ไม่นานเกินรอ! มีทางรักษา 'อัลไซเมอร์'

2 ก.ย. 2565 – ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า สมองเสื่อม ต้องสู้ต่อมีทางแล้ว

ในปี 2022 นี้ ยังเป็นปีที่หนักหนาสาหัส ทั้งนี้ เจาะจงแต่เรื่องสมองเสื่อมอย่างเดียวนะครับ เรื่องอื่นก็ดูจะสะบักสะบอมพอกัน

ทำไม ว่าหนักสาหัส เพราะประชากรไทยเข้าสู่ยุคสูงวัย มีสัดส่วนที่น่ากังวล และคำว่าสูงวัยในปัจจุบันอาจจะใช้อายุ ตาม วัน เดือน ปี เกิดไม่ได้ เพราะสมองของแต่ละคนมีต้นทุนต่างกัน นั่นคือ ถูกกำหนดจากชะตาชีวิตหรือยีนส่วนหนึ่ง แต่มีตัวที่ทำให้ต้นทุนหายกำไรหด จากโรคนานาชนิด อ้วนลงพุง ขาดการออกกำลัง เบาหวานความดัน ไขมัน ส่งผลไปถึงความบกพร่องไม่สมบูรณ์ของระบบเส้นเลือดและหัวใจ และเคราะห์กรรมยังมาจากมลภาวะรอบตัว ฝุ่นควันพิษ จิ๋ว ใหญ่ กลาง ตั้งแต่พีเอ็ม 2.5 หรือเล็กกว่านั้น ซึมทะลุทะลวงผ่านผนังเนื้อเยื่อและหลอดเลือดไปสู่อวัยวะต่างๆ ได้ และสารเคมีต่างๆ ในน้ำ อาหาร และที่รุนแรง ในช่วงโรคระบาดนี้ คือ ไวรัสโควิด เร่งทำให้ใครที่พร้อมจะเป็นสมองเสื่อม ออกอาการเร็วขึ้น ใครที่เป็นนิดๆ หน่อยๆ อยู่แล้ว แสดงตัวออกมาเห็นชัด

ทั้งหมดจะทำให้ความมั่นคงแข็งแรงของประเทศไทยสั่นคลอนได้ จากคุณภาพของมนุษย์ที่ลดลง อีกทั้งคนรอบข้างยังต้องมาคอยดูแลอีก

แต่ช้าก่อนครับ อ่านมาถึงบรรทัดนี้ห่อเหี่ยวไปตามกัน ปัจจุบันนี้ เราสามารถพัฒนาการตรวจเลือดและสามารถที่จะบอกได้ว่ามีสมองเสื่อมแล้วหรือยัง อยู่ในขั้นไหนหรือเป็นเพียงแต่แอบแฝงอยู่ และโอกาสหรือความเสี่ยงที่จะปรากฏตัวขึ้น มีมากน้อยเพียงใด

และเมื่อทราบแล้ว เรายังสามารถปรับกระบวนท่า โดยถ้ายังเป็นน้อยดึงกลับได้ และแม้จะเป็นมากก็ตาม ชะลอตัว ไม่ให้เลวลงไปอีก ดังนั้น การรักษาสุขภาพให้ดีที่สุด ควบคุมโรคประจำตัวให้ดีเยี่ยมที่สุด ไม่นานเกินรอ จะมีการรักษาต่างๆ ทยอยกันเข้ามาที่จับต้องได้และพิสูจน์แล้ว

ตัวอย่างที่จะเล่าคือ การใช้อินซูลินให้ทางจมูก (intranasal insulin delivery) เหตุผลที่มีการสนใจในเรื่องของอินซูลิน ทั้งนี้เพราะสมองเสื่อม อัลไซเมอร์ เปรียบเสมือนเป็นสมองเบาหวาน ทั้งๆ ที่คนนั้นไม่ได้เป็นโรคเบาหวาน โดยในสมองมีสภาวะดื้ออินซูลินอยู่ ทั้งนี้อินซูลินมีบทบาทสำคัญ ในการปรับแต่งเซลล์แอสโตรไซท์ โดยที่หน้าที่ อย่างหนึ่งก็คือ เคลื่อนย้ายหรือทำลายขยะของเสียในสมอง และเมื่อมีสัญญาณอันตรายจะปล่อยสารอักเสบเฉพาะ ที่พอเหมาะพอดี ที่ไม่ได้ไปเผลอทำลายสมองเข้าไปอีก อินซูลินยังยับยั้งไม่ให้สมองตายเร็วกว่าที่ควร และคอยปกป้องเส้นใยประสาทที่อยู่ในเนื้อสมองส่วนสีขาว โดยผ่านทางเซลล์ที่สร้างปลอกหุ้มเส้นใยให้มีความแข็งแรง ทำหน้าที่ได้อย่างถูกต้อง

นอกจากนั้นพยาธิสภาพในสมองเสื่อมยังประกอบไปด้วยความผิดปกติของหลอดเลือดสมองที่ทำงานบกพร่อง

ความพยายามในการใช้อินซูลิน มีมาเป็นหลายสิบปี แต่มีอุปสรรคอยู่ที่การจะทำให้ผ่านผนังกั้นหลอดเลือด BBB (blood brain barrier) เพื่อที่จะให้เข้าถึงเนื้อสมอง ผนังกั้นหลอดเลือดจะยอมให้โมเลกุลที่มีขนาดเล็กกว่า 400 ดาลตันและมีพันธะไฮโดรเจนน้อยกว่าแปดถึงสิบ ซึมผ่านไปได้ แต่อินซูลินตัวใหญ่ ถึง 5808 ดาลตัน อีกทั้งการจะฉีดผ่านเข้าสมองในบริเวณที่ไม่มีผนังกั้น ก็เป็นไปได้ยาก และการฉีดโดยตรงเข้าเส้นเลือดก็ไม่ประสบความสำเร็จ อีกทั้งทำให้น้ำตาลในเลือดต่ำอย่างรุนแรงไปอีก จนเกิดเป็นผลเสียตามมา

จนกระทั่งในปี 1989 ที่มีการประดิษฐ์คิดค้นการส่งผ่านอินซูลินเข้าทางจมูกและจดสิทธิบัตรในปี 1991 และในปี 2001 มีการจดสิทธิบัตรอีกฉบับหนึ่ง และทำให้มีการศึกษามากขึ้นในสัตว์ทดลองจนกระทั่งถึงมนุษย์

อย่างไรก็ตาม การศึกษาที่ผ่านมาไม่สมบูรณ์ครบถ้วน เนื่องจากไม่สามารถทำการวินิจฉัยสภาวะสมองเสื่อมได้อย่างแม่นยำ โดยอาศัยแต่เพียงการตรวจของแพทย์และตรวจพุทธิปัญญาแบบทดสอบ

การใช้เครื่องมือต่างๆ ในการวินิจฉัยระยะขั้นตอนของสมองเสื่อมตั้งแต่ต้น ไม่ว่าเป็น คอมพิวเตอร์สนามแม่เหล็กไฟฟ้า การตรวจโดยใช้เวชศาสตร์นิวเคลียร์ PET scan การวิเคราะห์ ปริมาณสารโปรตีนพิษ จากน้ำไขสันหลังโดยตรงจนกระทั่งพัฒนามาถึงเป็นการตรวจเลือด ทำให้วางรูปแบบการรักษาเป็นระบบได้พร้อมกับมีการประเมินการตอบสนองได้ อีกทั้งการวัดค่าดัชนี การอักเสบที่เกิดในสมองเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญเพราะการรักษาใดก็ตามจะได้ผลสำเร็จนั้นต้องดับไฟ ในสมองให้ได้ก่อน

รายงานในวารสารเนเจอร์ในปี 2022 จากคณะทำงานในสหรัฐ เป็นก้าวกระโดดที่สำคัญ โดยมีการตรวจด้วยแบบทดสอบทางพุทธิปัญญา การตรวจภาพคอมพิวเตอร์สมองตามตำแหน่งจำเพาะทั้งบริเวณผิวเปลือกสมองและในตำแหน่งที่เป็นสมองส่วนสีขาว การตรวจวิเคราะห์น้ำไขสันหลังโดยตรง A beta 40 42 P tau 181 Total tau อัตราส่วนระหว่าง A beta42/40 และระหว่าง A beta 42ต่อ total tau

การวิเคราะห์การทำงานของหลอดเลือด และสถานะระดับของการอักเสบ มีการประเมิน 11 ตัว และ 25 ตัว ในทั้งสองกลุ่มตามลำดับ

อาสาสมัครในการศึกษานี้เป็นสมองเสื่อม หรือมีอาการก้ำกึ่ง (mild cognitive impairment) ในกลุ่มที่ได้ยาจริงมี 24 รายและได้ยาหลอก 25 ราย โดยทั้งหมดได้รับการติดตาม 12 เดือนและมีการเจาะเก็บน้ำไขสันหลังเพื่อมาวิเคราะห์ตั้งแต่ต้นและที่ 12 เดือน

อาสาสมัครในรายงานนี้ ได้ถูกดึงมาจากการศึกษาใหญ่ในเฟสสองที่มีการให้อินซูลินในวิธีที่ต่างกัน ทั้งนี้ พบว่าอาสาสมัครที่มีการให้อินซูลินในแบบที่สองเท่านั้น ที่มีอาการดีขึ้น จากการประเมินที่หกเดือนและ 18 เดือนหลังจากที่ให้อินซูลิน ทางจมูก ในปริมาณ 40 หน่วย และความเสื่อมของเนื้อสมองส่วนสีขาวที่เป็นผลเกี่ยวข้องกับการอักเสบและความผิดปกติของหลอดเลือดช้าลง ดังนั้น อาสาสมัครที่อาการดีขึ้นจึงนำมาวิเคราะห์เพิ่มเติมในดัชนีชี้วัดต่างๆ ดังที่กล่าวข้างต้น

ผลการวิเคราะห์ ตัวแปรทางการอักเสบและความผิดปกติของหลอดเลือด ( vascular injury marker) ในกลุ่มรักษาที่อาการดีขึ้น แทนที่จะพบว่าการอักเสบลดลงหรือหายไปทั้งหมด กลับพบว่าระดับของ IL-1beta eotaxin IL-8 สูงขึ้น และระดับของเสียโปรตีนพิษลดลง นอกจากนั้นมีการเพิ่มขึ้นของ VEGF และ Placental growth factor (PIGF) ทั้งนี้เป็นไปได้ว่าการอักเสบที่เห็นที่สูงขึ้น แทนที่จะเป็นอันตราย น่าจะทำหน้าที่ในการกำจัดขยะพิษในสมองให้ดีขึ้น และ VEGF PIGF tyrosine kinase-2 (Tie-2) เช่นกัน น่าจะช่วยพยุงสุขภาพของเส้นเลือดและทำการซ่อมแซม รวมกระทั่งถึงการสร้างเส้นเลือดใหม่ พร้อมกับทำให้เส้นเลือดต้านทานภาวะอันตรายที่มีออกซิเจนต่ำ และปรับความเสถียรของผนังกั้นเส้นเลือด ซึ่งทั้งหมดนี้ จะทำให้ท่อระบายขยะ ทำงานได้ดีขึ้นพร้อมกับส่งผ่านสิ่งที่จำเป็นให้แก่เซลล์ต่างๆในสมอง

ผลของการรักษาที่ดีขึ้น คล้องจองกับผลที่มีการรายงานของอีกคณะหนึ่งจากสหรัฐ (วารสาร Journal of Neurology) ในปี 2022 เช่นกัน และประเมินผลระยะยาว 24 เดือน ต่อการทำงานของสมองและการเดิน (ซึ่งสะท้อนการทำงานของสมอง) จากการให้อินซูลินทางจมูก ในอาสาสมัครอายุมาก เฉลี่ย 65.8 ปี จำนวน 244 ราย โดยแบ่งเป็น กลุ่มที่เป็นเบาหวานและไม่เป็นเบาหวาน และได้ยาจริงและยาหลอก

ผลที่ได้พิสูจน์ความปลอดภัย และในอาสาสมัครที่มีเบาหวานนั้น พบว่าการเดินที่มีการประเมินในรูปแบบต่างๆเร็วขึ้น และในขณะเดียวกัน มีการเพิ่มขึ้นของเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง และภาวะดื้ออินซูลินในเลือดลดลง และในกลุ่มที่ไม่ได้เป็นเบาหวาน การทดสอบพุทธิปัญญามีการกระเตื้องขึ้น (decision making, verbal learning และ memory)

ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างของการศึกษาที่อยู่ในเฟสสอง ที่พบผลดีจากการประเมินในรูปแบบต่างๆ และในอนาคตอันใกล้จะได้มีการยืนยันการทดสอบในเฟสที่สาม

อย่างที่เกริ่นไว้ตอนต้นนะครับว่า อีกไม่นานเกินรอ เราก็มีพร้อมทั้งนวัตกรรมในการวินิจฉัย การประเมินความรุนแรงและการรักษาแบบต่างๆ ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่าการรักษาสุขภาพ การปรับพฤติกรรมการดำเนินชีวิต การออกกำลังกายสม่ำเสมอ โภชนาการที่เข้าใกล้มังสวิรัติ แต่บริโภคปลาได้ ตามที่ได้เคยกล่าวไว้ในเรื่องของ “อาหารช่วยชีวิต” เป็นสิ่งสำคัญมาก.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หมอยง' ชี้สถานการณ์โควิดเปลี่ยนตามกาลเวลา ปีนี้ยุติแล้ว แต่ไวรัสยังอยู่ต่อไป

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า 5 ปี โควิด 19 กาลเวลาเปลี่ยน สถานการณ์เปลี่ยน

บิดสะบัดคอระวังอัมพฤกษ์! ‘หมอธีระวัฒน์’ แนะวิธีแก้เมื่อยคอด้วยตัวเองที่ถูกต้อง

เรื่องใกล้ตัวที่เป็นท่าบริหารประจำหรือที่ทำ เวลาเมื่อย หรือเป็นกระบวนการในการนวดคลายเมื่อย ดัดเส้น รวมทั้ง เป็นกรรมวิธีในการบำบัดทางกายภาพและจัดกระดูก

'I LAN YOR - เกาะยอทอวิถี' คว้ารางวัลชนะเลิศ นวัตกรรมท่องเที่ยว อพท. ปี 2024

อพท. จัดการแข่งขันนวัตกรรมระดับชาติ Sustainable Tourism Innovation 2024 เสริมสร้างศักยภาพคนรุ่นใหม่ 2 ทีมสุดครีเอต 'I LAN YOR' - 'เกาะยอทอวิถี' คว้ารางวัลชนะเลิศ