หลวงพระบาง อยู่ทางภาคเหนือของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หรือ สปป.ลาว ตั้งอยู่ริมน้ำโขงไหลบรรจบกับน้ำคาน ถือเป็นอีกเมืองหนึ่งที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ มีสถาปัตยกรรมที่วิจิตรงดงามผสมผสานระหว่างศิลปะล้านช้าง และศิลปะสไตล์โคโลเนียล ในยุคอาณานิคมฝรั่งเศส ท่ามกลางธรรมชาติโอมล้อมด้วยขุนเขา จึงไม่แปลกเลยที่หลวงพระบาง จะได้รับการยกย่องยูเนสโกให้เป็นเมืองมรดกโลก ที่ควรค่าแก่การไปเยือนสักครั้ง
โอกาสเดินทางมาลาวในครั้งนี้ แตกต่างจากปีที่ผ่านมา เพราะตอนนี้บริการรถไฟความเร็วปานกลางลาว-จีน จากเวียงจันทน์-หลวงพระบาง ช่วยประหยัดเวลาเดินทางได้มาก แต่ขอบอกว่าคิวแน่นทุกวัน ใครจะไปต้องวางแผนให้ดีๆ จะได้ไม่เสียเที่ยว
ส่วนคณะเรานั้น ไม่พลาดที่จะเปิดประสบการณ์เดินทางด้วยรถไฟลาว-จีน นั่งขบวนพิเศษ EMU (Electric Multiple Unit) ความเร็วสูงสุด 160 กม./ชม. ชั้น1 first class ราคา 383,000 กีบ หรือราวๆ 900 บาท(อาจมีการเปลี่ยนแปลงตามอัตราการแลกเปลี่ยน) ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมงก็ถึงสถานีปลายทางหลวงพระบาง แล้วออกเดินทางเข้าไปยังตัวเมืองหลวงพระบาง อีก 30-40 นาที
ยามพลบค่ำได้นั่งชมวิวริมน้ำโขงลาลับขอบทิวเขา ท้องฟ้าเหมือนถูกพู่กันระบายเป็นสีเรนโบว์ ทอแสงระยิบระยับในแม่น้ำเปล่งประกายสีทอง เป็นช่วงเวลาที่แสนวิเศษจริงๆ ดื่มด่ำกับแสงยามเย็นจนหนำใจ ก็ไปทานอาหารที่ร้าน Secret Pizza ที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากในหลวงพระบาง ความพิเศษอยู่ที่พิซซ่าอบสดใหม่ในเตาดินเผาขนาดใหญ่ ทำให้แป้งกรอบ บาง ที่เจ้าของร้านชาวอิตาเลียนทำเอง ให้รสชาติที่ดีมากๆ
หนังท้องตึง หนังตาก็เริ่มหย่อน คืนนี้เราพักที่โรงแรมอวานีพลัส บรรยากาศตกแต่งเรียบง่าย ร่มรื่น ห้องกว้างขวาง อาหารก็อร่อย แถมยังสามารถเดินเท้าไปตามแหล่งท่องเที่ยวได้ใกล้ๆ ตอนเช้าก็ตื่นมาใส่บาตรด้านหน้าโรงแรมได้เลย แต่ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ไว้ล่วงหน้าก่อน เพื่อให้สัมผัสความเป็นหลวงพระบางจริงๆ พวกเราตั้งใจมาก ตื่นมานั่งรอพระแต่เช้ามืด พร้อมห่มสไบพาดไหล่ตามแบบวิถีชาวลาว เพื่อความสุภาพเรียบร้อย อาหารหลักที่ใส่บาตร ก็คือ ข้าวเหนียวปั้นมือ หรือบางคนอาจจะจะซื้อกับข้าว ขนม น้ำ มาใส่ด้วยก็ได้
ใส่บาตรเสร็จ พวกเราก็หามื้อเช้าๆ แบบที่คนหลวงพระบางเขากินกัน โดยไปร้านกาแฟดังชื่อ ประชานิยม อยู่ติดริมน้ำโขง ให้บรรยากาศดีมาก เมนูในร้านมีหลากหลาย ทั้งโจ๊ก ต้มเส้น ปาท่องโก๋ เครื่องดื่มชา กาแฟ ส่วนเราก็กินต้มเส้นรสชาติดีทีเดียว แต่อยากเพิ่มความแซ่บต้องใส่พริกไปสักหน่อย แต่เผ็ดจนหูแดง แนะนำให้ใส่ทีละน้อยๆ หลังจากนั้น ไปเดินย่อยกันที่ตลาดเช้าต่อ ตลาดเช้าหลวงพระบางจะเริ่มตั้งแต่ตี 5 จนถึงประมาณ 10 โมงเช้า ตลอดเส้นทางที่ทอดยาวพ่อค้าแม่ขายพากันตั้งแผงเรียงราย ทั้งโต๊ะและปูพื้น มีของสด ของแห้ง กระเป๋าสาน เครื่องเงิน ผ้านุ่งทอต่างๆ ละลานตา ทำให้สัมผัสได้ถึงวิถีชีวิตชาวหลวงพระบาง
ทราบข้อมูลมาว่า ถ้าเดินทะลุผ่านตลาดสด และเดินเท้าต่อไปไม่ไกลนัก ก็จะถึงพระธาตุพูสี อากาศดี ไม่ร้อน พวกเราจึงตัดสินใจเดินไปพระธาตุพูสี ขึ้นบันได 328 ขั้นเพื่อไปไหว้พระธาตุ เสียค่าขึ้นคนละประมาณ 50 บาท บรรยากาศโดยรอบพระธาตุร่มเย็น เต็มไปด้วยต้นจำปาลาว และต้นไม้สูงโค้งงุ้มเป็นอุโมงค์เขียวขจี เมื่อเดินถึงยอดพระธาตุลมเย็นๆ ยิ่งพัดโชน จากยอดพระธาตุถือว่าเป็นจุดชมวิวเมืองหลวงพระบางได้ทั่ว ส่วนองค์พระธาตุพูสี เจดีย์ภูศรี กว้าง 10.50 เมตร สูง 21 เมตร พระธาตุมีรูปทรงคล้ายปิรามิดประดับด้วยพระบรมสารีริกธาตุสี่องค์เจ็ดชั้นสวยงาม
ด้านหน้าพระธาตุพูสีเพียงเดินข้ามถนนก็ถึง หอพิพิธภัณฑ์แห่งชาติหลวงพระบาง(หอคำ) บริเวณในพื้นที่มีหอพระบาง โดยพระบางนั้น เป็นพระพุทธรูปปางห้ามสมุทรองค์สำคัญของอาณาจักรล้านช้าง หล่อด้วยสำริด ผสมทองคำ 90% เป็นศิลปะเขมรแบบบายนตอนปลาย สูงประมาณ 1.14 เมตร สันนิษฐานว่ามีเก่าแก่กว่า 700 ปี ตามตำนานบอกว่า เดิมเคยประดิษฐานอยู่อาณาจักรขอม ต่อมาจะอัญเชิญมาไว้ที่เมืองเวียงคำ(เวียงจันทน์ในปัจจุบัน) แต่เกิดเหตุอัศจรรย์ทำให้ไม่สามารถเดินทางไปถึงได้ จึงได้ประดิษฐานไว้ที่เมืองเชียงทอง ต่อมาได้เรียกว่า หลวงพระบาง มาจนถึงปัจจุบัน แม้จะสักการะเพียงแค่หน้าประตู แต่ความงดงามและความศักดิ์สิทธิ์ที่แผ่มาถึงด้านนอก
สองข้างทางที่เต็มไปด้วยต้นปาล์ม ด้านหน้าคือหอคำ ที่มีสถาปัตยกรรมวิจิตรศิลป์ หลังคาแบบศิลปะล้านช้างมีชั้นเชิงซ้อนกันงดงาม เดิมคือพระราชวังของเจ้ามหาชีวิตหลวงพระบาง จึงเรียกอีกชื่อว่า วังเจ้ามหาชีวิต(วังของกษัตริย์) สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2447 ในสมัยสมเด็จพระเจ้าศรีสว่างวงศ์ สืบทอดต่อมาถึงสมัยสมเด็จพระเจ้าศรีสว่างวัฒนา เจ้าชีวิตองค์สุดท้ายของลาว เราเริ่มเดินชมภายในหอคำที่มีความเรียบง่าย แต่มีการตกแต่งอย่างพิถีพิถันและปราณีต แบ่งสัดส่วนห้องชัดเจนซ้าย-ขวา เป็นห้องรับ มีจิตรกรรมฝาผนังที่สะท้อนเรื่องราวในอดีตโดยจิตรกรชาวฝรั่งเศส โถงตรงกลางใหญ่เป็นที่ตั้งของพระราชบังลังค์ ผนังตกแต่งด้วยกระจกโมเสคที่นำเข้ามาจากญี่ปุ่น ที่ถูกตัดแต่งประกอบเป็นภาพ เรียกว่าเป็นงานฝีมือชั้นสูงเลยทีเดียว
เดินมาตามทางเชื่อมระหว่างห้องรับรองก็มีการจัดแสดงเสลี่ยงที่เจ้าชีวิตเคยประทับ พระพุทธรูปขนาดต่างๆ ห้องบรรทมของเจ้าชีวิต ห้องบรรถมของพระมเหสี ห้องบรรทมพระโอรส-พระธิดา ห้องเสวย ห้องจัดแสดงเครื่องดนตรี รวมไปถึงฉลองพระองค์ของเจ้าชีวิตศรีสว่างวัฒนา พร้อมฉลองพระบาท ส่วนห้องสุดท้ายจะจัดแสดงข้าวของจากประเทศที่ได้นำมาถวาย ทั้งจากประเทศไทย จีน และญี่ปุ่น เป็นต้น เสียดายที่ทั้งหอคำและหอพระบางห้ามถ่ายรูปด้านใน มีเพียงสายตาทำหน้าบันทึกความทรงจำนี้เก็บไว้
ไปต่อที่วัดเชียงทอง นับว่าสวยสุดในหลวงพระบาง และยังเป็นหนึ่งในวัดที่งดงามที่สุดของ สปป.ลาว สร้างขึ้นโดยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชเมื่อราว พ.ศ. 2103 ความพิเศษของที่นี่คือ สิมหรืออุโบสถ โดยได้รับการบูรณะเมื่อ พ.ศ. 2471 เรียกได้ว่าเป็นอัญมณีทางสถาปัตยกรรมล้านช้างของหลวงพระบาง หลังคาลาดเอียงซ้อนกัน 3 ตับ ยอดช่อฟ้าคือการจำลองจักรวาลตามคติพุทธศาสนา บนผนังทั้งด้านนอกและด้านในประดับด้วยลายรดน้ำปิดทองบนพื้นสีดำ เรียกว่า ลายฟอกคำ ซึ่งมีความเรือนลางไปบ้างตามกาลเวลา ส่วนด้านหลังของสิมเป็นภาพต้นทอง ทำจากกระจกโมเสคสวยงาม ด้านในประดิษฐานพระบางองค์จำลองยืนประกบซ้ายขวาของพระประธาน
เยื้องไปทางด้านข้างสิมคือหอพระม่าน 1 ใน 3 พระพุทธรูปองค์สำคัญของหลวงพระบาง ตกแต่งกระจกโมเสก ที่สะท้อนเรื่องราววิถีชีวิตดูมีชีวิตชีวา อีกฝั่ง คือ โรงเมี้ยนโกศ หรือโรงเก็บราชรถพระโกศของเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนา งานช่างฝีมือชั้นสูงของลาวงดงาม
มาหลวงพระบางทั้งทีก็ต้องไปกินตำหลวงพระบาง พวกเราไปร้านนางไก่ แซ่บมากจนต้องเบิ้ล ไก่อบโอ่ง รสชาติดีมาก ใครที่ชอบไก่ย่างเนื้อแห้งกรอบบอกเลยต้องไปกิน ตบท้ายด้วยของหวานที่ร้าน Zurich Bread Factory & Cafe มาถึงแล้วอย่าพลาดที่ได้ลิ้มลอง ครัวซอง กรอบนอก นุ่มละมุ่นข้างใน มีทั้งรสชาติออริจินอล ช็อคโกแลต แอลม่อน ขนมปังแบบอื่นๆมีให้ตามความชอบ
ถึงจะเคยมาหลวงพระบางแล้ว แต่ทุกครั้งที่ได้กลับมาเยือนที่แห่งนี้ ก็ยังคงรู้สึกประทับใจ ทั้งความสวยงามทางประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม ผู้คนที่ยิ้มแย้ม หากมีโอกาสก็อยากจะมาเที่ยวให้ได้ทุกปีเลย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'นภินทร' นำทัพไทยประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ถกหารือเจรจา FTA
สปป.ลาว นั่งหัวโต๊ะประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนนัดแรก ประกาศแผนงานสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปี 2567 ผ่าน 3 กลไก ซึ่งเน้นให้อาเซียนเชื่อมโยงกระบวนการผลิตโลกตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ และวางรากฐานอาเซียนมุ่งสู่การพัฒนาภูมิภาคอย่างยั่งยืน และก้าวสู่ภูมิภาคดิจิทัล เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มต่อภาคธุรกิจเพื่อให้สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปพร้อมกัน