ทส.จับมือ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงผลักดัน'ป่าชุมชน' กลไกขับเคลื่อนลดโลกร้อน สร้างคาร์บอนเครดิต

ประเทศไทย มีแนวทางในการจัดทำแผนแม่บทการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ ปี พ.ศ.2559 – 2593 ได้กำหนดเป้าหมายในการรักษาป่าไม้ที่มีอยู่ และเพิ่มพื้นที่ป่าของประเทศเป็นร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศ ซึ่งนโยบายนี้ได้ระบุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 และ 12 ซึ่งการขับเคลื่อนที่สำคัญในการอนุรักษ์ป่าคือ คน เพราะคนได้แสวงหาและใช้ประโยชน์จากป่ามากมาย ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่ อาศัย แหล่งอาหาร การเพาะปลูก เป็นต้น

ดังนั้นการสร้างสมดุลให้ ป่ากับคน ได้อยู่ร่วมกันได้ คือแนวทางของการทำ ป่าชุมชน จากข้อมูลป่าชุมชนของกระทรวงทรัพยากรธรรมและสิ่งแวดล้อม ระบุว่า ปัจจุบันมีป่าชุมชนประมาณ 11,327 แห่ง มีชุมชนที่มีส่วนร่วมดูแลอนุรักษ์ และได้ใช้ประโยชน์กว่า 13,028 หมู่บ้าน รวมพื้นที่กว่า 6.29 ล้านไร่ ซึ่งมีการตั้งเป้าขยายการจัดตั้งป่าชุมชนทั่วประเทศเพิ่มขึ้นให้ได้ 15,000 แห่ง รวมพื้นที่ถึง 10 ล้านไร่ โดยมีชุมชนเข้ามาส่วนร่วมในการบริหารจัดการและอนุรักษ์  ที่มีเงื่อนไขคือ ห้ามบุกรุกป่า ห้ามล่าสัตว์ป่า และลักลอบตัดไม้ โดยชุมชนสามารถสร้างรายได้จากแหล่งอาหารในป่า การเพาะปลูก และนำไปสู่ลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมในการซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้ด้วย

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) จึงได้ร่วมกับ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ใน “โครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ระหว่างกรมป่าไม้   กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง   กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์กรมหาชน) หรือ อบก. และมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เพื่อผลักดันกลไกนำป่าชุมชนและพื้นที่ป่าอื่นๆ ขึ้นทะเบียนภายใต้โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) สู่การปฏิบัติจริง พร้อมเชื่อมพลังไตรภาคี รัฐ เอกชน และชุมชนช่วยกันดูแลผืนป่าไทยให้อุดมสมบูรณ์ สร้างรายได้กลับคืนให้ชุมชนจากการขายคาร์บอนเครดิต

วราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส. กล่าวว่า การอนุรักษ์ ส่งเสริม ฟิ้นฟูทรัพยากรป่าไม้ รวมไปถึงความหลากหลายทางชีวภาพในระบบนิเวศ  เป็นภารกิจที่สำคัญอย่างยิ่งและเป็นกลไกสำคัญในการช่วยกักเก็บคาร์บอน เพื่อบรรเทาความรุนแรงของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่นับวันจะรุนแรงมากขึ้น ใ เนื่องจากป่าไม้เป็นแหล่งสะสมคาร์บอนขนาดใหญ่ของโลก คาร์บอนที่สะสมอยู่นั้นมีปริมาณมากกว่าในบรรยากาศถึง 3.5 เท่า และแนวทางในการอนุรักษ์ที่สำคัญคือ ประชาชนสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างสมดุลและสันติสุข ตามพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9

“สำหรับการออกระเบียบเกี่ยวกับการแบ่งปันคาร์บอนเครดิต เพื่อส่งเสริมให้ภาคเอกชนสนับสนุนการปลูกป่าในพื้นที่ของรัฐโดยผ่านกลไกคาร์บอนเครดิต เพิ่มแหล่งดูดซับก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ดังเช่น การร่วมมือผ่าน MOU ในครั้งนี้ จึงเป็นเรื่องดีที่จะนำไปสู่การปฏิบัติได้จริงในพื้นที่ โดยมีมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ที่มีความเชี่ยวชาญและใกล้ชิดกับชุมชน  ที่จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการปลูกต้นไม้การดูแลเพิ่มมากขึ้น และยังเป็นการเพิ่มความต้องการคาร์บอนเครดิตในประเภทโครงการภาคป่าไม้มากขึ้น สำหรับนำไปใช้ชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรภาคธุรกิจ” รมว.ทส. กล่าว

ด้าน หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลากว่า 50 ปี ทางมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ทำงานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนทั้งในและต่างประเทศ สร้างรายได้อย่างยั่งยืนควบคู่ไปกับการดูแลป่า  เป็นจุดที่เรามีความชำนาญเป็นอย่างมาก เพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ผ่านการส่งเสริมการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและป่าอย่างยั่งยืน โดยหวังกระตุ้นให้ทุกฝ่ายเล็งเห็นความสำคัญของการทำธุรกิจที่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อมน้อยลง สร้างกระบวนการดูแลรักษาธรรมชาติเพื่อสร้างประโยชน์กลับคืนสู่ชุมชน การสร้างรายได้จากการดูแลป่าเพื่อขายคาร์บอนเครดิตจะเป็นอาชีพใหม่ที่ปรับโมเดลจากการทำลายธรรมชาติ การทำลายป่าไม้เพื่อความอยู่รอด มาสู่การรักษาและพื้นฟูธรรมชาติและมีรายได้อย่างเพียงพอแทน ภายใต้กรอบการทำงานใหม่นี้ทุกคนจะมีส่วนในการช่วยส่งต่อโลกนี้ที่ดีขึ้นและสร้างอนาคตที่ยั่งยืนให้กับลูกกับหลานเราต่อไปด้วย

หม่อมหลวงดิศปนัดดา กล่าวถึงความร่วมมือในบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ว่า จะเกิดความร่วมกับทุกภาคส่วนในการส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อเป็นแหล่งดูดซับก๊าซเรือนกระจกกว่า 1,000,000 ไร่ จากพื้นที่ป่าที่อยู่ในการดูแลของทั้ง 3 กรม ส่งผลให้มีประชาชนได้รับประโยชน์อีกกว่า 1,100 ชุมชน และมีปริมาณคาร์บอนเครดิตรวม 300,000-500,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี สามารถบรรลุเป้าหมายของโครงการฯ ที่จะเข้าไปพัฒนาทั้งการเพิ่มพื้นที่ป่าและสร้างสังคมให้คนในพื้นที่สามารถอยู่ร่วมกับป่าและมีอาชีพ

“ทั้งนี้ทางมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้ดำเนินงานเรื่องการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้กับป่าชุมชนทั่วประเทศไทยมาแล้วกว่า  33,557  ไร่ เป็นการทำงานร่วมสำนักจัดการป่าชุมชน กรมป่าไม้ และป่ากับชุนชน 32 แห่ง  ใน จ.เชียงราย จ.เชียงใหม่ จ.แม่ฮ่องสอน และ จ.พะเยา มีประชาชนได้รับประโยชน์จำนวน 18,700 คน มีปริมาณคาร์บอนเครดิตที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการที่ขึ้นทะเบียนโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย(T-VER) กับทางองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกแล้ว 15 แห่ง พื้นที่ตามพ.ร.บ. 19,367 ไร่ แต่พื้นที่ที่ขึ้นทะเบียน T-VER ได้ 18,479 ไร่ คิดเป็นปริมาณคาร์บอนเครดิต 7,798 ตัน รวม 7,798 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี” หม่อมหลวงดิศปนัดดา กล่าว  

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ครม.เห็นชอบบันทึกความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม 'ไทย-ญี่ปุ่น' ฉบับใหม่

'เกณิกา' เผย ครม.มีมติอนุมัติบันทึกความร่วมมือว่าด้วยความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างไทย-ญี่ปุ่น เพื่อเสริมสร้าง อำนวยความสะดวก และพัฒนาความร่วมมือในสาขาสิ่งแวดล้อม

ก้าวสู่ปีที่ 30…การประกวดภาพถ่าย ‘สัตว์มีค่า ป่ามีคุณ’ ประจำปี 2567 ชวนคนไทยมองผ่านเลนส์สะท้อนคุณค่าความงดงามของธรรมชาติ รวมรางวัลมูลค่ากว่า 755,000 บาท เปิดรับผลงานตั้งแต่วันนี้ถึง 31 ส.ค. 67

กรุงเทพฯ 2 กรกฎาคม 2567 – เป็นเวลากว่า 30 ปีแล้ว ที่เริ่มโครงการประกวดภาพถ่าย 'สัตว์มีค่า ป่ามีคุณ' เพราะ ‘ภาพถ่าย’ ยังคงเป็นสื่อหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความสวยงามของภูมิประเทศ สิ่งแวดล้อมที่หลากหลาย และความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติได้อย่างน่าประทับใจ…โดยในปีนี้

'นักวิชาการ' ย้อนถาม การแบ่งปันคาร์บอนจากป่า กลุ่มทุนได้คาร์บอนด์เสริม ชาวประชาได้อะไร

นายสนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมไทย โพสต์เฟซบุ๊ก เรื่อง การแบ่งปันคาร์บอนจากป่า กลุ่มทุนได้คาร์บอนด์เสริม รัฐได้เพิ่มป่า ชาวประชาได้อะไร?... มีเนื้อหาดังนี้

คนไทยกำลังจะต้องเสียภาษีคาร์บอนเพิ่มขึ้นอีกรายการ เพื่อช่วยกันลดโลกร้อน

ดร.สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก หัวข้อ คนไทยกำลังจะต้องเสียภาษีคาร์บอนเพิ่มขึ้นอีกรายการ...เพื่อช่วยกันลดโลกร้อน มีเนื้อหาดังนี้

'จุลพันธ์' ยันไม่ให้เงิน 'กรมบัญชีกลาง 'เป็นอุปสรรค แก้ปัญหา PM 2.5 พร้อมหนุนเต็มที่

'จุลพันธ์' ยัน จะไม่ให้เงินของ กรมบัญชีกลาง เป็นอุปสรรค แก้ปัญหา PM 2.5 ย้ำ รัฐบาล' ให้ความสำคัญ คือการส่งเสริมเครือข่ายความร่วมมือ บอก ไม่ต้องกังวลเรื่องงบขาดพร้อมสนับสนุนเต็มที่