลและให้ความช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ 4. คพ.และ กรอ. ต้องมีบทบาทสำคัญติดตามผลกระทบสุขภาพที่เกิดขึ้นกับประชาชน โดยเฉพาะกรณีที่มีผู้ป่วยจากการสัมผัสสารเคมีที่อาจส่งผลเสียหายต่อร่างกายในระยะยาว 5.สนับสนุนกฎหมายการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อย และเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม (PRTR) ภาคประชาชน ที่รับรองสิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน และกำหนดให้มีการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเปิดเผยเกี่ยวกับชนิดและปริมาณสารเคมีที่ปล่อยจากแหล่งกำเนิดมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม

อัลลิยา เหมือนอบ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านมลพิษทางอากาศ กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า กรณีสารเคมีโรงงานนครปฐมรั่ว แม้บริษัทสามารถควบคุมการรั่วไหล แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องติดตามผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนต่อไป แม้จะเปิดเผยชื่อสารเคมีที่รั่วไหลแล้ว แต่ถือเป็นสารเคมีอันตรายเป็นพิษต่อร่างกายระยะยาวได้ นอกจากนี้ สารเคมีที่รั่วก่อให้เกิดกลิ่น มีน้ำหนักเบากระแสลมพัดลอยไปได้ไกล 3 จังหวัด  แม้ คพ.จะรายงานผลตรวจวัดคุณภาพอากาศตามจุดต่างๆ และสรุปตรวจไม่พบสารอันตรายในบรรยากาศ แต่มีประจักษ์พยานยืนยันเป็นผู้อยู่อาศัยใน จ.นนทบุรี จำนวนมากได้รับกลิ่น ไม่ใช่อุปทานหมู่ ค่าไม่เกินมาตรฐานไม่ได้แปลว่า ไม่อันตราย หลังเหตุการณ์ควรนำโมเดลจำลองสภาพอากาศมาใช้อีกครั้งว่า ช่วงเกิดเหตุกระแสลมไปในทิศทางใด ซึ่งจะเป็นข้อมูลทางวิชาการที่ตอบได้ชัดเจน ถึงเวลาแล้วที่ไทยต้องมีกฎหมาย PRTR เพื่อเปิดเผยข้อมูลการปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม

“ เหตุการณ์สารเคมีรั่วนครปฐม เกิดเหตุเช้าประชาชนไม่รู้ว่าเป็นสารเคมีอะไร แต่ได้กลิ่นที่รุนแรง  ทำให้เกิดอาการ และมีเข้ารักษาที่โรงพยาบาล  ช่วงนั้นมีความโกลาหล โรงเรียนประกาศปิด ชาวบ้านในพื้นที่รับมือไม่ถูกว่าควรจะอยู่ในอาคารหรืออพยพ จนบ่ายๆ ถึงมีแจ้งถึงชนิดสารเคมี พร้อมข้อแนะนำการปฏิบัติ กรณีนี้ถ้าเป็นสารเคมีที่อันตรายร้ายแรงกว่านี้ฟุ้งในอากาศจะมีประชาชนได้รับผลกระทบมากแค่ไหน   หากมีกฎหมาย PRTR ทุกคน รวมถึงชาวบ้านในพื้นที่สามารถเข้าถึงเว็บไซต์ที่มีข้อมูลมลพิษ เพื่อได้รู้ถึงชนิดสารเคมีของโรงงาน ความเสี่ยงต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม จะมีประโยชน์ในการเตรียมรับมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ทั้งท้องถิ่นและสาธารณสุข สามารถแจ้งแนวทางปฏิบัติตนเบื้องต้น  “ อัลลิยา กล่าว

โรงงานอินโดรามา โพลิเอสเตอร์ อินดัสตรีส์  จ.นครปฐม

ทั้งนี้ เธอหยิบยกกรณีไฟไหม้ใหญ่โรงงานหมิงตี้ย่านกิ่งแก้ว  การดับเพลิงก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะโรงงานแห่งนี้เป็นที่เก็บสารเคมีที่เป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตเม็ดพลาสติกจำนวนมาก แต่จนท.ไม่รู้ข้อมูลสารเคมี จึงใช้น้ำตามปกติ ทั้งที่ต้องใช้การฉีดพ่นโฟมควบคุมเพลิง  การควบคุมเพลิงที่ไม่ถูกวิธี ทำให้ความรุนแรงของเพลิงไหม้ไม่ลดลง อีกทั้งส่งผลให้การรั่วไหลสารมลพิษลงสู่ดินและแหล่งน้ำ ซึ่งสารมลพิษดังกล่าวมีผลกระทบต่อสุขภาพ เพราะเป็นสารอันตรายต่อร่างกายและเป็นสารก่อมะเร็ง

ในการจัดการมลพิษยังพบปัญหา คพ.ทำหน้าที่ติดตามตรวจสอบควบคุมมลพิษ แต่ไม่มีอำนาจบังคับใช้กฎหมายกับโรงงานอุตสาหกรรม ขณะที่ กรอ.ที่มีข้อมูลสารเคมีเหล่านี้ ก็ไม่นำมาเปิดเผยต่อหน่วยงานราชการ เพื่อนำไปสู่การวางแผนป้องกันอุบัติภัยสารเคมี การซ้อมอพยพ ตลอดจนการระงับเหตุอย่างถูกต้อง  ส่วนการขับเคลื่อน พรบ.อากาศสะอาด ก็ต้องทำควบคู่ไป เพื่อนำไปสู่การจัดการมลพิษอากาศในภาพรวม เชื่อมโยงการจัดการของภาครัฐที่กระจัดกระจาย พร้อมทั้งเปิดแนวร่วมภาคประชาชน ช่วยจับตาและเผยแพร่ข้อมูลที่เกิดประโยชน์

สิ่งที่ประชาชนได้จากเหตุการณ์ครั้งนี้ ผู้ประสานงานมลพิษอากาศกรีนพีซ บอกว่า ประชาชนจะต้องค้นหาข้อมูลเบื้องต้นกี่ยวกับโรงงานที่เก็บสารเคมีอันตรายอยู่ติดกับชุมชน มีโรงงานอะไรบ้าง เก็บสารเคมีอันตรายประเภทใด เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติภัยสารเคมีมากน้อยแค่ไหน

“ เหตุสารเคมีรั่วไหลครั้งนี้มีผลกระทบเฉียบพลัน ถ้าได้รับสารอันตรายปริมาณมากมีผลต่อสุขภาพ เสี่ยงถึงขั้นเสียชีวิตได้ แต่อีกภัยเงียบที่ซ่อนเร้นตอนนี้ฝุ่น PM2.5 เริ่มกลับมาปกคลุมกรุงเทพฯ คนกรุงสูดฝุ่นพิษสะสมในร่างกายอย่างต่อเนื่อง ทำให้เจ็บป่วยในอนาคตได้ “ อัลลิยา  นอกจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการรั่วไหลของสารเคมีสามารถใช้ช่องทางและกลไกทางกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันเพื่อเรียกร้องสิทธิแล้ว  อัลลิยากล่าวในท้ายว่า มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม มูลนิธิบูรณะนิเวศ และกรีนพีซ ประเทศไทย เชิญชวนประชาชนใช้สิทธิ์ประชาธิปไตยทางตรงในการเข้าชื่อ 10,000 รายชื่อ เสนอกฎหมายโดยประชาชน  และการเรียนรู้ร่วมกันของประชาชนในการผลักดันให้เกิดกฎหมายที่ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลมลพิษเพื่อมีส่วนร่วมในการคุ้มครองสิทธิ์ สุขภาพ ของประชาชนและสิ่งแวดล้อมได้อย่างแท้จริง ผ่านพระราชบัญญัติการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ พ.ศ…. (PRTR) ได้ที่ thaiprtr.com

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โค้งสุดท้ายสู่สนธิสัญญาพลาสติกโลก เป้าหมายที่ไทยควรกำหนดในเวทีโลก

ก่อนหน้าการเจรจาระหว่างรัฐบาลในการจัดทํามาตรการที่มีผลผูกพันทางกฎหมายระหว่างประเทศด้านมลพิษจากพลาสติก รวมทั้งสิ่งแวดล้อมทางทะเลที่จะมีการประชุมและเจรจาครั้งสุดท้าย (INC-5) เพื่อให้เกิดสนธิสัญญาพลาสติกโลก หรือ “Global Plastic Treaty” ณ เมืองปูซาน สาธารณรัฐเกาหลี

ห่วงปชช. 7 จ. ริมน้ำโขง หลังสารเคมีรั่ว สั่ง สทนช. เฝ้าระวังถึง 12 เม.ย.

'สมศักดิ์' ห่วงชาวไทย-ลาว หลังสารเคมีรั่วลงแม่น้ำโขง สั่ง สทนช. เกาะติดใกล้ชิด แจงตรวจคุณภาพน้ำ จ.เลย ใช้ได้ปกติ แต่ยังเฝ้าระวังถึง 12 เม.ย.

'สนธิสัญญาพลาสติกโลก' ไทยลงเหวมลพิษพลาสติก

ระหว่างที่ร่างสนธิสัญญาแก้ปัญหามลพิษจากพลาสติก ซึ่งสมาชิก 175 ประเทศลงนามร่วมกันให้จัดทำมาตรการทางกฎหมายเพื่อเป็นแนวทางการจัดการพลาสติกที่ครอบคลุมและตลอดวงจรชีวิตพลาสติก ลดการผลิตพลาสติก  เลิกผลิต เลิกใช้ ควบคุม พลาสติกบางประเภท และการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (EPR)

ปี 2566 ไทยมีคุณภาพอากาศแย่ติด 1 ใน 5 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

รายงานคุณภาพอากาศโลกปี 2566 ของ IQAir ระบุว่าประเทศไทยมีคุณภาพอากาศในระดับที่แย่เป็นอันดับที่ 5 จากทั้งหมด 9 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวัน