กกต.ส่งสัญญาณเลือกตั้งส.ส.รอแตกรัง หาพรรคซบ

ในจังหวะรอลุ้น ศุกร์30กันยายน พลเอกประยุทธ์ จะรอดหรือไม่รอดในคดีแปดปีนายกฯ ซึ่งผลที่จะออกมา จะกระทบกับกระดานการเมืองอย่างมาก ไม่ว่าจะออกมาแบบไหน

ปรากฏว่า สํานักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งตั้งหรือกกต.  ได้ร่างแผนการจัดการเลือกตั้งส.ส.

โรดแมปดังกล่าว กกต.ตั้งสมมุติฐานการเมืองที่ว่า อายุของสภาฯ ชุดปัจจุบัน ที่จะครบเทอมสี่ปี คือ 23 มีนาคม 2566 ซึ่งถ้าเป็นไปตามนี้ ก็คือ รัฐบาลอยู่ครบวาระ ไม่มีการยุบสภา โดยรัฐธรรมนูญ มาตรา 102 บัญญัติว่า ต้องกำหนดให้มีการเลือกตั้งตั้งภายใน 45 วันนับแต่วันที่สภาฯสิ้นอายุ

กกต.เลยปักหมุดให้ 7 พฤษภาคม 2566 เป็นวันเลือกตั้งตั้งทั่วไป ที่หากนับจากตอนนี้เท่ากับเหลือเวลาอีกประมาณ 8 เดือน

ก่อนหน้านี้ กกต.แจ้งเตือนการหาเสียงเลือกตั้ง ที่ใกล้ถึงระยะเวลา 180 วัน ก่อนวันครบอายุของสภาฯ ที่ก็ตรงกับตั้งแต่ 24 กันยายนนี้ เป็นต้นไป

โดยกกต.จะออกประกาศหลักเกณฑ์เพื่อเป็นแนวทางให้ว่าที่ผู้สมัครส.ส.และพรรคการเมืองปฏิบัติตาม เพื่อจะได้รู้ว่า หลัง 24 กันยายน สิ่งใดทําได้หรือทำไม่ได้ จะได้ไม่ถูกร้องเรียนภายหลังว่า ทำผิดกฎหมายเลือกตั้งเช่นการห้ามแจกของ ห้ามจัดงานเลี้ยง ที่มีลักษณะจูงใจหวังคะแนนเสียง

การขยับของกกต.แต่หัววันข้างต้น  ถูกตีความว่าเป็นการส่งสัญญาณถึงการเลือกตั้งที่อาจจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้ สอดคล้องกับที่ศาลรัฐธรรมนูญรับตีความร่างพ.ร.บ.พรรคการเมือง และพ.ร.บ.การเลือกตั้งส.ส. ฯ เพื่อเตรียมวินิจฉัยว่า มีเนื้อหาขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

โดยหากศาลไฟเขียว ก็จะมีการนำร่างขึ้นทูลเกล้าฯต่อไป อันหมายถึง การจัดเลือกตั้ง พร้อมเต็มแม็ก เพราะมีกฎหมายรองรับ

ทั้งหมด ทำให้ พรรคการเมือง นักเลือกตั้ง ทั้งหน้าเก่า หน้าใหม่ นับแต่นี้ จะเคลื่อนไหวคึกคักมากขึ้น

ที่ต้องโฟกัสถึงเป็นพิเศษ คือ พรรคขนาดเล็ก พรรคปัดเศษ รวมถึงพรรคตั้งใหม่ ที่เปิดตัวไปแล้ว ทรงพรรคไปต่อไม่ไหว พบว่านักเลือกตั้งปีกนี้ เริ่มมีร่องรอยย้ายพรรคกันให้เห็น  โดยบางส่วนอาจใช้วิธี มองหาพรรคการเมืองขนาดกลาง หรือ ขนาดใหญ่เพื่อหวังไปควบรวมด้วย   เนื่องจากสูตรการคํา นวนปาร์ตี้ลิสต์ หาร 100 ไม่เอื้อต่อการเก็บคะแนนแบบหว่านแห อีกทั้งว่าที่ ผู้สมัครส.ส.เขตที่เคยวางตัวไว้  ไม่มีศักยภาพพอที่จะไปสู้กับคู่แข่งจากพรรคใหญ่ หรือพรรคที่ทุนหนากว่าในพื้นที่ได้ เมื่อเทียบกันแบบตัวต่อตัว ทำให้นักการเมืองจากพรรคเล็ก พรรคตั้งใหม่ที่ไปต่อไม่ไหว เลยกำลังดิ้นสุดตัวในการหารังใหม่   

เรื่องนี้ ไม่เว้นแม้แต่กับ ส.ส.-นักเลือกตั้ง จากพรรคใหญ่และพรรคขนาดกลาง บางคน ที่เริ่มคิดย้ายพรรคเช่นกัน ไม่ได้มีแต่พรรคเล็ก พรรคเกิดใหม่  โดยแต่ละคนก็มีเหตุผลแตกต่างกันไป เช่น ย้ายเพราะพรรคใหม่ที่จะไปอยู่ด้วย มีอัดฉีดกระสุนดินดำ ที่จะได้ในช่วงเลือกตั้งมากกว่าพรรคที่อยู่ปัจจุบัน หรือ บางคนประเมินแล้วพรรคที่อยู่ปัจจุบัน ไม่น่าจะโตไปกว่านี้ หรือมองว่าไม่น่าจะมีโอกาสได้เป็นรัฐบาล อยู่ต่อไปก็ลำบาก เลยคิดย้ายไปอยู่พรรคที่มีโอกาสได้เป็นรัฐบาลมากกว่า  

ระหว่างนี้ ต้องจับตา ความเคลื่อนไหวการตัดสินใจของนักเลือกตั้ง ในการหาพรรคลงเลือกตั้ง ซึ่งหากนับถอยหลังเลือกตั้ง ใกล้เข้ามามากเท่าไหร่ ฝุ่นก็จะตลบมากขึ้น

ขณะเดียวกัน นักเลือกตั้งที่จะย้ายพรรค ต้องคำนวณปฏิทินเวลาการสังกัดพรรคให้แม่นๆ จะได้ไม่พลาด คือ หากสภาฯอยู่ครบเทอม ต้องสังกัดพรรค ภายใน 90 วันนับถึงวันเลือกตั้ง แต่หากมีการยุบสภา จะเหลือแค่ 30 วันนับถึงวันเลือกตั้งเท่านั้น 

ด้วยเหตุนี้ นักการเมืองส่วนใหญ่เชื่อว่า น่าจะมีการยุบสภา เกิดขึ้น ช้าสุดช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2566 เพราะพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลเอง ก็อยากให้ปลดล็อกเรื่อง 90 วันมาเหลือแค่ 30 วัน ที่เอื้อต่อการดึงตัวส.ส.-นักการเมืองย้ายพรรคมากกว่า

สถานการณ์หลังจากนี้ จึงเป็นช่วงการเจรจา ทาบทาม ยื่นข้อเสนอ เพื่อให้ได้ข้อตกลงที่ดีที่สุดของแต่ละพรรค รวมถึงนักเลือกตั้ง ทั้งระดับบิ๊กเนม และเกรดบี เกรดซี ในตลาดการเมือง ที่ก็ต้องต่อรองเพื่อให้ได้สิ่งที่ดีที่สุดให้กับตัวเอง ก่อนเข้าสู่สมรภูมิเลือกตั้ง

 

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมของไทยโพสต์ได้ทุกช่องทางที่

Website : https://www.thaipost.net/

Youtube : https://www.youtube.com/c/ThaipostTV

Facebook : https://www.facebook.com/thaipost

Twitter : https://twitter.com/thaipost

Instagram : https://www.instagram.com/thaipost_ig/

Line : https://lin.ee/ukteb32

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ปริศนากรรม' ทักษิณ

เมื่อ "ศุกร์ ๑๓ ธันวา" ในวงสัมมนา "พรรคเพื่อไทย" ที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล หัวหิน ทักษิณ "พ่อนายกฯ"

ทักษิณ 'รีเทิร์น' นั่งเมือง

วันนี้คุยเรื่อง "หัวเขียง-หัวขวด" พรรคเพื่อไทยกันต่อ ที่เสนอกฎหมายให้ "นักการเมือง" เข้าไป "ควบคุมกองทัพ"